พระจันทร์ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ ชาวจีนผู้พิชิต : เมื่อทุกอย่างสร้างได้และการเอาชนะธรรมชาติของชนชาติแดนมังกร
Technology & Innovation

พระจันทร์ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ ชาวจีนผู้พิชิต : เมื่อทุกอย่างสร้างได้และการเอาชนะธรรมชาติของชนชาติแดนมังกร

  • 01 Feb 2022
  • 1953

ความ “ยิ่งใหญ่” ของแดนมังกรนั้น นอกจากขนาดพื้นที่ทางกายภาพที่เห็นเป็นประจักษ์แล้วนั้น ยังมีหลักฐานความ “เล่นใหญ่” ของชาวจีนในด้านต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เราได้เห็นมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงที่ยาวที่สุดในโลกอย่าง “กำแพงเมืองจีน” ที่ได้สมญานามว่าเป็น “กำแพงหมื่นลี้” หรือการเฉลิมฉลองต่าง ๆ ตั้งแต่เทศกาลตรุษจีนไปจนถึงพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ไม่เคยทำให้ผู้ชมพลาดหวังกับการได้เห็นพิธีกรรมหรือการแสดงสุดอลังตระการตา 

เช่นเดียวกับมิติทางด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่จีนเองก็กำลังมาแรงแบบไม่แพ้ชาติไหนในโลกเช่นกัน ตั้งแต่โปรเจ็กต์การสร้างสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง หรือการเป็นชาติที่สองของโลกที่เดินทางไปเหยียบดาวอังคารได้สำเร็จ ซึ่งนอกจากการออกไปค้นฟ้าคว้าดาวแล้วนั้น ชาวจีนก็ได้ทำให้เห็นว่าแม้แต่การสร้าง “ดวงจันทร์” และ “ดวงอาทิตย์” ก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือมนุษย์หรือจริง ๆ คือหมายถึง “คนจีน” กันแล้ว


©Todd Rhines/Unsplash

ดวงอาทิตย์จำลอง และโอกาสเรืองรองของพลังงานทางเลือก
การหาแหล่งพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนกำลังเป็นโจทย์สำคัญที่ทั่วโลกจำเป็นต้องหาทางออก ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรจะเป็นขุมพลังงานที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนได้ดีไปกว่า “ดวงอาทิตย์” แหล่งพลังงานหลักที่สำคัญต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกมาช้านาน 

หลักการสร้างพลังงานของดวงอาทิตย์นั้นเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion)” ซึ่งเป็นกระบวนการรวมตัวของนิวเคลียสของอะตอมที่ทำให้เกิดการปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมาจากแกนกลางของดวงอาทิตย์ โดยพลังงานที่ได้จากกระบวนการนี้ นอกจากจะเป็นพลังงานสะอาดและปลอดภัยแล้ว1 ยังเป็นพลังงานที่มีเสถียรภาพสูงมาก เมื่อเทียบกับพลังงานทางเลือกประเภทอื่นอย่างเช่นพลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะแปรผันไปตามสภาพอากาศในแต่ละช่วงของวัน

เพื่อจำลองกระบวนการทำงานของดวงอาทิตย์ทั้งดวงให้มาจุติบนโลก หลายประเทศทั่วโลกจึงเริ่มศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างพลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้ามาหลายทศวรรษ แต่เนื่องจากต้องอาศัยพลังงานและความร้อนจำนวนศาล (ที่ใจกลางดวงอาทิตย์มีความร้อนถึง 15 ล้านองศาเซลเซียส) การจะทำให้กระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชันอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ จึงเป็นโจทย์หินในพัฒนามาโดยตลอด 

แต่ปัจจุบัน หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ทำการศึกษาการทำงานของปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน หรือการจำลอง “ดวงอาทิตย์เทียม” เพื่อผลิตพลังงานสะอาดโดยใช้ดิวเทอเรียม (Deuterium) หรือไฮโดรเจนหนักที่พบได้ทั่วไปในมหาสมุทรเป็นสารตั้งต้น และกำลังได้รับการจับตามองจากทั่วโลกก็คือ โครงการทดสอบการทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันของเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค (Experimental Advanced Superconducting Tokamak) หรือ “EAST” จากเมืองเหอเฝย์ มณฑลอานฮุย ประเทศจีน ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 และล่าสุดเพิ่งทำสถิติในการใช้งานได้นานถึง 1,056 วินาที (ราว 17 นาที) ด้วยอุณหภูมิสูงถึง 70 ล้านองศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ความสำเร็จดังกล่าวจึงนับเป็นก้าวสำคัญที่อาจทำให้โอกาสที่เราจะมีพลังงานสะอาดเสถียรภาพสูงนั้นขยับใกล้ความจริงมากขึ้น และอาจกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักในอนาคตของมวลมนุษยชาติ ตลอดทั้งยังเป็นการเปิดประตูไปสู่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีล้ำ ๆ อีกมากมายต่อไป


