“uSky” ระบบขนส่งแห่งอนาคตที่ค่าก่อสร้าง “ถูกกว่า” รถไฟฟ้าใต้ดิน 15 เท่า!
Technology & Innovation

“uSky” ระบบขนส่งแห่งอนาคตที่ค่าก่อสร้าง “ถูกกว่า” รถไฟฟ้าใต้ดิน 15 เท่า!

  • 23 Sep 2021
  • 1023

กลางทะเลทรายในเมืองชาร์จาห์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปรากฏระบบขนส่งที่ดูคล้ายกับ “เคเบิลคาร์” ระยะทาง 400 เมตร แต่ตัวตู้ขนส่งสีขาวที่เคลื่อนที่ไปมาดูล้ำสมัยกว่าเคเบิลคาร์ที่เราเคยเห็น ด้วยรูปลักษณ์คล้ายกับแคปซูลกลมมน วิ่งไปบนสายเคเบิลเหล็กอย่างเงียบเชียบแต่แข็งแรง

ระบบกระเช้าลอยฟ้าแบบใหม่นี้พัฒนาโดย uSky Transport บริษัทในเครือ Unitsky Group of Companies จากประเทศเบลารุส แต่ได้เซ็นสัญญาทดลองระบบใน SkyWay Innovation Center เมืองชาร์จาห์ เมืองปริมณฑลของดูไบ และภายในสิ้นปีนี้ uSky จะเริ่มก่อสร้างขยายระบบทดลองเป็น 2.4 กิโลเมตร โดยหวังว่าจะได้คว้าสัญญาฉบับอื่นกับ UAE ต่อไป

uSky Transport จะมาเปลี่ยนโฉมหน้าระบบขนส่งสาธารณะเดิม ๆ อย่างไร พัฒนาการการขนส่งของเรานั้นมักจะเริ่มจากการขนส่งระดับดินก่อน ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถบัส รถราง รถไฟ จากนั้นพัฒนาไปเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรักษาพื้นที่ระดับดินให้ยังใช้การได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของรถไฟฟ้าใต้ดินคือค่าก่อสร้างที่ต้องลงทุนสูง โดยบริษัท uSky อธิบายว่า รถไฟฟ้าใต้ดินต้องลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐต่อกิโลเมตร (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) แต่ระบบเคเบิลคาร์ของ uSky ใช้งบลงทุนเพียง 10 ล้านเหรียญต่อกิโลเมตร (ประมาณ 330 ล้านบาท) ซึ่งทำให้ระบบแบบนี้ลงทุนถูกกว่าถึง 15 เท่า เหตุเพราะการใช้วัสดุก่อสร้างน้อยกว่ามากนั่นเอง

พลิกโฉม “ความเร็ว” ของกระเช้าลอยฟ้า
ภาพจำของกระเช้าลอยฟ้าหรือเคเบิลคาร์ที่เราเคยนั่งมักจะเป็นกระเช้าที่เคลื่อนที่ไปช้า ๆ ทำความเร็วได้แค่ 12-18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ uSky กล้าที่จะนำระบบนี้มานำเสนอให้เป็นระบบขนส่งสาธารณะหลัก เพราะบริษัทมีการพัฒนาสายเคเบิลเหล็กที่ห้อยกระเช้าและระบบการขับเคลื่อนให้รองรับการทำความเร็วได้สูงสุด 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!

