Circular Design เปลี่ยนโลกด้วยการออกแบบหมุนเวียน
Technology & Innovation

Circular Design เปลี่ยนโลกด้วยการออกแบบหมุนเวียน

  • 31 Aug 2021
  • 1050

โลกกำลังเปลี่ยนไปแล้ว อุตสาหกรรมเสื้อผ้า แฟชั่น สิ่งทอ ในรูปแบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่เป็นตัวการทำร้ายโลกอันดับ 2 เป็นรองเพียงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ถึงเวลาต้องปรับตัวสู่เศรษฐกิจแบบวงกลมหรือที่เรียกกันว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อหันมาทะนุถนอมสิ่งแวดล้อมโลกกันแล้ว โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าคุณภาพดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการทำร้ายโลก

กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution และผู้จัดการโครงการ Circular Design Program สมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็ค ประเทศไทย ซึ่งทำงานขับเคลื่อนการสร้างการฝึกอบรมทางด้านการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design)ให้แก่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงมีข้อมูลมากมายมาแบ่งปันถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในงานเสวนาออนไลน์ “แฟชั่นสิ่งทออีสานกับ Circular Design” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Isan Creative Festival 2021 เมื่อเร็ว ๆ นี้

เสื้อผ้ามาเร็วไปเร็ว แต่ทิ้งขยะไว้มหาศาล
“กลุ่มประชากรไทย เป็นนักช้อปเสื้อผ้าตัวยง ซื้อเสื้อผ้ามูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง แนวโน้มการใช้งานเสื้อผ้าที่ซื้อมาจะมีจำนวนน้อยครั้ง สุดท้ายต้องกำจัด” กมลนาถเปิดประเด็นด้วยสถิติการช้อปปิ้งเสื้อผ้าของคนไทย

ในบรรดาเสื้อผ้าที่สะสมอยู่ในตู้จำนวนมากนี้ กมลนาถบอกว่า แม้วิธีการกำจัดจะมีทั้งการบริจาค 62% รีไซเคิล 20% ขายต่อทางออนไลน์ 17% และทิ้งขยะไปตรง ๆ 7% แต่สุดท้ายแล้วปลายทางของเสื้อผ้าทั้งหมดคือถังขยะแน่นอน โดยมากกว่า 73% จะถูกส่งไปหลุมฝังหรือเผาทำลาย ก่อให้เกิดมลพิษ เพราะ 60% ของเสื้อผ้าในปัจจุบันทำจากเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

“หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 30 ปีพลาสติกในทะเลจะมีมากกว่าปลา”

หรือแม้แต่ฝ้าย เธอก็ยังบอกว่า การผลิตก็ต้องใช้ที่ดินและน้ำปริมาณมาก โดยการผลิตเสื้อผ้า 1 กิโลกรัมมีการใช้น้ำ 2,000 ลิตร เสื้อยืดสีขาว 1 ตัวใช้น้ำในการผลิต 2,720 ลิตร ปริมาณเท่ากับน้ำที่ดื่มได้ 3 ปี ทำให้การผลิตเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในต้นตอปัญหาขาดแคลนน้ำ ทั้งยังใช้สารเคมีมหาศาล เชื่อมโยงกับปัญหาสภาวะเปลี่ยนแปลงของอากาศ มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผืนดินแห้งแล้ง เป็นกรด

“อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในการผลิตของอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวที่ทำกันทั่วโลก เป็นสิ่งที่มาเร็วไปเร็ว แต่ทิ้งผลลัพธ์ไว้มหาศาล”

เศรษฐกิจหมุนเวียน...คุณค่าไม่รู้จบ
ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution กล่าวต่อไปว่า หากปล่อยให้เศรษฐกิจแบบเส้นตรงยังเดินต่อไป ที่สุดจะถึงทางตัน เพราะอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอมีเส้นทางเช่นเดียวกับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปลายทางคือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ระหว่างทางของการผลิตจะมีของเสียและต้นทุนที่หลุดรอดออกไปมากมาย ทั้งวัสดุ ทรัพยากร เวลา พลังงานจากฟอสซิล ทรัพยากรอื่น ๆ ที่ไม่อาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก จนกระทั่งทรัพยากรหมดไปจากโลก

“การผลิตในระบบอุตสาหกรรมมีหลักว่าต้องผลิตให้ได้มากที่สุดเพื่อทำกำไรสูงสุด ทำให้เกิดการเร่งผลิต ลดต้นทุนลง ของทุกอย่างจึงมีคุณภาพลดลง เมื่อก่อนนี้แม้จะมีการพูดถึงแนวคิดรีไซเคิลกันมาก แต่ที่สุดแล้วก็ต้องลงเอยที่ถังขยะเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่รีไซเคิล วัสดุจะมีคุณภาพลดลงเรื่อย ๆ จนนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้”

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดใหม่ของเศรษฐกิจแบบวงกลมจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง โดยเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรให้อยู่ในระบบมากที่สุด

“เศรษฐกิจหมุนเวียนมีแนวคิดมาจากระบบนิเวศในธรรมชาติที่สสารไม่มีวันสูญสลาย มีการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ และรักษาคุณค่าใหม่ในระบบได้อย่างไม่รู้จบ ที่สุดแล้วก็คือเป็นการฟื้นฟูระบบธรรมชาติ ด้วยการออกแบบ และเป็นเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคที่รักโลก รักสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลทั่วโลก จนกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจ รวมทั้งไทยก็เริ่มสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green : BCG) ในการเปิดการค้ากับกลุ่มใหม่ ๆ หรือส่งออกไปประเทศคู่ค้าที่มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสทางธุรกิจระดับ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 นับเป็นเป็นทางออกของปัญหาเก่าและเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาเดิม ๆ จนเกิดทางตัน”

