Cyberloafing แค่พักบ่อย ไม่ได้แปลว่างานไม่เดินสักหน่อย!
Technology & Innovation

Cyberloafing แค่พักบ่อย ไม่ได้แปลว่างานไม่เดินสักหน่อย!

  • 22 Feb 2022
  • 1559

‘8 ชั่วโมง’ คือเวลาโดยเฉลี่ยของความคาดหวังว่ามนุษย์ออฟฟิศควรจะทำงานให้ได้ในแต่ละวัน แต่ผลสำรวจการทำงานในกลุ่มตัวอย่างมนุษย์ออฟฟิศชาวอังกฤษจำนวนเกือบ 2,000 คนพบว่า โดยเฉลี่ยพวกเขาทำงานจริง ๆ กันแค่เพียง 3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ซึ่งเวลาที่เสียไปแทนที่จะทำงานของพนักงานเหล่านี้ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. เช็กโซเชียลมีเดีย (47%) 2. อ่านข่าวออนไลน์ (45%) 3. พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงาน (38%)

ผู้บริหารหรือนายจ้างที่มีลูกน้องคงไม่ชอบใจนักหากได้มารู้ความจริงข้อนี้ แต่การดูถูกเวลาที่เสียไปแทนที่จะทำงาน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘อู้งาน’ ยังเป็นเรื่องที่ควรเปิดใจศึกษาต่อเพิ่มเติม เพราะถ้าหากเราสามารถยอมรับความจริงได้ว่า สมองของมนุษย์นั้นมีขีดจำกัดในการเพ่งความสนใจไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้แค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การคาดหวังให้มนุษย์ต้องทำงานติดต่อกันให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน ก็ดูจะย้อนแย้งอยู่มากทีเดียว และอันที่จริงแล้ว การพักบ่อย ๆ ระหว่างการทำงานถือเป็น “ผลดี” ด้วยซ้ำ


©Israel Andrade/Unsplash

เมื่อลองแกะรอยกิจกรรมอู้งานอันดับต้น ๆ ในผลสำรวจที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ การใช้เวลาไปกับการเช็กโซเชียลมีเดียและอ่านข่าวออนไลน์ หรืออาจเรียกพฤติกรรมดังกล่าวได้ว่ากำลัง ‘ท่องโลกไซเบอร์ (Cyberloafing)’1 มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนวาดาที่ทำการศึกษาเรื่องนี้อ้างว่า การ Cyberloafing ของพนักงานสร้างความเสียหายให้ธุรกิจต่อปีมากถึง 85 พันล้านเหรียญสหรัฐ2 แต่เมื่อคนไม่ใช่หุ่นยนต์และการพักยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์อย่างเรา ๆ จึงเกิดงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อแย้งเรื่องนี้และพยายามหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วพฤติกรรม Cyberloafing นั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานอย่างไรกันแน่

หนึ่งในข้อสังเกตที่น่าสนใจของนักวิจัยสายจิตวิทยา ดร.ฟิลเชีย เซอรอยส์ อธิบายไว้ว่า เริ่มแรกนั้นพฤติกรรม Cyberloafing ถูกเหมารวมว่าเป็นความเกียจคร้านของพนักงานที่อยากผัดวันประกันพรุ่ง แต่เมื่อศึกษากันอย่างละเอียด พฤติกรรมนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าพนักงานอาจจะกำลังอยากหลีกหนีปัญหาบางอย่างอยู่ก็ได้ และมีเพียงเส้นแบ่งบาง ๆ เท่านั้นที่จะแยกได้ว่าการ Cyberloafing เป็นการพักสมองสั้น ๆ เพื่อกลับไปเริ่มต้นทำงานใหม่อย่างสดชื่น หรือเป็นการทำเพื่ออยากจะหลีกเลี่ยงงานยาก ๆ กันแน่


©Tech Daily/Unsplash

แม้จะยังไม่มีใครรู้ว่าเส้นแบ่งบาง ๆ นี้อยู่ตรงไหน แต่งานวิจัยของสเตฟานี แอนเดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Indiana University-Purdue University of Indianapolis ก็อธิบายประโยชน์ของการ Cyberloafing ระหว่างการทำงานไว้ว่า มันสามารถช่วยให้พนักงานมีความสุขขึ้นได้และยังช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงานร่วมกันได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยอย่างเช่น ประเภทขององค์กร หรือ ประเภทของงานที่ทำ

ผลสรุปนี้สอดคล้องไปกับงานวิจัยของแอนดรูว์ เอ เบนเนตต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Old Dominion University ที่พบว่า การหยุดพักเพียง 1 นาทีก็สามารถฟื้นพลังให้คนเรากลับมาทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะยาวได้แล้ว แม้งานวิจัยนี้จะบอกไม่ได้ว่าระยะเวลาพักที่เหมาะสมเพื่อให้สมองกลับมารู้สึกกระปรี้ประเปร่าและพร้อมรับมือกับงานต่อไปได้อีกครั้งนั้นควรใช้เวลานานแค่ไหน แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากงานศึกษานี้ก็คือ เพียงแค่ย้ายความสนใจของเราออกจากงานที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย โดยการพักไปทำสิ่งใหม่ ก็สามารถบรรเทาความอ่อนล้าที่เกิดขึ้นได้แล้ว อีกทั้ง วิเวียน ลิม ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาเรื่อง Cyberloafing จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ก็ได้แสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้ด้วยว่า แม้แต่ละคนจะต้องการเวลาพักแตกต่างกัน แต่เธอคิดว่าการพักประมาณ 15-20 นาทีนั้นเพียงพอแล้วสำหรับการชาร์จพลังให้สามารถกลับไปทำงานต่อได้ แต่หากพักเกิน 30 นาทีขึ้นไปจะทำให้รู้สึกยากมากขึ้นเมื่อต้องกลับไปเริ่มต้นทำงานใหม่อีกครั้ง


©S O C I A L . C U T/Unsplash

ไม่มีคนเห็นค่า ใครจะอยากทำงาน
แม้จะมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรม Cyberloafing จะมีส่วนเกี่ยวข้องที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกพึงพอใจในขณะทำงาน3 แต่สิ่งที่น่าสงสัยต่อก็คือ หากงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้นน่าพึงพอใจอยู่แล้วตั้งแต่แรก เราจะทำพฤติกรรมเพื่อหลีกหนีการทำงานกันทำไม?

