Tokyo Olympics 2020 สนามโชว์เคสเทคโนโลยีสุดล้ำในเกมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ
Technology & Innovation

Tokyo Olympics 2020 สนามโชว์เคสเทคโนโลยีสุดล้ำในเกมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

  • 16 Jul 2021
  • 1550

สิ้นสุดการรอคอยเสียที หลังจากลุ้นกันมายาวนานว่าโอลิมปิกที่โตเกียวจะได้จัดหรือไม่จากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และในรอบนี้ก็คงจะเรียกได้ว่าเป็นโอลิมปิกแห่งปี 2020-2021 ซึ่งในที่สุดก็จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการแน่นอนแล้วในระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม ปีนี้

โอลิมปิกที่นับถอยหลังก็อีกเพียงไม่กี่วันข้างหน้านี้เป็นที่จับตากว่าครั้งไหน ๆ เพราะนอกจากจะได้ชมและเชียร์ผู้เข้าแข่งขันกีฬาของแต่ละประเทศแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนรอคอยจะได้เห็นจริง ๆ สักทีหลังจากที่ปล่อยข่าวออกมาบ้างแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็คือ เทคโนโลยีล้ำ ๆ ที่ญี่ปุ่นจะนำมาใช้ในระหว่างการแข่งขันครั้งนี้ โดยเราคัดเลือกเทคโนโลยีหลักที่เจ้าภาพอย่างโตเกียวเตรียมต้อนรับคณะนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ชมทางบ้านที่นับถอยหลังสู่วันเปิดการแข่งขันกันแล้ว มาอุ่นเครื่องกันก่อนไปชมพิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้พร้อมกัน และหลังจากจบการแข่งขันไปแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ก็คงจะกลายเป็นสิ่งที่ได้ใช้งานอย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต

1. ยานยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Vehicles)

Tokyo Olympics 2020 ได้จัดเตรียมระบบขนส่งและการเดินทางที่สะดวกด้วยเทคโนโลยีไร้คนขับไว้ให้บริการหลายชนิด จากสนามบินไปยังหมู่บ้านโอลิมปิกและรอบสถานที่จัดโอลิมปิกต่าง ๆ ในโตเกียว สายการบิน All Nippon Airways (ANA) ก็เริ่มใช้รถบัสไร้คนขับภายในสนามบินฮาเนดะ

สำหรับการเดินทางภายในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ได้เตรียม รถบัสขนส่งขนาดเล็ก (e-Pallette) ใช้ระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามนโยบาย Sustainability ของงานโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ ตัวรถบัสรูปทรงลูกบาศก์มีระยะฐานล้อยาวและพื้นราบช่วยให้สามารถรองรับผู้นั่งรถเข็นได้ 4 คนและผู้โดยสารยืนได้ 7 คนในเวลาเดียวกัน ภายในยังมีราวจับและที่นั่ง ส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น พื้น เบาะนั่ง และขอบตกแต่งมีสีที่ตัดกันเพื่อรองรับผู้ที่ตาบอดสี ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเซ็นเซอร์ขั้นสูงควบคุม รวมถึงกล้องและ LiDAR ที่ทำงานด้วยเลเซอร์สำหรับการตรวจจับแสงและการปรับระยะในการขับขี่ โดยรถสามารถวิ่งได้ราว 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จพลังงาน 1 ครั้ง แม้ว่า e-Palette จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็จะมีเจ้าหน้าประจำรถแต่ละคันเพื่อรักษาความปลอดภัยและควบคุมหากจำเป็นด้วย ทั้งยังมีระบบ Accessible People Mover (APMs) ที่จะช่วยค้นหาและอำนวยความสะดวกให้แก่นักกีฬาที่ต้องเดินทางด้วยรถเข็น หรือหากต้องการความช่วยเหลือพิเศษเช่นกัน

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้เตรียม แท็กซี่ไร้คนขับ Tokyo RoboCar MiniVan ซึ่งเกิดจากพัฒนาร่วมกันของบริษัท ZMP Inc. และบริษัท Hinomaru Kotsu และได้ทดสอบรับส่งระหว่างย่านโอเตมาชิกับรอปปงหงิในระยะทางประมาณ 5.3 กิโลเมตรมาแล้ว โดยในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกจะรับหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารระหว่างสนามบินฮาเนดะมายังศูนย์กลางขนส่งใจกลางโตเกียว โดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่เพื่อตอบสนองด้านการขนส่งนักกีฬาและบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกเท่านั้น แต่ยังเพื่อสร้างรากฐานของเครือข่ายการขนส่งสาธารณะในญี่ปุ่นต่อไป เพื่อลดการเสียชีวิตบนท้องถนน ทั้งยังหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดอีกด้วย

และจากมาตรการสูงสุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้เข้าร่วมงานและสื่อมวลชนทุกคนจะต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าระบบ GPS ติดตามตัว และนักกีฬาก็จะสามารถเดินทางได้ระหว่างที่พักและสนามแข่งเพียงเท่านั้น

2. หุ่นยนต์ (Robots)

เชื่อว่าหลายคนรอคอยที่จะดูว่าในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นในฐานะเจ้าแห่งนวัตกรรมหุ่นยนต์แห่งหนึ่ง จะเปิดตัวหุ่นยนต์แบบใดบ้าง ซึ่งงานนี้ก็ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม รัฐบาลกรุงโตเกียว พานาโซนิคคอร์ปอเรชั่น โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และคณะทำงานโตเกียว 2020 ซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในสาขาหุ่นยนต์มาร่วมกันออกแบบเหล่าโรบอตที่จะปฏิบัติภารกิจในระหว่างการแข่ง ซึ่งมีตัวหลักสำคัญที่เราอยากแนะนำให้รู้จักกัน ได้แก่

หุ่นยนต์มาสคอต (Mascot Robots) มิไรโตะวะ (Miraitowa) สีน้ำเงิน เป็นหุ่นยนต์มาสคอตประจำการแข่งขันโอลิมปิก 2020 และโซไมตี้ (Someity) สีชมพู จะเป็นหุ่นยนต์มาสคอตประจำการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 พัฒนาโดย Toyota Motor Corporation ซึ่งทั้งคู่สามารถขยับแขนโบกมือ เชกแฮนด์ และเปลี่ยนรูปดวงตาเพื่อแสดงความรู้สึกหลายแบบได้ มีกล้องติดตั้งไว้บนหน้าผาก ทำให้สามารถสแกนพบผู้คนได้ทันทีเมื่อเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ โดยทั้งคู่มีหน้าที่คอยต้อนรับนักกีฬาและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันอยู่ในทุกสนาม นอกจากนี้ โตเกียว 2020 และโตโยต้ายังกำลังหารือกันเพื่อให้หุ่นยนต์มาสคอตช่วยให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับเกมการแข่งขันได้ง่ายขึ้นและสนุกสนานยิ่งขึ้น คงต้องรอดูว่าทั้งคู่จะมีหน้าที่อะไรเพิ่มขึ้นอีกหลังจากนี้

หุ่นยนต์ T-HR3 Humanoid Robots หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างแขนขาแบบมนุษย์ จะเคลื่อนไหวได้ และโต้ตอบได้บนหน้าจอภาพ และยังส่งภาพและเสียงจากสนามการแข่งขันแห่งหนึ่งไปยังหุ่นยนต์ที่อยู่ในที่อื่นๆ ช่วยให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสนามได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันผ่าน T-HR3 Humanoid Robot ตัวนี้

หุ่นยนต์เก็บบอล Field Support Robots (FSR) โดยโตเกียว 2020 และโตโยต้า ร่วมกับสมาคมกรีฑานานาชาติ พัฒนา FSR สำหรับเป็นหุ่นยนต์สนับสนุนภาคสนามที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะช่วยวิ่งเก็บค้อนหรือจักรที่นักกีฬาขว้างไปในสนาม โดยสามารถหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางและนำทางได้ด้วยตนเอง ซึ่งเจ้าหุ่นยนต์ชุดนี้จะช่วยลดเวลาที่มนุษย์ต้องใช้ในแต่ละรายการแข่งลงได้ 

หุ่นยนต์ T-TR1 พัฒนาขึ้นในสหรัฐฯ โดยสถาบันวิจัยของโตโยต้า (Toyota Research Institute) โดยหุ่นยนต์จะช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมในสถานที่แข่งขันได้มีโอกาสเข้าร่วมแบบเสมือนจริงโดยสามารถสื่อสารและแม้แต่สนทนากับผู้ที่อยู่ในสนามผ่านจอได้

หุ่นยนต์ผู้ช่วย HSR (Toyota's Human Support Robots) หุ่นยนต์จะให้ความช่วยเหลือผู้ชมในรถเข็นวีลแชร์ที่สนามกีฬาโอลิมปิก โดยการขนอาหารและสินค้าอื่นๆ สามารถนำทางผู้คนไปยังที่นั่ง และให้ข้อมูลการแข่งขัน ขับเคลื่อนได้เร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีกล้องตรวจจับเพื่อหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้

และไม่ได้มีหุ่นยนต์เพียงเท่านี้เพราะบนเว็บไซต์หลักของการแข่งโอลิมปิกยังระบุว่า จะมีหุ่นยนต์ใหม่อื่นๆ ในโครงการหุ่นยนต์โตเกียว 2020 ที่จะมีการประกาศในเร็ว ๆ นี้

3. ระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition Systems)

