4 สารคดีที่จะเปิดพรมแดนใหม่แห่งโลกภาพยนตร์กับการถ่ายทำในโลกเสมือน
Technology & Innovation

4 สารคดีที่จะเปิดพรมแดนใหม่แห่งโลกภาพยนตร์กับการถ่ายทำในโลกเสมือน

  • 09 Mar 2022
  • 1322

เป็นเวลามากกว่าร้อยปีที่มนุษย์ค้นพบวิธีในการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งเริ่มต้นจากการทดลองของคนไม่กี่คน ผ่านมาถึงปัจจุบันภาพยนตร์ค้นพบภาษาในการเล่าเรื่องใหม่ ๆ ผ่านการทดลองของคนทำหนังหลายต่อหลายรุ่น และยังคงทดลองต่อไปไม่จบสิ้น เช่น การมาถึงของเทคโนโลยี VR ที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่และเทคนิคใหม่ของการเล่าเรื่องให้กับศิลปินหรือนักทำหนังสำหรับการสร้างภาพยนตร์ในปัจจุบัน

โปรแกรม New Frontier ของเทศกาลหนังอิสระ Sundance เป็นการคัดเลือกผลงานจากศิลปินที่นำเอานวัตกรรมใหม่อย่าง VR หรือ AR มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์ โดยในปีล่าสุด New Frontier ได้ยกเครื่องโปรมแกรมฉายหนังและเวทีเสวนาไปอยู่บนโลกเสมือน พร้อมประกาศไลน์อัพหนังที่ใช้ VR ในการถ่ายทำ จนทำให้เราเห็นว่าผู้สร้างหนังหลายคนได้ประยุกต์เอาเทคโนโลยีใหม่มาบอกเล่าเรื่องราวและความเป็นตัวเองได้อย่างลงตัว เช่น ภาพยนตร์สารคดี 3 เรื่องนี้ที่เราคัดสรรมาแนะนำในที่นี้

1. This Is Not a Ceremony ท่องอดีตอันขมขื่นของชนพื้นเมืองกับประสบการณ์สุดพิศวง
สารคดีที่จะพาคุณท่องไปกับโลกแห่งความฝันที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและจิตวิญญาณอันเหนือกาลเวลา พร้อมสัมผัสเรื่องราวที่เปิดให้ผู้ชมร่วมเป็นพยานในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของการเหยียดเชื้อชาติในแคนาดา ตั้งแต่การเข้ามาของเจ้าอาณานิคมตะวันตกไปจนถึงการเลือกปฏิบัติของรัฐต่อผู้สืบเชื้อสายชนพื้นเมืองในปัจจุบัน ผ่านสองกวีผู้เป็นตัวละครหลักที่จะพาเราไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย Ahnahktsipiitaa หรือ โควิน ฟอน ลูน (Colin Van Loon) ผู้กำกับชาวแคนาดาเชื้อสายชนเผ่าแบล็กฟุต (Blackfoot Confederacy) อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสมาชิก Indigenous Matriarchs 4 AR/VR media lab (IM4-Lab) สตูอิโอพัฒนาสื่อสมัยใหม่อย่าง VR, AR เกม และแอนิเมชัน เพื่อส่งเสริมสังคมชนพื้นเมืองและให้ความรู้แก่สาธารณะ

2. On the Morning You Wake (To the End of the World) เช้าวันหนึ่งที่ฉันหนีขีปนาวุธ
จะเป็นอย่างไรหากตื่นมาแล้วพบว่าขีปนาวุธกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองของเรา ร่วมลุ้นไปกับสารดีที่จำลองเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2018 เมื่อประชาชนชาวฮาวายได้รับข้อความแจ้งเตือนว่าให้หาที่หลบภัยโดยด่วน เพราะขีปนาวุธกำลังมุ่งหน้ามายังหมู่เกาะ เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั้งรัฐ แต่สุดท้ายทุกคนก็ต่างโล่งใจ(ปนโมโห) เพราะเป็นเพียงความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่

On the Morning You Wake เป็นภาพยนตร์ที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วม (Interactive Film) ในเหตุการณ์หลบหนีเอาตัวรอด เพื่อค้นหาหลุมหลบภัยจากการทำลายล้างของขีปนาวุธ สร้างสรรค์โดย Archer’s Mark และ Atlas V สองสตูอิโอผู้เชี่ยวชาญเรื่องสื่อสมัยใหม่ ผ่านการเขียนเรื่องราวของ Jamaica Heolimeleikalani Osorio นักกวี นักกิจกรรม และศาสตราจารย์ผู้มีเชื้อสายชนพื้นเมืองฮาวาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงอันตรายของการทดสอบนิวเคลียร์ การขยายอำนาจทางทหารของประเทศอาณานิคมซึ่งสร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบแปซิฟิก และหยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

3. Seven Grams สารคดีเบื้องหลังสมาร์ตโฟนที่ทำให้เราสะเทือนอารมณ์
รู้หรือไม่ว่าอุปกรณ์คู่กายมนุษย์อย่างสมาร์ตโฟนมีแร่สำคัญเป็นส่วนประกอบอยู่ 7 กรัม แร่เหล่านี้มีแหล่งค้นพบสำคัญที่ประเทศคองโก ซึ่งหากเราตีเป็นจำนวนเงินแล้ว คองโกจะมีมูลค่าทรัพยากรมากถึงสองหมื่นสี่พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เหตุใดประเทศคองโกถึงได้อยู่ในลำดับที่ 175 จาก 181 ประเทศทั้งหมดของดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) แล้วทำไมประเทศอื่น ๆ ถึงรวยขึ้นจากความอุดมสมบูรณ์ของคองโกผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร

ร่วมหาคำตอบไปกับ Karim Ben Khelifa ช่างภาพและนักข่าวสงครามมากประสบการณ์ผู้จะพาเราไปพบกับเบื้องหลังการใช้แรงงานอันโหดร้ายในประเทศคองโก พร้อมตีแผ่ความขัดแย้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ด้วยสื่อ AR และแอนิเมชันเพื่อให้เราเข้าใจกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กกทรอนิกส์ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตมนุษย์ โดยสามารถเข้าไปชมสารคดีเรื่องนี้ได้ฟรีโดยโหลดแอปพลิเคชันได้ที่ http://sevengrams.org/home/

4. We Met in Virtual Reality แม้ไม่เห็นหน้า แต่เราก็เข้าใจกัน
แม้ในโลกแห่งความจริงเราจะเปิดเผยใบหน้าแต่ก็กลับปิดบังไว้ซึ่งความรู้สึก ตัวตน และปฏิเสธความเชื่อใจต่อกัน ตรงกันข้ามกับสังคมโลกเสมือนที่ทุกคนล้วนมีร่างอวตารแต่กลับกลายเป็นพื้นอิสระ ที่แสดงความเป็นตัวเองได้เต็มที่ ความย้อนแย้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลให้กับ Joe Hunting นักทำหนังผู้มีผลงานหนังสั้นในรูปแบบ VR มาแล้วสองเรื่องสู่ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา

Hunting ใช้ช่วงเวลาระหว่างการล็อกดาวน์สร้างอวตารของตนแล้วท่องไปในแพลตฟอร์มโลกเสมือน VRChat ในที่แห่งนี้มีกิจกรรมมากมายที่จำลองจากโลกความจริง รวมถึงกล้อง VRCLens ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกล้องถ่ายวิดีโอ เขาจึงใช้มันเก็บภาพเพื่อน ๆ ที่รู้จักในโลกแห่งนี้ เฝ้าสังเกตชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้คนรอบตัว ทำให้ได้รู้ว่าสมาชิกแต่ละคนมีเรื่องราวที่น่าสนใจ อย่างเจนนี่ ครูสอนภาษามือผู้สร้างพื้นที่สำหรับผู้พิการทางการพูดและการได้ยินบนแพลตฟอร์ม VR หรือคนสองคนที่ได้พบรักกันในโลกแห่งนี้ โดยเขาหวังว่าโลกเสมือนจะช่วยให้ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ

เห็นได้ว่าเทคโนโลยี VR หรือ AR สามารถขยายกรอบและขอบเขตของการเล่าเรื่องได้มากขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะภาพยนตร์สารคดีที่ผู้กำกับสามารถดึงเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว เปิดการรับรู้ของผู้ชมให้ชัดเจนกว่าเดิม และคงจะเป็นเรื่องดีหากในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้นอกจากจะช่วยศิลปินสร้างผลงานแล้ว ยังช่วยปรับมุมมองของผู้คนให้ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าเดิมไปได้พร้อมกันด้วย

ที่มา :
joeahunting.com
sevengrams.org
nfb.ca/interactive/ceremony
onthemorningyouwake.com
บทความ "Can VR art help us see the real world differently?" โดย Alissa Wilkinson จาก vox.com
บทความ "FESTIVAL’S NEW FRONTIER SECTION BLASTS OFF TO… THE METAVERSE!" โดย Vanessa Zimmer จาก sundance.org

เรื่อง : นพกร คนไว