ไทยต้องรอด...คุยเรื่องหาเงินวิธีใหม่ด้วยบล็อกเชนกับ “ท๊อป Bitkub”
Technology & Innovation

ไทยต้องรอด...คุยเรื่องหาเงินวิธีใหม่ด้วยบล็อกเชนกับ “ท๊อป Bitkub”

  • 27 Jul 2021
  • 2996

ในเวลาที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาหนักหน่วงและมองเห็นแต่ “อุปสรรค” มากมาย ในทางกลับกัน มนุษย์ยังคงต้องมองหา “โอกาส” เพื่อสร้างความหวังที่จะเดินไปข้างหน้าไปวันรุ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่จะพูดถึง “โอกาส” ที่เป็นจริงได้ในเวลานี้ได้ดีที่สุด ก็คือผู้ที่รู้จักและเข้าใจการประยุกต์ใช้ “เทคโนโลยี” ได้ดีที่สุด อย่างเช่น ท๊อป - จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub ที่หลายคนรู้จัก 

อะไรบ้างคือสิ่งที่เขามองเห็น สิ่งใดบ้างที่เขาลงมือทำ และเป้าหมายใดบ้างที่เขาต้องการ เราได้พูดคุยกับท๊อปถึงสิ่งเหล่านี้ ในมุมมองที่เน้นหนักไปถึงการมองหาโอกาสให้กับกลุ่มคนในแวงวง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” หรือ Creative Economy ที่ท๊อปมองเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบเศรษฐกิจที่จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนในเวลานี้

เราได้ยินไอเดียในการนำบล็อกเชนมาใช้กับการทำธุรกิจมากมาย คุณคิดว่ามันควรถูกใช้หรือใช้ได้ดีในรูปแบบไหนบ้าง 
ความจริงมีหลาย application ที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาทำให้เกิด Use Case ขึ้นมาได้ ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานของบล็อกเชนก่อน เราจะพบว่ามันสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Digital Scarcity” หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่หายากและมีอยู่อย่างจำกัดขึ้นมาในโลก

มองย้อนไปช่วง 20 ปีก่อน นวัตกรรมอย่างอินเทอร์เน็ตสร้างแค่สิ่งเดียว คือ “Digital Abundance” หมายความว่า อะไรก็ตามที่อัพโหลดเข้าไปในโลกออนไลน์ มันสามารถก๊อบปี้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไฟล์งาน ไฟล์ภาพ หรือไฟล์เสียง เมื่อก่อนเราอยู่ในยุคที่ไฟล์เพลงมีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการหยอดเงินลงในตู้เพลง มาเป็นธุรกิจจำหน่ายเทปตลับ หรือซีดี พวกนี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้และมีจำนวนจำกัด แต่พออินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น ก็นำมาซึ่ง Digital Abundance และทำให้เพลงไม่มีมูลค่าไป เพราะก๊อบปี้ได้ไม่จำกัด หนังก็เหมือนกัน เราสามารถส่งไฟล์หนังถึงกันได้ทันที เป็นการเพิ่มสำเนาได้ไม่สิ้นสุด 

แต่บล็อกเชนมาทำสิ่งที่ตรงข้ามกับอินเทอร์เน็ตโดยสิ้นเชิง ซึ่งผมเรียกว่ามันมา Break the Internet คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Digital Scarcity ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก แปลว่าต่อจากนี้ เราจะสามารถมีดิจิทัลไฟล์แค่ไฟล์เดียวที่ไม่สามารถก๊อบปี้ได้ ทำเพิ่มก็ไม่ได้ และมีจำนวนจำกัด แปลว่าวงการที่มูลค่ายังถูกเก็บอยู่ในข้าวของรูปแบบที่จับต้องได้ (Physical) ย่อมจะเปลี่ยนตัวเองมาอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลที่มีมูลค่าได้แล้ว ซึ่งในที่นี้คือเปลี่ยนมูลค่าทุกชนิดที่ไม่ใช่แค่ข้อมูลได้ด้วย เพราะบล็อกเชนทำให้เราเปลี่ยนฟอร์แมตของข้อมูลทุกชนิดให้เป็นดิจิทัลได้