NeoFace เครื่องสแกนใบหน้า (NEC Facial Recognition) ใช้ตรวจสอบและยืนยันตัวตนของบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยกล้องจะบันทึกใบหน้าและการเคลื่อนไหวของนักกีฬาและผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในสถานที่จัดการแข่งขันนั้น ๆ เพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัย และยังจะช่วยระบุบุคคลที่อาจมีความเสี่ยงต่อ COVID-19 ตัวอย่างเช่น หากพบผู้ติดเชื้อในสถานที่ใด เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถติดตามเส้นทางของบุคคลนั้นและค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสัมผัสใกล้ชิดได้

4. เปิดประสบการณ์รับชมผ่านเทคโนโลยี 5G

Intel Corporation, Nippon Telegraph and Telephone Corporation (NTT) และ NTT DOCOMO, Inc. บริษัทใหญ่ที่จะเป็นผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ในงานโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ รับผิดชอบดูแลเครือข่าย 5G ที่จะใช้ตลอดทั้งการแข่งขัน ในทุกสนามการแข่งขัน หมู่บ้านนักกีฬา และสถานที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เทคโนโลยีทุกระบบสามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการออกอากาศผ่านวิดีโอความละเอียดสูงหลายจุดพร้อมกันโดยใช้ความเร็วสูงของเทคโนโลยี 5G

โอลิมปิกในครั้งนี้ยังทำให้เห็นว่าได้หมดยุคของการยกกล้องส่องทางไกลขึ้นมาชมการแข่งระยะไกล อย่างการแข่งขันเรือใบ ว่ายน้ำ และกอล์ฟกันแล้ว เพราะเทคโนโลยี 5G x Ultra-Realistic Communication Technology คือจอภาพขนาดยักษ์เพื่อการรับชมในระบบ AR คมชัดด้วยวิดีโอความละเอียด 12K บนหน้าจอขนาด 50 เมตร ที่ลอยอยู่บนน้ำของ Enoshima Yacht Harbour ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงการแข่งขันเสมือนจัดขึ้นต่อหน้าต่อตา โดยจะมีการออกอากาศในลักษณะเดียวกันนี้พร้อมกันที่ Big Sight ในโตเกียว ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ข่าวหลักของโตเกียว 2020 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สื่อได้รับประสบการณ์การรับชมที่สมจริงยิ่งขึ้น ผลงานนี้เป็นความร่วมมือกันของ NHK และ Japan Commercial Broadcasters Association และ Intel Corp, NTT และ NTT DOCOMO

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดตัว 3D Athlete Tracking (3DAT) เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้ผู้ชมเห็นภาพการแข่งขันอย่างใกล้ชิด ชัดเจน และเรียลไทม์ที่สุด ผ่านระบบ Computer Vision ด้วยกล้อง Artificial Intelligence ที่สามารถแพนจับภาพได้ถึง 4 มุมกล้อง หยุดภาพ และรีเพลย์ภาพได้

Intel True VR ยังเปิดตัว Virtual Reality Headsets ที่จะบรรจุภาพงานพิธีเปิดและปิด และเกมการแข่งขันกีฬารอบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์รับชมการถ่ายทอดผ่านระบบ The Olympic Broadcasting Services (OBS) ที่สมจริงและอลังการด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีสุดล้ำอีกด้วย

ในการแข่งขัน Tokyo Olympics 2020 ครั้งนี้ มีสนามการแข่งขันส่วนกลางแบ่งเป็น 2 โซน คือ The Tokyo Bay Zone ซึ่งแยกเป็น 13 สนามใหญ่ และ The Heritage Zone แยกเป็น 7 สนาม พร้อมยังมีสนามที่กระจายนอกเมืองโตเกียวด้วยรวมถึง 43 แห่งในญี่ปุ่น เทคโนโลยีทั้งหมดที่เจ้าภาพได้เตรียมการมากว่า 3 ปีนี้ จะช่วยให้ผู้ชมได้เต็มอิ่มกับการแข่งขันสมกับที่รอคอยมาหนึ่งปีเต็ม!

ที่มา :
บทความ “Use of Technology in Tokyo Olympics 2021” จาก www.geeksforgeeks.org
บทความ “Tokyo Games To Showcase Cutting-Edge Technologies – Tokyo Olympics : You will be able to see replay on your special google, 5G technology will be special” จาก https://tekdeeps.com
บทความ “Toyota Robots Help People Experience Their Dreams of Attending the Olympic and Paralympic Games Tokyo 2020” จาก https://global.toyota/en
บทความ “Toyota redesigns its e-Palette vehicle for Tokyo 2020 Olympic athletes” โดย Natashah Hitti จาก www.dezeen.com
บทความ “Tokyo 2020 unveils spectator viewing experiences deploying 5G technology” จาก https://olympics.com
บทความ “NEC unveils facial recognition system for 2020 Tokyo Olympics” โดย Sam Byford จาก www.theverge.com

เรื่อง : ธมลณัฏฐ์ นันทน์นัต