Reimagine the (Living) Art เพราะแค่มองอาจไม่พอให้ได้รู้จัก
Technology & Innovation

Reimagine the (Living) Art เพราะแค่มองอาจไม่พอให้ได้รู้จัก

  • 17 Nov 2021
  • 932

ตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีแห่งศตวรรษที่ 21 การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และการเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันราวกับลมหายใจเข้าออกของโซเชียลมีเดีย ทำให้เราคุ้นเคยกับโลกที่เล็กลงแค่ปลายนิ้ว ทุกคนสามารถเห็นหรือมีประสบการณ์เดียวกันได้แม้อยู่ไกลกันคนละซีกโลก แต่ในทางกลับกัน บางแง่มุมของเทคโนโลยีที่ว่าล้ำสมัย กลับไม่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของงานศิลปะบางประเภทที่ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยตาเพียงอย่างเดียว 

The One and Only Mixed Reality Art Piece 
London Design Festival คือเทศกาลงานออกแบบของเมืองลอนดอน ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2003 โดยทุกปีจะมีโปรแกรมไฮไลต์คือ Landmark Project ที่ผู้ชมทั่วโลกต่างตั้งตาคอยที่จะได้เห็นสถาปัตยกรรมหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จากผลงานของศิลปินและนักออกแบบระดับโลกตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมือง เพื่อบอกเล่าความก้าวหน้าของงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของวัสดุหรือเทคโลยีในการผลิต ตลอดจนสะท้อนประเด็นทางสังคมที่กำลังเป็นที่สนใจของโลกในขณะนั้น ล้อไปกับบริบทของพื้นที่ที่จัดแสดง (Site-Specific Installation)

ในปี 2021 ที่ผ่านมา ศิลปินเจ้าของ Landmark Project คือโซ ฟูจิโมโต้ (Sou Fujimoto) สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น เจ้าของผลงานพาวิลเลี่ยนโครงสร้างเหล็กสีขาวกลางไฮด์พาร์กเมื่อปี 2013 แต่แทนที่เราในฐานะผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดีย จะได้เห็นภาพงานออกแบบขนาดยักษ์จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต ในทุกซอกมุมจากสื่อออนไลน์ เรากลับเข้าถึงภาพชิ้นงาน Landmark Project ประจำปี 2021 ได้อย่างจำกัด ด้วยเหตุที่ว่า งานดังกล่าวกลายเป็นงาน Virtual Installation ซึ่งผสมผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือน (Mixed Reality) โดยผู้ชมจะต้องใส่ชุดแว่นตาและหูฟังพิเศษ (Mixed Reality Headset) จึงจะมองเห็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ฟูจิโมโต้สร้างไว้เต็มราฟาเอล คอร์ต (Rafael Court) ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงได้  


©Tin Drum

เมดูซา (Medusa) คือชื่อผลงานที่ว่าด้วยการพิจารณาความสัมพันธ์ของธรรมชาติกับสถาปัตยกรรมของฟูจิโมโต้ชิ้นนี้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากปรากฏการณ์แสงเหนือ และการเรืองแสงของสัตว์ทะเลบางประเภท คำว่าเมดูซา จึงไม่ได้หมายถึงสัตว์ประหลาดในตำนานเทพปกรณัมกรีก แต่มาจากชื่อเรียกช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของแมงกะพรุน ที่เรียกว่า Medusa Phase