ในมุมของวงการสร้างสรรค์ คุณมองว่าอะไรบ้างที่ควรนำมา Tokenize หรือ Digitize ให้มีมูลค่ามากขึ้น
ถ้าคอนเซปต์มันคือ  Digital Scarcity เราก็สามารถจะใช้คอนเซปต์นี้กับ Creative Economy ได้ ซึ่งคนที่จะบอกได้ดีที่สุดก็คือคนในวงการสร้างสรรค์เอง เพราะย่อมจะมองในสิ่งที่คนนอกมองไม่เห็น แล้วถ้ายิ่งคุณเข้าใจเทคโนโลยี ก็จะสามารถประยุกต์ใช้ได้ถูกทางด้วย ที่ผ่านมาในอดีต คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่เป็นผู้ริเริ่มหรือเป็น Pioneer ของเทคโนโลยี แต่เป็นคนเป็น Pioneer of Application of Technology หรือผู้ที่สามารถจะเข้าใจเทคโนโลยีแล้วเอามาใช้ได้ดีที่สุด 

ฉะนั้น ถ้ามองในมุมคนนอกในฐานะที่ผมไม่ได้อยู่ในวงการสร้างสรรค์โดยตรง ผมมองเห็นว่าบล็อกเชนจะเข้าไปมีส่วนช่วยกลุ่มงาน Digital Art ได้ เพราะภาพวาดหรือศิลปะต่าง ๆ คือสิ่งที่มีมูลค่า มีจำนวนจำกัด มีชิ้นเดียวเท่านั้น แล้วพอเรามีบล็อกเชน เราก็สามารถที่จะมีศิลปะที่เป็นดิจิทัลซึ่งมีจำนวนจำกัดได้แล้ว โดยเราสามารถใช้สิ่งที่เรียกว่า NFT หรือ Non-Fungible Token เข้ามา หลักการคือคำว่า Non ที่แปลว่าเราสามารถที่จะมี Token ที่มีชิ้นเดียวอันเดียวเท่านั้น ทุกชิ้นไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่ทุกภาพวาดไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือน ทำซ้ำไม่ได้ มูลค่าก็เกิดขึ้น

ซึ่งนอกจาก NFT เรายังสามารถที่จะสร้างงานศิลปะเป็นสองโปรดักส์ก็ได้ คือเป็นทั้ง FT (Fungible token) หรือ NFT (Non-fungible token) คือจะมีแค่ภาพวาดนี้ภาพเดียวเท่านั้น อัพโหลดไปในโลกออนไลน์แล้วให้คนประมูลกัน เป็นลักษณะ English auctions หรือ Dutch auctions1 อะไรก็ได้ที่เข้าถึงทั่วโลก และชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งแปลว่าตลาดของนักสร้างสรรค์คือทั้งโลกที่มาแข่งกันประมูล ไม่จำกัดแล้วว่าต้องเป็นบริษัทประมูลที่ไทยหรือต้องจ่ายเงินบาทกัน เพราะสามารถโอนจ่ายผ่านบล็อกเชนได้ ไม่ต้องมีผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) พิพิธภัณฑ์ หรือแกลเลอรีศิลปะก็ได้ เป็นยุค Financial Inclusion หรือการที่ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าเทียมกัน


