ล่องเรือ หารักษ์ : สร้างเรือเปลี่ยนโลก เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีขึ้น
Technology & Innovation

ล่องเรือ หารักษ์ : สร้างเรือเปลี่ยนโลก เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีขึ้น

  • 02 Dec 2021
  • 1363

หลังจากที่มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างโลดแล่นและเลิ่นเล่อมาอย่างยาวนาน ในที่สุดเราก็ได้ยินเสียงกรีดร้องขอความช่วยเหลือซึ่งอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายจากโลกใบนี้ก่อนที่จะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ได้อีกต่อไป ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปะทุขึ้นในทุกมิติ รวมถึงภาวะโลกร้อนและโลกรวน กำลังส่งผลต่อทุกภาคส่วนบนโลกไม่ใช่เฉพาะแต่มนุษย์ผู้กระทำ แต่รวมถึงธรรมชาติที่เราต้องพึ่งพาด้วย 

“มหาสมุทร” นับเป็นหนึ่งในบั้นปลายของมลพิษจำนวนมหาศาลเมื่อแม่น้ำทุกสายล้วนมุ่งสู่ทะเล ทั้งยังเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่โอบรอบผืนแผ่นดินอีกด้วย การใส่ใจดูแลรักษามหาสมุทรจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่แน่ว่าผืนน้ำอาจจะซ่อนเสียงกระซิบลอดผ่านหมู่มวลมลพิษมหาสารเพื่อช่วยโลกของเราไว้ก็ได้ เพียงแต่ตอนนี้เราเองอาจจะต้องช่วยส่งหน่วยกู้ชีพทางทะเลไปอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของมหาสมุทรและอีกหลายล้านชีวิตในท้องทะเลจะถูกพรากไป


©The Ocean Cleanup

(เขา) ทิ้งแต่ (เรา) เก็บ
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระบุว่าขยะ 8 ล้านชิ้นถูกลำเลียงลงมหาสมุทรทุกปี สร้างความเสียหายให้แก่สัตว์ทะเลและระบบนิเวศเป็นอย่างมาก และอาจเป็นไปได้ว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ในปี 2050 พลาสติกจะมีจำนวนเยอะกว่าปลาในมหาสมุทร !

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา “Interceptor” เรือเก็บขยะสัญชาติเนเธอร์แลนด์ได้เริ่มทดลองปฏิบัติการในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อหวังจะลดปัญหาขยะที่ไหลจากแม่น้ำไปสู่ทะเล Interceptor คิดค้นขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร The Ocean Cleanup ซึ่งเห็นว่าขยะส่วนใหญ่กว่า 80% ในทะเลล้วนเดินทางมาจากแม่น้ำเพียง 1,000 สาย Interceptor คือเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถเก็บขยะได้ถึง 100,000 กิโลกรัมต่อวัน โดยไม่รบกวนการสัญจรปกติ การทำงานของเรือลำนี้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ โดยแผงกั้นจะนำทางขยะให้เข้ามาสู่ปากเรือจากนั้นจะมีสายพานนำขยะที่เก็บได้เทลงถังเก็บขยะของเรือซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 6 ใบ เมื่อทุกใบเต็มแล้ว ระบบจะทำการแจ้งให้พนักงานทราบเพื่อมาถ่ายขยะออกจากถังและนำไปรีไซเคิลต่อไป 

ในปีที่ผ่านมา Interceptor สามารถเก็บขยะรวมได้กว่า 500,000 ปอนด์ แต่ก็ยังนับว่าเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับขยะที่เดินทางสู่มหาสมุทร โดยทีมพัฒนามีเป้าหมายที่จะจัดการกับพลาสติกในแม่น้ำ 1,000 สายแรกภายใน 5 ปี ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศลำดับที่ 5 ที่มี Interceptor เข้ามาจัดการขยะ ต่อจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และโดมินิกัน โดยพิจารณาประเทศเป้าหมายจากปริมาณขยะในแม่น้ำที่มีมากเป็นพิเศษ Interceptor ไม่เพียงแต่เก็บขยะแต่ยังนำขยะเหล่านั้นไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อีกด้วย โดยสินค้าชนิดแรกที่ได้จากขยะในแม่น้ำก็คือแว่นกันแดดดีไซน์สวย ซึ่งองค์กรจะนำรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดเพื่อใช้ในการทำความสะอาดทะเลต่อไป 


