TeknTrash ปฏิวัติวงการรีไซเคิล เปลี่ยนขยะให้เป็น Big Data
Technology & Innovation

TeknTrash ปฏิวัติวงการรีไซเคิล เปลี่ยนขยะให้เป็น Big Data

  • 27 Sep 2021
  • 1428

ทุกวันนี้เรื่องของขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก แม้ที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์ให้คนหันมาคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อลดปริมาณขยะล้นเมือง แต่หลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องแยกขยะ ถ้าทำไปแล้วจะได้รับประโยชน์อะไร การทิ้งขยะให้ถูกถังจึงยังไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร

มีข้อมูลตัวเลขว่าแค่การทิ้งขยะไม่ถูกถังอาจทำให้ขยะไม่ได้รับการรีไซเคิลที่เหมาะสมกับประเภทของขยะนั้น ๆ และส่งผลให้เกิดก๊าซมีเทนที่ร้ายแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า ขณะที่มีเพียง 4% ของพลาสติกทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ส่วนที่เหลือจะลงเอยในมหาสมุทร ถูกเผา หรือแม้แต่ส่งไปยังประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่ผู้คนนิยมซื้อของออนไลน์และสั่งอาหารมากินที่บ้านกัน ยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกให้โลก โซลูชันสำหรับการจัดการขยะจึงต้องการนวัตกรรมในการแก้ปัญหานี้ที่กำลังทวีบทบาทในโลกอนาคต


TeknTrash 

TeknTrash บริษัทสตาร์ตอัพสัญชาติอังกฤษใช้ AI และ Big Data ที่ได้รับจากถังขยะ มาวิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์เพื่อระบุแหล่งกำเนิดสินค้าไปจนถึงร้านค้าที่วางขาย และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคด้วยการให้ถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอผลิตภัณฑ์นั้นก่อนทิ้งลงให้ถูกถัง เพื่อสะสมแต้มนำไปแลกสินค้า ของกำนัล และรับโปรโมชันต่าง ๆ จากร้านค้าที่เข้าร่วม เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนหันมารีไซเคิลกันมากขึ้น และแชร์ข้อมูลให้กับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์นำไปปรับปรุงการผลิต การขาย ปัจจุบันน่าจะเป็นบริการเดียวในโลกที่ให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ถือเป็นการปฏิวัติการจัดการขยะเลยก็ว่าได้


splashabout/unsplash.com

“เมื่อผลิตภัณฑ์ถูกทิ้งลงถัง แล้วมันเดินทางไปไหน”

นี่คือคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นของ TeknTrash บริษัทสตาร์ตอัพที่คิดค้นโซลูชันการแก้ปัญหาขยะแบบพลิกวงการ

ที่ผ่านมาบริษัทต่าง ๆ ไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของตนหลังจากที่ขายออกไปแล้ว อาศัยเพียงข้อมูลการขายเพื่อทราบถึงรูปแบบการบริโภค เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทผู้ผลิตสินค้าจึงแทบไม่รู้จักลูกค้าของตนเลย แม้จะมีบางเทคโนโลยีที่สร้างแรงจูงใจสำหรับการรีไซเคิลที่เหมาะสม เช่น Camden Recycling ในสหราชอาณาจักร Recyclos ในสเปน แต่ก็ไม่เคยมีที่ไหนให้ข้อมูลกลับไปยังผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเลย

ทั้งหมดนี้กลายเป็นช่องว่างให้ TeknTrash เข้ามาเติมเต็ม โดยแนวคิดเบื้องหลังคือการอนุญาตให้บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าใจผู้บริโภคได้ดีขึ้น ผ่านข้อมูลที่ได้รับจากถังขยะ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้คนรีไซเคิลกันมากขึ้นด้วย

ไอเดียนี้เป็นของ Al Costa ศาสตราจารย์ด้าน Big Data และ AI ผู้ก่อตั้ง TeknTrash ขึ้นในปี 2018 เขามองว่าโมเดลการรีไซเคิลที่มีอยู่เป็นโมเดลที่ล้มเหลว เนื่องจากมีแต่การลงโทษคนที่ไม่รีไซเคิล แต่ไม่มีใครเคยให้รางวัลกับคนทำดี คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่ชอบการรีไซเคิลหรือนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปริมาณขยะและมลพิษสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันบริษัทต่าง ๆ ก็ไม่รู้จักผู้บริโภคของตนเอง เพราะถูกตัดวงจรไปตั้งแต่หลังการขายสินค้าออกไป TeknTrash จะช่วยให้บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครู้จักผู้บริโภคดีขึ้น ส่งเสริมการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม และสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง


TeknTrash 

ทิ้งขยะถูกที่มีรางวัล
วิธีการของ TeknTrash คือ การใช้ AI และ Big Data ผ่านเครื่องมือ POD (Point of Disposal) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่รวบรวมข้อมูลการบริโภค เพื่อระบุแหล่งกำเนิดสินค้าไปจนถึงร้านค้าที่วางขาย โดยจะมีการติดตั้งเครื่องมือนี้ตามศูนย์รีไซเคิล

แพลตฟอร์ม POD ตัวแรกของ TeknTrash มีชื่อว่า Stipra ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ stipra.com (B2C) และ corp.stipra.com (B2B) โดยคนทั่วไปสามารถลงทะเบียนได้ที่ stipra.com พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคโดยใช้แอพพลิเคชันมือถือถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอผลิตภัณฑ์นั้นก่อนทิ้งถังขยะให้ถูกถัง เพื่อสะสมแต้ม ยกตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่ทิ้งขวดน้ำยาบ้วนปากที่ทำจากพลาสติก 1 ขวดลงในถังขยะที่รองรับขยะย่อยสลายไม่ได้ได้อย่างถูกต้อง จะได้รับ 200 คะแนน หรือทิ้งกล่องกระดาษบรรจุยาเม็ดแก้หวัดลงในถังขยะรีไซเคิล จะได้รับเพิ่มอีก 300 คะแนน ก่อนนำแต้มที่สะสมได้นั้นไปแลกสินค้า ของกำนัล และรับโปรโมชั่นต่างๆ จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ


Stipra.com

ส่วนบริษัทต่าง ๆ จะต้องไปลงทะเบียนที่ corp.stipra.com เพื่อเข้าไปใช้ข้อมูลนั้น ๆ ได้แบบเรียลไทม์ทุกครั้งที่มีการกำจัดผลิตภัณฑ์ โดยสามารถส่งออกข้อมูลและนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลการขายที่มีอยู่ได้ โดยระบบ AI จะระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ผลิตภัณฑ์นั้นสิ้นสุด พร้อมข้อมูลต่าง ๆ เช่น อายุ เพศของบุคคลที่ทิ้ง ซึ่งจะช่วยให้บริษัทได้รู้จักผู้บริโภคของตนเองดียิ่งขึ้น และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น หลีกเลี่ยงการสต็อกของ เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์มาใช้วัสดุทางเลือก นอกจากนี้ยังเป็นวิธีแสดงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทในทางอ้อมอีกด้วย โดยเฉพาะในยุคที่แนวคิด ESG (Environment, Social, และ Governance) ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน


sarah chai/pexels.com

นับได้ว่า TeknTrash ได้เปลี่ยนรูปแบบการรีไซเคิลไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้อิงจากแค่การขายผลิตภัณฑ์ เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว เพื่อนำไปรีไซเคิลอีกต่อไป แต่เป็นโมเดลที่อิงจากการขายข้อมูลผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้า ในทางกลับกัน ก็ทำให้เกิดการสร้างเครื่องมือเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้กำจัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

ในอนาคต TeknTrash มีแผนที่จะให้ผู้บริโภคแลกคะแนนเป็นเงินสดได้ทันทีแทนการสะสมแต้ม นั่นเท่ากับว่ายิ่งถ่ายรูปการทิ้งขยะถูกถังมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้รับเงินมากขึ้นเท่านั้น

จากไอเดียล้ำ ๆ นี้เอง ทำให้ TeknTrash ได้รับเลือกจาก World Economic Forum ให้เป็น 1 ใน 3 เทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบมากที่สุด และในปีนี้ยังได้รับเลือกจาก Euronews ให้เป็นบริษัทกรีนเทคอันดับ 1 ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกด้วย

ที่มาภาพเปิด : purzlbaum/unsplash.com

ที่มา :
บทความ Trash for cash โดย Lanna Deamer จาก startupsmagazine.co.uk
บทความ My solution and its purpose โดย Al Costa จาก uplink.weforum.org 
บทความ Tekntrash – knowing your customers with the help of AI โดย Andrea Nyilas จาก 4i-mag.com
tekntrash.com
stipra.com

เรื่อง : เรืองศักดิ์ บุณยยาตรา