ค้นพบความลับทางประวัติศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต
Technology & Innovation

ค้นพบความลับทางประวัติศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต

  • 17 Nov 2021
  • 1535

ในอดีต นักโบราณคดีได้หยิบใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพื่อการทำงานอยู่เสมอ ทั้งการหาค่าอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon Dating) ในช่วงปี 1940 หรือการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ในช่วงปี 1960 จนถึงปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ในหลายแขนง มาเป็นผู้ช่วยในด้านการค้นพบทางประวัติศาตร์ เช่น การใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อค้นหาโบราณสถาน หรือใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยไขปริศนาอักขระโบราณ รวมไปถึงการสร้างภาพจำลองสามมิติของโบราณสถานที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา  จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาทางประวัติศาสตร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สร้างเมืองโบราณขึ้นใหม่ด้วยแบบจำลองสามมิติ
อีฟว์ อูเบลแมนน์ (Yves Ubelmann) สถาปนิกชาวฝรั่งเศสได้เดินทางไปทำงานยังประเทศอัฟกานิสถาน ระหว่างนั้นเองเขาได้ถ่ายภาพหมู่บ้านแห่งหนึ่งไว้ด้วยความสนใจส่วนตัวซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่กำลังทำ สองปีต่อมาเมื่อเขากลับมาที่นี่อีกครั้ง หมู่บ้านกลับถูกทำลายลงด้วยสงคราม เรื่องราวของสถานที่แห่งนั้นหลงเหลืออยู่เพียงในความทรงจำของชายสูงอายุคนหนึ่งผู้จำอูเบลแมนน์ได้ และรูปภาพจึงกลายเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ช่วยให้เขาระลึกถึงอดีต สิ่งนี้ได้จุดประกายให้อูเบลแมนน์ก่อตั้งบริษัทพัฒนาโมเดลสามมิติเพื่อสร้างสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทำลายลงด้วยความขัดแย้งทางการเมือง สงคราม กาลเวลา และธรรมชาติขึ้น โดยให้ชื่อว่า Iconem 

เทคโนโลยีของ Iconem ประกอบไปด้วยการใช้ภาพถ่ายจากโดรน และการเรียนรู้จักรกล (Machine Learning) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจาก Microsoft AI ที่จะประกอบภาพถ่ายขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นโมเดลสามมิติที่มีคุณภาพสูงเพื่อต่อเติมซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหาย และบูรณะสถานที่เก่าแก่ที่ถูกทำลายลง 

หนึ่งในโครงการที่ Iconem ได้ร่วมทำคือ นิทรรศการ “Age Old Cities: A Virtual Journey from Palmyra to Mosul” ซึ่งเป็นการสร้างรูปจำลองของโบราณสถานของเมืองทั้งสามเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลางที่ถูกทำลายด้วยสงคราม โดยนิทรรศการเริ่มจากการฉายภาพปัจจุบันของเมืองต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม จากนั้นจึงพาผู้ชมเข้าไปในโลกเสมือนผ่านเทคโนโลยี VR ที่จะฉายภาพถ่ายโมเดลสามมิติของสถานที่เหล่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วยมัสยิดใหญ่อัลนูรี (Great Mosque of al-Nuri) โบสถ์สไตล์โรมันคาทอลิก Our Lady of the Hour Church ที่สร้างโดยคณะโดมินิกันเมื่อช่วงปี 1870 ซึ่งถูกทำลายโดยผู้ก่อการร้ายในปี 2016 และวิหารบาลชามิน (Temple of Baalshamin) โบราณสถานที่มีอายุกว่าสองพันปีที่ถูกระเบิดด้วยฝีมือของรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (Islamic State of Iraq and the Levant) ในปี 2015 เป็นต้น โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปชมภาพจำลองของสถานที่อีกหลายแห่งได้ในเว็บไซต์ iconem.com

นอกจากผลงานของ Iconem แล้ว ก็ยังมีเทคโนโลยีอื่นที่สามารถสร้างแบบจำลองของสถานที่ทางประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน เช่นที่ เฮเธอร์ ริชาร์ดส-ริสเซ็ตโต (Heather Richards-Rissetto) นักโบราณคดีผู้ใช้เครื่องมือ LiDAR (Light Detection And Raging) หรือเครื่องมือที่ใช้แสงเพื่อตรวจจับระยะการเดินทางของคลื่นแสงที่ตกกระทบกับพื้นผิว และเดินทางกลับมายังเซ็นเซอร์เพื่อประมวลผลเป็นภาพจำลองมาประยุกต์เข้ากับการสร้างโมเดลสามมิติ โดยเขาได้สร้างรูปจำลองของเมืองโกปัน (Copán) โบราณสถานจากยุคอารยธรรมมายาที่องค์การยูเนสโกประกาศว่าเป็นแหล่งมรดกโลกให้ผู้ที่สนใจสามารถเดินผ่านเข้าออกได้ด้วยแว่น VR โดยข้อดีของการสร้างเมืองโบราณในแบบจำลอง VR นั้น นอกจากจะทำให้ได้มองเห็นสภาพแวดล้อมอย่างละเอียด ตั้งแต่พื้นผิวของวัตถุ สี แสง เงา และพืชพันธุ์ ที่ช่วยสร้างประสบการณ์เสมือนได้ย้อนไปสู่ช่วงศตวรรษที่ 5-9 ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของอารยธรรมมายาแล้ว ก็ยังช่วยให้ได้สัมผัสกับมุมมองต่าง ๆ ที่ครอบคลุม เช่น การชมวิวทิวทัศน์ของเมืองจากมุมมองกษัตริย์บนยอดบัลลังก์สูงสุดของมหาวิหารได้อีกด้วย

สำรวจโลกใต้บาดาลเพื่อค้นหาอดีต
ซากเรือหรือโบราณสถานที่จมอยู่ใต้น้ำสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย ทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจความคิดมนุษย์ในอดีต เรียนรู้การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน หรือแม้แต่ศึกษาเรื่องของสงคราม แต่การสำรวจโบราณคดีใต้น้ำนับเป็นงานที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย นักโบราณคดีจะต้องมีความพร้อมทางร่างกายเพื่อให้ทำงานได้อย่างปลอดภัยที่สุด

คริส คลาร์ก (Chris Clark) วิศวกรแห่งวิทยาลัยฮาร์วีย์มัดด์ (Harvey Mudd College) จึงออกแบบหุ่นยนต์ดำน้ำที่สามารถใช้คลื่นเสียงโซนาร์เพื่อสแกนพื้นดินใต้ทะเล ประกอบกับโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) ที่รวบรวมภาพของวัตถุโบราณเพื่อค้นหาซากเรือหรือโบราณสถาน จนกระทั่งสามารถค้นพบซากเครื่องบินทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองบริเวณชายฝั่งของประเทศมอลตา

นอกจากคลื่นเสียงโซนาร์จะสามารถค้นหาซากวัตถุทางประวัติศาสตร์ได้แล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและประหยัดเวลาเช่นกัน นักศึกษาปริญญาเอกด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน อย่าง ไลลา คาแรกเตอร์ (Leila Character) ได้ใช้การเรียนรู้จักรกลสอนให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้รูปร่างและลักษณะของซากเรืออัปปางเพื่อจำแนกรูปแบบของซากเรือออกจากสภาพภูมิประเทศใต้น้ำ โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ในการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม ด้วยวิธีนี้ นักโบราณคดีใต้น้ำจึงสามารถค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จมลงใต้น้ำได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งปลูกสร้าง เครื่องบิน หรือแม้แต่งานประติมากรรม

ไขปริศนาอักขระโบราณ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกได้ร่วมกันออกแบบระบบ AI ชื่อว่า DeepScribe เพื่อช่วยถอดรหัสอักษรโบราณบนแผ่นจารึกของอารยธรรมดั้งเดิม โดยฝึกฝนให้คอมพิวเตอร์จดจำรูปภาพที่มีคำบรรยายประกอบเป็นจำนวน 6,000 รูปจากคลังหอจดหมายแห่งเปอร์ซีโปลิส (Persepolis Fortification Archive) โดยรวบรวมอักขระที่ถูกเขียนลงบนแผ่นดินเหนียว ซึ่งมีชิ้นส่วนมากกว่า 20,000-25,000 ชิ้น บันทึกเรื่องราวระหว่าง 509 ถึง 457 ก่อนคริสต์ศักราช โดยมีตั้งแต่ใบเสร็จรับเงิน ข้อมูลภาษี คลังสินค้า พืชผล ปศุสัตว์ ซึ่งมีตัวอักษรถึง 1 แสนตัว และน่าทึ่งว่า DeepScribe สามารถแปลภาษาโบราณเหล่านี้ได้ถูกต้องถึง 80 เปอร์เซนต์

ทาง AI ของฝั่ง Google อย่าง DeepMind ก็ได้พัฒนาโครงข่ายประสาทในการบรูณะข้อความจารึกโบราณโดยมีชื่อว่า Pythia ซึ่งสามารถเติมเต็มประโยคที่ขาดหายไปบนข้อความที่เขียนไว้บนกระดาษ หรือสลักลงบนหินซึ่งถูกทำลายไปตามกาลเวลา คอมพิวเตอร์จะถูกฝึกฝนให้จดจำการจัดลำดับของตัวอักษรเพื่อสร้างสมมติฐานในการต่อเติมประโยคให้สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม การบูรณะข้อความใหม่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ยังคงต้องอาศัยนักประวัติศาสตร์ในการตัดสินความถูกต้องและความสมเหตุสมผลของข้อความ แต่มันก็ถือเป็นผู้ช่วยที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง และช่วยลดภาระการทำงานของนักประวัติศาสตร์ได้มากทีเดียว

การมาถึงของเทคโนโลยีขั้นสูงจะกลายเป็นตัวเอกในการค้นพบทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งช่วยไขปริศนาโบราณได้อีกมากมาย ทำให้เราเข้าใจผู้คน สังคม และวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีต ทั้งยังช่วยปกป้องสิ่งมีค่าเหล่านี้ได้ทันก่อนที่มันจะถูกทำลาย หรือเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เพื่อให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกส่งต่อไปเป็นประโยชน์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ในอนาคตต่อไป

โบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่ถูกค้นพบมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้จะเป็นสิ่งล้ำค่าและเต็มไปด้วยการบอกเล่าเรื่องราวมากมายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่เบื้องหลังการค้นพบสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นต่างก็แลกมากด้วยความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจของนักโบราณคดี เป็นเวลาแรมปีที่พวกเขาต้องทนแดด ฝ่าฝน เดินทางเข้าไปในป่าลึกเพื่อค้นหาหลักฐานที่ตั้งของหมู่บ้านโบราณ หรือการดำน้ำลงไปสำรวจเพื่อร่างภาพหรือถ่ายภาพซากเรือโบราณของนักโบราณคดีใต้น้ำ ซึ่งต้องต่อสู้กับระดับออกซิเจนที่ร่างกายต้องการในแต่ละครั้ง และยังต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการ

ที่มา :
บทความ "Archaeologists Use AI to ‘Dig Deeper’" โดย Natasha Matta จาก medium.com
บทความ "Restoring ancient text using deep learning: a case study on Greek epigraphy" โดย Yannis Assael, Thea Sommerschield และ Jonathan Prag จาก deepmind.com
บทความ "AI spots shipwrecks from the ocean surface – and even from the air" โดย Leila Character จาก theconversation.com
บทความ "Ditch the Hiking Boots and Grab Your Goggles: The Challenges of Underwater Archaeology" โดย kabentley จาก vassar.edu
บทความ "These Technologies Are Giving New Life to the Ancient World" โดย Joseph Bennington-Castro จาก nbcnews.com
บทความ "At the Sackler Gallery, take a virtual-reality tour of cities ravaged by ISIS and war" โดย Vanessa H. Larson จาก washingtonpost.com

เรื่อง : นพกร คนไว