ผลงานเมดูซาหวังจะพาผู้ชมออกเดินทางเพื่อค้นพบตัวตนและอิทธิผลของมนุษย์ในฐานะผู้อยู่อาศัยที่มีผลต่อสถาปัตยกรรม เป็นการเข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์และความรู้สึกใหม่แบบที่จอดิจิทัลสี่เหลี่ยมแบบเดิมๆ ให้ไม่ได้ ดังนั้น ผู้ชมจึงไม่เพียงแต่จะได้มองเห็นชิ้นงานที่ถูกสร้างขึ้นผ่านแว่นตา แต่รูปร่างและโครงสร้างของตัวงานจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนไหวของผู้ชม นอกจากนี้ ยังมีเสียงซึ่งไม่ใช่เสียงประกอบ แต่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะให้เป็นอีกหนึ่งมิติของพื้นที่ เป็นเสียงที่แต่งโดยนักประพันธ์เพลงระดับโลกอย่างริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) ซ้อนทับกับเสียงจากมหาสมุทร ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมออกเดินสำรวจและเติมเต็มประสบการณ์ในทุกประสาทสัมผัสขณะชมงาน


©Tin Drum

โยโย มังก์ (Yoyo Munk) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ Tin Drum สตูดิโอผู้อยู่เบื้องหลังการผสานผลงานของฟูจิโมโต้เข้ากับโลกเสมือนกล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้นั้นมีชีวิต มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออยู่ในราฟาเอล คอร์ต เติบโตและเคลื่อนไหวไปตามพฤติกรรมของผู้ที่มาชม หากงานถูกนำไปจัดแสดงยังห้องอื่น มันก็จะเติมเต็มห้องใหม่ และปรับเปลี่ยนตัวตนไปตามพื้นที่และผู้คน ในแง่นี้ เทคโนโลยีแบบ Mixed Reality อาจทำให้งานศิลปะสามารถนำไปจัดแสดงที่ไหนก็ได้ทั่วโลก ลดความยุ่งยากในการขนส่งทั้งปวงที่มักเกิดขึ้นกับการขนย้ายชิ้นงานขนาดใหญ่ แต่งานชิ้นนั้นย่อมไม่ได้มีตัวตนแบบเดิมกับที่เคยจัดแสดง และไม่มีวันให้ความรู้สึกในการรับชมที่เหมือนเดิมอีกเลย

 
©Ben Fisher Photography

Artificial Life เพื่อนใหม่ในโลกใบเดิม 
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อข้ามจากย่านเคนซิงตันทางตะวันตกของลอนดอน มายังแถบแบงก์ไซด์ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Modern เราจะเห็นงานศิลปะในฐานะสิ่งมีชีวิตอีกชิ้นหนึ่งลอยล่องอยู่ใน Turbine Hall โดยผลงานนี้มีชื่อว่า In Love With the World โดยศิลปินหญิงชาวอเมริกัน-เกาหลี อนิกคา ยี (Anicka Yi)

In Love With the World เกิดขึ้นจากมุมมองของยีที่ว่า ทำไมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) ซึ่งก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาจึงมักผูกติดอยู่กับสมอง จนทำให้ AI กลายเป็นจิตใจที่ปราศจากร่างกาย ในขณะที่สิ่งมีชีวิตโดยทั่วไปจะเรียนรู้ได้มากผ่านประสบการณ์จากประสาทสัมผัส ปัญญาและองค์ความรู้จะเกิดขึ้นจากการใช้ร่างกายเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ยีตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เครื่องจักรจะพัฒนาตนเองจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับมนุษย์ได้อย่างเป็นปกติ ไม่ใช่ในฐานะผู้รับใช้หรือศัตรูตัวร้ายในโลกดิสโทเปียอย่างที่เราคุ้นเคยกันในโลกภาพยนตร์ 


©Will Burrard Lucas

ยีและทีมสร้าง “หุ่นยนต์” ที่เรียกว่า แอโรบส์ (Aerobes) จำนวนสองสายพันธุ์ คือแอโรบส์ทรงกลมเหลืองขุ่น ภายในบรรจุก๊าซฮีเลียม กับทรงรีใสที่มีหนวดยื่นออกมาคล้ายแมงกะพรุน แล้วปล่อยพวกมันให้ลอยสู่อากาศ เคลื่อนที่อย่างอิสระไปตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากตัวคนที่เดินผ่านไปมาในโถง หรือข้อมูลจากเซ็นเซอร์จำนวนมากที่ถูกติดตั้งไว้โดยรอบเพื่อจำลองสภาพสังคมให้กับแอโรบส์ ส่งผลให้พวกมันปรับเปลี่ยนและพัฒนาพฤติกรรมอยู่เสมอตามแต่สิ่งที่มันเผชิญ ซึ่งนั่นเท่ากับว่า มันจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทุกครั้งที่เจอกันกับเรา   

