COVID-19 Innovation ฝ่าวิกฤตโควิดด้วยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์
Technology & Innovation

COVID-19 Innovation ฝ่าวิกฤตโควิดด้วยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์

  • 13 Aug 2021
  • 222

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลก (Pandemic) ในประเทศไทยนั้นยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์จึงกลายเป็นปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ ซึ่งผลพวงจากความต้องการที่มากขึ้นนี้เองที่ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ขาดแคลน จุดเริ่มต้นจากปัญหาจึงก่อให้เกิดหนทางการเอาตัวรอดในวิถีใหม่ เมื่อผู้คนจำนวนหนึ่งได้พลิกวิกฤตให้เป็นแรงผลักดันสร้างสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสู้โควิดด้วยการสร้างเกราะป้องกันและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรสร้างสรรค์ผ่านหลากหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้และต้นแบบอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19” พร้อมจัดแสดงผลงานต้นแบบและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ยุคโควิดที่น่าสนใจ ณ TCDC กรุงเทพฯ โดยพื้นที่จัดแสดงได้แบ่งประเภทผลงานออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ 1. อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical devices) 2. อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หรือ Personal Protective Equipment (PPE) และ3. อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่สาธารณะ หรือ Public Protection (PP)

การจัดแสดงนวัตกรรม “COVID-19 Innovation Showcase” 
บริเวณ Creative Space ชั้น 5 TCDC กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม - 27 กันยายน 2563
สามารถดาวน์โหลดผลงานต้นแบบไฟล์ CAD (Open Source) เพื่อนำไปออกแบบ พัฒนา และผลิตด้วยเครื่องจักร 
ได้ที่ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และต้นแบบอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19

 

เมื่ออุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลน เหล่า “เมกเกอร์” จึงปรากฏตัว

ภารกิจของ CEA คือการสนับสนุนบุคลากรสร้างสรรค์ ให้เกิดการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา วัฒนธรรม และการผลิตจริง ด้วยเหตุนี้จึงร่วมมือกับ FabCafe Bangkok ซึ่งเป็น “เมกเกอร์” (Maker) ที่เชื่อมโลกของเทคโนโลยีและการออกแบบเข้าไว้ด้วยกัน พัฒนาและผลิตนวัตกรรมสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดและการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะเร่งด่วน ได้แก่ SWAB SHIELD, AEROSOL BOX, UVC-decontamination, HEPA H-14, PAPR HEADSUIT และ COVID BED ให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจาก FabCafe Bangkok แล้ว ยังมีเหล่าเมกเกอร์หรือผู้ผลิตอุปกรณ์ในภาคประชาชน หน่วยงานการศึกษา และองค์กรต่าง ๆ ร่วมมือกันส่งต่อนวัตกรรมให้กับทีมด่านหน้า เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้นำพลาสติกที่ยืดหยุ่น มาช่วยสร้างนวัตกรรมช่วงฉุกเฉิน รวมถึงออกแบบและพัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล จนได้ชุดอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจติดเชื้อ (PAPR) ซึ่งประกอบด้วย

ชุดคลุมปฏิบัติการ (Coverall) ใช้สวมด้านใน 

ชุดกาวน์ (Isolation Gown) ใช้สวมด้านนอก ทำจากผ้าสปันบอนด์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PP เช่นเดียวกัน 

Face Shield Visor Holder ใช้ป้องกันบริเวณใบหน้า ผลิตจากพลาสติก ABS และแผ่นโพลีคาร์บอเนต

ด้านนอกสุด สวมทับด้วยชุด PAPR Hood Cover ซึ่งเป็นผ้าคลุมหมวกทำจากโพลีเอสเตอร์ และมีกล่องพัดลมกรองอากาศ (Air Supply Housing) ที่ขึ้นรูปด้วย 3D Printing ติดเข้าด้วยกัน โดยคุณสมบัติของชุด PAPR มีมาตรฐานสูงมากจึงใช้ป้องกันการติดเชื้อให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้เป็นอย่างดี

 

“มหาวิทยาลัยจับมือกัน เร่งฆ่าเชื้อโรคและเชื้อไวรัส”

 

ขณะที่ภาคการศึกษาเองก็ตระหนักถึงอันตรายของการแพร่เชื้อไวรัสจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย ของใช้ส่วนตัว หรือเครื่องมือภายในบ้าน จึงได้ผลิตเครื่อง “Ultra We กล่องห่วงใยไร้เชื้อด้วยยูวี” สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ในเวลา 30 นาที ภายในกล่องมีหลอดกำเนิดรังสี UVC ที่ผ่านการทดสอบแล้ว มีสวิตช์เปิด-ปิด และสามารถตั้งเวลาให้ทำงานเองได้ด้วย โดยนวัตกรรมนี้เกิดจากการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มอบให้โรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโควิดในระลอกแรก

 

ใส่อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคสร้างความมั่นใจ ให้เริ่มที่ตัวเอง

