ส่องโมเดลการบริหารจัดการน้ำให้ยั่งยืนจากกลุ่มประเทศ V4 ในยุโรป ท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านและความไม่แน่นอน
Technology & Innovation

ส่องโมเดลการบริหารจัดการน้ำให้ยั่งยืนจากกลุ่มประเทศ V4 ในยุโรป ท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านและความไม่แน่นอน

  • 18 Apr 2022
  • 1248

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับภาวะโลกรวนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที พร้อมกับภารกิจการมุ่งหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 ที่ได้นำมาซึ่งห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งสำคัญ และทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องหันหน้ามาให้ความสำคัญกับ “พลังงานสะอาด” อย่างเข้มข้นมากขึ้น เมื่อประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ยิ่งทำให้การเตรียมพร้อมและวางแผนเพื่ออนาคตที่ “ยั่งยืน” มากกว่ากลายเป็นสิ่งที่ทุกประเทศไม่อาจซื้อเวลาได้อีกต่อไป 

ผลกระทบจากโรคระบาดและภาวะสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้หนึ่งในกลุ่มประเทศที่น่าจับตาเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ก็คือ เหล่าประเทศที่อยู่ในแถบ “ยุโรปกลาง” ที่เป็นบริเวณใกล้เคียงกับเขตแดนความขัดแย้งอย่างกลุ่มประเทศ Visegrád 4 (วิแชกราด 4) หรือ เรียกย่อ ๆ ว่ากลุ่มประเทศ V4 ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศเช็ก โปแลนด์ สโลวัก และฮังการี โดยตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ได้มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับหนทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ในงานเสวนา “Best Practice from the V4 Countries for a More Sustainable Future” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาในประเทศไทย ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งประเด็นเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำ” ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างที่หลายประเทศให้ความสำคัญ และมีบางโมเดลที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้เช่นกัน

แม่น้ำดานูบ Vs แม่น้ำโขง การจัดการน้ำของสองทวีปที่ทั้งเหมือนและต่าง
“น้ำคือชีวิต” อาจเป็นคำพูดที่หลายคนคุ้นหู แต่ปัญหาเกี่ยวกับน้ำอาจส่งผลกระทบได้มากกว่าที่หลายคนคิด ซึ่งปีเตอร์ โคแวกช์ (Péter Kovács) ผู้อำนวยการด้านน้ำ จากกระทรวงมหาดไทย ประเทศฮังการี ได้ชี้ให้เห็นว่า “นอกจากน้ำจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อทุกชีวิตแล้ว ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำยังเป็นปัญหาในแนวราบ การเกษตรจะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เช่นเดียวกับที่การเติบโตทางอุตสาหกรรมและพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ของมนุษย์ ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกันหากไม่มีน้ำ” หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่าอารยธรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำ และพัฒนาต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง  


ปีเตอร์ โคแวกช์

ภูมิศาสตร์และสถานการณ์เรื่องน้ำของประเทศฮังการีนั้นมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยในหลายมิติ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่มีความผันผวน การเกิดน้ำท่วมและภัยแล้งในช่วงระยะเวลาใกล้ ๆ กัน อย่างในปี 2011 ที่จู่ ๆ ปริมาณน้ำฝนก็ลดลงจากปีก่อนหน้าไปมากกว่าครึ่ง และทำสถิติเป็นปีแล้งที่สุดในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ แม่น้ำสายหลักของฮังการีอย่างแม่น้ำดานูบ (Danube River) ก็มีความคล้ายคลึงกับแม่น้ำสายสำคัญของไทยอย่างแม่น้ำโขง ในเชิงที่เป็นแม่น้ำสายยาวที่ไหลผ่านพื้นที่ในหลายประเทศ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในการรักษาคุณภาพน้ำและช่วยกันกำกับดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งริมสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งในประเทศฮังการี “การทำให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอต่อความต้องการเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญเนื่องจากผลกระทบจากภาวะโลกรวนกำลังทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับอุทกภัยและภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น” โคแวกช์เสริมว่า “หนึ่งในหนทางการเตรียมพร้อมด้านการจัดการน้ำในระยะยาวของประเทศ คือการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถมองเห็นภาพรวมของคุณภาพและปริมาณน้ำได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงประชาชนเองก็จะสามารถตรวจสอบและรับข้อมูลเกี่ยวกับน้ำได้ผ่านแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้ด้วย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณชีวิตของผู้คนให้สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม”


วอยเช็ก เปียตราแซ็ก

โปแลนด์ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศในพื้นที่ยุโรปกลางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการที่หิมะในฤดูหนาวตกน้อยลง ภัยแล้ง ประกอบกับภูมิประเทศที่ไม่มีแหล่งน้ำมากนักหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป ทำให้นอกจากการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมผ่านนโยบายของรัฐบาลในส่วนของการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ดูแลเรื่องคุณภาพอากาศ และปรับพื้นที่ในเมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว วอยเช็ก เปียตราแซ็ก (Wojciech Pietraszek) ที่ปรึกษาคณะกรรมการจากซิมไบโอนา (Symbiona) บริษัทให้บริการด้านเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากประเทศโปแลนด์ ยังได้ร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ภาคธุรกิจของโปแลนด์เองก็ได้ให้ความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในการปรับคุณภาพของน้ำที่เหลือทิ้งให้มีคุณภาพก่อนจะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการพัฒนาแนวคิดการหาวิธีปรับน้ำที่ใช้แล้วให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง” 

แม้ว่าการบริหารจัดการน้ำของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ แต่ความสำคัญของน้ำต่อทุกชีวิตนั้นเป็นเรื่องสากล ซึ่งเปียตราแซ็กเสริมว่า “จริง ๆ แล้ว ‘น้ำ’ ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และมนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและมีคุณภาพ” ซึ่งนอกเหนือจากความจำเป็นของน้ำแล้ว การร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตทางสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้น 

ในห้วงเวลานี้ สถานการณ์ที่ทุกประเทศต้องเผชิญร่วมกันคือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ ดังนั้นการเตรียมหนทางในการแก้ปัญหาอย่าง “ยั่งยืน” จึงเป็นสิ่งที่ทุกประเทศไม่ควรมองข้าม เพราะอย่างน้อยการเตรียมพร้อมย่อมดีกว่าการรอรับมืออยู่เฉย ๆ อย่างแน่นอน

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