มนต์ขลังของ Green Screen และพลังแห่งการตัดต่อภาพยนตร์
Technology & Innovation

มนต์ขลังของ Green Screen และพลังแห่งการตัดต่อภาพยนตร์

  • 21 Mar 2022
  • 3998

หากเปรียบภาพยนตร์เป็นเหมือนกับการเล่าเรื่องราวด้วยภาพเคลื่อนไหวแล้ว การที่ผู้ชมจะรู้สึกถึงอารมณ์ของตัวละครในแต่ละซีนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากองค์ประกอบเรื่องบทและฝีไม้ลายมือของนักแสดงแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ภาพ” ที่ล้วนผ่านการคัดสรรและบรรจงแต่งแต้มให้สมจริงมากที่สุด โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ “ภาพ” ได้กลายมาเป็น “โซลูชัน” สำคัญภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างภายใต้การถ่ายทำ หรือการห้ามเดินทางเข้าออกสถานที่ต่าง ๆ หรือเดินทางข้ามประเทศ ซึ่งการแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ด้วยเทคนิคการสร้างภาพขึ้นจากคอมพิวเตอร์ Computer Generated Imagery (CGI) ก็ได้กลายเป็นทั้งทางออกและความท้าทายที่น่าสนใจ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ภาพเสมือนจริงถูกสร้างขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบมากนั้น ต้องอาศัยปัจจัยที่จำเป็นอย่างการแยกบริเวณระหว่างตัวนักแสดงและสภาพแวดล้อมด้วยการใช้เทคนิค Chroma Key หรือที่หลายคนคุ้นเคยกับ “ฉากหลังสีเขียวหรือสีน้ำเงิน” ที่เรียกกันว่า Green Screen หรือ Blue Screen ที่ได้เห็นตามเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ ที่บางฉากนั้นถ้าไม่เฉลยคงไม่อาจรู้ได้ว่าไม่ได้ถ่ายจากสถานที่จริง เช่น ฉากบรรยากาศในประเทศอิตาลีในซีรีส์เกาหลีเรื่องดังอย่าง Vincenzo (2021) หรือฉากโลกแห่งเวทมนตร์ที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมในภาพยนตร์ชุด Harry Potter เป็นต้น 

การใช้ CGI นี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักแสดงและการทำงานในกองถ่ายนั้นสะดวกยิ่งขึ้น เพราะสามารถถ่ายทำในส่วนของนักแสดงที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ง่ายต่อการถ่ายทำแยกต่างหากโดยไม่ต้องดั้นด้นไปยังสถานที่ถ่ายทำจริง จากนั้นจึงตัดเฉพาะการแสดงมาใส่ลงบนฉากหลังที่สร้างขึ้นใหม่ได้ตามจินตนาการแบบไร้ขีดจำกัด


ที่มาภาพ: YouTube/ Harry Potter Practical Effects You Thought Were CGI

ทำไมต้องเป็นฉากสีเขียว?
เนื่องจากสีเขียวเป็นสีที่ตัดกับสีผิวของคนเรา จึงช่วยให้แยกระหว่างบริเวณที่เป็นนักแสดงกับฉากหลังได้ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะสีเขียวที่ใช้นี้มีความสว่างสูง และอาจทำให้สีเขียวที่สะท้อนจากฉากฉายไปยังตัวนักแสดงมากเกินไป ทำให้เหมาะกับฉากในเวลากลางวันที่มีการจัดไฟสว่างให้ตัวนักแสดงเพื่อกลบแสงสะท้อนจากฉากเท่านั้น และเพื่อลดข้อจำกัดนี้ลง จึงยังมีฉากอีกหนึ่งสีที่เป็นที่นิยมใช้งานก็คือ “ฉากสีน้ำเงิน” (Blue Screen) เนื่องจากสีน้ำเงินเป็นสีที่ตัดกับสีผิวคนทำให้แยกส่วนของคนและฉากออกจากกันได้ง่ายเช่นกัน แต่สีน้ำเงินเป็นสีที่มืดกว่าจึงอาจจะไม่เกิดปัญหาสะท้อนเหมือนอย่างฉากเขียว ซึ่งการเลือกว่าจะใช้ฉากสีเขียวหรือสีน้ำเงินนั้นก็มีอยู่หลายปัจจัย ทั้งเรื่องของสภาพแสงที่ต้องการ ระยะห่างระหว่างฉากกับผู้แสดง รวมถึงสีของชุดที่นักแสดงสวมใส่ เป็นต้น

ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทำให้ระบบ AI สามารถแยกคนออกจากฉากหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ฟังก์ชันของกล้องในโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่หลาย ๆ รุ่น ที่ใช้หลักการวิเคราะห์และตรวจจับบุคคลในภาพ หาบริเวณที่เป็นขอบ ก่อนแยกส่วนที่ระบบตรวจจับได้ว่าเป็นบุคคลออกจากส่วนอื่นที่เป็นพื้นหลัง ทำให้สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่บนฉากสีพื้น (ไม่ว่าจะเขียวหรือน้ำเงิน) แต่อย่างไรก็ตาม หากทำการเปรียบเทียบผลจากการแยกบุคคลออกจากพื้นหลังแล้ว การใช้ฉากหลังสีพื้นก็ยังสามารถแยกคนออกจากฉากหลังได้สะดวกกว่าและช่วยเสริมให้การคำนวณผลนั้นถูกต้องแม่นยำมากกว่าอยู่



ที่มาภาพ: fxguide/ Weta Digital’s Remarkable Face Pipeline : Alita Battle Angel

แค่แยกพื้นหลังได้อย่างเดียวคงไม่พอ
อีกประเด็นที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างสมจริงของตัวละครที่สร้างจาก CGI นั่นคือการใช้ Motion Capture ที่แต่เดิมเป็นการติด Marker สะท้อนแสงไว้ตามจุดอ้างอิงต่าง ๆ ของนักแสดง ร่วมกับการใช้กล้องจับภาพจากหลายมุม ทำให้สามารถประมวลผลหาตำแหน่งของแต่ละจุดอ้างอิงและข้อมูลการเคลื่อนไหวของนักแสดง การเคลื่อนไหวของใบหน้า รวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉากต่าง ๆ ได้ ก่อนนำไปตัดต่อรวมกับตัวละครที่สร้างจาก CGI เพื่อให้ได้เป็นตัวละครที่มีการเคลื่อนไหวที่สมจริง ซึ่งตั้งแต่มีการพัฒนาระบบ Motion Capture ให้ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ปัจจุบันจึงแทบจะไม่จำเป็นต้องติดตั้ง Marker ไว้กับนักแสดงแล้ว เพียงแค่เพียงอุปกรณ์ที่รวมเซ็นเซอร์ระบุตำแหน่งการเคลื่อนที่ติดตั้งตามจุดหมุนต่าง ๆ ของนักแสดง หรืออีกวิธีที่นิยมก็คือการใช้หลักการระบุตำแหน่งจากกล้องสองตัว ซึ่งวิธีหลังนี้จะช่วยให้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ใด ๆ กับตัวนักแสดงเลย จึงทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหวและง่ายต่อการใช้งานมากที่สุด 

ตัวอย่างหนึ่งของระบบนี้คือ Kinect ของเครื่องเกม Xbox ที่ทำให้ผู้เล่นควบคุมตัวละครในเกมได้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมไปถึงการใช้เทคนิคการเปลี่ยนใบหน้านักแสดงให้กลับมาโลดแล่นในภาพยนต์อีกครั้ง อย่างที่เห็นในภาพยนตร์ Furious 7 (2015) ที่นำ Paul Walker ผู้รับบท Brian O'Conner กลับมาอำลาในฉากจบของภาพยนตร์อีกครั้งหลังจากที่เขาเสียชีวิตลง หรือการนำใบหน้าของ Mark Hamill ผู้รับบท Luke Skywalker ในวัยหนุ่มกลับมาอีกครั้งใน The Mandalorian (2019) และ The Book of Boba Fett (2021)


ที่มาภาพ: Insider/ How Universal had to change the marketing of 'Furious 7' after Paul Walker died

ปัจจุบันมีการใช้เทคนิค Motion Capture บูรณาการต่อยอดเข้ากับหลากหลายการใช้งาน ทั้งในวงการภาพยนตร์แอนิเมชัน โฆษณา คอนเสิร์ต รวมไปถึงรายการโทรทัศน์อย่างรายการ Alter Ego จาก FOX รายการร้องเพลงที่นำเทรนด์เมตาเวิร์ส เข้ามาผสมผสานได้อย่างเหนือชั้น ด้วยการแปลงร่างผู้เข้าแข่งขันให้เป็นตัวละครอวตาร์เพื่อแสดงความสามารถผ่านการร้องเพลงได้อย่างเต็มที่และสร้างสีสันได้มากกว่าที่เคย


ที่มาภาพ: YouTube/The rise of the virtual singer: the making of Fox’s 'Alter Ego' | Spotlight | Unreal Engine

ในอนาคตสิ่งที่น่าจับตามองอย่างต่อเนื่องอาจเป็นการพัฒนาต่อยอดกระบวนการ Post-Production หรือขั้นตอนหลังการผลิตเพื่อให้ภาพที่ตัดต่อออกมานั้นสมจริงและก้าวข้ามขีดจำกัดในการถ่ายทำมากที่สุด เพื่อจะสามารถช่วยเติมเต็มความสุขจากการรับชมให้ได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้นทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงแห่งอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับวงการภาพยนตร์ทั้งในระดับโลกและบ้านเราเอง

ที่มาข้อมูลและภาพ : 
Adobe / Blue screen vs. green screen.
The COMP Magazine/ Innovations in Motion Capture Technology
YouTube/ Harry Potter Practical Effects You Thought Were CGI
Fxguide/ Weta Digital’s Remarkable Face Pipeline : Alita Battle Angel
Insider/ How Universal had to change the marketing of 'Furious 7' after Paul Walker died
YouTube/The rise of the virtual singer: the making of Fox’s 'Alter Ego' | Spotlight | Unreal Engine

เรื่อง : มนต์นภา พานิชเกรียงไกร