ในขณะที่การแพร่ระบาดประชิดตัวเข้ามาเรื่อย ๆ ทางระบบสาธารณสุขก็รับมืออย่างเต็มกำลัง การป้องกันเชื้อโรคขั้นพื้นฐานต้องเริ่มจากตัวบุคคลเป็นสำคัญ ที่ปฏิเสธและขาดไม่ได้คงเป็นหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ซึ่งมีข้อกฎหมายบังคับใช้ให้สวมแมสก์หากอยู่นอกเคหสถานหรือสถานที่พำนัก มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แมสก์จึงกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หรือ Personal Protective Equipment (PPE) ที่มีการพัฒนาเรื่องการออกแบบมาโดยตลอด

แบรนด์ไทยอย่างจีคิว (GQ) ขึ้นชื่อเรื่องเสื้อเชิ้ตที่มีนวัตกรรมการสะท้อนน้ำ (Water Repellent) หากน้ำหยดลงบนเสื้อ น้ำก็จะกลิ้งบนเสื้อเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน นวัตกรรมนี้จึงถูกนำมาพัฒนาเป็นหน้ากากผ้า (GQWhite™ Mask) ซึ่งช่วยป้องกันการติดต่อเชื้อโรคจากการไอหรือจามได้ โดยในวิกฤตนี้ทาง GQ พัฒนาหน้ากากผ้าต่อให้มีดีไซน์หลายสีสัน สายคล้องคอสามารถปรับได้ตามขนาดที่เหมาะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ จนในปี 2563 GQ ขึ้นแท่นแบรนด์ที่มียอดขายเป็นอันดับต้นของประเทศ

แมสก์ที่ไม่มีสายคล้องคอก็มีหลายยี่ห้อ หากต้องถอดเก็บระหว่างวัน หลายคนอาจวางไว้ข้างกายหรือพับใส่กระเป๋าไว้ ทางแบรนด์ Hana Products คำนึงถึงแหล่งรวมของเชื้อโรคบนหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า จึงเกิดนวัตกรรมซองเก็บหน้ากากอนามัย “Mask Renew” ที่ใช้ PVC Ziplock ป้องกันน้ำและฝุ่น ภายในซองมีซิลิก้า (Orange Silica Gel) และส่วนประกอบของแร่หินธรรมชาติภูเขาไฟที่ช่วยดูดซับกลิ่น ต้านแบคทีเรีย และสารพิษตกค้าง หากประสิทธิภาพลดลงเจลซิลิก้าจะเปลี่ยนจากสีส้มเป็นสีเขียว สามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือตากแดดจัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง

 
ภาพ: gqsize.com

ภาพ: Hana Products Facebook Page

 

ใช้อุปกรณ์ป้องกัน แทนการสัมผัสกับวัตถุโดยตรง

นอกจากแมสก์ที่ใส่เป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีนวัตกรรมป้องกันส่วนบุคคลที่ตอบโจทย์สำหรับผู้เดินทางด้วยรถสาธารณะ ที่ต้องพบเจอผู้คนและสัมผัสจับสิ่งต่าง ๆ ขณะเดินทาง ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้ “ตะขอเกี่ยวอนามัย” (Hygienic Hook) จึงช่วยป้องกันได้ในเบื้องต้น โดยตะขอนี้ใช้เกี่ยวกับราวจับหรือจะใช้กดปุ่มก็ได้ ส่วน “แท่งกดปุ่มอนามัย” (Push Stick) ขนาดเล็กที่หลายคนพกพาติดตัว สามารถใช้กดตู้ ATM หรือกดลิฟต์ได้เช่นกัน ทางแบรนด์ QUALY มีการสร้างมูลค่าให้กับนวัตกรรมนี้ด้วยการนำวัสดุจากซากแหอวนชาวประมงมา Recycle เป็นแท่งกดปุ่มอนามัย ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์แล้วยังถูกใจชาวรักษ์โลกอีกด้วย

ซ้าย Hygienic Hook ภาพ: Hygienic Hook Facebook Page
ขวา Push Stick ภาพ: naiin.com

 

มีประโยชน์แล้วต้องมีสไตล์ด้วย

อุปกรณ์ที่ใช้ติดตัวในแต่ละวัน แค่ช่วยป้องกันเชื้อโรคอาจไม่เพียงพอ แต่ยังต้องสวยถูกใจและถ่ายทอดตัวตนผ่านผลงานหรือสินค้าออกมาได้อย่างชัดเจน อย่าง “URFACE” แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่นำศิลปินในเอเชียที่เคยร่วมงานกันมาออกแบบลวดลาย ความสนุกแต่ละรูปแบบจึงเกิดขึ้นผ่านงานศิลปะบนหน้ากากผ้า โดยผู้สวมใส่สามารถแสดงงานศิลปะเคลื่อนที่ซึ่งบ่งบอกสไตล์ของตนเองได้ดีทีเดียว แคมเปญนี้ทาง URFACE ยังสร้างบุญต่อโดยการบริจาคหน้ากาก 2 ชิ้น สำหรับทุกการซื้อ 1 ชิ้น ให้กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยอีกด้วย

“URFACE FaceMask” แมสก์ผ้าโพลีเอสเตอร์แบบทอจุด ด้านในเป็นผ้าสาลูพร้อมช่องใส่ฟิลเตอร์
ลายผ้าเป็นงานศิลปะจากศิลปินทั่วเอเชียที่เคยร่วมงานกับแบรนด์เออร์เฟซ 
ภาพ: URFACE Facebook Page

 

สำหรับสายมินิมอล หรือสายธรรมชาติอาจจะถูกใจหน้ากากผ้าของแบรนด์ Mom’s หน้ากากผ้าฝ้ายที่ย้อมและทอมือโดยชาวบ้านจากเชียงใหม่ ทั้งโทนสีและวัสดุที่ได้มาจากธรรมชาติล้วน ๆ ส่วนสายคล้องหูเป็นแบบลายโครเชต์ มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ไม่เจ็บหูหากใส่เป็นเวลานาน โทนสีแบบเรียบง่ายรวมกับคุณค่าของงานทอมือและความตั้งใจของคนทำ จึงทำให้แบรนด์ Mom’s น่าสนใจและเป็นที่รู้จักภายในเวลาไม่นาน  

ภาพ: Mom's Facebook Page 

การแสดงออกถึงความสนใจหรือตัวตนของผู้คนผ่านแฟชั่นของเสื้อผ้ารวมถึงแมสก์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังคงเป็นกระแสอยู่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากงานประกาศรางวัลระดับโลก “แกรมมี่ อวอร์ดส์” (Grammy Awards) ครั้งที่ 63 ประจำปี 2021 โดยนอกเหนือจากการประกาศผลรางวัลแล้ว แฟชั่นของศิลปินที่มาร่วมงานก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานที่ทำให้เห็นตัวตนของแต่ละคนด้วยเช่นกัน วิวัฒนาการของแมสก์อาจถูกพัฒนาต่อโดยแบรนด์เก่าแก่ที่ต้องการฟื้นธุรกิจ หรือนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ฉายแววผ่านงานออกแบบผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรม ล้วนเป็นตัวช่วยที่เกิดประโยชน์สูงสุด และนำทางให้กับผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป

 

แฟชั่นแมสก์เข้าชุดของศิลปินในงาน Grammy Awards 2021
(จากซ้าย) Chika Oranika สวมชุดพาสเทลกับไอเทมจาก Adidas
Billie Eilish มาในชุดลายกราฟิกดอกไม้และใบไม้จาก Gucci 
และ Harry Styles กับชุดสูทลายสก็อตสีเหลือง พร้อมขนนกคล้องคอสีม่วง สไตล์ Genderless จากแบรนด์ Gucci
ภาพ: WSJ. MAGAZINE/FASHION

 

แอลกอฮอล์มีอยู่ทุกที่ ตั้งแต่ร้านรวงจนถึงห้างใหญ่

หากกล่าวถึงธุรกิจของผู้ประกอบการ แม้จะเป็นรายเล็กรายย่อยหรือรายใหญ่เองก็ตาม ในวิกฤตนี้ทุกธุรกิจต่างก็ได้รับผลกระทบร่วมกันทั้งหมด ต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ และรักษามาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอยู่เสมอ อย่างน้อยตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าจะมีเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ให้บริการตามจุดต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่สาธารณะ (Public Protection) เบื้องต้นที่ควรมี

เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ตามสถานที่สาธารณะจะมีหน้าตาแตกต่างกันไป บางที่ตั้งเป็นขวดไว้ บางที่เป็นแท่นใช้เท้าเหยียบแทนการใช้มือสัมผัสกับขวดเจลโดยตรง หรืออาจเป็นเครื่องอัตโนมัติที่มาพร้อมกับที่วัดอุณหภูมิร่างกาย หากมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปก็อาจไม่ได้เข้าพื้นที่นั้น โดยทั่วไปแล้วจะเข้มงวดบริเวณทางเข้า ถ้าสังเกตบางหน่วยงานอาจมีพรมเช็ดเท้าสำหรับฆ่าเชื้อโรคเพื่อดักจับฝุ่นและฆ่าเชื้อโรคจัดวางอยู่ในจุดเดียวกัน 

 
ภาพ: ICONSIAM Facebook Page

แม้โควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน และยังไม่เห็นทีท่าว่าเราจะชนะได้โดยง่าย ทว่า เมื่อเราหาทางฝ่าวิกฤตด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มาผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันตัวเองตามชื่อ "COVID-19 Innovation: วิกฤตคิดใหม่" จนได้ออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์จำนวนมากเช่นนี้ได้แล้ว เราก็จะสามารถปรับตัวและอยู่รอดในยุคนิวนอร์มอลกับวิกฤตต่าง ๆ ได้เสมอ   

เรียบเรียง : จัสมิน ภู่ประเสริฐ