©A M Hasan Nasim/Pixabay

จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผูกขาดของสินทรัพย์ต่าง ๆ ด้วยหรือเปล่า
สมมติศิลปะชิ้นหนึ่งมีราคาหนึ่งพันล้านบาท แต่ทุกคนไม่ได้มีเงินขนาดนี้ เช่นเดียวกับหุ้นปตท. ที่อาจจะมีมูลค่าล้านล้านบาท ดังนั้นเราก็ต้องซอยมันออกเป็น Fractional Ownership หรือระบบการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แบบสัดส่วน โดยให้คนมาเป็นเจ้าของร่วม สมมติใครถือหุ้นปตท.เยอะ ก็จะได้เงินปันผลเยอะ ส่วนคนที่ถือน้อย ก็ได้น้อยหน่อย ซึ่งคอนเซปต์นี้เราเอามาใช้กับภาพวาดหรืองานศิลปะก็ได้ สมมติผมชื่นชอบศิลปินอยู่ 10 คน แต่ละคนมีภาพเขียนของตัวเอง แต่ละภาพมีราคาหนึ่งร้อยล้านบาท ถ้าผมอยากสนับสนุนศิลปินทั้ง 10 คน ผมก็ต้องมีเงินพันล้านขึ้นไป แต่ถ้าผมมีเงินแค่หนึ่งหมื่นบาทในกระเป๋า เราก็สามารถที่จะ Fractionalize (แยกส่วน) ภาพเขียนต่าง ๆ ให้มีลักษณะเป็นเหรียญดิจิทัล หรือเป็น Digital Token แต่มันจะเป็น FT คือทุกเหรียญจะเหมือนกัน แต่ละเหรียญก็จะทำหน้าที่เหมือนใบหุ้น แล้วผมก็สามารถสนับสนุน 10 ศิลปินที่ผมชอบได้คนละหนึ่งพันบาท เพื่อให้ผมได้เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของงานนั้น ๆ แล้วสมมติภาพเขียนนี้ถูกนำไปโชว์ที่มิวเซียม ได้รับเงินปันผลมาจากค่าเช่าที่มิวเซียมจ่ายให้ในการเอาภาพมาโชว์ นี่คือ Passive Income (รายได้ที่ออกผลในระยะยาว) ของผมแล้ว คล้าย ๆ เงินปันผล ใครถือเหรียญเยอะ ก็ได้เยอะ เป็นคอนเซปต์เดียวกับหุ้นเป๊ะที่สามารถเอามาประยุกต์กับทรัพย์สินชนิดอื่นได้ 

แต่ก็ยังสามารถทำให้เป็น NFT ได้ด้วย
ใช่ครับ อย่างที่ผมบอกคือแค่เรื่องของภาพเขียน เราก็มี 2 วิธีในการใช้งานเทคโนโลยีแล้ว จะเป็น NFT ที่มีเจ้าของเดียวเท่านั้น หรือจะออกมาเป็นหลาย ๆ เหรียญ เป็นกรรมสิทธิ์ร่วม (Co-Ownership) ด้วยการออก FT ก็ได้ แล้วเราก็จะมีตลาดเหมือน Bitkub ที่เป็นตลาดซื้อขายให้คนมาเจอกันเหมือนตลาดหุ้น ในอนาคตก็จะมีทั้งตลาด NFT และตลาด Fractional ownership แต่ละเหรียญก็จะสะท้อนมูลค่าที่แตกต่างกันของแต่ละทรัพย์สิน พูดง่าย ๆ ว่าอีกหน่อยเราก็จะเป็นเจ้าของทอง เพชร ที่ดิน หรือแม้แต้ไฟฟ้าก็ได้ร่วมกัน เช่น ตอนนี้หน่วยงานอย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ก็สามารถจะสร้าง National Unit Platform ให้ทุกคนซื้อขายหน่วยไฟฟ้าได้แบบ Peer-to-Peer เมื่อทุกหลังคาบ้านต่อจากนี้ผลิตไฟฟ้าได้เอง ถ้าเหลือใช้ก็สามารถขายได้ โดย Tokenize ยูนิตไฟฟ้าให้เป็นเหรียญก่อน อาจจะเป็น PEA Coin หรือ EGAT Coin ให้ทุกคนซื้อขายไฟฟ้ากันได้สะดวก หรือแม้แต่อีกหน่อยก็สามารถที่จะซื้อขาย Carbon Credit (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้) กัน นี่คือหลาย ๆ วิธีการที่มาจากคอนเซปต์เดียวกันคือ Digital Scarcity ซึ่งโลกไม่เคยมีมาก่อน

ที่ Bitkub เตรียมการสำหรับโอกาสเหล่านี้อย่างไร
ปัจจุบัน Bitkub ตั้งใจทำทั้งสองตลาด คือ NFT Market และตลาด Fractional Ownership ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา โลกเราเคยเผชิญหน้าปัญหาทรัพยากรขาดแคลน ต้องแย่งอาหาร แย่งไฟฟ้า พลังงาน และหลาย ๆ อย่าง แต่พอเทคโนโลยีเข้ามา มันทำให้สิ่งที่มีจำนวนจำกัดเข้าถึงคนได้มากขึ้น เช่น แต่ก่อนใครเข้าถึงช็อกโกแลตหรือน้ำแข็งได้ก็เป็นเศรษฐีได้แล้ว แต่ตอนนี้ประสิทธิผลในการผลิต (Productivity) มันพุ่งขึ้น ใส่ Input น้อยลง แต่ได้ Output มหาศาลขึ้น ซึ่งมันคือเทรนด์ของโลกในอนาคต ยุคนี้อะไรที่เคยเป็นพริวิเลจของคนรวยหรือมีแค่คนบางกลุ่มที่เข้าถึง เทคโนโลยีจะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้น แต่ก่อนคนรวยเท่านั้นที่จะโทรข้ามประเทศได้ แต่ตอนนี้ทุกคนโทรหากันฟรี แถมเห็นหน้ากันด้วย เพราะเทคโนโลยีมันกระจายโอกาสในหลายทาง (Multi Democratize) ฉะนั้นเราก็ต้องคิดแล้วว่า อะไรที่ตอนนี้มีแค่คนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่จะเข้าถึง เช่น ที่ดินผืนใหญ่ หรือคอนโดที่ Ticket Size (ราคาเฉลี่ยต่อลูกค้า) สูงเกินไปซึ่งคนส่วนใหญ่ซื้อไม่ไหว หรือจะเป็นตราสารหนี้ เป็นภาพเขียนราคาพัน ๆ ล้าน ที่เราสามารถจะ Fractionalize หรือ Democratize ให้ทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้น 

อะไรคือมูลค่ามหาศาลเบื้องหลัง NFT ที่กำลังถูกซื้อขายกันในเวลานี้
ล่าสุด Jack Dorsey ซีอีโอของ Twitter ขายทวีตแรกของเขาไปได้ 80 ล้านบาท ที่มูลค่ามหาศาลนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่าเพราะก่อนหน้านี้เราระบุความเป็นเจ้าของสิ่งที่อยู่ในดิจิทัลไม่ได้ จะก็อบปี้ยังไงก็ได้ แต่พอเรามีบล็อกเชน มี NFT เราก็สามารถที่จะแสดงให้คนทั้งโลกรู้ได้ว่านี่คือของแท้ร้อยเปอร์เซนต์นะ มีอันเดียว มันก็จึงเกิดมูลค่าที่คนที่ให้มูลค่าตรงกันสามารถที่จะซื้อต่อกัน ประมูลกันได้ จนราคาขึ้นไปถึง 80 ล้านบาท 

มันคือคอนเซปต์เดียวกับสิ่งของอื่น ๆ ที่มีมูลค่าทางจิตใจกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง สมมติเป็นไมโครโฟนของไมเคิล แจ็กสัน ที่เขาใช้ร้องเพลงสุดท้ายก่อนเสียชีวิต มันก็ไม่ใช่ไมค์ที่พิเศษไปกว่าไมค์ตัวอื่น ๆ แต่เพราะมันมีตรายางประทับไปแล้วว่าเป็นไมค์ที่ไมเคิล แจ็กสัน ถือเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นมันจึงเป็นไมค์ที่ไม่เหมือนไมค์อื่นใดในโลก มูลค่าประมูลของมันก็จะสูงกว่าไมค์อื่น สิ่งนี้เป็นมูลค่าจากจิตใจ กลายเป็นว่าจากนี้เราสามารถที่จะ Monetize หรือตีมูลค่าคุณค่าทางจิตใจได้แล้ว เราสามารถขาย “มูลค่าทางจิตใจ” ก็ได้ด้วย ซึ่งในเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีเยอะมาก อย่างบริษัทแกรมมี่หรืออาร์เอส เขาโตมาขนาดนี้ได้ เขาอาจจะ Monetize แค่เลเยอร์ที่หนึ่งเท่านั้น คือเสียงของนักร้อง แต่จริง ๆ ศิลปินคนหนึ่ง เราชื่นชอบเขาอาจจะมากกว่าแค่เสียงของเขา แต่เราไม่สามารถตีเป็นมูลค่าอย่างอื่นได้ เพราะเทคโนโลยียังไปไม่ถึง ก็เลยขายได้แค่เทปหรือซีดี เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เพลงมันมีจำนวนจำกัด แต่จริง ๆ ศิลปินมีหลายเลเยอร์มากที่สามารถขายได้ ทั้งชื่อเสียง และมูลค่าทางจิตใจอื่น ๆ  