ทั้งนี้ ความเร็วดังกล่าวจะใช้สำหรับการทำระบบเคเบิลคาร์ข้ามระหว่างเมือง แต่ระบบเคเบิลคาร์ในเมืองจะทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันระบบทดลองความยาว 400 เมตรวิ่งจริงอยู่ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่จะทดลองความเร็วเต็มสปีดเมื่อขยายการก่อสร้างเป็น 2.4 กิโลเมตรแล้วตามแผน (เทียบกับรถไฟฟ้าบีทีเอสในกรุงเทพฯ ปัจจุบันวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ส่วนจำนวนผู้โดยสารที่รับได้ในกระเช้าแต่ละคัน ทางบริษัท uSky ออกแบบไว้หลายรูปแบบ แบบที่ทดลองใช้จริงอยู่คือ uCar รองรับผู้โดยสารได้ 4 คนต่อคัน ภายในออกแบบอย่างหรูหราด้วยที่นั่งเบาะหนังมีที่พักแขน คล้ายกับที่นั่งชั้นหนึ่งบนเครื่องบิน แต่ยังมีกระเช้าอีกแบบคือ uBus ที่รองรับผู้โดยสารได้ 16 คนต่อคัน ภายในจะมีทั้งที่นั่งและบริเวณคนยืน เหมาะกับการขนส่งคนจำนวนมากขึ้น (กระเช้าเหล่านี้ยังสามารถผูกโยงต่อกันเหมือนกับรถไฟได้ แต่อาจมีผลทำให้ความเร็วต่ำลง)

โดยรวมแล้ว จากความเร็วที่ทำได้และจำนวนผู้โดยสารที่รองรับ uSky ระบุว่าหากมีระบบที่ครอบคลุมทั้งเมืองจะทำให้ขนส่งผู้โดยสารได้สูงสุด 10,000 คนต่อชั่วโมง

ข้อดีอื่น ๆ ของ uSky คือพื้นที่ภายใต้เส้นทางวิ่งจะยังใช้ประโยชน์ได้อยู่เพราะไม่มีโครงสร้างใหญ่เทอะทะ และตัวกระเช้าวิ่งเงียบ ไม่มีเสียงรบกวนประชาชนเหมือนกับรถไฟ ทำให้ระบบขนส่งนี้เป็นมิตรกับการอยู่อาศัยและทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ใต้เส้นทางเคเบิลคาร์ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม สวนสาธารณะ หรือเส้นทางจักรยานได้

บริษัท uSky ยังเปิดเผยด้วยว่า ระบบของบริษัทสามารถทำงานร่วมกับไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานโซลาร์ พลังงานลม ซึ่งทำให้ระบบนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก รวมถึงการติดตั้งทำได้ง่ายด้วยวัสดุออกแบบให้มีน้ำหนักเบา ทนทาน เหมาะกับพื้นที่ที่มีภูมิอากาศค่อนข้างรุนแรง เหมือนกับในทะเลทรายของ UAE ซึ่งมีทั้งปัญหาความร้อนและพายุทราย

ทางเลือกของเมืองหนาแน่นปานกลาง
ธนาคารโลกมีบทความนำเสนอเรื่องเทรนด์การใช้งานกระเช้าลอยฟ้าเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่กำลังมาแรงตั้งแต่ปี 2017 ขณะนั้นมีหลายเมืองในโลกที่ใช้กระเช้าลอยฟ้าเป็นระบบขนส่งแล้ว เช่น เมเดยิน โคลอมเบีย, ลาปาซ โบลิเวีย หรือลากอส ไนจีเรีย เพราะค่าก่อสร้างราคาถูกเป็นทุนเดิม และเหมาะมากกับเมืองที่เป็นภูเขา

ข้อมูลจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า รถไฟฟ้าแบบโมโนเรลสามารถขนส่งคนได้สูงสุด 44,000 คนต่อชั่วโมง ขณะที่รถไฟฟ้าแบบเฮฟวี่เรลทำได้สูงสุด 80,000 คนต่อชั่วโมง เมื่อพิจารณาจากการขนส่งของ uSky ทำได้สูงสุด 10,000 คนต่อชั่วโมง จะเห็นได้ว่าระบบเคเบิลคาร์แบบ uSky น่าจะเหมาะกับเมืองหรือพื้นที่หนาแน่นปานกลางที่เริ่มมีปัญหารถติด แต่จำนวนผู้โดยสารไม่มากพอที่จะคุ้มทุนหากลงทุนรถไฟฟ้าโมโนเรล

