เปิด 3 เทคนิค Digital Archiving ที่จะเปลี่ยนงานศิลปะให้เป็นข้อมูลดิจิทัล
Technology & Innovation

เปิด 3 เทคนิค Digital Archiving ที่จะเปลี่ยนงานศิลปะให้เป็นข้อมูลดิจิทัล

  • 19 May 2022
  • 2760

ยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เมื่อรวมเข้ากับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อจำกัดขึ้นมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวง “พิพิธภัณฑ์” ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเพื่อรักษาระยะห่าง หรือข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างพื้นที่หรือประเทศ ทำให้ปัจจุบันหลาย “พิพิธภัณฑ์” เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ด้วยการประยุกต์นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมให้เกิดการเรียนรู้ผ่านสื่อใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยข้อความ ภาพ และเสียง ที่สมจริงมากขึ้น

โดยเฉพาะการจัดทำ “Digital Archiving” หรือการบันทึกรายละเอียดข้อมูลของผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรือแม้กระทั่งโครงสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัล เพื่อจัดเก็บเป็น “ฐานข้อมูล” สำหรับศึกษารายละเอียดทั้งในเชิงศิลปะและวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังสามารถนำชุดข้อมูลไปพัฒนาร่วมกับแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ในรูปแบบโลกเสมือน ไม่ว่าจะเป็น Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR) หรือ Extended Reality (XR)  

แต่ด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งขนาด รูปทรง และรายละเอียดที่จำเป็นต่อการจัดเก็บ ทำให้เทคนิคในกระบวนการแปลงเป็นดิจิทัลจึงต่างกันออกไปด้วย อย่างเช่น

# แม่นกว่าแม่หมอสแกนกรรม #สแกนทั้งทีต้องรู้ไปถึงอดีตกาล 
ทีมผู้เชี่ยวชาญใช้เทคนิคพิเศษสำหรับศึกษาภาพวาด "The Night Watch" ปี ค.ศ. 1642 ขนาด 379.5 x 454.5 ซม. ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum กรุงอัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ ด้วยการถ่ายภาพบริเวณเล็ก ๆ ทีละส่วนกว่า 12,500 ภาพ แล้วนำมาต่อกันภายหลังเพื่อให้ได้ความละเอียดสูงสุด และการสแกนด้วย Micro X-Ray Fluorescence (micro-XRF) รวมถึงเทคนิคการถ่ายภาพแบบไฮเปอร์สเปกตรัม ที่ใช้แม่สีของภาพถ่ายที่มากกว่า สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน โดยเพิ่มการเก็บข้อมูลการสะท้อนแสงของภาพในช่วงแสงอินฟราเรด (Infrared Reflectance Imaging spectroscopy: RIS) ทำให้สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีในชนิดของสี วัสดุ และเทคนิคการวาด เพื่อวางแผนสำหรับการอนุรักษ์ที่เหมาะสมได้อย่างแม่นยำอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน 


ภาพทีมงานกำลังสแกนภาพ The Nightwatch ที่ความละเอียดระดับมิลลิเมตร


ภาพตัวอย่างการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่าย และภาพจากการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Micro-XRF

#แค่ภาพถ่ายธรรมดาอาจไม่พอ
ด้วยรูปทรงสามมิติของชิ้นงานประติมากรรม ทำให้การแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลนั้นต้องอาศัยมิติที่มากกว่าการถ่ายภาพธรรมดาในทิศทางเดียว แต่จำเป็นต้องถ่ายในหลากหลายมุมมากขึ้นเพื่อหาจุดร่วมระหว่างภาพ (Point Cloud) ที่จำเป็นต้องใช้ในการประมวลผลเชิงเรขาคณิต เพื่อสร้างแบบจำลองเป็นโครงร่างสามมิติด้วยเทคนิค Photogrammetry โดยการจำลองภาพรูปปั้นหนึ่งชิ้น อาจจำเป็นต้องถ่ายภาพมากกว่า 100 ภาพเพื่อเก็บรายละเอียดให้ครบทุกจุด 


ภาพตัวอย่างการประมวลผลภาพถ่ายรูปปั้น The Three Graces จากมุมต่าง ๆ เพื่อสร้างโครงร่างสามมิติโดยเทคนิค Photogrammetry

#เพราะมีที่เดียวในโลกเลยต้องยิ่งเก็บรักษา
หลายหน่วยงานในปัจุบันให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลเชิงสถาปัตยกรรมมากขึ้น เพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้เริ่มก่อให้เกิดความเสียหายกับตัวอาคารอนุรักษ์ต่าง ๆ โดยกระบวนการที่ใช้บันทึกข้อมูลของอาคารนั้น นอกจากภาพถ่ายภาพนอกแล้ว ด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้การถ่ายภาพเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบันทึกรายละเอียดได้ทั้งหมด อย่างเช่นงานสร้างแบบจำลองสามมิติของบูโรพุทโธ หรือ โบโรบูดูร์ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อการสร้างแบบจำลองที่สมบูรณ์ ทำให้นอกจากการทำภาพจำลองสามมิติของตัววัด (Temple Building) ที่ได้จากภาพจากหลากหลายมุมผ่านเทคนิค Photogrammetry แล้ว ยังจำเป็นต้องผสมผสานข้อมูลเข้ากับภาพวาดจำลองเพิ่มเติม (Foundation) จากคำบอกเล่าด้วยโปรแกรม Computer-aided Design หรือ CAD ตามข้อมูลของยูเนสโก รวมถึงการรวบรวม Hidden Reliefs หรือภาพถ่ายรายละเอียดของประติมากรรมแต่ละบริเวณในอดีตที่ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อความสมบูรณ์ที่สุดของข้อมูลสถานที่


ภาพตัวอย่างการรวมองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนเพื่อสร้างแบบจำลองสามมิติของบูโรพุทโธ หรือ โบโรบูดูร์ ประเทศอินโดนีเซีย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการเก็บบันทึกข้อมูลและการวิเคราะห์ผลจากประวัติศาสตร์เท่านั้น ในอนาคตอาจมีนวัตกรรมที่ทันสมัยมากกว่านี้ สำหรับการต่อยอดข้อมูลเข้ากับการใช้งานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนรู้เรื่องราวจากประวัติศาสตร์สำหรับมนุษยชาติต่อไป 

ที่มาข้อมูลและภาพ :
blue-scientific / Micro-XRF in Art Conservation: Operation Nightwatch at the Rijksmuseum จาก blue-scientific.com
factumfoundation / PHOTOGRAMMETRY จาก factumfoundation.org/
Jiao Pan et al. / Integrated High-Definition Visualization of Digital Archives for Borobudur Temple จาก researchgate.net

เรื่อง : มนต์นภา พานิชเกรียงไกร