AI ตัวอ่อน และปัญหาประชากรบนเส้นทางท้าทายด้านเทคโนโลยี
Technology & Innovation

AI ตัวอ่อน และปัญหาประชากรบนเส้นทางท้าทายด้านเทคโนโลยี

  • 07 Mar 2022
  • 960

การลดจำนวนลงของประชากรจีนเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และกำลังสร้างความท้าทายครั้งใหญ่ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เคยได้เปรียบจากจำนวนแรงงานที่มีอยู่อย่างมหาศาลในอดีต กลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลจีนต้องหันมาใส่ใจอย่างใกล้ชิดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปรับนโยบายอนุญาตให้ชาวจีนมีบุตรได้ถึง 3 คนในปี 2021 หลังจากที่บังคับใช้นโยบาย “ลูกคนเดียว” มานานหลายสิบปี

นอกจากความพยายามแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายแล้ว นักวิทยาศาสตร์จีนยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยดูแลตัวอ่อนทารกในมดลูกเทียมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้ตัวอ่อนทารกสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงปลอดภัย แต่การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาเชิงประชากรศาสตร์ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหลายด้าน ท่ามกลางความหวังในการเพิ่มจำนวนประชากรจีนที่ยังคงดูห่างไกลจากความสำเร็จ


©Sabu728/Pixabay

พี่เลี้ยง AI เพื่อตัวอ่อนที่สมบูรณ์
การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยดูแลตัวอ่อนทารกในมดลูกเทียม เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยทีมนักวิจัยของสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์และเทคโนโลยีซูโจว (SIBET) สาขาของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับชาติของจีน โดยผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ของจีน Journal of Biomedical Engineering ในเดือนธันวาคม 2021

หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI จะติดตั้งบนอุปกรณ์เพาะเลี้ยงตัวอ่อนระยะยาว (Long-term embryo culture device) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “มดลูกเทียม” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บรรจุของเหลวที่มีคุณค่าทางโภชนาการและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนสิ่งมีชีวิต โดยที่หุ่นยนต์ AI จะทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงของตัวอ่อนทารก ให้สามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ปลอดภัยไม่ต่างหรือดียิ่งกว่าการเติบโตในครรภ์มารดา

ก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีมดลูกเทียมจะต้องใช้การเฝ้าสังเกต การบันทึกข้อมูล และการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อระยะพัฒนาการของตัวอ่อนสิ่งมีชีวิตตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมากในการเฝ้าติดตามและดูแลตัวอ่อนในมดลูกเทียมแต่ละหน่วย

แต่หุ่นยนต์พี่เลี้ยง AI ที่พัฒนาขึ้นมานี้ สามารถตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลของตัวอ่อนในมดลูกเทียมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยกล้องที่มีความละเอียดสูงจึงสามารถตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของตัวอ่อน แม้กระทั่งความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่สายตามนุษย์ไม่อาจสังเกตเห็นได้

นอกจากนี้ ยังสามารถคำนวณและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในมดลูกเทียม อย่างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์หรือสารโภชนาการ เพื่อให้เหมาะสมต่อพัฒนาการของตัวอ่อนในแต่ละขั้น ทั้งยังแจ้งเตือนข้อบกพร่องและประเมินศักยภาพจัดอันดับพัฒนาการของตัวอ่อนทารกได้โดยละเอียด


©Trank/Pixabay

มดลูกเทียมกับแง่มุมหลากมิติ
แม้ว่าในปัจจุบัน หุ่นยนต์พี่เลี้ยง AI ดังกล่าวจะยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษากับตัวอ่อนของสัตว์อย่างหนูทดลอง เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศยังคงห้ามการทดลองกับตัวอ่อนของมนุษย์ที่มีอายุมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ทีมวิจัยชี้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีนี้นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญเกี่ยวกับวิทยาการการเจริญพันธุ์ของมนุษย์

ศาสตราจารย์ซุนไห่ชวน (Sun Haixuan) หัวหน้าทีมวิจัยโครงการดังกล่าว ระบุว่า “เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงจะช่วยให้เราเข้าใจถึงจุดเริ่มต้นของชีวิตและพัฒนาการของตัวอ่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ยังให้ความรู้อันเป็นพื้นฐานทางทฤษฎีที่จะนำไปสู่การแก้ไขภาวะพิการแต่กำเนิดและปัญหาสุขภาพการเจริญพันธุ์ในด้านอื่น ๆ ต่อไป”

ทั้งนี้ มดลูกเทียมเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการศึกษาและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ในปี 2019 สถาบันสัตววิทยา (IOZ) ของจีน ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนลิงแสมในหลอดทดลองที่ได้รับการออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต นับเป็นครั้งแรกที่ตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในอันดับวานร (Primate) เช่นเดียวกันกับมนุษย์ถูกนำมาเพาะเลี้ยงนอกร่างกายของมารดาเป็นเวลานานถึง 20 วัน


©ColiN00B/Pixabay

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีมดลูกเทียมยังคงต้องเผชิญหน้ากับมุมมองที่หลากหลาย โดยในแง่มุมหนึ่งก็เป็นโอกาสในการเพิ่มจำนวนประชากร เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถขจัดความกังวลและข้อจำกัดต่าง ๆ สำหรับครอบครัวที่ต้องการมีบุตร ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดหรือความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้หญิงจากการตั้งครรภ์ ไปจนถึงประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึงการสูญเสียเวลาและโอกาสในการทำงานระหว่างการอุ้มท้องและการคลอดบุตร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อจำกัดเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจ “มี” หรือ “ไม่มี” บุตรของผู้คนในปัจจุบัน

