Social Credit สะสมความดีในโซเชียล เพื่อเครดิตทางการเงิน
Technology & Innovation

Social Credit สะสมความดีในโซเชียล เพื่อเครดิตทางการเงิน

  • 27 Jul 2021
  • 2087

เวลาที่เราต้องการยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแม้แต่สมัครบัตรเครดิต หลายคนอาจคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วกับขั้นตอนตรวจสอบพฤติกรรมทางการเงินของผู้กู้ผ่านบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ภาระค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ และข้อมูลการชำระหนี้ที่ผ่านมา เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้นั่นเอง

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในยุคที่ธุรกิจเริ่มขับเคลื่อนด้วยดาต้า เราเริ่มเห็นข่าวคราวที่ภาคธุรกิจรวมถึงผู้ปล่อยสินเชื่อ เริ่มนำพฤติกรรมและข้อมูลจากแหล่งโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ของลูกค้ามาใช้ในการวิเคราะห์และให้คะแนนความน่าเชื่อถือร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยระบบที่นำข้อมูลพฤติกรรมจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ของลูกค้ามาใช้นี้เรียกว่า "Social Credit" 

วัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์
Social Credit เริ่มเป็นที่รู้จักจากโครงการ Social Credit System หรือระบบเครดิตทางสังคม ที่ประเทศจีนนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2014-2020 เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นพลเมืองให้มีพฤติกรรมที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยใช้ข้อมูลเครดิตของบุคคลในการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม มีจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกลไกการให้รางวัลและบทลงโทษ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และยกระดับเครดิตโดยรวมของสังคม

อาจกล่าวได้ว่า Social Credit System เป็นระบบการให้คะแนนมารยาทและคะแนนทางสังคมให้กับคนในประเทศ โดยรัฐบาลมีระบบติดตามสอดส่องพฤติกรรมของประชาชนทุกหนทุกแห่ง และรวบรวมข้อมูลไว้ในระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทางการเงินอย่างการจ่ายภาษี การจ่ายค่าเช่าบ้าน หรือพฤติกรรมทางสังคมอย่างการปฏิบัติตามกฎจราจร การแยกขยะ การช่วยเหลือเพื่อการกุศล หรือแม้แต่การพาพ่อแม่ไปหาหมอ ซึ่งหากประชาชนคนนั้น ๆ มีพฤติกรรมดี ก็จะมีคะแนนสะสมจนได้รับรางวัลตามที่กำหนด เช่น ส่วนลดการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทุนการศึกษา โอกาสในการเข้ารับราชการ ฯลฯ

แต่ถ้าหากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่น สูบบุหรี่ เปิดเพลงดังบนรถไฟ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อาละวาดบนเครื่องบิน ฯลฯ จนมีคะแนนสะสมที่ต่ำ ก็จะเจอกับบทลงโทษต่าง ๆ เช่น การตัดสิทธิการใช้บริการสาธารณะ ถูกปิดกั้นโอกาสในการเข้าทำงาน ห้ามบินออกนอกประเทศ เป็นต้น


©vectorjuice/Freepik

ทางเลือกใหม่เพื่อสิทธิประโยชน์ทางการเงิน
แม้ชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะไม่พอใจเมื่อได้รู้ได้เห็นระบบเครดิตทางสังคมของจีน แต่กลับกลายเป็นว่าระบบคู่ขนานนี้ถูกพัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกาเสียเอง โดยเป็นการนำมาใช้ในภาคธุรกิจที่ Silicon Valley ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เติบโต และมีข้อมูลมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและพฤติกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้บริโภค

ตัวอย่างที่อาจคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว คือ แพลตฟอร์มการให้บริการที่พักและกิจกรรมอย่าง Airbnb ที่ปัจจุบันระบบสามารถแบนผู้ใช้งานหรือปิดการใช้บัญชีของคุณตลอดชีวิตได้ หากเจ้าของที่พักให้คะแนนหรือรีวิวลูกค้าว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขณะอยู่ในที่พัก

หรือในแพลตฟอร์ม Ride Sharing อย่าง Uber เอง ลูกค้าก็สามารถถูกแบนได้เหมือนกัน โดยหลังจากที่ลูกค้าลงจากรถ ไม่เพียงแต่แอพฯ จะส่งคำเชิญให้ลูกค้าให้คะแนนคนขับเท่านั้น แต่คนขับเองก็ได้รับคำเชิญให้สามารถให้คะแนนลูกค้าด้วยเหมือนกัน และหากคะแนนเฉลี่ยที่ได้ “ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมาก” Uber ก็จะไม่ให้ใช้บริการอีกนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น Social Credit ยังถูกนำมาใช้ในวงการฟินเทค หรือเทคโนโลยีทางการเงินในสหรัฐฯ อีกด้วย โดยเหล่าบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ได้หันมาใช้ “ข้อมูลทางเลือก” ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่รวบรวมจากโซเชียลมีเดียอย่างการโพสต์รูปภาพ แชร์ ไลก์ ผู้ติดต่อ แม้กระทั่งนิสัยการพิมพ์และรูปแบบการเขียน ในการประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้ยื่นขอสินเชื่อมากขึ้น


©cottonbro/Pixels

ซึ่งในระยะแรก แม้จะไม่มีการกำหนดเกณฑ์การประเมินแบบมีมาตรฐานขึ้นมา คือแต่ละบริษัทสามารถตั้งมาตรฐานของตัวเองขึ้นมาได้ แต่หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ ก็สนับสนุนให้ใช้ข้อมูลทางเลือกนี้มาคำนวณ Credit Score ของผู้บริโภค ด้วยเหตุผลว่า “ข้อมูลทางเลือกอาจช่วยให้ผู้บริโภคหลายล้านคนที่คะแนนเครดิตในระบบสินเชื่อกระแสหลักไม่ค่อยดีนัก สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่ออื่นในระบบได้”