งานศึกษาจาก Wisconsin School of Business อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ผู้คนมีแนวโน้ม Cyberloafing มากขึ้นหากพวกเขารู้สึกว่าองค์กรที่ทำงานให้ ปฏิบัติกับเขาอย่างไม่เป็นธรรม สอดคล้องไปกับงานวิจัยของแอนเดลที่พบด้วยว่า 3 ใน 4 ของพนักงานที่รู้สึกเป็นทุกข์ในที่ทำงานก็จะมีพฤติกรรม Cyberloafing ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การจะโทษพฤติกรรมอู้งานอย่างการท่องโลกไซเบอร์ในระหว่างการทำงานว่าเป็นเพียงเพราะความเกียจคร้านอย่างเดียวก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะต้นตอของปัญหาที่แท้จริงอาจเป็นไปได้ว่า คนทำงานไม่ได้ขี้เกียจแต่แค่ไม่อยากเผชิญหน้ากับการทำงานที่ไม่เคยมีใครมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ หรือพวกเขาอาจถูกปฏิบัติด้วยความไม่แฟร์อยู่ก็ได้ การมีพฤติกรรมหลีกหนีบางสิ่งที่ทำให้คนเราเป็นทุกข์ ก็ดูจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผลแล้วด้วยซ้ำไป และมันคงเป็นเรื่องตลกดีไม่น้อย หากองค์กรหรือหัวหน้างานคาดหวังให้ลูกน้องทำงานอย่างขยันขันแข็งเต็มประสิทธิภาพ แต่พวกเขายังมองข้ามสิ่งดี ๆ ที่พนักงานทำให้อยู่ตลอดเวลา

มาถึงตรงนี้ คงจะเป็นเราคนเดียวเท่านั้นที่ตอบได้ว่าการพักเบรกบ่อย ๆ นั้นทำไปเพื่อรีชาร์จพลังให้ตัวเอง หรือทำเพื่อกำลังหลีกหนีการทำงานที่ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้เราได้กันแน่ แต่หากว่าคุณกำลังอ่านบทความสั้น ๆ นี้อยู่ในระหว่างเวลางานก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดมากนัก เพราะอย่าลืมว่าเรายังเป็นมนุษย์ที่ต้องการเวลาพักผ่อน และมนุษย์ทำงานทุกคนสมควรได้รับสิ่งนี้ (ถ้างานที่คุณต้องรับผิดชอบยังเสร็จทันเวลา)


©Brooke Cagle/Unsplash

Did you know?
การตั้งใจทำงานเป็นเวลานานติดต่อกันแบบไม่พัก แต่หวังผลลัพธ์ที่ดีนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจากหลายงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้สรุปได้เหมือน ๆ กันว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนเราสามารถตั้งสมาธิจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (Attention Span) ได้ประมาณครั้งละ 20 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นความสามารถในการจดจ่อของเราจะลดลง นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้แนะนำว่า หลังจากการตั้งใจทำอะไรอย่างเข้มข้มแล้ว 20 นาที ควรหยุดพักเล็กน้อยเพื่อขจัดสิ่งกังวลใจที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น เช่น เช็กโทรศัพท์ เข้าห้องน้ำ พูดคุยกับเพื่อน กินขนม ฯลฯ แล้วค่อยเริ่มต้นทำสิ่งต่าง ๆ ใหม่อีกครั้ง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่า

ตามคำแนะนำของ ดร.ฟิลเชีย เซอรอยส์ บอกไว้ว่า ยิ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งจำเป็นต้องมีเวลาพักเบรกสั้น ๆ เพราะเมื่อสมองได้หยุดพักทำสิ่งใหม่ จะมีโอกาสที่คนเราจะกลับไปพร้อมกับแนวคิดใหม่ ๆ หรือสามารถจัดการกับงานที่ทำค้างอยู่ได้ดียิ่งขึ้น

เค เอนเดอส์ เอริกสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาที่ศึกษาเคล็ดลับของคนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกค้นพบว่า ‘การฝึกฝนจนชำนาญ (Practice makes perfect)’ นั้นเป็นเรื่องจริง แต่คนเก่งหรือผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จจะไม่ตะบี้ตะบันทำแต่งาน เพราะหลังจากใช้เวลาฝึกฝนและแก้ไขข้อบกพร่องอย่างเข้มข้น 2-3 ชั่วโมง พวกเขาก็จะหยุดพักด้วย

 

1ผลสำรวจโดย vouchercloud.com
2งานวิจัย “Clarifying the effects of Internet monitoring on job attitudes: The mediating role of employee trust” (Oct 2006) โดย G. StoneyAlder และคณะ

3งานวิจัย “Social media at work: The roles of job satisfaction, employment status, and Facebook use with co-workers” (May 2017) โดย Brett W.Robertson

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