นอกจากนี้ แอโรบส์จะสื่อสารถึงกันในแบบที่มนุษย์อย่างเราไม่สามารถเข้าใจได้ และแอโรบส์แต่ละตัวจะมีสัญชาตญาณในการกลับบ้านไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตปกติ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกมันจะบินกลับบ้าน ซึ่งก็คือฐานชาร์จแบตเตอรี่ที่อยู่ตรงมุมโถงจัดแสดงนั่นเอง    

การเคลื่อนที่ของแอโรบส์นั้นใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ที่ใช้กันในแวดวงชีววิทยาที่เรียกว่า Artificial Life Program ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มักจะใช้สร้างสภาพแวดล้อมจำลองเพื่อศึกษาวิวัฒนาการหรือพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกันตามธรรมชาติของกลุ่มสิ่งมีชีวิต Artificial Life Program ได้สร้างเส้นทางบินจำนวนมากไว้ให้แอโรบส์ได้เลือกเคลื่อนไหวจนผู้ชมไม่สามารถคาดเดาทิศทางของมันได้ ภาพที่ผู้ชมมองเห็นจึงราวกับว่าพวกเขากำลังดูการแหวกว่ายไปในอากาศของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งจริงๆ  


©Will Burrard Lucas

ผลงานของยีชิ้นนี้นั้นอาจเรียกได้ว่าท้าทายยุคสมัยแห่งอินสตาแกรมไม่ต่างอะไรกับเมดูซ่าของฟูจิโมโต้ เพราะองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ In Love With the World ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา ก็คือกลิ่น โดยในแต่ละสัปดาห์ ภายใน Turbine Hall จะมีกลิ่นพิเศษที่ยีเลือกมาจากช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของย่านแบงก์ไซด์ ในสัปดาห์นี้ ผู้เข้าชมงานอาจได้กลิ่นทะเลจากยุคก่อนการอาศัยอยู่ของมนุษย์บนโลก ในขณะที่ในอีกสัปดาห์หนึ่ง อาจจะได้กลิ่นถ่านหินจากสมัย Machine Age ในต้นศตวรรศที่ 20 หรือกลิ่นเครื่องเทศที่เชื่อกันว่าจะหยุดยั้งการระบาดของกาฬโรคในศตวรรษที่ 14 

ยีเชื่อว่างานของเธอนั้นจำเป็นที่ผู้ชมจะต้องมาสัมผัสในสถานที่จริง ด้วยร่างกายและจิตใจที่รวมกันเป็นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอดแทรกกลิ่นเข้าไปในงานนั้น ก็เพื่อให้กลิ่นช่วยเน้นย้ำและกระตุ้นการรับรู้กับผู้ชม ว่าพื้นที่ว่างที่อยู่รายล้อมตัวนั้นไม่ใช่ความว่างเปล่า แต่คืออากาศที่เราทุกคนใช้ร่วมกัน ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทั่วโลก ยีต้องการจะสื่อสารว่า อากาศคือสารที่เชื่อมทุกคนเข้าไว้ด้วยกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเราทุกคน

ที่มา :
londondesignfestival.com
Exhibition Guide จาก tate.org.uk 
บทความ “Experience the mixed reality of 'Medusa' at the London Design Festival” จาก stirworld.com
บทความ “Sou Fujimoto creates immersive virtual installation at London Design Festival 2021” จาก designboom.com
บทความ “You Have to Experience It in the Radical Present’: How Anicka Yi’s Ultra-Sensorial Tate Commission Resists the Age of Instagram Art” จาก news.artnet.com  

เรื่อง : นันทกานต์ ทองวานิช