แผนที่ “คาร์บอนที่นำกลับมาไม่ได้” ช่วยปกป้องโลกก่อนที่จะสายเกินไป
Technology & Innovation

แผนที่ “คาร์บอนที่นำกลับมาไม่ได้” ช่วยปกป้องโลกก่อนที่จะสายเกินไป

  • 07 Dec 2021
  • 1096

ไม่มีสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใดในโลกที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีไปกว่าต้นไม้ เราได้เห็นโครงการปลูกป่ามากมายที่ฝากความหวังไว้กับต้นกล้าที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต และการรณรงค์ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050

ต้นไม้หนึ่งต้นสามารถดูดซับคาร์บอนได้ราว ๆ 25 กิโลกรัมต่อปี อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับขนาด ชนิด และอายุของต้นไม้ แต่หากว่าต้นไม้เหล่านี้ตายและย่อยสลายตามกระบวนการทางธรรมชาติ คาร์บอนที่กักเก็บอยู่ในต้นไม้ส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมลงไปในดิน อีกส่วนจะถูกปล่อยกลับไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งกระบวนการย่อยสลายของไม้จะเป็นไปตามสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ อีกทั้งเห็ด เชื้อรา หรือแมลงกินไม้อย่างปลวก หนอน หรือด้วง ก็เป็นตัวช่วยกระตุ้นกระบวนการให้เร็วขึ้น 

ในขณะนี้ มีจำนวนคาร์บอนที่เก็บอยู่ในซากต้นไม้ตายทั่วโลกมากกว่า 73 พันล้านตัน และในปีที่ผ่านมาได้มีรายงานจากวารสาร Nuture ว่า ในแต่ละปีคาร์บอน 10.9 พันล้านตันจากจำนวนทั้งหมดได้ถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ หรือลงสู่พื้นดิน

เมื่อมองกลับมายังป่าที่เหลืออยู่ปัจจุบัน พื้นที่ของระบบนิเวศทั่วโลกเช่นป่าพรุ ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น หรือป่าดึกดำบรรพ์มีคาร์บอนเก็บอยู่ทั้งหมด 139 พันล้านตัน คาร์บอนเหล่านี้ถูกเรียกว่า “คาร์บอนที่นำกลับมาไม่ได้” ซึ่งหากป่าเหล่านี้ถูกทำลาย คาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศจะไม่สามารถฟื้นฟูได้ภายในศตวรรษนี้ หรืออีกความหมายหนึ่งคือเราจะล้มเหลวในการไปถึงเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 น่าเศร้าที่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การตัดไม้ เกษตรกรรม และไฟป่า ทำให้เราสูญเสียคาร์บอนที่นำกลับมาไม่ได้ไปแล้วกว่า 4 พันล้านตัน

แผนที่คาร์บอน ลายแทงคลังเก็บคาร์บอนของโลก
Conservation International องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิจัยพื้นที่ป่าที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลกที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และพบว่ามีที่พื้นที่เพียง 3.3 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4.9 ล้านตารางกิโลเมตรเท่านั้นของพื้นที่ทั่วโลกที่เป็นแหล่งเก็บคาร์บอน โดยคาร์บอนที่เก็บอยู่เหล่านี้มีจำนวนมากกว่า 15 เท่าของมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกปล่อยในแต่ละปี นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรปกป้องไม่ให้พื้นที่ป่าเหล่านี้ถูกทำลายไป

คาร์บอนเหล่านี้เก็บอยู่ในพื้นที่ป่าใน 6 ทวีปทั่วโลกซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่อย่างป่าแอมะซอน ลุ่มน้ำคองโก หมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ตอนใต้ของประเทศชิลี ตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จากการศึกษาก็พบด้านดีที่ว่าพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่คุ้มครอง และหากเราเพิ่มพื้นที่คุ้มครองมากขึ้นอีก 5.4 เปอร์เซ็นต์ เราจะสามารถป้องกันการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เรามาดูตัวอย่างกันว่าในแผนที่มีโซนไหนโดดเด่นด้านการเก็บคาร์บอนและควรปกป้องเอาไว้บ้าง

ป่าดิบชื้นแห่งแอมะซอน เครื่องกรองอากาศขนาดใหญ่สำหรับโลก
พื้นที่กว่า 5.5 ล้านตารางกิโลเมตรของป่าแอมะซอน อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำสะอาด และความสามารถในการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงแต่สัตว์ป่า แอมะซอนยังเป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์และคนพื้นเมืองกว่า 350 กลุ่ม ซึ่งคนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ นอกจากนี้ป่าแห่งนี้ยังเป็นที่กักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งกักเก็บไว้ได้มากกว่า 31 ล้านตัน 

“ป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ดึกดำบรรพ์ของแอมะซอนเป็นระบบนิเวศที่เก็บคาร์บอนไว้ในระดับสูง เนื่องจากมันดูดซับคาร์บอนมาตลอดเวลาหลายร้อยปี และยังคงเติบโตไปอีกทุกปี” ฮวน คาลอส เลเดซมา (Juan Carlos Ledezma) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค และผู้ร่วมวิจัยกล่าว

แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังน่าเป็นห่วงคือพื้นที่ของแอมะซอนได้ถูกทำลายไปแล้วจำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในปี 2015 พื้นที่ป่าในบริเวณประเทศบราซิลถูกเผาและตัดไปถึง 6,000 ตารางกิโลเมตร หากเรายังปล่อยให้เกิดการทำลายแบบนี้ต่อไป จะเป็นชนวนสู่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ที่เพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น ลดความชุ่มชื้นของป่าให้เหือดแห้งไป และจะนำไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนที่ถูกเก็บไว้ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อป่าแอมะซอนที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนสภาพไปเป็นป่าสะวันนาที่แห้งแล้ง ก็จะมีโอกาสมากต่อการเกิดไฟป่า และยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น

ป่าชายเลนแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ แหล่งฝังคาร์บอนไว้นานกว่าร้อยปี
ทางตอนใต้ของประเทศไนจีเรียคือบริเวณของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ (Niger Delta) มีบริเวณกว้างถึง 70,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นป่าชายเลนที่กว้างที่สุดในโลก ข้อดีของป่าชายเลนคือดินที่จมอยู่ใต้น้ำ และถูกบดบังไปด้วยต้นไม้จนไม่ได้โดนแสงแดด คาร์บอนจึงตกตะกอนและถูกขังอยู่ในดินเป็นเวลานานกว่าร้อยปี เพียงแค่บริเวณนี้ก็เก็บคาร์บอนไปมากถึง 240 ล้านตัน จากจำนวน 543 ล้านตันของคาร์บอนที่เก็บอยู่ในป่าของประเทศไนจีเรีย

อย่างก็ไรตาม คาร์บอนที่นอนแน่นิ่งอยู่ใต้ป่าชายเลนอาจกลับคืนมาสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้งเมื่อการส่งออกน้ำมันกลายเป็นรายได้หลักของรัฐบาลไนจีเรีย ปัญหาการรั่วไหลของเรือขนส่งน้ำมัน ประกอบกับการทำลายป่าเพื่อสร้างถนน แคมป์คนงาน และการก่อสร้างระบบพื้นฐานของการขนส่ง ประกอบกับการปราบปรามโรงกลั่นผิดกฎหมายด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเผาโรงกลั่นน้ำมัน หรือเทน้ำมันผิดกฎหมายลงสู่แม่น้ำ ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องนึกไปถึงคาร์บอนในดินที่จะถูกปล่อยออกมา เพราะเพียงแค่ระบบนิเวศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นก็ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยตรงแล้ว

การปกป้องไม่ให้โลกสูญเสียป่าไปมากกว่านี้จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของเราทุกคน การเพิ่มพื้นที่ของป่าคุ้มครอง นโยบายห้ามตัดไม้ทำลายป่า หรือการสร้างสามัญสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญของแผนที่คาร์บอนจะช่วยบอกและกำหนดทิศทางในการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ดี และหากเราทำสำเร็จเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 คงไม่ไกลเกินเอื้อม

ที่มาภาพเปิด : Kristaps Ungurs on Unsplash

ที่มา :
IRRECOVERABLE CARBON จาก conservation.org
AMAZONIA จาก conservation.org
บทความ "These ecosystems could determine our climate future: study" โดย Kiley Price จาก conservation.org
บทความ "A Primer on Nigeria’s Oil Bunkering" โดย John Campbell จาก cfr.org
บทความ "First Study of Its Kind Finally Reveals How Dying Trees Affect Earth's Carbon Cycle" โดย CARLY CASSELLA จาก sciencealert.com

เรื่อง : นพกร คนไว