ยั่งยืน ยืดหยุ่น ยืนยาว
การออกแบบหมุนเวียน เป็นแนวปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากตลาดที่ค่อนข้างอิ่มตัว โดยหลักการของการออกแบบหมุนเวียนนั้นมีอยู่ว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 80% ป้องกันได้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เจ้าของธุรกิจ นักออกแบบ และทุกคนในแวดวงอุตสาหกรรมล้วนมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ และการออกแบบระบบที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการคิดทั้งระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดของเสียตั้งแต่ต้นทาง

กมลนาถกล่าวว่า การออกแบบในเศรษฐกิจหมุนเวียนมีหลักการใน 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ การออกแบบเพื่อป้องกันมลพิษและขยะ, การรักษาคุณค่าตลอดการใช้งาน โดยของที่ได้สามารถนำเข้าสู่กระบวนการหมุนเวียนได้ และการฟื้นฟูระบบธรรมชาติ เมื่อสิ้นสุดปลายทางอายุของสินค้า สามารถกลายเป็นปุ๋ย หรือสร้างคุณค่าสิ่งใหม่ได้

ในส่วนกลยุทธ์ออกแบบ นักออกแบบแฟชั่นต้องทำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย ดูแลรักษาง่าย สวยงาม ยกระดับคุณภาพชีวิต เลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืน มีการออกแบบแพตเทิร์นให้ขยะเป็นศูนย์ หรือทำขนาดยืดหยุ่น ใช้งานได้หลายโอกาส สามารถยืดอายุการใช้งานรวมถึงการยืดระยะดูแลรักษาให้อยู่นานขึ้น เช่น บริการเช่าชุด รับซ่อมแซมเสื้อผ้า รับซื้อคืนเพื่อนำไปแยก ถอดประกอบสำหรับชุดใหม่ รวมถึงการนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ยกตัวอย่าง Mud Jeans ในเนเธอร์แลนด์ เป็นแบรนด์ยีนส์ครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ ผลิต จำหน่าย จะเลือกซื้อหรือเช่ายืมได้ เมื่อใช้เสร็จส่งคืนให้แบรนด์นำไปรีไซเคิลบดขยี้เป็นเส้นใยใหม่ ทอเส้นใยผลิตยีนส์ใหม่ออกมาได้

คืนความยั่งยืนให้ชาวอีสาน
กมลนาถกล่าวต่อไปว่า ภูมิปัญญาอีสานดั้งเดิมคือการผลิตแบบหมุนเวียน การปลูกฝ้ายเพื่อผลิตใช้ในครัวเรือน หรือสินค้าใช้ในชุมชน มีคุณภาพดี กระทั่งปี 2524 รูปแบบการผลิตดั้งเดิมเริ่มเสื่อมความนิยมเพราะไม่สามารถสู้ราคาการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนต่ำกว่าได้ แต่เมื่อเห็นถึงผลกระทบใหญ่หลวงจากระบบการผลิตในอุตสาหกรรมแบบเส้นตรง การหันกลับนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

ปัจจุบันในภาคอีสานมีตัวอย่างแบรนด์ที่ทำงานครบวงจรเช่น โฟล์คชาร์ม ซึ่งทำธุรกิจหัตถศิลป์ด้วยหลักจริยธรรม (Ethical Business) ทำงานร่วมกับชุมชนทอผ้า ในจังหวัดเลย สุรินทร์ สกลนคร โดยชาวบ้านปลูกผ้ายอินทรีย์เอง เก็บเกี่ยว นำมาทอผ้า และตัดเย็บ ทั้งหมดด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม การผลิตมีปริมาณไม่มาก เพื่อให้สามารถควบคุมทุกขั้นตอนได้ รวมถึงการกำหนดราคาจำหน่ายเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

อีกแบรนด์หนึ่งก็คือ ภูคราม จังหวัดสกลนคร ที่มีทั้งปลูกฝ้ายเอง และรับซื้อจากจังหวัดใกล้เคียง ผลิตเสื้อผ้าด้วยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ไม่ออกแบบเสื้อผ้าตามเทรนด์ ไม่มีไซส์ ไม่เสียไปตามกาลเวลา คงความคลาสสิก และขายได้ราคา

“อีกวัสดุที่สำคัญในอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอ คือ ไหม ซึ่งมีวงจรชีวิตเป็น Circular อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องหาทางออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีการหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และสามารถนำมาใช้ได้หลายโอกาสต่อไป”

การออกแบบช่วยเปลี่ยนโลกได้...ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราอาจเคยรู้จักกันเพียงแค่ Reuse, Reduce และ Recycle แต่ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ของการใช้ชีวิต การออกแบบหมุนเวียนซึ่งใช้หลัก ยั่งยืน ยืดหยุ่น ยืนยาว กลายเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงกันมากขึ้น จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสากรรมแฟชั่นและสิ่งทอจะร่วมกันเปลี่ยนโลกด้วยแนวคิดของการออกแบบหมุนเวียน เพื่อให้โลกใบนี้มีทรัพยากรและสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับคนรุ่นหลังไปได้อีกนาน

เรื่อง : มรกต รอดพึ่งครุฑ