
เปิด 7 นวัตกรรมจากข้าวไทยที่เป็นได้มากกว่าความอร่อย
การเพาะปลูกและทำเกษตรกรรมของชาวไทยอีสาน คือหนึ่งในสินทรัพย์ล้ำค่าที่ถูกถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จนเกิดเป็นพันธุ์ข้าวซึ่งมีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่สร้างชื่อเสียงไปทั่ว ทั้งข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวทับทิมชุมแพ และข้าวเหนียวเขาวง แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการพัฒนาข้าวระหว่างสายพันธุ์ให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น รวมถึงทนต่อสภาพแวดล้อมกว่าสองหมื่นสายพันธุ์ทั่วประเทศ แต่ “อีสาน” ก็ยังเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่อุดมไปด้วยจิตวิญญาณและความชำนาญในการปลูกข้าว
ข้าวหมัก-หมักข้าว
การหมักข้าวเพื่อถนอมอาหารคือภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่มี ซึ่งนอกเหนือจากเมนูยอดฮิตอย่างข้าวหมาก ปลาส้ม ปลาร้า หรือสาเก ยังมีการใช้ประโยชน์จากน้ำข้าวหมัก ไม่ว่าจะเป็น “เทวาผ้าไทย” กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ได้นำเส้นใยไปหมักด้วยน้ำหมักจากน้ำซาวข้าวเหนียวเพื่อถนอมเนื้อผ้าให้มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม และยังช่วยยืดอายุการใช้งาน1 รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรียที่เพาะเลี้ยงในกระบวนการหมักข้าวของบริษัท ไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด ที่สังเคราะห์เป็นแผ่นเซลลูโลสชีวภาพ2 สารพัดประโยชน์ สามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งขนมเยลลีน้ำผลไม้ แผ่นหนังมังสวิรัติ3 ไปจนถึงแผ่นปิดแผล
ภาพตัวอย่างผลิตภัณฑ์แผ่นหนังมังสวิรัติ (ซ้าย) และแผ่นปิดแผล (ขวา)
มากไปกว่านั้น การแช่ข้าวก็ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีพื้นบ้านของกลุ่มหัตถกรรมผ้าและของฝาก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในการนำมาย้อมสีผ้าด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งจะให้สีแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของข้าว เช่น ข้าวเหนียวดำให้สีน้ำตาลเข้ม ข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้สีม่วง เป็นต้น4 ในปัจจุบันยังมีการต่อยอดนวัตกรรมการใช้สารสกัดจากข้าวในการย้อมสีเพิ่มเติมในวงการแพทย์ โดยภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่ชุดย้อมสีจากข้าวเหนียวดำสำหรับการตรวจย้อมอสุจิเพื่อตรวจวิเคราะห์ภาวะมีบุตรยากและใช้พิสูจน์หลักฐานในทางนิติเวช5
ภาพตัวอย่างผลิตภัณฑ์สีย้อมผ้าจากข้าว (ซ้าย) และชุดย้อมสีจากข้าวเหนียวดำ (ขวา)
ประโยชน์จากแกลบ
“แกลบ” ที่เหลือจากการสีข้าว จากอดีตที่เป็นเพียงเชื้อเพลิงให้พลังงานความร้อน ปัจจุบันรองศาสตราจารย์ ดร. รัชฎา บุญเต็ม ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ศึกษาต่อยอดคุณสมบัติเฉพาะตัวของขี้เถ้าแกลบที่อุดมไปด้วย “ซิลิกา” องค์ประกอบที่สำคัญในการนำไปขึ้นรูปชิ้นงานแก้ว เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากความเป็นพิษของโลหะหนัก และพบว่าแก้วที่ได้มีคุณภาพดีเหมาะแก่การนำไปถักทอขึ้นรูปเป็นลูกปัดแก้ว และยังสามารถออกแบบเป็นชิ้นงานร่วมสมัย6 โดยอีกหนึ่งนวัตกรรมจากขี้เถ้าแกลบก็คือการผลิตนาโนซิลิกอนเพื่อเป็นขั้วแบตเตอรีลิเธียมไอออนที่ทำให้แบตเตอรี่มีความจุสูงขึ้นเมื่อเทียบกับแบตเตอรีขนาดเดียวกันซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปัจจุบันได้สร้างโรงงานต้นแบบแบตเตอรีลิเทียมไอออนเพื่อเป็นโรงงานผลิตนาโนซิลิกอนจากแกลบและเถ้าแกลบได้สำเร็จแล้ว เป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้ของเหลืออย่างแกลบมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ7
ภาพตัวอย่างผลิตภัณฑ์แก้วจากขี้เถ้าแกลบ (ซ้าย) และแบตเตอรี่จากเถ้าแกลบ (ขวา)
จะเห็นได้ว่านวัตกรรมนั้นบางทีอาจเริ่มต้นมาจากการสงสัยและสังเกตสิ่งใกล้ตัว ขณะที่ความคิดสร้างสรรค์จะเข้ามาพัฒนาและต่อยอดผลงานให้มีคุณค่ามากขึ้นได้ ในอนาคตจึงอาจมีอีกหลายผลงานจากสิ่งรอบตัวที่เราเคยมองข้ามไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทรัพยากรในสิ่งแวดล้อมเริ่มมีจำกัด การใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ก็คือทางรอดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เคย
สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุและนวัตกรรมเพิ่มเติมได้ที่
tcdcmaterial.com
materialconnexion.online
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
E-mail : Infomaterials@cea.or.th
Line Official : @TCDC
ที่มา :
1วัสดุ “เส้นใยและผ้าหมักน้ำข้าว” จากฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database
2วัสดุ “Bioleather” จากฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database
3วัสดุ “เซลลูโลสชีวภาพ” จากฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database
4วัสดุ “สีย้อมผ้าจากข้าว” จากฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database
5ข้อมูล “ชุดย้อมสีจากข้าวเหนียวดำสำหรับประเมินรูปร่างอสุจิและงานนิติวิทยาศาสตร์” จาก innovationthailand.org โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
6วัสดุ “แก้วจากขี้เถ้าแกลบ” จากฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database
7บทความ “อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์สังเคราะห์นาโนซิลิกอนจากเถ้าแกลบสร้างแบตเตอรี่เพิ่มพลังงาน12เท่า!” โดย ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จาก physics.sc.kku.ac.th
เรื่อง : มนต์นภา พานิชเกรียงไกร