ให้ AI ช่วยดูแลสุขภาพใจ : เมื่อเทคโนโลยีอาจเป็นหนทางการดูแลใจแห่งอนาคต
Technology & Innovation

ให้ AI ช่วยดูแลสุขภาพใจ : เมื่อเทคโนโลยีอาจเป็นหนทางการดูแลใจแห่งอนาคต

  • 07 Nov 2021
  • 1482

นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลด้านสุขภาพร่างกายแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันก็คือความเครียดและความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นของผู้คนทั่วโลก แม้โรคระบาดจะทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันอย่าง “สุขภาพใจ” ก็ยังเป็นสิ่งที่มักจะถูกมองข้ามอยู่บ่อยครั้ง 


©Unsplash.com/Emily Underworld

ปัจจุบันมีผู้คนเกือบพันล้านคนทั่วโลกต้องใช้ชีวิตร่วมกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ และมีการคาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 1 ใน 4 ของโลกจะต้องเผชิญกับการป่วยทางใจในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นในแต่ละปีมีความพยายามในการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นมากกว่า 25 ล้านครั้ง และในแต่ละวันมีผู้ป่วยที่ต้องทรมานจากโรคซึมเศร้าสูงถึง 350 ล้านคน ซึ่งสวนทางกับจำนวนของจิตแพทย์และนักจิตบำบัดที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ AI จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนเลือกใช้ และไม่แน่ว่าอาจจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการดูแลสุขภาพใจของเราต่อไปในอนาคต


©Unsplash.com/@priscilladupreez

AI จะเข้าถึงจิตใจมนุษย์ได้ขนาดไหน
แม้เราจะเริ่มเห็น AI เข้ามามีส่วนช่วยในทางการแพทย์บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยวิเคราะห์ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของแพลต์ฟอร์มการแพทย์ดิจิทัลต่าง ๆ แต่เรื่องของสุขภาพจิต ก็ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของมนุษย์ โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์มากอยู่ดี แล้ว AI จะมาเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ได้ดีไปกว่ามนุษย์ด้วยกันได้อย่างไร 

จริง ๆ แล้ว AI ยังไม่ได้เข้าใจจิตใจและอารมณ์ของเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความสามารถในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลคือหัวใจสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนช่วยให้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงยังสามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพจิตได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นอีกด้วย ในขณะเดียวกันจากการสำรวจยังพบว่า ผู้คนมากถึง 68% สบายใจที่จะคุยเรื่องปัญหาทางใจกับหุ่นยนต์มากกว่าคุยกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์หรือหัวหน้าในที่ทำงาน เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า เทคโนโลยีไม่มีอคติ ไม่ตัดสิน และสามารถตอบปัญหาต่าง ๆ ได้ทันที ซึ่งเทคโนโลยีหลัก ๆ ของ AI ที่สามารถเข้ามาช่วยเรื่องจิตใจได้นั้นมีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่

  • Machine Learning (ML) และ Deep Learning (DL) คือการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองผ่านการป้อนชุดข้อมูลเข้าไป เป็นการช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยอาการป่วยต่าง ๆ

  • Natural Language Processing (NLP) การประมวลผลภาษาธรรมชาติซึ่งเป็นการวิเคราะห์คำพูดหรือข้อความจากแชตบอต รวมถึงการทำความเข้าใจข้อมูลจากเอกสารทางการแพทย์

  • Computer Vision สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นภาพและทำความเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่คำพูด เช่น การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง  การสบตา เป็นต้น

3 แอพพลิเคชันดูแลใจด้วย AI 
ในอดีต หลายคนอาจมองว่าการที่จะนำ AI มาใช้ด้านสุขภาพจิตนั้นเป็นเรื่องของอนาคต แต่ทุกวันนี้ที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ความก้าวหน้านี้ทำให้ทุกคนสามารถมีผู้ช่วยด้านสุขภาพใจเป็นของตัวเองได้แค่เพียงปลายนิ้ว 


©facebook.com/HiWoebot

  • Woebot 
    แอพพลิเคชันที่ก่อตั้งโดยนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Woebot เป็นแชตบอทที่จะคอยทำหน้าที่เป็นเพื่อนคุยและรับฟังปัญหาต่าง ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะถามในทุก ๆ วันว่า “วันนี้ของคุณเป็นอย่างไร” แม้เจ้าบอตจะไม่ใช่นักบำบัดมืออาชีพ แต่การคุยกับ Woebot จะช่วยให้ผู้ใช้ได้สังเกต ติดตาม และเรียนรู้อารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น"


©replika.ai

  • Replika
    อีกหนึ่งแอพพลิเคชันแชตบอตที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ไอเดียโดย ยูจีเนีย กุยดา (Eugenia Kuyda) โปรแกรมเมอร์เจ้าของ Luka Inc บริษัทพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนสามารถมาแบ่งปันความรู้สึก และร่วมพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านแชตบอตได้ โดยผู้ใช้แต่ละคนสามารถออกแบบ AI ของตัวเองประหนึ่งเป็นเพื่อนเสมือนจริงอีกหนึ่งคน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเพศ หน้าตา หรือทรงผม และ Replika ก็จะค่อย ๆ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ของเราผ่านการพูดคุยกับเรานั่นเอง

  • Wysa
    แชตบอตที่พร้อมตอบโต้กับเราทุกเมื่อ โดยเฉพาะเวลาที่รู้สึกเครียด หรือต้องการระบายกับใครสักคน แต่ไม่อยากเอาพลังงานลบไปใส่ผู้คนในชีวิตจริง โดย Wysa สามารถพูดคุยโต้ตอบได้โดยการวิเคราะห์และประมวลผลจากบทสนทนา เพื่อตอบสนองกับอารมณ์รูปแบบต่าง ๆ ผ่านการแชต นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถปลดปล่อยได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นบริการที่ไม่ต้องระบุตัวตน และไม่ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวอย่างเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล

แม้ว่าการเข้ามาของ AI จะสามารถเป็นตัวช่วยสำคัญในการดูแลสุขภาพใจของผู้คนได้ในวงกว้าง แต่ว่าการรักษาโรคต่าง ๆ นั้นก็ยังคงต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการเรื่องสุขภาพจิตที่ซ่อนเรื่องราวความเป็นส่วนตัวมากมายไว้นั้น ก็ยังนำมาซึ่งประเด็นเรื่องจริยธรรมและความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องจับตาดูกันต่อไป 

ที่มา : บทความ “The big promise AI holds for mental health” โดย ITRex Group จาก becominghuman.ai 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