ทัวร์อวกาศ การท่องเที่ยวที่จับต้องได้ของเศรษฐียุคใหม่
Technology & Innovation

ทัวร์อวกาศ การท่องเที่ยวที่จับต้องได้ของเศรษฐียุคใหม่

  • 09 Nov 2021
  • 1217

ความสำเร็จของ SpaceX เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา (วันที่ 19 ตามเวลาในประเทศไทย) ในการปล่อยแคปซูลอวกาศที่ชื่อ “Dragon” ในภารกิจ Inspirati④n (อ่านว่า Inspiration4) ขึ้นไปโคจรรอบโลกเป็นเวลา 3 วัน (16-18 ก.ย.) และกลับลงมาอย่างปลอดภัยนั้น กลายเป็นภารกิจครั้งแรกของโลกที่ไม่ได้มีนักบินอวกาศอาชีพไปกับยานด้วย แต่กลับมีเพียงพลเรือนธรรมดา ๆ (แต่รวยมาก) 4 คน ที่ขึ้นไปในฐานะนักท่องเที่ยวอวกาศแทน นำโดย จาเร็ด ไอแซคแมน มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทให้บริการชำระเงิน Shift4 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเที่ยวบินนี้ ทั้งยังนับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่ตอกย้ำว่า การท่องเที่ยวอวกาศคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในรุ่นของเรา

“นี่เป็นการปูทางไปสู่อนาคตสำหรับทุกคนที่ต้องการเดินทางไปสู่อวกาศได้มากขึ้น” เกวน ช็อตเวลล์ ประธานบริษัท SpaceX กล่าวในการแถลงการณ์ชื่นชมความสำเร็จของภารกิจ Inspirati④n

กล่าวได้ว่า ปีนี้นับเป็นปีแห่งการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นของธุรกิจการบินสู่อวกาศ เพราะบริษัทการบินอวกาศเอกชนชั้นนำต่างพยายามแข่งขันกันทดสอบศักยภาพของตัวเองกันอย่างคึกคักเพื่อผลักดันตัวเองสู่การเป็นผู้นำตลาดด้านการท่องเที่ยวอวกาศ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ResearchAndMarkets.com ได้นำเสนอผลวิจัยที่คาดการณ์ตลาดการท่องเที่ยวอวกาศและการขนส่งในวงโคจรย่อย หรือ The Global Sub-Orbital Transportation and Space Tourism Market ระบุว่า ในปี 2031 ตลาดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 17.15% และมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.58 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งของตลาดคือ ความพยายามในการเปิดใช้งานด้านการขนส่งในอวกาศ และการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพด้านการขนส่งในวงโคจรย่อย เป็นต้น

การขนส่งทางอวกาศได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมอวกาศหลายรายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งในอดีต การขนส่งในอวกาศส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ภารกิจการจัดหาสินค้าไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) แต่ปัจจุบันความสนใจนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นการขนส่งในอวกาศ การสำรวจดาวเคราะห์ ภารกิจของลูกเรือ การขนส่งย่อยในวงโคจร รวมถึงการท่องเที่ยวในอวกาศ และนี่ก็คือ 5 บริษัทที่ได้นำเสนอโปรแกรมทัวร์ที่จะพาผู้โดยสารกระเป๋าหนักไปลอยตัวอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักในม่านฟ้าอันดำมืดของห้วงอวกาศ ประหนึ่งนักบินอวกาศที่ออกไปสำรวจจักรวาลที่ Far, far away

SpaceX
ฝันให้ไกล ไปให้ถึง
เจ้าของ : อีลอน มัสก์
ปีก่อตั้ง : 2002
SpaceX มีเป้าหมายสำคัญคือการทำให้การเยือนอวกาศเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่จับต้องได้ง่ายในแบบที่คนทั่วไปก็สามารถพิชิตได้ โดยทริปที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้คือโปรแกรมทัวร์ 8 วัน (ตั๋วใบละ 55 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.77 พันล้านบาท) บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS ที่ SpaceX ได้จับมือเซ็นสัญญากับสตาร์ตอัพอย่าง Axiom Space เพื่อส่งนักท่องเที่ยวขึ้นไปสู่อวกาศภายในครึ่งปีหลังของปี 2021 โดยจะบินไปกับยาน Crew Dragon ของ SpaceX ซึ่งเป็นยานอวกาศระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 ฟุต พร้อมผู้ควบคุมอากาศยานที่ผ่านการฝึกฝนแล้วบินไปด้วย 1 คน แต่ละเที่ยวบินสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งหากภารกิจสำเร็จตามเป้าหมาย ก็จะถือเป็นจะเป็นยานอวกาศท่องเที่ยวรายแรกของสหรัฐฯ ที่ได้เข้าไปเทียบท่า ISS (แต่ไม่ใช่รายแรกของโลก)

