ยกระดับมาตรฐานสมุนไพรด้วย “เทคโนโลยีโอมิกส์”
Technology & Innovation

ยกระดับมาตรฐานสมุนไพรด้วย “เทคโนโลยีโอมิกส์”

  • 01 Sep 2021
  • 1136

หากเปิดตู้ยาประจำบ้าน นอกจากจะมียาสามัญไว้ยามฉุกเฉิน หลายบ้านก็มักจะมียาจากสมุนไพรติดไว้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ขมิ้นชัน มะขามป้อม ยาจันทน์ลีลา ยาเบญจโลกวิเชียร หรือบางครอบครัวก็ต้มน้ำขิง น้ำกระชายดื่มกันเป็นปกติ  ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ความสนใจของผู้คนต่อการใช้สมุนไพรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสก็มีมากขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังมีสมุนไพรอีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ยังต้องรอการยืนยันสรรพคุณด้วยการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน

ประวัติศาสตร์ของการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคนั้นมีมายาวนานมาตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์จะคิดค้นการรักษาโรคด้วยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ผลผลิตทางธรรมชาติมีโครงสร้างและสารประกอบทางเคมีที่ช่วยให้มนุษย์นำมาพัฒนาเป็นยาในปัจจุบันได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 1981-2010 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ในสหรัฐอเมริกาได้รับรองยาที่ผลิตขึ้นจากธรรมชาติ หรือมีส่วนประกอบของทางธรรมชาติไว้ถึง 45% จากจำนวนยาทั้งหมด

เมื่อมองกลับมาที่ยาแผนโบราณ โดยเฉพาะยาจีนซึ่งมีวิธีการรักษาต่างไปจากการรักษาแบบตะวันตก ตรงที่การรักษาจะวินิจฉัยที่ตัวของคนไข้มากกว่าตัวโรค โดยยึดทฤษฎีความสมดุลของร่างกาย (หยิน-หยาง) และใช้สมุนไพรเพื่อปรับสมดุล แม้การรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ในด้านการวิจัยกลับมีความท้าทายเนื่องจากขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์รับรอง 

การศึกษาด้านข้อมูลทางพันธุกรรมและกระบวนการทางชีวภาพจึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับความท้าทายนี้ โดยเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่วิเคราะห์องค์รวมของชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) อย่างละเอียดผ่าน “เทคโนโลยีโอมิกส์” (Omics Technologies) ที่ตรวจวัดข้อมูลที่ได้ลึกถึงระดับโมเลกุล ทั้งยังสามารถศึกษาการทำงานของชีวโมเลกุลจำนวนมากได้พร้อมกัน เพื่อหาความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสารชีวโมเลกุลที่ต้องการตรวจสอบ โดยเน้นการระบุฤทธิ์เชิงชีวภาพของสารสมุนไพรต่อโมเลกุลเป้าหมายผ่านการทดสอบกับเซลล์เพาะเลี้ยงของอวัยวะมนุษย์ จึงสามารถบอกให้ทราบถึงสรรพคุณทางยาที่มีความแม่นยำสูงของสมุนไพรได้หลากหลายชนิด

ความปลอดภัยของสมุนไพรและตำรับยาเป็นข้อคำนึงหลักสำหรับการรักษาด้วยยาแผนโบราณ ทั้งองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปและองค์การอนามัยโลกต่างก็มีการกำหนดมาตรการและกฎเกณฑ์ในด้านนี้ไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งบทบาทของการใช้เทคโนโลยีโอมิกส์ที่วิเคราะห์สมุนไพรได้หลายระดับตั้งแต่ ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ โปรตีน เมตาบอไลต์ (Metabolite) ไอออน และเซลล์ จะช่วยให้ผู้ผลิตยาสามารถพัฒนาและปรับปรุงตำรับยาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนสามารถผ่านมาตรฐานเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น 

ในบ้านเราก็มีบริษัทอย่าง เซลล์ดีเอ็กซ์ จำกัด (CellDX) เป็นบริษัทที่ต่อยอดมาจากห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยาเชิงระบบ (Siriraj Laboratory for Systems Pharmacology) เปิดบริการรับตรวจสอบสรรพคุณทางยาของสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีโอมิกส์ที่มีทั้งรูปแบบการเทียบเคียงสรรพคุณของสมุนไพรด้วยการวัดระดับการแสดงออกของยีนแบบเชิงระบบ และทดสอบระดับการทำงานของกลไกควบคุมเซลล์หลักด้วยเทคโนโลยีไบโอเซนเซอร์ (Biosensor) ที่จับคู่สรรพคุณของยาสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันที่ให้ผลการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลคล้ายคลึงกันได้เป็นอย่างดี

เทคโนโลยีโอมิกส์ไม่เพียงช่วยสร้างโอกาสมากมายให้แก่อนาคตของวงการสมุนไพร แต่ยังสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการให้มีมาตรฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อปรับปรุงตำรับยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงการรักษาที่หลากหลาย ลดปัญหาการขาดแคลนยารักษาโรค ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน

ที่มา :

บทความ "เทคโนโลยีโอมิกส์เพื่อการวิเคราะห์แบบเชิงระบบ (Novel omics methodology for systems analysis)" โดย Ars Longa Thailand จาก Ars Longa Thailand/Facebook
บทความ "OMICs ศาสตร์แห่งการไขความลับทางชีววิทยา (Chapter 1)" โดย scispec จาก scispec.co.th
งานวิจัย "The Use of Omic Technologies Applied to Traditional Chinese Medicine Research" โดย Dalinda Isabel Sánchez-Vidaña ,Rahim Rajwani และ Man-Sau Wong จาก hindawi.com
celldxlabs.com

เรื่อง : นพกร คนไว