พอเรามี NFT เราก็สามารถที่จะขายบัตรจับมือก็ได้ เพราะบางทีเราอาจจะอยากจับมือศิลปินคนนี้มากกว่าฟังเพลงเขาด้วยซ้ำไป หรือจะขาย Dinner Seat ไปดินเนอร์กับศิลปินที่เราชอบก็ได้ ใครสนใจก็ให้ประมูลแข่งกัน สมมติถ้าเพื่อนเราชอบพี่ตูน บอดี้สแลม มาก ๆ เราก็อาจจะซื้อสิ่งที่มีมูลค่าทางจิตใจของพี่ตูนให้เพื่อนได้ เช่น ส่งคลิปที่พี่ตูนร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ให้เพื่อนเป็นของขวัญ ซึ่ง Bitkub กำลังจะทำสิ่งที่เรียกว่า Fan Token หรือ Social Token นี้เพื่อสร้าง Win-Win-Win Situation 

ส่วนว่า NFT จะโตไปอย่างไร ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้คนว่าต้องการจะทำอะไรให้เป็นดิจิทัลบ้าง เช่น สิ่งที่มีเอกลักษณ์ มีความแตกต่าง หรือแสดงมูลค่าทางจิตใจที่ต่างกัน เช่น คนที่ใส่นาฬิกาของจริงก็จะมีความภูมิใจว่าเป็นของแท้ เป็น Limited Edition แต่คนที่ดูไม่เป็น ใส่นาฬิกาปลอมก็ดูเวลาได้ เรื่องพวกนี้อาจจะเป็นเรื่องที่คนในวงการจะรู้ถึงมูลค่าทางจิตใจ ถึงความมีจำนวนจำกัด แล้วก็จะการซื้อขายกันก็จะเกิดขึ้นในชุมชนของเขาเอง

Win-Win-Win Situation ที่หมายถึงคืออะไร
ปรากฏการณ์อย่างการที่ศิลปินจะได้คนดูเยอะขึ้น ได้ยอด Subscription มากขึ้น คน Follow มากขึ้น ยอด View ขึ้น ยอดคนดูโฆษณาก็ขึ้น ส่วนคนดูก็จะได้สิ่งที่อยากได้จากการดูวิดีโอ ดูโฆษณา แล้วสแกนคิวอาร์โค้ดจากวิดีโอของศิลปินเพื่อจะเก็บ Digital Collectable ที่เรียกว่า Fan Token หรือเหรียญแฟน(คลับ) เพื่อได้เหรียญที่เอาไปแลกสิ่งที่เป็นมูลค่าทางจิตใจของเขาได้ 

อธิบายง่าย ๆ ว่า คนที่ชอบพี่ตูน อาจจะเก็บเหรียญจากการดูวิดีโอพี่ตูนมากจนได้เป็นหมื่นเหรียญ ก็เอามาแลกกับเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ให้เพื่อนได้ หรือคนที่ชอบศิลปินมาก ๆ แต่ไม่มีเวลามาดูวิดีโอ ก็อาจจะมีคนตั้งโต๊ะขายเหรียญพี่ตูนที่ Bitkub ได้เลย ซื้อขายไล่ราคากันเหมือนขายหุ้น เพื่อให้ได้จำนวนเหรียญที่ต้องการ แบบนี้ก็เป็น Win-Win-Win คือคนที่มีเวลา แต่ไม่มีเงิน ก็สามารถสร้างอาชีพใหม่ได้ คือนั่งดูวิดีโอเก็บเหรียญเอามาขายคนที่อยากได้เหรียญแต่ไม่มีเวลา ศิลปินก็มีคนดูวิดีโอมากขึ้น แล้วยังรู้ด้วยว่าคนไหนเป็นแฟนคลับตัวจริง แฟนคลับก็ได้สิ่งที่เป็นมูลค่าทางจิตใจ คือ Win ทุกฝ่าย สิ่งนี้จะมาเปลี่ยนแปลงวงการบันเทิงและวงการโฆษณาของเราทั้งหมดเลย เพราะจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราจะดูโฆษณาที่เคยรบกวนเราแล้วได้เงิน  


©Jeremy Zero/Unsplash

หรือสมมติพี่โน้ส อุดม จะออกโน้สอุดมคอยน์ เป็น Action Token คือคุณจะสั่งให้พี่โน้สทำอะไรก็ได้บนเวทีเดี่ยว อาจจะบอกให้พี่โน้สเล่าเรื่องตลกที่มีชื่อตัวเองบนเวที คุณก็เอาเหรียญมาแลกไปเหมือนคูปอง พอคนใช้ไปเรื่อย ๆ จนเหรียญน้อยลง หรือพี่โน้สประกาศจะไม่ออกเหรียญนี้อีกแล้ว ราคาเหรียญก็จะขึ้นแน่นอน และจะมีการซื้อขายแน่นอน นี่คืออีกหนึ่งมิติของความคิดสร้างสรรค์ที่เราไม่เคยตีมูลค่าหรือ Monetize จริงจัง หรือแม้แต่ในวงการกีฬา สโมสรฟุตบอลยูเวนตุสก็สร้างเหรียญออกมา ให้แฟนบอลได้เป็นเจ้าของสโมสรร่วมกัน หรืออีกหน่อยพวกลิขสิทธิ์ทางปัญญาอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของคนเดียวแล้ว แต่ Fragment ได้ หรือ Tokenize ได้ ก็เป็นอีก Use Case หนึ่งที่สามารถทำได้ 

วงการโฆษณาก็ทำได้ เช่น ให้ประมูลพื้นที่บนเว็บไซต์ บนแบนเนอร์ เพราะสามารถที่จะขายแบบ Fragment ได้เป็น Pixel เลย ใครอยากมาลงโลโก้ ลงโฆษณาก็มาประมูลแข่งกัน หรือวงการบริจาคก็สามารถทำได้ จะบริจาค 5 บาท 10 บาท แต่ก่อนเคยมีค่าธรรมเนียมการโอนสูง แต่ในรูปแบบคริปโตฯ มันไม่มีค่าธรรมเนียมแล้ว 

อยากให้ลองยกตัวอย่างการใช้งานดิจิทัลที่เป็นโลกเสมือนกับการสร้างประโยชน์ในโลกจริง ๆ ในมุมอื่น ๆ
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถจะใช้ความเป็นดิจิทัลเข้าไปผสมได้ สมมติใส่ความเป็นเกมเข้าไป ให้ทุกคนเล่นเกมใดเกมหนึ่งแล้วเก็บไอเท็ม ซึ่งการจะเก็บไอเท็มนี้คุณต้องไปสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ไปสแกนคิวอาร์โค้ดที่ร้านนี้เท่านั้นถึงจะได้ไอเท็มที่อยากได้ ทำแบบนี้ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณคนเข้าร้านให้กับธุรกิจที่มีสถานที่จริงได้ หรืออาจจะเป็นร้านอาหารก็ได้ก็สามารถใช้วิธีพวกนี้ได้เหมือนกัน  

หรือแม้แต่วงการฟรีแลนซ์ หรือ Digital Nomad ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ คุณก็สามารถที่จะทำงานเดียว คิดค่าแรงเรตเดียว แต่รับทำงานได้ทั่วโลก เพราะไม่มีอุปสรรคเรื่องการรับค่าจ้าง ขั้นตอนการทำงานก็จะเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราอาจะต้องเป็นพนักงานประจำหรือเซ็นสัญญากันนานหลายปี แต่ตอนนี้เราสามารถทำงานเล็ก ๆ อย่างเดียวที่เราถนัดให้กับหลาย ๆ บริษัทได้ เช่น ทำกราฟิก 1 ชิ้นราคา 5 ดอลลาร์ แต่ทำให้เป็นร้อยเป็นพันบริษัททั่วโลกก็ได้ พวกนี้ถูกปลดล็อกด้วยเทคโนโลยีทั้งหมด แล้วคุณก็ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคาร แต่รับค่าแรงเป็นคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่มีค่าธรรมเนียมไม่ว่าจะโอนประเทศไหน ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็เปลี่ยนวิธีการทำงานในโลกจริงได้


©Peggy Anke/Unsplash

พอทุกอย่างเป็นดิจิทัล ก็ไม่มี friction (แรงเสียดทาน) ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เราไม่ต้องมีอะไรที่เป็นกายภาพ หรือมีเรื่องพรมแดน เรื่องระยะทางเข้ามาเกี่ยว ที่ทำให้เข้าถึงคนทั้งโลกไม่ได้ ซึ่งนี่คือข้อดีของการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นดิจิทัล อีกหน่อยเศรษฐกิจที่ใหญ่มากของโลกคือ Digital Economy ไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่มูลค่าก็จะเป็นดิจิทัลด้วย ทุกคนก็จะใช้เวลาอยู่ในโลกดิจิทัลหรือในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และมันจะกลายเป็นโลกหลักของเราเลย

ตอนนี้ที่ Bitkub สร้างความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างแล้ว 
ตอนนี้ที่ Bitkub มีพนักงาน 1,400 คน เรามี 4 บริษัทแล้ว และเราก็อยากจะทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน หนึ่งคือเราทำตลาดคริปโตเคอร์เรนซี สองเราดูแลเรื่องการเติบโตของ NFT สามเราทำเรื่องอะคาเดมีที่เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ใช้งาน และสี่ก็จะเน้นเรื่องธุรกิจการลงทุน แต่ถามว่าตอนนี้เราโฟกัสอะไรที่เป็นระยะสั้น ก็จะเป็นเรื่องของคริปโตฯ และการทำ Fractional Ownership ของคอนโด ทองคำ หรือตลาดลิขสิทธิ์ทางปัญญา บรรดาของที่จับต้องไม่ได้แต่มีมูลค่าทางจิตใจ นอกจากนี้ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Bitkub Chain ที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชนไว้ใช้สร้างเหรียญ Bitkub Coin (KUB) ได้ ทั้งหมดก็เพื่อเป็นการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับโลกอนาคตที่อย่างน้อย ๆ คนไทยก็ยังเป็นเจ้าของนวัตกรรมอยู่

ข้อจำกัดหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ชะลอการเติบโตของวงการนี้หรือไม่ อย่างไร
มีผลกระทบอยู่แล้วครับ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการให้ความรู้กับทั้งผู้ออกกฎและผู้ใช้งานให้มากขึ้น เพื่อให้เขาไม่กลัวกับสิ่งใหม่ ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะกลัวสิ่งใหม่ เพราะคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไงก็ตามเราไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งให้ล้าหลังไปจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ผ่านมาประเทศที่เปิดรับอินเทอร์เน็ตก่อน ก็จะมี Facebook มี Google ของตัวเองที่เป็นบริษัทยุคใหม่ซึ่งเพิ่มจีดีพีใหม่ ๆ ให้กับประเทศ ประเทศไหนที่เปิดรับช้าหน่อย ก็ต้องยึดติดกับธุรกิจเก่า อาจจะขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ อาจจะไม่สามารถสร้างแพลตฟอร์ม หรือระบบงานเป็นของตัวเอง ซึ่งอันนี้ก็อยู่ที่ประเทศเราว่าจะเข้าใจสิ่งใหม่ได้เร็วมากน้อยแค่ไหน 

ยิ่งเราเข้าใจได้เร็ว ก็ยิ่งมีประโยชน์กับประเทศ ทุกวันนี้เราใช้ Grab หรือ Line กันเยอะมาก น่าเสียดายที่แอพพลิเคชันเหล่านี้เป็นของต่างชาติ ผมมองว่าถ้าจะตอบคำถามเรื่องนี้ มันก็ทำให้ช้าลง และเราก็ผิดหวังเล็กน้อย แต่ก็เข้าใจได้ครับเพราะว่ามันก็คือธรรมชาติของผู้คุมกฎหรือคนทั่วไปอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้กังวลมากเพราะว่าทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง

คุณกังวลว่าการก้าวหน้าไปมาก ๆ ของเทคโนโลยีจะทิ้งใครไว้ข้างหลังบ้างไหม 
สิ่งที่ผมกลัวมากกว่าการ Leave someone behind คือการ Leave ประเทศ behind มากกว่าครับ อันนั้นน่ากลัวที่สุด  เพราะถ้าไม่มีตัวแทนหรือไม่มีใครลุกขึ้นมาทำแบบนี้เมื่อไร นวัตกรรมทุกอย่างก็จะกลายเป็นของชาวต่างชาติหมด ทุกวันนี้ก็แทบจะไม่มีอะไรที่เป็นของคนไทยแล้ว และข้อเสียมาก ๆ เลยคือเขาจ่ายภาษีให้ประเทศน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ 