©The SeaCleaners

ในขณะเดียวกัน “Manta” ด้วยการสนับสนุนจากองค์กร The SeaCleaners ก็กำลังพัฒนาตัวเองอย่างแข็งขันเพื่อพร้อมลงทะเลไปเก็บ บำบัด และนำขยะมารีไซเคิลภายในช่วงปี 2024-2025 นี้ เรือ Mantra คือเรือคาตามารันขนาด 56.5x26 เมตรที่ใช้พลังงานจากกังหันลม 2 ตัว เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ 100 Kw และแผงโซลาร์เซลล์ มีหน้าที่เก็บขยะที่เล็กได้ถึง 10 มิลลิเมตรในน้ำลึก 1 เมตร ผ่านอาวุธลับต่าง ๆ อาทิ สายพานลำเลียงขยะขึ้นเรือ เครนยกขยะชิ้นใหญ่ และเรือเล็กอีก 2 ลำ นามว่า “Mobula” ที่จะช่วยเข้าไปจัดเก็บขยะในแหล่งน้ำที่แคบ การจัดการเหล่านี้จะไม่ทำร้ายสัตว์ทะเลด้วยการสร้างตาข่ายที่สามารถลอดผ่านได้ร่วมกับใช้เสียงอัลตราซาวด์ในการเตือนสัตว์ หลังจากขยะได้ส่งขึ้นเรือแล้ว จะมีการจัดการแยกขยะโดยเจ้าหน้าที่ทันที ขยะอินทรีย์จะถูกส่งกลับทะเล ขยะอีกส่วนหนึ่งจะใช้เพื่อเป็นพลังงานให้กับเรือต่อไปผ่านกระบวนการไพโรไลซิส ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บไว้เพื่อแปรเป็นพลังงานต่อ หรือไม่ก็จัดเก็บเพื่อรอเข้าโรงบำบัดหรือโรงรีไซเคิลเมื่อเรือจอดพักระหว่างทาง โดยวางเป้าหมายว่าจะเก็บขยะจากท้องทะเลให้ได้ระหว่าง 50,000 – 100,000 เมตริกตันต่อปี


©Saildrone

รู้ลึกเรื่องโลกรวนไปกับ Saildrone
เรือใบ Saildrone อัจฉริยะสีส้มสะดุดตานี้ขับเคลื่อนไปทั่วโลกด้วยพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์อันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา สมุทรศาสตร์ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกรวน อาทิ ประชากรสัตว์ทะเล กระแสน้ำในมหาสมุทร ความเร็วลม ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงอุณหภูมิทะเลและอากาศ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกรายงานไปสู่ภาคพื้นแบบเรียลไทม์สำหรับการพัฒนาแนวทางกอบกู้โลกต่อไป 


©Saildrone

เรืออัจฉริยะนี้เดินทางโดดเดี่ยวไม่มีคนขับ แต่อัดแน่นไปด้วยเซ็นเซอร์ ระบบเรดาร์ กล้องความละเอียดสูงและเพื่อจัดทำแผนที่พื้นมหาสมุทร รวมถึงยังมี AI ที่ทำให้เรือนี้สามารถเดินทางไปทำภารกิจด้วยตัวเองรอบโลกโดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากมนุษย์ได้เป็นเดือน ๆ ทั้งยังมีความทนทานจนสามารถฝ่าสภาพแวดล้อมที่รุนแรงอย่างอาร์กติกไปได้โดยไม่ต้องเอาชีวิตคนไปเสี่ยงอันตราย Saildrone ยังช่วยรายงานความผิดปกติหรือการฝ่าฝืนกฎหมายทางทะเล เช่น การประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การใช้สารเสพติด หรือการบุกรุกเขตคุ้มครองทางทะเลได้ด้วย ซึ่งก็นับเป็นการปกป้องผืนทะเลอีกทางหนึ่งนั่นเอง

แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือและฟังเสียงจากทะเลอย่างจริงจังมากขึ้น แต่ทุกอย่างก็อาจไม่มีความหมาย ถ้าสังคมไม่พยายามที่จะได้ยินหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้ใจดีและเห็นใจโลก เพราะเรือเก็บขยะร้อยลำก็ไม่อาจทำให้มนุษย์รอดพ้นจากการจมทะเลขยะได้ หากเรายังไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ลองเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เพื่อให้ทะเลที่สวยงามเป็นจริงได้โดยไม่ต้องรอเรืออีกต่อไป

ที่มาภาพเปิด : theoceancleanup.com

ที่มา :
บทความ “เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ Interceptor มากู้(แม่น้ำ)ไทยแล้ว!” จาก shortrecap.co
บทความ “Floating trash collectors are stopping garbage from reaching the ocean” โดย Stephen Beacham จาก shortrecap.co 
บทความ “The Manta, the first-of-a-kind ship cleaning up the oceans” จาก livingcircular.veolia.com 
บทความ “The Manta: Innovative eco-ship on the hunt for marine debris” จาก waste-management-world.com
บทความ “autonomous saildrones cruise the oceans to help combat climate change” จาก designboom.com
เว็บไซต์ aildrone.com
เว็บไซต์ theoceancleanup.com

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง