ปักหมุดหนีน้ำท่วมโลกไปอยู่ที่ Oceanix City ต้นแบบเมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลกที่ปูซาน
Technology & Innovation

ปักหมุดหนีน้ำท่วมโลกไปอยู่ที่ Oceanix City ต้นแบบเมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลกที่ปูซาน

  • 27 Dec 2021
  • 2087

ธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกกำลังละลาย อุณหภูมิโดยรวมของโลกสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบอย่างหนักในตอนนี้ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอย่างรุนแรง ตามรายงานในการประชุมของสหภาพธรณีวิทยาอเมริกา (The American Geophysical Union) ปี 2019 ยังระบุว่า กว่า 90% ของเมืองใหญ่ทั่วโลก ต่างมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นพื้นที่จมน้ำ

ด้วยปัญหาสภาพอากาศโดยรวมที่แย่ลงทุกปี แนวคิดที่จะแก้ปัญหาพื้นที่ชายฝั่งให้รอดพ้นจากการจมลงใต้บาดาลจึงเริ่มเป็นประเด็นที่หลายประเทศเล็งเห็นและพยายามค้นหานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาของมนุษยชาติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาชาติ หรือ UN-Habitat ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ที่อยู่อาศัย จึงได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทบลูเทค มหานครปูซานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี องค์การสหประชาชาติ และ Bjarke Ingels Group จากนิวยอร์ก ในการสร้าง “Oceanix City” เมืองลอยน้ำต้นแบบที่ยั่งยืนแห่งแรกของโลก ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

เกาะรังผึ้งที่เชื่อมต่อกัน
แนวคิดการสร้าง Oceanix City เกิดขึ้นหลังการประชุมและได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติในปี 2019 นำโดย UN-Habitat, Oceanix, MIT Center for Ocean Engineering และ Explorers Club ด้วยการทดลองออกแบบสร้างเมืองลอยน้ำนอกชายฝั่งปูซาน เพื่อให้เป็นเมืองที่แข็งแรงและปลอดภัยสำหรับรับมือกับอุทกภัย พร้อมเป็นเมืองที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน

Oceanix City ซึ่งรับผิดชอบการออกแบบโดย Bjarke Ingels Group จะสามารถลอยสูงได้ในระดับเดียวกับน้ำทะเล ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน สร้างอยู่บนฐานรูปหกเหลี่ยมที่ถือเป็นรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด ช่วยให้ประหยัดทั้งพื้นที่และวัสดุ โดยฐานของเมืองจะเสริมด้วยการเคลือบหินปูนที่แข็งกว่าคอนกรีต 2-3 เท่า แต่ยังสามารถลอยอยู่บนน้ำได้ ใต้ฐานที่จมอยู่กับมหาสมุทรจะเป็นลักษณะของกรง ที่แต่ละแท่นจะเป็น Biorock* หรือหินชีวภาพที่มีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบ มีความปลอดภัยกับโครงสร้างเหล็ก ป้องกันสนิมและการกัดกร่อนได้ สามารถเป็นแหล่งฟื้นฟูแนวปะการัง ป่าชายเลน การประมง และระบบนิเวศชายฝั่งได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ทั้งยังช่วยเป็นถิ่นฐานให้ปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งหมดเจริญเติบโตได้พร้อมกัน มีความต้านทานต่ออุณหภูมิที่สูง และอยู่รอดได้จากมลภาวะในน้ำที่มากขึ้น แนวปะการังที่ทำจากหินชีวภาพจึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อาหารทะเล เช่นหอยเชลล์ ปู หรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ ได้ด้วย โดยที่วัสดุนั้นจะแข็งแกร่งขึ้นตามกาลเวลา ทั้งยังมีการออกแบบตัวอาคารให้ทนต่อลม รวมทั้งทนต่อภัยธรรมชาติอย่างสึนามิ พายุเฮอริเคน และน้ำท่วม เป็นต้น

ในส่วนโครงสร้างอาคารนั้นมีการออกแบบให้เหมาะสมกับภูมิอากาศ โดยเฉพาะฤดูร้อนในปูซานซึ่งมักร้อนและชื้น ดังนั้นหลังคาของอาคารจะเพิ่มพื้นที่ในร่มให้มากที่สุด ให้ความสะดวกสบายและลดต้นทุนการติดตั้งระบบปรับอากาศ พื้นที่หลังคาติดแผงโซลาร์เซลล์ อีกทั้งการก่อสร้างยังให้ความสำคัญกับวัสดุในท้องถิ่น อาทิ ไม้ไผ่ ที่มีคุณสมบัติเหนียวและมีความต้านทานแรงดึงของเหล็กถึง 6 เท่า ทั้งไม่มีคาร์บอนฟุตปรินต์ โดยภายใน Oceanix City จะมีพื้นที่ของจัตุรัสสาธารณะ ตลาด และศูนย์กลางสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ สุขภาพ กีฬา ศาสนาและวัฒนธรรม

การประเมินการก่อสร้างทั้งหมดคาดว่าจะมีมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้มากถึง 10,000 คนต่อพื้นที่ 750,000 ตารางเมตร โดยเป้าหมายโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2025 ทำให้เมืองทั่วโลกที่มีความเสี่ยงจะเป็นพื้นที่จมน้ำ ได้มีพิมพ์เขียวเมืองชายฝั่งฉบับแรกที่เสร็จสมบูรณ์ และนำไปใช้เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

อยู่ร่วมไปกับน้ำ
“แทนที่จะต่อสู้กับน้ำ ให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับน้ำ” เป็นคำกล่าวของ ไมมูนาห์ โมห์ด ชาริฟ กรรมการบริหารของ UN-Habitat ในตอนที่แสดงวิสัยทัศน์ตามแนวคิดการสร้าง Oceanix City จากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบในด้านพื้นที่ภูมิศาสตร์ ซึ่งหลายแห่งเลือกการถมทรายหรือแม้แต่ก้อนอัดแข็งของขยะที่ทำลายไม่ทันลงในมหาสมุทรเพื่อสร้างดินแดนใหม่ การขยายตัวของเมืองชายฝั่งที่ไม่จำกัดกำลังทำลายพื้นที่มหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตทางทะเลนับล้านตารางกิโลเมตร รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกก็กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มนุษย์มองหาทางเลือกที่จะตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยที่มากขึ้น โดยยังสามารถผลิตพลังงาน น้ำ และอาหารได้โดยไม่ทำลายระบบนิเวศทางทะเล

การหาพื้นที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตที่ยั่งยืนจึงต้องให้ความสำคัญกับการ “อยู่ร่วม” กับทุกสิ่งมีชีวิตในโลกโดยเฉพาะชีวิตใต้ทะเล ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่แล้ว ใต้ทะเลยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญซึ่งต้องรักษาให้อุดมสมบูรณ์ต่อไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้นแนวคิดในการสร้าง Oceanix City จึงพุ่งเป้าไปที่การมีพื้นที่ทำการเกษตรของชุมชน ผลิตอาหารทะเลได้ เช่น เลี้ยงหอยเชลล์ โดยหมุนเวียนของเสียจากปลาไปเป็นปุ๋ยพืชได้ และส่งเสริมการบริโภคอาหารจากพืช (Plant-Based Food) ผลิตผลออร์แกนิกด้วยระบบแอโรโพนิกส์ (Aeroponics) หรือการปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอากาศโดยไม่ใช้ดิน ระบบอควาโพนิก (Apuaponics) การปลูกด้วยน้ำ การทำฟาร์มกลางแจ้ง (Outdoor Farming) และเรือนกระจก (Green House) รวมถึงการปลูกพืชใต้ทะเล (Ocean Farming) อย่างเช่น สาหร่ายทะเล

นอกจากนี้ ยังมีการวางแผน Net-Zero Energy หรือการใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ ลม และคลื่น มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และผลิตน้ำจืดได้เอง (Fresh Water Autonomy) โดยใช้เทคโนโลยีการกลั่นไอน้ำด้วยเครื่องกำเนิดน้ำในบรรยากาศและระบบเก็บกักน้ำฝนเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ ส่วนการกำจัดน้ำเสียจะเป็นระบบปิดแบบครบวงจรที่ไม่ก่อให้เกิดของเสีย มีระบบกำจัดขยะและเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน มีการเลือกใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและวัสดุรีไซเคิลมาผลิตสินค้าใช้ใหม่ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศใต้น้ำเอาไว้ด้วย ประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งหมดนี้จะทำให้เมืองที่ยั่งยืนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่และน่าทำงานมากขึ้น

ปูซาน เมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก
ปูซานตั้งอยู่ปลายแหลมทางตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรเกาหลี มีประชากรอาศัยอยู่ 3.4 ล้านคน เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้และคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยถูกจัดอันดับว่าใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก เมืองนี้ไม่เพียงแต่เสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นและน้ำท่วมต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ปาร์คฮยองจุน นายกเทศมนตรีเมืองปูซาน ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่ปูซานต้องเผชิญว่า ในฐานะเมืองชายฝั่ง ปูซานจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะสร้างเมืองที่ผู้คน ธรรมชาติ และเทคโนโลยีสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยการสนับสนุนโครงการนี้ของเกาหลีใต้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาให้ปูซานเป็นก้าวแรกของการตั้งถิ่นฐานในมหาสมุทรอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติต่อไป

ทั้งนี้ UN-Habitat จะรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเมืองลอยน้ำต้นแบบที่ปูซานในครั้งนี้เพื่อนำไปพัฒนาโครงการต่อเนื่องในอนาคต ซึ่ง Oceanix City มีแผนเดินหน้าต่อในการสร้างเมืองลอยน้ำอีกกว่า 10 แห่ง ในพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดปัญหาเป็นพื้นที่จมน้ำคล้ายคลึงกัน ซึ่งหากต้นแบบปูซานประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงแล้ว บ้านหลังต่อไปในศตวรรษหน้าของมนุษย์ ก็อาจจะได้เก็บสัมภาระย้ายเข้าเมืองลอยน้ำพร้อมกันก็เป็นได้

* Biorock คือ โครงสร้างโลหะที่มีไฟฟ้าไหลผ่านนำไปวางไว้ใต้ทะเลเพื่อช่วยให้เกิดการแยกโมเลกุลระหว่างออกซิเจนออกจากไฮโดรเจน ผลที่ได้คือการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ สัตว์ทะเลจะสร้างแคลเซียมได้ดีขึ้น จึงเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรง
ที่มา : https://projects.dmcr.go.th/miniprojects/175/news/265/detail/48979

ภาพ : Oceanix

ที่มา :
บทความ “Flood-resistant floating city to be built in South Korea” โดย Sarah Wray จาก https://cities-today.com
บทความ “Bjarke Ingels Group Is Building a Sustainable Floating City Off the South Korean Coast” โดย Bryan Hood จาก https://robbreport.com
บทความ “UN-bcked floating city built to withstand Category 5 hurricanes is headed to South Korea” โดย Aria Bendix จาก www.businessinsider.com
บทความ “Check out the world’s first FLOATING CITY! Flood-proof Oceanix – backed by the UN – will be built in South Korea by 2025” โดย Jonathan Chadwick จาก www.dailymail.co.uk
เว็บไซต์ oceanixcity.com

เรื่อง : ธมลณัฏฐ์ นันทน์นัต