ผมคิดว่าเราควรมองประเทศว่าเป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ถ้าผู้ใหญ่บ้านทำงานไม่เป็น หรือยังทำงานแบบเก่า แต่บ้านนี้ยังต้องใช้จ่ายทุกวัน เงินก็ไหลออกนอกบ้านเรื่อย ๆ แล้วบ้านจะอยู่ยังไง จะต้องกู้มาเรื่อย ๆ อย่างนี้เหรอ วิธีเดียวที่จะทำให้บ้านหลังนี้เติบโตขึ้น ผู้ใหญ่บ้านต้องเก่งขึ้นมา แล้วต้องทำอาชีพใหม่ให้เป็น ต้องออกไปหาเงินเข้าบ้าน ซึ่งเรา (Bitkub) ก็คืออาชีพใหม่ที่สร้างเงินให้ประเทศได้ ถ้าถามว่าต้องมีกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังบ้างไหม ผมเชื่อว่าก็ต้องมีในทุกการเปลี่ยนแปลง แต่โลกหยุดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ดี ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ แล้วก็เป็นของชาวต่างชาติด้วย สู้เรามีอะไรเป็นของคนไทยแล้วเอาไปอวดประเทศอื่นดีกว่าไหม

ทุกวันนี้ ที่ Bitkub เราสอนพนักงานพันสี่ร้อยกว่าคนให้มีสกิลในการทำงานแบบใหม่ เราใช้มากกว่า 50 แอพพลิเคชันในการเปลี่ยนวิธีการทำงานของคนของเรา เพื่อสอนงานให้พนักงานเก่งขึ้น และให้เขาสอนเพื่อน หรือสอนคนอื่นต่อ จนเกิดแรงกระเพื่อมไปที่อื่น ๆ เราจำเป็นต้องช่วยกันเพื่อสร้างให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ถึงจะมีใครถูกทิ้งใครไว้ข้างหลัง ก็ขอให้ถูกทิ้งไว้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ทั้งประเทศเราถูก Leave behind 

เป้าหมายของท๊อป-จิรายุส
เรายังคงอยากจะเป็นยูนิคอร์นของประเทศไทย ผมอยากทำให้คนไทยภูมิใจว่าคนไทยก็เก่ง เราไประดับโลกได้ และเราก็คิดว่าเราใกล้ถึงระดับนั้นแล้ว ถ้าไม่ผิดพลาดอะไร ก็น่าจะสามารถประกาศการเป็นยูนิคอร์นได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งอันนี้เป็นเป้าหมายระยะสั้น ส่วนเป้าหมายระยะยาว ผมอยากจะสร้างบริษัทที่ไประดับโลกได้เหมือน Apple เหมือน Facebook ที่ไปที่ไหนทุกคนก็ชื่นชม เราอยากไปที่ไหนในโลก แล้วทุกคนก็ใช้ Bitkub และภาคภูมิใจว่านี่คือแอพพลิเคชันของคนไทย ที่เกิดจากบริษัทคนไทย เพราะเราไม่ได้อยากเป็นแค่ Good Company แต่จะต้องเป็น Great Company ซึ่งปกติจะมีแค่ 1% ของบริษัทเท่านั้นที่ทำได้ นี่คือมิชชันของผมและของ Bitkub ด้วยครับ

1การประมูลแบบอังกฤษ (English Auction) คือการที่ให้ผู้ซื้อเสนอราคาเข้ามากี่ครั้งก็ได้จนถึงเวลาที่ปิดการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลคือผู้เสนอราคาสุดท้ายที่เป็นราคาสูงที่สุด ส่วนการประมูลแบบดัตช์ (Dutch Auction) เป็นวิธีการประมูลที่ผู้ขายจะกำหนดราคาเสนอขายสำหรับสินค้าไว้ที่สูงที่สุดแล้วค่อย ๆ ลดราคาขายลงมาจนอยู่ในระดับที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ

เรื่อง : กองบรรณาธิการ