©David Dibert/Unsplash

ดวงจันทร์ประดิษฐ์ แนวคิดเพื่ออนาคต
แม้จะผ่านมาแล้วมากกว่าครึ่งศตวรรษนับจากที่มนุษย์ได้ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในปี 1969 กับภารกิจอะพอลโล 11 แต่ความสนใจในดวงจันทร์ของมนุษย์โลกนั้นก็ยังคงไม่จางหายไปไหน และกลับได้รับความนิยมมากขึ้นในระยะหลังมานี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนส่งยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 (Chang’e 4) ไปสำรวจพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลกในปี 2019 หรือโครงการ Artemis ของ NASA ที่มีเป้าหมายจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2025

แต่นอกจากการพุ่งทะยานออกไปแตะดวงจันทร์ในอวกาศแล้ว การสร้าง “ดวงจันทร์เทียม” ก็เป็นอีกหนึ่งภาพฝันที่หลายประเทศมีมานานแล้วเช่นกัน โดยไอเดียแรก ๆ ที่พูดถึงการสร้างพระจันทร์ของจีนนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ซึ่งจีนมีจุดประสงค์เพื่อนำมาช่วยเพิ่มแสงสว่างในยามค่ำคืน และคาดว่าพระจันทร์เทียมนี้จะช่วยทดแทนการใช้ไฟฟ้าบนท้องถนนได้ดี โดยจีนคาดว่าจะเริ่มต้นโครงการในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนเป็นที่แรก ส่วนวิธีการก็คือ การใช้ดาวเทียมที่ติดตั้งวัสดุพิเศษที่ทำหน้าที่คล้ายกับกระจกขนาดใหญ่เพื่อทำการสะท้อนแสงอาทิตย์ลงมายังพื้นโลก โดยเดิมทีแผนการส่งดาวเทียมดวงนี้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศนั้นกำหนดไว้ในช่วงปี 2020 - 2022 แต่ด้วยข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ป่า หรือเรื่องการควบคุมตำแหน่งและพิกัดของดาวเทียมที่แน่ชัด ก็ทำให้แผนการนี้ยังคงต้องเลื่อนออกไปก่อนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งโครงการดวงจันทร์จำลองของจีนที่น่าจับตาในปีนี้ และเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศของแดนมังกร ก็คือโปรเจ็กต์การจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนดวงจันทร์ (ที่น้อยกว่าโลกถึง 6 เท่า) ด้วยการสร้างสนามแม่เหล็กให้เกิดขึ้นจริงได้บนโลกที่เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู โดยดวงจันทร์จำลองนี้จะมีลักษณะเป็นห้องสุญญากาศขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร ภายในประกอบไปด้วยก้อนหินและฝุ่นที่เหมือนกับบนพื้นผิวของดวงจันทร์จริง ๆ แม้ในอดีตการจำลองแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์จะสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่น ๆ แต่ก็เป็นสภาวะที่จำลองไว้ได้เพียงไม่กี่วินาที ต่างกับดวงจันทร์จำลองของจีนในครั้งนี้ที่สนามแม่เหล็กจะช่วยให้สามารถจำลองแรงโน้มถ่วงบนดวงจันทร์ได้นานตามที่ต้องการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทดลองอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้บนดวงจันทร์ในวันที่มนุษย์จะขึ้นไปเยี่ยมเยียนอีกที 

1เพราะไม่มีการใช้พลังงานจากถ่านหิน และปลอดภัยกว่ากระบวนการผลิตไฟฟ้าแบบนิวเคลียร์ฟิซชัน (fission) ที่จะทิ้งไว้ซึ่งกากกัมมันตรังสี (Radioactive waste)

ที่มาภาพ : zhang kaiyv/Unsplash

ที่มา :
บทความ “China Switches on ‘Artificial Sun’ that is Five Times Hotter than the Real Thing” โดย Anthony Cuthbertson จาก independent.co.uk 
บทความ “China’s Artificial Sun Just Broke a Record for Longest Sustained Nuclear Fusion” โดย Elizabeth Gamillo จาก smithsonianmag.com
บทความ “China Plans to Launch an 'Artificial Moon' to Light Up the Night Skies” โดย Eli Meixler จาก time.com 
บทความ “China builds 'artificial moon' for gravity experiment” โดย Ben Turner จาก livescience.com 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