โดยในปี 2015 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ของโลกอย่างเฟซบุ๊กได้จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีสำหรับการอนุมัติสินเชื่อโดยอิงจากการเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียของยูสเซอร์ ซึ่งในขณะนั้นเฟซบุ๊กยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ ก่อนที่ในปี 2018 จะพบว่าเฟซบุ๊กได้จดสิทธิบัตรเพิ่มอีกฉบับที่มีชื่อว่า “การจำแนกกลุ่มเศรษฐกิจและสังคมตามคุณลักษณะของผู้ใช้” ซึ่งอธิบายถึงการใช้อัลกอริทึมในการวิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดระดับสังคมของผู้ใช้ ออกเป็นประเภทต่าง ๆ คือ ชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นสูง โดยวิเคราะห์จากข้อมูลสถานะความเป็นเจ้าของบ้าน การศึกษา จำนวนอุปกรณ์ที่เป็นเจ้าของ เป็นต้น ซึ่งเฟซบุ๊กระบุว่า อัลกอริทึมนี้มีไว้สำหรับ “บุคคลที่สาม” เพื่อเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของผู้ใช้งานบนสังคมออนไลน์


©Tracy Le Blanc/Pixels

นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ ยังมีการนำ Social Credit มาใช้ในธุรกิจประกันชีวิต ที่บริษัทประกันสามารถกำหนดราคาเบี้ยประกันโดยอาศัยข้อมูลจากโซเชียลมีเดียของลูกค้าได้ เช่น หากโพสต์ภาพสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก็อาจต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันแพงกว่า แต่หากโพสต์ภาพกำลังเล่นโยคะที่แสดงถึงการรักสุขภาพ ก็อาจทำให้จ่ายเบี้ยในราคาถูกกว่านั่นเอง (โดยหน่วยงานกำกับดูแลระบุว่าบริษัทประกันภัยต้องแสดงให้เห็นว่าหลักฐานทางโซเชียลมีเดียชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยง และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติใด ๆ โดยบริษัทไม่สามารถใช้โพสต์โซเชียลในการเปลี่ยนเบี้ยประกันภัยตามเชื้อชาติหรือความทุพพลภาพ เป็นต้น)

ดังนั้น หากมองดูแล้ววิธีการนี้ก็มีประโยชน์กับผู้บริโภคไม่น้อย เพราะหากเรายิ่งโพสต์ใน “สิ่งดี ๆ ” ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ ข้าวของเครื่องใช้ที่มี การกินอาหาร การดูแลสุขภาพ ทัศนคติ ฯลฯ ก็ยิ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือหรือมีคะแนนเครดิตที่ดี ๆ ที่เราสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการขอสินเชื่อ รวมถึงเป็นส่วนลดประกันชีวิตได้ ไม่เพียงเท่านั้น มันยังเป็นการสร้างมุมมองด้านบวกของเราให้เพื่อนในโซเชียลได้รู้ หรืออาจสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้ผู้คนได้ด้วย


©gstudioimagen/Freepik

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ
อย่างไรก็ดี เมื่อดาบยังมีสองคม เหรียญยังมีสองด้าน ก็ต้องไม่ลืมว่า Social Credit ในลักษณะนี้ก็มีอันตรายหลายอย่างที่ต้องพึงระวัง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคมมากขึ้น และอาจละเมิดนโยบายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความไม่ชัดเจนของเกณฑ์การตัดสินที่ไม่อาจสามารถพิสูจน์ได้ว่า ข้อมูลที่เห็นในโซเชียลเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงอย่างไร นำมาสู่การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ที่เปรียบเสมือนเป็นการให้รางวัลหรือลงโทษนอกกฎหมาย ชนิดที่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิน้อยกว่าไม่สามารถอุทธรณ์หรือเรียกร้องอะไรได้มากนัก เพราะกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ออกโดยบริษัทเอกชน และสุดท้ายแล้ว อาจนำไปสู่การที่สังคมถูกกำหนดทิศทางโดยภาคเอกชนอย่างไม่เป็นธรรมได้

ท้ายที่สุด หากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต้องการที่จะส่งเสริมการรวมนวัตกรรมและบริการทางการเงินเข้าไว้ด้วยกัน ก็ควรต้องกำหนดกฎหมายและข้อบังคับในการต่อต้านการเลือกปฏิบัตินี้ให้ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ผู้บริโภคจะไม่พบกับการให้คะแนนอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพราะอาศัยข้อมูลกว้าง ๆ บนโซเชียลมีเดียที่พวกเขาอาจไม่ได้ตั้งใจสร้างมันขึ้นมาก็ได้

ที่มาภาพเปิด : macrovector/Freepik

ที่มา :
บทความ “Social Credit: Much More Than Your Traditional Financial Credit Score Data” โดย Nizan Geslevich Packin จาก www.forbes.com
บทความ “Uh-oh: Silicon Valley is building a Chinese-style social credit system” โดย Mike Elgan จาก www.fastcompany.com
รายงานพิเศษ “จีนสร้างภาพลักษณ์ใหม่ด้วยระบบเครดิตทางสังคม” จาก www.bot.or.th

เรื่อง : ณฐมน ธนาตระกูล