จากนั้นในปีหน้า (2022) SpaceX กับ Axiom Space จะเพิ่มความร่วมมือกันในโครงการ AX-1 กับภารกิจพานักธุรกิจ 3 คนเดินทางไปเยือน ISS พร้อมกับนักบินอวกาศนาซาที่มีประสบการณ์สูง โดยจะใช้พื้นที่ของนักบินอวกาศอเมริกันบน ISS ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลา 10 วัน

ความมั่นใจในศักยภาพของ SpaceX ยังเห็นได้จากการที่องค์การนาซาเลือกให้ SpaceX เป็นผู้สร้างยานอวกาศสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ภายใต้ชื่อภารกิจว่า Artemis เพื่อทำภารกิจส่งมนุษย์อวกาศของนาซาในปี 2024

นอกจากนี้ อีลอน มัสก์ ยังมีฝันอันยิ่งใหญ่คือการพามนุษย์ไปดาวอังคารให้ได้ภายในปี 2025 โดยเจ้าพ่อเทสลาผู้นี้ได้ทวิตเป็นการส่วนตัวโดยไม่ใช่การประกาศอย่างเป็นทางการของ SpaceX ว่า ตั๋วไปดาวอังคารอาจอยู่ที่ 500,000 เหรียญสหรัฐ (16.14 ล้านบาท) หรือไม่แน่ก็อาจต่ำกว่า 100,000 เหรียญ (3.22 ล้านบาท) ก็เป็นได้

Virgin Galactic
มุ่งไปอย่าได้ถอย
เจ้าของ : เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน
ปีก่อตั้ง : 2004
เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่แย่งชิงความสำเร็จพร้อมประกาศศักดาตัดหน้าการท่องอวกาศของ Blue Origin ที่เจฟฟ์ เบซอส เป็นผู้ก่อตั้งได้สำเร็จ หลังหลังจากเที่ยวบินของ Virgin Galactic ประสบความสำเร็จในภารกิจ Unity 22 ที่เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ได้เดินทางไปด้วยพร้อมกับลูกเรืออีก 3 คน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และกลายเป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์ที่ทำให้ชื่อของท่านเซอร์ฯ ได้รับการจารึกว่าเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทการบินอวกาศคนแรกที่ได้เดินทางออกไปเที่ยวนอกโลก ปาดหน้าเบซอสที่ประกาศว่าจะเดินทางไปอวกาศด้วยจรวด New Shepard เพียง 9 วันเท่านั้น

ตลอดระยะเวลา 17 ปี Virgin Galactic หมายมั่นจะเติมเต็มความฝันในการเป็นสายการบินทัวร์อวกาศ และผ่านการทดสอบทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวมาแล้วหลายครั้งหลายครา กระทั่งในวันที่ 11 กรกฎาคม เที่ยวบินโดยสารแรกของ Virgin Galactic ก็สามารถพาผู้โดยสาร 4 คนและนักบินอีก 2 คน นำโดยท่านเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ไปสัมผัสขอบอวกาศเป็นเวลา 5 นาที ด้วยวิธีนำยาน VSS Unity แนบติดกับเครื่องบินแม่ WhiteKnightTwo ที่มีชื่อว่า VMS Eve ที่มีขนาดใหญ่กว่าอีกทีหนึ่ง โดย VMS Eve บินออกจาก Spaceport เหมือนกับเครื่องบินโดยสารทั่วไป และใช้เวลาประมาณ 45 นาทีในการไต่ระดับความสูงขึ้นไปที่ประมาณ 18 กิโลเมตร (สูงกว่าระดับสายการบินทั่วไปเกือบ 2 เท่า) จากนั้น VSS Unity จึงแยกตัวออกมากลางอากาศและจุดระเบิดเครื่องยนต์พุ่งขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 90 กิโลเมตรด้วยความเร็วเหนือเสียง 3,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนกระทั่งเครื่องยนต์ดับ ทุกอย่างก็จะอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศ ก่อนที่ตัวเครื่องบินอวกาศจะเริ่มพลิกตัวกลับและลดระดับร่อนลงสู่พื้นโลกเบื้องล่าง

