The Hidden Benefits ยกระดับสมุนไพรไทย สรรพคุณ และศักยภาพที่ยังถูกซ่อนไว้
Technology & Innovation

The Hidden Benefits ยกระดับสมุนไพรไทย สรรพคุณ และศักยภาพที่ยังถูกซ่อนไว้

  • 01 Sep 2021
  • 1014

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกด้านสุขภาพที่ผู้คนให้ความสนใจ แต่หากย้อนกลับไปดูการเดินทางของสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ จะพบว่ากว่าที่วัตถุดิบหนึ่งชนิดจะเดินทางมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือยารักษาโรคที่ได้รับการยอมรับนั้น กลับมีความซับซ้อนและมีขั้นตอนซ่อนอยู่มากมาย ดร. สัญชัย เอกธวัชชัย หัวหน้าทีมวิจัยจากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ริเริ่มโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งนักวิจัย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และอีกหลายภาคส่วน เพื่อพัฒนา “แพลตฟอร์มนวัตกรรมด้านสมุนไพร” ขึ้น

กว่าสมุนไพรจะมากลายมาเป็นผลิตภัณฑ์
ก่อนที่สมุนไพรจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดและอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้นั้น ด่านสำคัญที่จะต้องผ่านให้ได้คือการได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แม้จะดูตรงไปตรงมา แต่ 2 ปัญหาที่ผู้ประกอบการสมุนไพรหลายรายมักจะพบคือ

  1. สารสกัดสมุนไพรไทยบางชนิดไม่สามารถใช้ในผลิตภัณฑ์ได้ : แม้สมุนไพรเหล่านั้นจะคุ้นเคย เป็นที่รู้จัก และมีประวัติการใช้งานมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อนำสมุนไพรไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาให้อยู่ในรูปสารสกัดสมุนไพรไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์กลับไม่สามารถทำได้

  2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยบางชนิดยังไม่สามาถรถอ้างสรรพคุณได้ : แม้สมุนไพรบางชนิดจะได้รับการอนุญาตแล้ว แต่พอจะนำผลิตภัณฑ์นั้นมาโฆษณาถึงสรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ กลับยังไม่สามารถทำได้ 

เนื่องจากสิ่งสำคัญอันดับแรกของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพคือความปลอดภัย แม้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และการทดสอบประสิทธิภาพ ไปจนถึงความปลอดภัยของสารสกัดสมุนไพร จะทำให้ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ทั่วไปได้ แต่หลักฐานการทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของสารสกัดเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ จำเป็นต้องมีการทดสอบความปลอดภัย และประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์ (Clinical Trial) ที่แม้จะใช้งบประมาณมาก แต่ก็ทำให้แน่ใจว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียน จะผ่านการพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการรักษาโรคอย่างที่จะกล่าวอ้างได้จริง 

3 วิธีต่อยอดยกระดับสมุนไพรไทย
เนื่องจากองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นมีหลากหลาย เช่น ตำรับยาแผนโบราณอาจบอกว่าสมุนไพรชนิดหนึ่งมีสรรพคุณรักษาอาการป่วยได้หลายอาการ แต่การรับรองในปัจจุบันอาจครอบคลุมสรรพคุณเพียงบางอาการเท่านั้น เป็นสาเหตุให้เกิดความสับสนในแง่ของสรรพคุณของสมุนไพรและตำรับยาชนิดต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพอย่างเป็นทางการได้มากขึ้น และยกระดับองค์ความรู้ให้ทัดเทียมกับผู้นำในตลาดการแพทย์ทางเลือกของโลกได้นั้น อาจสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่

  • การขยายสรรพคุณ : ตำรายาแผนโบราณ มักบอกไว้ว่าสมุนไพร และตำรับยาสมุนไพรชนิดใด มีสรรพคุณในการรักษาอาการป่วยอะไรบ้าง และบ่อยครั้งที่ตำรับยาสมุนไพรชนิดเดียวสามารถนำไปประยุกต์ใช้รักษาโรคได้หลากหลาย (แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการรับรองทั้งหมด) ดังนั้นถ้าเราผลักดันให้เกิดการทดสอบทางคลินิกเพื่อให้เกิดการรับรองสรรพคุณอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นได้ ก็จะเป็นการต่อยอดสมุนไพรที่เรามีอยู่แล้วให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

  • คัดกรองสมุนไพรที่มีศักยภาพเพื่อขยายสรรพคุณ : ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า High Throughput Screening (HTS) ที่สามารถตรวจหาสารเคมี หรือสารสกัดสมุนไพรที่น่าจะมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นยาใหม่ ๆ ได้ ซึ่งแทนที่จะต้องทำการทดสอบและวิจัยในสมุนไพรทุกชนิดซึ่งใช้เวลาและงบประมาณมาก การคัดกรองจะช่วยให้ประหยัดเวลาในค้นหาและได้ตัวเลือกสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงก่อน เพื่อที่จะนำไปทดสอบต่อไป

  • พัฒนากระบวนการรับรองสรรพคุณแบบทางเลือก : ปัจจุบันหัวใจสำคัญในการรับรองสรรพคุณด้านสุขภาพของสมุนไพรคือการทำวิจัยในมนุษย์ ที่แม้จะเป็นมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัย และประสิทธิภาพที่ได้รับการยอมรับ แต่ก็มีความซับซ้อนสูง ดังนั้นหากสามารถคิดค้นกระบวนการทดสอบที่มีมาตรฐาน วัดผลได้ และได้รับการรับรองเช่นเดียวกับการทำวิจัยในคนได้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

องค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทยนับเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดกันมายาวนาน และปัจจุบันมีการคุ้มครองรายการตำรับยาแผนไทยไว้มากถึง 32,758 ตำรับ แต่น่าเสียดายที่กลับมียาแผนไทยหรือยาพัฒนาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรวมทั้งสิ้นเพียง 74 รายการเท่านั้น หากเราสามารถผลักดันและต่อยอดองค์ความรู้เหล่านี้ออกไปเพื่อให้คนทั่วไปรับรู้และเชื่อมั่นได้ การนำสมุนไพรมาใช้ในการดูแลสุขภาพก็จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเข้าถึงยากอีกต่อไป

ที่มา :
Herbal Innovation Platform Development โดย ดร. สัญชัย เอกธวัชชัย, ปรัชญ มีนาทุ่ง และพิมพิชชารัณย์ พิมพ์ดา จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
หนังสือ “รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” โดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนโชติ