ย้อนรอย 10 นวัตกรรมที่ยกระดับกีฬานอกบ้านใน 100 ปีที่ผ่านมา
Technology & Innovation

ย้อนรอย 10 นวัตกรรมที่ยกระดับกีฬานอกบ้านใน 100 ปีที่ผ่านมา

  • 27 Jul 2022
  • 3224

กิจกรรมผาดโผนในอดีตไม่ได้น่าสนุกและเข้าถึงง่ายสำหรับหลายคนเหมือนในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่มีอุปกรณ์อะไรมารองรับความอันตรายที่เกิดขึ้นจากความเร็ว ความสูงหรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดแปลกไปจากปกติ ซึ่งกุญแจสำคัญที่เข้ามาปฏิวัติวงการได้ นั่นก็คือ ‘เทคโนโลยี’ ที่เข้ามาเป็นส่วนช่วยพัฒนาเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์สำหรับเล่นกีฬา ตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงเสื้อผ้าและถุงมือ หมวก และสนับศอกและเข่า

มาลองย้อนรอยดูเทคโนโลยีในรอบ 100 ปีที่ได้เปลี่ยนกิจกรรมเอ็กซ์ตรีมนอกบ้านให้เป็นเรื่องที่น่าสนุกมากขึ้นกว่าที่เคย

1937 : วิวัฒนาการแห่งรองเท้าปีนเขา
กีฬาการเดินเขาเป็นกิจกรรมยามว่างที่นิยมกันทั่วโลก โดยเฉพาะแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งถ้าย้อนไปราว 100 ปีก่อน นักปีนเขาจะต้องสวมรองเท้าบูทหนังพื้นแข็งขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการยึดเกาะพื้นผิวที่น้อยลง ซึ่งบางคนก็เลือกที่จะสวมรองเท้าผ้าใบหรือเดินเท้าเปล่าแทน เรียกได้ว่ายอมเจ็บเท้าช่วงแรก ๆ เพื่อให้เดินสะดวกขึ้นเสียอย่างงั้น

จนกระทั่งในปี 1935 นักปีนเขาชาวอิตาเลียน วิตาเล บรามานี (Vitale Bramani) จึงได้ออกแบบพื้นรองเท้าปีนเขา ที่ใช้การผสมผสานรูปแบบดอกยางหน้าตาคล้ายกับที่มีในยางรถยนต์เข้ามาในรองเท้าปีนเขารุ่น ‘Carramato’ ที่เป็นตำนานแห่งแบรนด์ ‘Vibram’ ของเขา โดยมีแรงบันดาลใจจากความรู้สึกที่อยากป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นเดียวกันกับเพื่อนของเขาที่ลื่นตกเทือกเขาแอลป์เพราะพื้นรองเท้าเย็นจนเป็นน้ำแข็งนั่นเอง

ต่อมาในช่วงปี 1970 พี่น้องตระกูลกัลเลกอส (Gallegos) ได้พัฒนายางสำหรับพื้นรองเท้าแบบใหม่ขึ้นมาโดยเน้นที่ความความสามารถในการยึดเกาะและทนต่อการสึกหรอในเวลาเดียวกัน โดยนำมาใส่ในรองเท้ารุ่น ‘Firé’ ของบริษัท ‘Boreal’ และพื้นรองเท้าแบบนี้ก็ได้กลายเป็นมาตรฐานของวงการปีนเขามาถึงปัจจุบัน

1960 : ชุดประดาน้ำแบบยืดหยุ่น
รู้หรือไม่ว่าก่อนที่เราจะมี ‘Wetsuit’ หรือชุดประดาน้ำที่เราใช้กันทุกวันนี้ เราเคยต้องใช้ชุดดำน้ำที่ทำจากยางแข็ง ๆ ไม่ยืดหยุ่นมาก่อน จนกระทั่งแจ็ค โอ’นีล (Jack O'Neill) เจ้าของบริษัทเล่นเซิร์ฟชื่อดัง ได้นำวัสดุผ้านีโอพรีน (Neoprene) มาใช้ในการผลิตชุดดำน้ำรูปแบบใหม่ ซึ่งผ้านีโอพรีนเป็นยางสังเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความนุ่มในตัว แถมยังทนความร้อนและเย็นได้ด้วย

ผ้าชนิดนี้ได้ถูกประยุกต์ไปเป็นชุดว่ายน้ำที่เหมาะกับน้ำเย็น ชุดดำน้ำตื้น ไปจนถึงชุดโต้คลื่น จนทำให้ปัจจุบัน ใครที่ชื่นชอบกีฬาทางน้ำทุกชนิดก็สามารถเล่นกีฬาได้อย่างสบายตัว ในชุดที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดประดาน้ำรุ่นออริจินัลของแจ็ค โอ’นีล นั่นเอง

1967 : กระเป๋าเป้สะพายหลังแบบมีโครงภายใน
มนุษย์เราแบกสัมภาระไว้บนหลังมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ไม่ง่ายเสมอไป เพราะในช่วงแรก ๆ ที่คำว่า “back-pack” หรือ ‘กระเป๋าเป้สะพายหลัง’ เริ่มถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายนั้น มันยังมีขนาดเล็กเกินไปที่จะหอบข้าวของจำนวนมากสำหรับเดินทางไกลได้

จนเวลาผ่านไปก็เริ่มมีการพัฒนากระเป๋าเป้แบบมีโครงไม้หรือเหล็กภายนอก เพื่อช่วยในการรับน้ำหนักโดยที่ไม่ส่งผลต่อร่างกายเราจนเกินไป แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ว่า โครงภายนอกของกระเป๋ามักจะไปเกี่ยวเข้ากับกิ่งก้านของต้นไม้เมื่อเดินทางผ่านป่า ทำให้ต้องเสียเวลามากขึ้นหลายต่อหลายชั่วโมง

ทำให้ในปี 1967 เกร็ก โลว์ (Greg Lowe) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ ‘Lowe Alpine’ ได้ทดลองสร้างกระเป๋าเป้สะพายหลังแบบมีโครงภายในขึ้นมาเป็นใบแรก โดยกระเป๋าต้นแบบนี้มีโครงอะลูมิเนียมภายในที่แข็งแรงพอที่จะถ่ายน้ำหนักของสัมภาระไปที่เข็มขัดคาดเอวได้ แต่ก็ยังมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะปรับให้เข้ากับรูปร่างของผู้สวมใส่ และยังมีสายรัดด้านข้างและสายรัดหน้าอก ซึ่งแม้จะผ่านเวลามาราว 50 ปีแล้ว ดีไซน์กระเป๋าเป้เดินทางแบบนี้ก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่

1968 : Skadi — เครื่องรับส่งสัญญาณกู้ภัยหิมะถล่มตัวแรกของโลก
‘Skadi’ นับเป็นบีคอนรับส่งสัญญาณวิทยุกู้ภัยหิมะถล่มที่มีประสิทธิภาพเครื่องแรกของโลก และออกจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้ใช้งาน ซึ่งในขณะนั้น แม้จะมีชาวยุโรป ชาวอเมริกัน หรือชาวอังกฤษหลายคนที่กำลังพัฒนาอุปกรณ์ชนิดเดียวกันนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ได้ในสถานการณ์จริง ด้วยเหตุผลทางความแม่นยำ ระยะ และอายุการใช้งาน

ทำให้ในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น ‘Skadi’ ได้กลายมาเป็นสินค้ามาตรฐานสำหรับคนที่จำเป็นต้องทำงานไปพร้อมกับความเสี่ยงต่อการถูกฝังในหิมะถล่ม และแม้ปัจจุบันเราอาจมีอุปกรณ์ดิจิทัลที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น หรือมีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ดีขึ้นมาก แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังทำงานอยู่บนหลักการที่คล้ายคลึงกับ ‘Skadi’ แบบดั้งเดิม ซึ่งก็ต้องยกคำขอบคุณสำหรับนวัตกรรมอันมีประโยชน์นี้ให้กับจอห์น ลอว์ตัน (John Lawton) ผู้เป็นหัวหอกการวิจัย ‘Skadi’ และทีมพัฒนาของเขาอย่างแท้จริง

1969 : ‘Gore-Tex’ วัสดุกันน้ำที่ยืนหนึ่งในวงการสปอร์ตแวร์
ในยุคนั้น เสื้อผ้าที่ผลิตมาเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายก็จะมีเพียงแค่ผ้าฝ้ายเคลือบแว็กซ์ซึ่งมีน้ำหนักมาก หรือไม่ก็เป็นชุดทำจากไวนิลที่ทั้งหนักและยังร้อนด้วย ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์กับการใช้งานเท่าไรนัก จนกระทั่งเสื้อแจ็กเก็ตที่ทำจากผ้า ‘Gore-Tex’ ได้ถือกำเนิดขึ้น

‘Gore-Tex’ เป็นผ้าลามิเนต (Laminated Fabrics) หรือผ้าทอโครงสร้าง 2 ชั้น ถูกคิดค้นขึ้นโดยบ็อบ กอร์ (Bob Gore) วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน โดยตัวผ้าประกอบไปด้วยวัสดุ ‘ePTFE’ (Expanded Polytetrafluoroethylene) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีรูพรุนขนาดใหญ่กว่าโมเลกุลของไอน้ำประมาณ 700 เท่า แต่เล็กกว่าหยดน้ำถึง 20,000 เท่า

ซึ่งหมายความว่าผ้าชนิดนี้จะสามารถ ‘กันน้ำได้’ ในขณะที่สามารถ ‘ระบายอากาศได้’ อีกทั้งยังสามารถ ‘กันลม’ ได้เช่นกัน จนทำให้สปอร์ตแวร์ที่ผลิตจากผ้า ‘Gore-Tex’ ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน และวัสดุ ‘ePTFE’ เองยังได้ถูกพัฒนาไปใช้กับวงการการแพทย์และนำไปผลิตชุดอวกาศอีกด้วย

1977 : ‘สปอร์ตบรา’ เพิ่งมีให้ใช้แค่ไม่กี่ทศวรรษเอง
ทั้งที่กางเกงชั้นในสำหรับออกกำลังกายมีออกวางขายให้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั่วไปแล้ว แต่สำหรับเสื้อชั้นในกลับไม่มีใครพูดถึง ทำให้ในอดีตมีผู้หญิงมากมายที่รู้สึกแย่กับการออกกำลังกายเพราะการใส่เสื้อชั้นใน ทั้งสายรัดที่เลื่อนบ้างหลุดบ้าง ทั้งการเสียดสีที่เกิดจากวัสดุจนทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกกันถ้วนหน้า

จนกระทั่งลิซ่า ลินดาห์ล (Lisa Lindahl) และพอลลี สมิธ (Polly Smith) นักออกแบบเครื่องแต่งกายในโรงละครได้ทดลองนำกางเกงในออกกำลังกายที่ทำจากยางยืดสองตัวมาตัดเย็บเข้าด้วยกัน จนออกมาเป็นเสื้อชั้นในแบบกว้าง มีสายรัดด้านหลังไขว้กากบาท เพื่อป้องกันไม่ให้มันหลุดร่วงลงมา และมีแถบยางยืดที่แข็งแรงรองอยู่ใต้หน้าอกเพื่อรับน้ำหนักด้วย

เมื่อทดสอบจนพอใจแล้วลินดาห์ลจึงได้ขอทุนจากพ่อแม่เพื่อซื้อวัสดุเริ่มต้น เริ่มร่างแผนธุรกิจ และออกนำเสนอตามร้านขายเครื่องกีฬาในชื่อ ‘Jogbras’ หรือบราเพื่อใช้ในการวิ่ง จนมีผู้สนใจซื้อแบบไปพัฒนาต่อและได้กลายเป็นสปอร์ตบราที่เราได้ใช้งานกันในปัจจุบันนั่นเอง

1978 : ‘SLCD’ อุปกรณ์ยึดร่องผาสำหรับการปีนเขา
การประดิษฐ์ ‘SLCD’ (Spring-loaded camming device) นั้นปฏิวัติการปีนหน้าผาไปเลย เนื่องจากในอดีต การปีนหน้าผายังไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถตรึงเราเข้ากับร่องผาขนาดเล็กได้อย่างสะดวก โดย ‘SLCD’ มีลักษณะเป็นแท่งเหล็กที่หุบอยู่และมีเชือกผูกไว้ เมื่อเราสอดด้านปลายเข้ากับร่องผาและดึงเชือก ก็จะดึงให้แท่งเหล็กหลายชิ้นนั้นบานออกจนตรึงเข้ากับร่องผาได้อย่างหนาแน่น

1979 : ‘Polar Fleece’ เส้นใยผ้ากันหนาวแบบสังเคราะห์ที่มาแทนขนแกะ
บริษัท ‘Malden Mills’ เริ่มผลิตผ้าที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ ซึ่งแม้ความตั้งใจแรกคือการพยายามเลียนแบบผ้าขนแกะ แต่เมื่อทำออกมาแล้วกลับดีกว่าขนแกะ ด้วยน้ำหนักที่เบากว่า ทนกว่า และหลายครั้งยังอบอุ่นกว่าด้วยเมื่อนำมาทำเสื้อผ้า ปัจจุบันผ้า ‘Polar fleece’ ถูกนำไปใช้ทำเสื้อกันหนาว ผ้าห่ม ไปจนถึงเสื้อผ้าทั่วไปตามท้องตลาด ที่ทั้งซักง่ายและแห้งไวกว่าผ้าขนแกะ

1983 : ‘บันไดครีท’ (แป้นถีบจักรยานแบบปลดง่าย)
วิวัฒนาการของจักรยานมีลิสต์ยาวเป็นหางว่าว ทั้งในมุมของประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ในแง่ของความปลอดภัยของผู้ขี่ นับตั้งแต่จักรยานถูกคิดค้นขึ้นในปี 1800 โดยหนึ่งในนั้นก็คือการพัฒนาบันไดจักรยานแบบ ‘บันไดครีท’ (quick-release clipless bicycle pedal) ซึ่งออกแบบมาเพื่อล็อกเท้าของผู้ปั่นเข้ากับบันไดของจักรยานเพื่อทำให้นักปั่นสามารถออกแรงได้ทั้งจังหวะกดเท้าและจังหวะยกเท้าขึ้น วนเป็นวงกลม

ซึ่งเมื่อเทียบกับแป้นถีบจักรยานแบบดั้งเดิมที่เสริมสายรัดเท้าเข้าไป ก็ถือว่าปลอดภัยกว่ามากเพราะสามารถล็อกเท้าเข้าหรือปลดเท้าออกได้เสมอ ในขณะที่แบบดั้งเดิมต้องเอื้อมมือลงไปปลดสายรัดออก ทำให้แป้นถีบจักรยานแบบนี้เป็นที่นิยมในหมู่นักปั่นมืออาชีพทั่วโลก

2000 : กลไกรับแรงกระแทกหลายทิศทางในหมวกกันน็อก (MIPS)
ก่อนที่จะมีระบบนี้เกิดขึ้น หมวกกันน็อคทั่วไปจะสามารถรับแรงกระแทกได้เพียงทางเดียว ซึ่งแม้จะลดแรงกระแทกต่อภายนอกได้ แต่ก็อาจเกิดการเคลื่อนที่ของสมองภายในกะโหลกได้ ปัญหานี้จึงเป็นที่มาในการวิจัยระบบ ‘MIPS’

เริ่มต้นจากศัลยแพทย์ด้านประสาทและนักศึกษาปริญญาเอกในสวีเดนได้ทดลองเพิ่มโครงสร้างบาง ๆ รับกับรูปทรงของหัวเรา เข้าไประหว่างเกราะป้องกันด้านนอกของหมวกและซับในที่จะอยู่ติดกับหัวเรา เมื่อมีแรงกระแทกเกิดขึ้น ระบบ ‘MIPS’ จะเคลื่อนตัวตามทิศทางที่หัวเราเคลื่อน ซึ่งจะสามารถลดอันตรายจากการเคลื่อนที่ของสมองเราได้

นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ระบบ MIPS ได้ถูกซื้อไปประยุกต์ใช้ในบริษัทผลิตหมวกกันน็อกทั่วโลก เริ่มต้นจาก 28 บริษัท จนปัจจุบันเราสามารถเห็นระบบ MIPS ได้ในหมวกกันน็อกจักรยาน หมวกกันน็อกมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงหมวกนิรภัยต่าง ๆ เช่นกัน

ที่มา : 
บทความ “The biggest gear breakthroughs of all time” โดย Amelia Arvesen จาก www.outsidebusinessjournal.com 
บทความ “Disruptive technologies alter the way we engage with the natural world” จาก innovation.uci.edu

เรื่อง : สโรชา พรรณพิสิฐ