ค่าตั๋วเพื่อแลกกับประสบการณ์เช่นเดียวกันนี้อยู่ที่ราว 7-8 ล้านบาท โดย Virgin Galactic ได้เปิดขายแบบเอ็กซ์คลูซีฟไปแล้วกว่า 600 ใบ และคาดว่าจะเริ่มให้บริการทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปี 2022 และจะจัดเที่ยวบินมากถึง 400 เที่ยวบินต่อปีเลยทีเดียว โดยหนึ่งในลูกค้าวีไอพีที่ซื้อตั๋วไปแล้วก็คือ อีลอน มัสก์ เจ้าของ SpaceX นั่นเอง

Blue Origin
พลังสีฟ้าในม่านฟ้าอวกาศ
เจ้าของ : เจฟฟ์ เบซอส
ปีก่อตั้ง : 2000
แม้จะโดน Virgin Galactic ปาดหน้าเที่ยวบินประวัติศาสตร์ที่จะส่งนักท่องเที่ยวและเป็นเจ้าของบริษัททัวร์อวกาศคนแรกให้ขึ้นไปสัมผัสห้วงอวกาศ แต่นอกเหนือจากความสำเร็จในการนำผู้โดยสารกลุ่มแรกจำนวน 4 คน ซึ่งรวมถึงตัวเจฟฟ์ เบซอสเอง ไปและกลับมายังพื้นโลกได้อย่างสวยงามด้วยยาน New Shepard ที่ถูกส่งขึ้นจากฐานปล่อยจรวดในรัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม Blue Origin ก็นับได้ว่าสามารถเฉือนเอาชนะ Virgin Galactic ได้ในเรื่องระดับความสูงที่ Blue Origin บินเหนือพื้นโลกได้สูงถึง 107 กิโลเมตร นอกจากนี้ ก็ยังได้รับการบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นเที่ยวบินที่มีมนุษย์อายุมากที่สุด (วอลลีย์ ฟังก์ อดีตนักบินอวกาศหญิงยุคบุกเบิกของสหรัฐฯ วัย 82 ปี) และน้อยที่สุด (โอลิเวอร์ เดเมน นักศึกษาวัย 18 ปี บุตรชายของผู้บริหารบริษัทด้านการลงทุน ซึ่งชนะประมูลที่นั่งในราคา 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เดินทางออกสู่อวกาศได้

Blue Origin มีแผนเดินทางอีก 2 เที่ยวบินภายในปีนี้ และยังได้วางแผนเพิ่มเที่ยวบินท่องอวกาศให้มากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมียอดขายทัวร์แบบไพรเวตแล้วถึง 100 ล้านหรียญสหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของตลาดในอุตสาหกรรมทัวร์อวกาศที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี

ขณะเดียวกัน Blue Origin ยังมีแผนจะพัฒนายานอวกาศ Blue Moon ที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้ เป้าหมายคือการส่งอุปกรณ์ทดลอง ของใช้ และสิ่งจำเป็นต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคต โดย Blue Moon สามารถบรรทุกของได้ถึง 4.5 ตันต่อเที่ยว

Boeing
ไปด้วยกันไปได้ไกล
เจ้าของ : เจมส์ แม็กเนอร์นีย์
ปีก่อตั้ง : 1916

ภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า Boeing จะทำการทดสอบปล่อยหัวจรวด Boeing CST-100 Starline ซึ่งเป็นยานอัตโนมัติไร้คนขับที่บรรทุกผู้โดยสารได้ 7 ที่นั่ง โดยมีภารกิจคือการส่งนักบินไปที่ ISS และหากสำเร็จด้วยดี ก็จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำของโลกในการเปิดธุรกิจทัวร์อวกาศเช่นเดียวกับบริษัทการบินอวกาศอื่นๆ

ปัจจุบัน Boeing เป็นอีกหนึ่งในบริษัทที่มีส่วนร่วมกับองค์การนาซาในโครงการ Artemis ที่จะพานักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2024 หลังจากที่เคยไปมาแล้วเมื่อ 52 ปีก่อน (ปี 1969) ด้วยยาน Orion MPCV (Orion Multi-Purpose Crew Vehicle) ที่ใช้หัวจรวด SLS (Space Launch System) ของนาซา โดย Boeing จะเป็นผู้รับผิดชอบด้านการประกอบและติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์การบิน (Avionics) ของหัวจรวด SLS

Space Adventures
ทริปพักร้อนในสถานีอวกาศ
เจ้าของ : เอริค แอนเดอร์สัน
ปีก่อตั้ง : 1998
เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีประสบการณ์การจัดทัวร์อวกาศมาแล้วถึง 8 ครั้งในระหว่างปี 2001-2009 โดยเป็นการพานักท่องเที่ยวเศรษฐีไปเทียบท่า ISS ด้วยวิธีโดยสารไปกับยานอวกาศ Soyuz ของรัสเซีย ในปีนี้ทางบริษัทก็ยังมีกำหนดการพานักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น 2 คนไปกับยาน Soyuz เพื่อเทียบท่าที่ ISS อีกเช่นเคยในวันที่ 8 ธันวาคมที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกันทางบริษัทก็ยังได้ร่วมมือกับ SpaceX ในการพานักท่องเที่ยว 4 คน (ที่มีราคาที่นั่งละ 55 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไปกับยาน Crew Dragon ของ SpaceX เพื่อลอยในวงโคจรรอบโลกที่ความสูงกว่า 1,000 กิโลเมตร (สูงกว่าระดับของ ISS ซึ่งอยู่ที่ 300 - 400 กิโลเมตร) เป็นเวลา 5 วัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนที่แล้ว Space Adventures ได้ประกาศว่าตัวสัญญาที่ทำกับ SpaceX ในภารกิจดังกล่าวได้หมดอายุลงแล้ว แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีการร่วมมือกันต่อไปในอนาคต ฉะนั้นใครที่อยากท่องอวกาศบ้างก็ต้องไม่พลาดจับตาความเคลื่อนไหวกันต่อไป

ภาพ : inspiration4.com, Virgin Galactic, Blue Origin, Boeing, Space Adventures

ที่มา : 
บทความ “5 Space Tourism Companies That Will Make You An Astronaut” จาก revfine.com
บทความ “SpaceX” จาก en.wikipedia.org
เว็บไซต์ www.spacex.com
บทความ “SpaceX สร้างประวัติศาสตร์ ปล่อยจรวดท่องอวกาศเที่ยวบินแรก พาพลเรือนโคจรรอบโลก 3 วัน ในภารกิจ Inspiration4” โดย วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม จาก thestandard.co
บทความ “Richard Brandson เดินทางไปอวกาศในเที่ยวบิน Unity 22 เปิดฉากทัวร์อวกาศ หลังพัฒนามาสิบเจ็ดปี” จาก spaceth.co
บทความ “Virgin Galactic Unity 22” จาก https://en.wikipedia.org
บทความ “Virgin Galactic’s SpaceShipTwo Unity 22 launch with Richard Branson.” โดย Tariq Malik จาก www.space.com
บทความ “เจฟฟ์ เบโซส เผยยอดขายตั๋วทัวร์อวกาศพุ่ง มูลค่ารวมใกล้เฉียด 100 ล้านดอลลาร์แล้ว” โดย The Standard Wealth จาก thestandard.co
เว็บไซต์ blueorigin.com
เว็บไซต์ boeing.com/space
บทความ “Boeing Starliner” จาก n.wikipedia.org
เว็บไซต์ spaceadventures.com
บทความ “Space Adventures” จาก en.wikipedia.org
บทความ “เที่ยวอวกาศ (Space Trave) กับ 6 องค์กรเอกชน ที่พาคุณไปเที่ยวอวกาศได้แบบว้าว ๆ พร้อมส่องราคาตั๋ว” จาก eview.thaiware.com
บทความ “Sub-Orbital Transportation and Space Tourism Market” จาก researchandmarkets.com
บทความ “Six ways to buy a ticket to space in 2021” โดย Eric Betz จาก astronomy.com

เรื่อง : พัตรา พัชนี