Faces from the Past: เทคโนโลยีคืนชีพวันวานในวงการภาพยนตร์
Technology & Innovation

Faces from the Past: เทคโนโลยีคืนชีพวันวานในวงการภาพยนตร์

  • 25 Mar 2022
  • 1506

เพราะ “ความทรงจำ” เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์มีร่วมกัน ความพยายามฉายภาพวันวานในอดีตให้กลับมาแจ่มชัดอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ การทำงานกับอดีตจึงไม่ใช่ภารกิจของนักประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว หากแต่หลายธุรกิจก็หันมาใช้เรื่องราวในอดีตเป็นจุดขาย ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่นำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาช่วยในการฟื้นคืนภาพในวันวานให้กลับมาโลดแล่นบนหน้าจออีกครั้ง

ไม่เพียงแต่การสร้างฉากหรือบรรยากาศสำหรับหนังย้อนยุคเท่านั้น แต่ภาพยนตร์บางเรื่องยังเลือกที่จะสร้างภาพเสมือนจริงของนักแสดงดังในอดีต ให้ประหนึ่งคืนชีพขึ้นมาสวมบทบาทในภาพยนต์เรื่องใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นที่ถูกใจของใครหลายคน แต่การคืนบทบาทให้กับดาราผู้ล่วงลับก็ตามมาด้วยเสียงวิจารณ์และคำถามมากมายถึงจุดเหมาะสมของความพยายามท้าทายอายุและความตายในนามของความบันเทิง

เทคโนโลยี “ท้าทาย” เวลา
ในปี 2016 ปีเตอร์ คูชชิง นักแสดงชาวอังกฤษผู้โด่งดังได้กลับมารับบท “แกรนด์มอฟฟ์ทาร์คิน” อีกครั้งใน Rogue One: A Star Wars Story หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วถึง 22 ปี เช่นเดียวกันกับแคร์รี ฟิชเชอร์ ที่ปรากฏตัวด้วยภาพลักษณ์อ่อนวัยในบทบาทของ “เจ้าหญิงเลอา” ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน แม้ว่าเธอจะมีอายุถึง 60 ปีแล้วในขณะนั้นและเสียชีวิตลงหลังจากที่หนังออกฉายได้ไม่นาน

การคืนชีพดาราผู้ล่วงลับหรือการย้อนวัยนักแสดงทำได้ด้วยวิธีการสร้างเทคนิคพิเศษทางภาพ (Visual Effect: VFX) ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีมาอย่างยาวนานในวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น การใช้ภาพที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ (Computer Generated Imagery: CGI) ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา

เทคนิค VFX ดังกล่าวยังมีขั้นตอนและรายละเอียดที่ซับซ้อน ตามแต่ละเป้าหมายในการสร้างผลงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฉากหรือบรรยากาศในภาพยนตร์ การสร้างภาพเหนือจินตนาการ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของนักแสดง ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์หลายเรื่อง

อย่าง โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ใน Captain America: Civil War ที่ได้รับการ “ลดอายุ” ให้อยู่ในบทบาทของตัวละคร “โทนี่ สตาร์ก” ช่วงวัยรุ่น ซึ่งทำให้ผู้ชมหลายคนนึกถึงภาพของดาวนีย์ จูเนียร์ ในช่วงที่เข้าสู่วงการบันเทิงยุคแรก ๆ หรือภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง The Curious Case of Benjamin Button ที่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ของนักแสดงนำอย่างแบรด พิตต์ ในแต่ละช่วงวัยได้สมจริงอย่างน่าทึ่ง

แต่การลดอายุยังอาจไม่ท้าทายเท่ากับการ “ชุบชีวิต” ดาราผู้ล่วงลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งในโลกภาพยนตร์มีการสร้างภาพเสมือนจริงของนักแสดงที่เสียชีวิตไปแล้วออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากปีเตอร์ คูชชิง ที่กล่าวถึงไปแล้ว พอล วอล์กเกอร์ ที่เสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำ Furious 7 ก็ได้รับการสร้างภาพ CG เพื่อดำเนินเรื่องต่อจนจบ ก่อนหน้านั้น ทีมผู้สร้าง Gladiator ยังเทคนิคใช้สเปเชียลเอฟเฟ็กต์สร้างภาพโอลิเวอร์ รีด ขึ้นมา เพื่อให้สามารถปิดกล้องลงได้ หลังจากที่เขาเสียชีวิตอย่างกะทันหันเช่นกัน

ภาคต่อของ “อดีต”
ภาพจำของนักแสดงที่ผูกติดกับตัวละคร ทำให้ผู้ชมหลายคนฝันที่จะได้เห็น เบซิล รัธโบน ออกสืบคดีใหม่ในบทบาทของ “เชอร์ล็อก โฮล์มส์” และคริสโตเฟอร์ รีฟ ออกฉากในชุดซูเปอร์แมนอีกครั้ง หรือกระทั่งมาริลิน มอนโร กลับมาแสดงภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้เรื่องใหม่ หลังจากที่ผลงานภาพยนตร์ชิ้นสมบูรณ์สุดท้ายของเธอออกฉายตั้งแต่ปี 1961

สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การอาศัยคุณสมบัติดั้งเดิมมาต่อยอดในการผลิตผลงานชิ้นใหม่กลายเป็นสิ่งที่โดนใจผู้บริโภค เห็นได้จากภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด 30 อันดับแรกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2010-2019 มี Frozen เพียงเรื่องเดียวที่เรียกได้ว่า “ใหม่ทั้งเรื่อง” ขณะที่อีก 29 เรื่องที่เหลือล้วนสร้างขึ้นโดยอิงอยู่กับความสำเร็จก่อนหน้านั้น ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรีเมก ดัดแปลง ภาคต่อ หรือรีบู๊ต

และไม่เพียงแต่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น ในวงการบันเทิงทั้งหมดต่างก็มีความพยายาม “คืนชีพ” ผู้มีชื่อเสียงกลับคืนมาให้ผู้ชมได้หายคิดถึง อย่างอดีตนักร้องชื่อดังไม่ว่าจะเป็นวิทนีย์ ฮิวสตัน, บัดดี้ ฮอลลี และเติ้งลี่จวิน ที่กลับมาเดินสายเปิดคอนเสิร์ตอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีโฮโลแกรม (Hologram)

ส่วนวงการโฆษณาก็นำมีการนำดาราดังกลับมาด้วยเทคนิคคล้ายกันกับภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นออเดรย์ เฮปเบิร์น ที่กลับมาในโฆษณาช็อกโกแลต หรือที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากก็คือการกลับมาปรากฏตัวพร้อมกันของเกรซ เคลลี, มาร์เลเนอ ดีทริช และมาริลิน มอนโร ในโฆษณาน้ำหอมแบรนด์ดัง

คนตายพูดไม่ได้
การประกาศสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ Finding Jack ในปี 2019 ทีมผู้สร้างตั้งใจจะดึงเจมส์ ดีน กลับมารับบทนำในภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1955 ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการภาพยนตร์ เพราะที่ผ่านมา ผู้สร้างหนังใช้ VFX สร้างภาพเสมือนจริงของดารานักแสดงเพียงในฉากสั้น ๆ เท่านั้น แต่ Finding Jack จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้ภาพลักษณ์ของดาราผู้ล่วงลับมานำแสดงทั้งเรื่อง

แน่นอนว่าข่าวนี้สร้างความ “ขนลุก” ให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก รวมถึงคนในวงการบันเทิงอย่างคริส อีแวนส์ เจ้าของบทบาทกัปตันอเมริกา ที่ระบุว่า “นี่มันแย่มาก หรือเราจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์วาดภาพชิ้นใหม่ของปิกัสโซ หรือแต่งเพลงใหม่ของจอห์น เลนนอน นี่คือการขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่น่าละอาย” ขณะที่เอไลจาห์ วูด นักแสดงนำจาก The Lord of the Rings ก็ทวิตถึงข่าวนี้ว่า “ไม่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น”

ในเชิงเทคนิคแล้วการใช้ CGI สร้างภาพเสมือนจริงของดารานักแสดงยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของความสมจริง อย่างแกรนด์มอฟฟ์ทาร์คินและเจ้าหญิงเลอา ใน Rogue One ก็ได้รับเสียงวิจารณ์ว่า ภาพที่ปรากฏยังไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ของตัวละครออกมาได้ดี ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างผู้ชมกับภาพยนตร์ ขณะที่ The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งได้รับการชื่นชมถึงความสมจริงของเทคนิค VFX แต่การแสดงที่ยอดเยี่ยมของแบรด พิตต์ กลับมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผู้ชมเชื่อและเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร

แต่ประเด็นใหญ่ที่เป็นที่ถกเถียงกันมากคือ ความยินยอมของนักแสดงที่เสียชีวิตไปแล้ว แม้ว่า Magic City Films ค่ายหนังผู้สร้าง Finding Jack จะชี้แจงว่า ได้รับการอนุญาตให้ใช้ภาพลักษณ์ของเจมส์ ดีน จากครอบครัวของเขาเอง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ค่ายภาพยนตร์หลุดพ้นจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ อย่างที่ เซลดา วิลเลียมส์ บุตรสาวของโรบิน วิลเลียมส์ ใช้คำว่าการ “เชิดหุ่นคนตาย” ได้ ยังไม่รวมถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการลดค่าใช้จ่ายของค่ายภาพยนตร์ ด้วยการที่ไม่ต้องจ่ายค่าตัวให้กับดาราดังเป็นจำนวนเงินมหาศาล

การคืนชีพและการลดอายุ แม้ว่าจะดูเป็นการย้อนอดีตเช่นเดียวกัน แต่การลดอายุนั้น นักแสดงยังคงมีชีวิตอยู่และสามารถเห็นรูปลักษณ์ของตนเองที่เปลี่ยนไปได้ ทั้งยังสามารถให้การยินยอมในการนำเสนอภาพดังกล่าวได้ด้วยตนเอง แต่นักแสดงผู้ล่วงลับกลับไม่มีโอกาสที่จะทำเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นเราจึงไม่อาจรับรู้ได้อย่างแท้จริงเลยว่า ดาราในอดีตเหล่านั้นยังอยากกลับมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง หรือเพียงอยากพักผ่อนอย่างสงบสุขไปตลอดกาล

ที่มา :
บทความ “The Top Movie Trends of The 2020s” โดย James Luxford จาก www.amexessentials.com
บทความ “How ‘Captain America: Civil War’ Turned Robert Downey Jr. Back Into a Teen” โดย Carolyn Giardina จาก www.hollywoodreporter.com
ข้อมูล “The 50 Highest Grossing Movies of the 2010s (Worldwide)” โดย pattap-21567 จาก www.imdb.com
บทความ “The Grand Illusion: VFX Allow Hollywood To Defy Life And Death” โดย Min Chen จาก read-a.com
บทความ “China's drinkers develop taste for home-grown wines” โดย Tim McDonald จาก www.bbc.com
บทความ “Chris Evans, Elijah Wood and More Criticize James Dean CGI Casting: “This Shouldn’t Be a Thing”” โดย Sharareh Drury จาก www.hollywoodreporter.com
บทความ “James Dean CGI 'casting' angers Avengers star Chris Evans” โดย BBC จาก www.bbc.com

เรื่อง : ธีรพล บัวกระโทก