แต่ในประเด็นทางด้านจริยธรรม เทคโนโลยีมดลูกเทียมยังคงถูกตั้งคำถามถึงผลกระทบที่จะตามมาในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ผลกระทบพื้นฐานอย่างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวหรือภาวะจิตใจของบุคคลที่เกิดมาด้วยวิธีการนี้ ไปจนถึงผลกระทบร้ายแรงจากการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้อย่างเกินเลย เช่น การให้กำเนิดมนุษย์โดยปราศจากบิดามารดาหรือกระทั่งการโคลนมนุษย์ (Human cloning)

นอกจากนี้ หากมีการใช้เทคโนโลยีมดลูกเทียมในวงกว้าง โรงพยาบาลยังอาจต้องมีสถานะไม่ต่างไปจากสถานรับเลี้ยงเด็ก ที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบในการดูแลตัวอ่อนทารกแทนมารดาซึ่งมีความเสี่ยงสูงและอาจต้องใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลจำนวนมากในการดูแลมดลูกเทียมแต่ละหน่วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเทคโนโลยีมดลูกเทียมยังคงมีสถานะเข้าข่ายการตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) ในจีน ซึ่งยังคงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย


©Jcomp/Freepik

ปัญหาประชากรที่ยากจะแก้ไข
การทำสำมะโนประชากรล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนพบว่า จำนวนประชากรทั้งหมดของจีนในปี 2021 มีอยู่ราว 1,413 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 480,000 คน หรือเพียง 0.034% จากปี 2020 เท่านั้น นับเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี ขณะที่จำนวนทารกแรกเกิดของจีนก็ลดลงราว 11.5% จากจำนวน 12 ล้านคนในปี 2020 มาอยู่ที่ 10.62 ล้านคนในปี 2021

ทั้งหมดนี้ เป็นสัญญาณว่าจำนวนประชากรของจีนกำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะหดตัวในอนาคตอันใกล้ โดยสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรจีนจะลดลงมาอยู่ที่ราว 1,300 ล้านคนภายในปี 2065 ขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซีอานเจียวทงชี้ว่า ในปี 2021 จีนมีอัตราเจริญพันธุ์ลดต่ำลง โดยมีจำนวนเด็ก 1.3 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราปกติในการรักษาระดับประชากร ที่จำนวนเด็กควรมากกว่า 2 คนขึ้นไปต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลให้จำนวนประชากรจีนลดลงถึงครึ่งหนึ่งภายใน 45 ปีข้างหน้า

ขณะที่ความพยายามแก้ไขปัญหายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2021 รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายอนุญาตให้ครอบครัวชาวจีนมีบุตรได้ถึง 3 คน หลังจากที่นโยบายลูก 2 คน ซึ่งนำมาใช้แทนที่นโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่ปี 2016 ยังคงไม่บรรลุผลสำเร็จในการเพิ่มจำนวนประชากร 


©Freepik/Freepik

นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการจูงใจให้ผู้คนมีบุตรมากขึ้น แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ทำให้ผู้หญิงได้รับโอกาสทางการศึกษาและการทำงานมากกว่าในอดีต ส่งผลให้การตั้งครรภ์และการมีบุตรที่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลที่ค่อนข้างสูงกลายเป็นสิ่งที่ผู้หญิงจำนวนมากในปัจจุบันไม่ปรารถนา

ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานก็ส่งสัญญาณดังขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนประชากรวัยทำงานของจีนที่มีอายุระหว่าง 16-59 ปีมีสัดส่วนอยู่ที่ 62.5% ของประชากรทั้งหมดในปี 2021 ลดลงจาก 63.3% ในปี 2020 ซึ่งการรับมือกับปัญหาดังกล่าวมีตั้งแต่แผนขยายเกณฑ์การเกษียณอายุ ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาใช้ในสายการผลิตมากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ที่ขาดหายไป 

แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเชิงประชากรศาสตร์มากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกเทคโนโลยีที่จะได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะเทคโนโลยีมดลูกเทียมและหุ่นยนต์พี่เลี้ยง AI ที่แม้จะมีประสิทธิภาพทดแทนครรภ์มารดาได้ แต่ยังคงต้องมีการทบทวบอย่างรอบด้านถึงผลกระทบที่อาจจะตามมา สุดท้ายแล้วการแก้ไขปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลงยังคงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ไม่เฉพาะแค่จีน แต่ยังรวมถึงอีกหลายประเทศที่กำลังมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

ที่มา :
บทความวิจัย “Design and experiment of online monitoring system for long-term culture of embryo” โดย Zeng Weijun, Zhao Zhenying, Yang Yuchen, Zhou Minchao, Wang Bidou และ Sun Haixuan จาก Journal of Biomedical Engineering, Dec. 2021, Vol. 38, No.6
บทความ “Chinese scientists create AI nanny to look after embryos in artificial womb” โดย Stephen Chen จาก www.scmp.com
บทความ “Chinese scientists create system to care for embryos in artificial womb” โดย Tony Tran จาก futurism.com
รายงาน “Primate embryos grown in the lab to gastrulation stage” จาก english.ioz.cas.cn
บทความ “China's births fall in 2021, as workforce shrinks” โดย Joe McDonald จาก abcnews.go.com
บทความ “China's population grows 0.034% in 2021, slowest in six decades” โดย CK Tan จาก asia.nikkei.com
บทความ “China’s population could halve within the next 45 years, new study warns” โดย Stephen Chen จาก www.scmp.com

เรื่อง : ธีรพล บัวกระโทก