โอเลก ซาเรตส์กิว (Oleg Zaretskiy) ซีอีโอของ uSky Transport เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับความสนใจจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง เอเชีย และอเมริกาเหนือ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่จำนวนประชากรกำลังเติบโต เช่น กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย โอมาน อินเดีย ปากีสถาน กระทั่งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ก็ติดต่อเข้ามา และเขาหวังว่าจะได้เซ็นสัญญาเชิงพาณิชย์ฉบับแรกภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อที่จะได้เห็น uSky ให้บริการจริงภายในปลายปี 2023

ไม่ได้ส่งแค่คน แต่ส่ง “คาร์โก” ได้ด้วย
นอกจากการให้บริการขนส่งคนแล้ว uSky Transport ยังใช้โมเดลเดียวกันนี้ออกแบบให้ขนส่งสินค้าได้ด้วย โดยมีกระเช้าแบบ uTruck ที่ตัวกระเช้าเป็นตู้เก็บสินค้า สามารถเปิดกระเช้าบรรจุสิ่งของเข้าไปได้ และกระเช้าแบบ uCont ลักษณะคล้ายมือคีบประกบหัวท้าย สำหรับขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ยาวสูงสุด 12 เมตร และหนักสูงสุด 48 ตัน ทั้งนี้ ระบบขนส่งสินค้าจะทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบันมีการทดลองจริงที่ 30 ตัน วิ่งเร็วสูงสุด 36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ระบบขนส่งคาร์โกด้วยกระเช้านี้ uSky หวังว่าจะเข้ามาทดแทนระบบรถบรรทุกในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ คลังสินค้า เหมือง ฯลฯ โดยทางบริษัทคำนวณจากการใช้เคเบิลไฟฟ้าขนส่ง จะทำให้ต้นทุนค่าส่งสินค้าเหลือเพียง 1 เหรียญสหรัฐต่อ 100 ตันต่อ 1 กิโลเมตร

“ระบบขนส่งรูปแบบนี้จะมีต้นทุนต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับระบบขนส่งอื่น ๆ ระบบนี้ยังให้ความมั่นใจได้ว่าปลอดภัย ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม และลดการทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” ซาเรตส์กิวกล่าว

ไม่ได้มีแต่ระบบเคเบิลคาร์หรือกระเช้าลอยฟ้าที่นำมาพัฒนาเป็นระบบขนส่งแห่งอนาคต ยกตัวอย่างใน UAE เองมีการทดลองระบบ “ไฮเปอร์ลูป” รถไฟในท่อสุญญากาศความเร็วสูง บริษัทอื่น ๆ อีกหลายแห่งกำลังทดลอง “ยานพาหนะบินได้” สารพัดรูปแบบ ด้วยความเชื่อมั่นว่า อนาคตการเดินทางของเราจะอยู่ในอากาศแทนที่จะต้องยึดติดกับบางอย่างบนพื้นโลก

ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเทคโนโลยีไหนที่จะได้รับการตอบรับ ทุกอย่างอาจขึ้นอยู่กับโจทย์ของแต่ละเมืองว่าการเดินทางรูปแบบไหนที่จะเหมาะกับเมืองนั้นๆ มากที่สุด

ภาพ : uSky Transport

ที่มา :
เว็บไซต์ uSky (www.uskytransport.com)
บทความ “These futuristic pods could help cities solve their traffic problems” โดย Ana De Oliva จาก https://edition.cnn.com
บทความ “uSky: Helpinng Sharjah Become the First City with Electric Skypods” โดย Rahul Dutta Roy จาก www.autofutures.tv
บทความ “First glimpse of Sharjah's high-speed electric sky pod” โดย Nick Webster จาก www.thenationalnews.com
บทความ “Look: Sharjah's high-speed electric sky pod” โดย Angel Tesorero จาก https://gulfnews.com
บทความ “Innovation in the air: using cable cars for urban transport” โดย Leonardo Canon Rubiano, Wenyu Jia และ Georges Darido จาก https://blogs.worldbank.org
รายงาน “โครงการศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ปรับปรุงแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี” โดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จาก www.mrta.co.th

เรื่อง : พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล