7 นวัตกรรมจากขยะพลาสติกในเดือนแห่งการปลอดพลาสติก #PlasticFreeJuly
Technology & Innovation

7 นวัตกรรมจากขยะพลาสติกในเดือนแห่งการปลอดพลาสติก #PlasticFreeJuly

  • 03 Aug 2022
  • 18406

หนึ่งในวิธีการที่ง่ายที่สุดในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม คือการรู้ถึงประเภทของพลาสติก วิธีการใช้ และวิธีการกำจัดพลาสติกที่จะไม่เป็นมลพิษต่อโลกหลังการใช้ Plastic Free July จึงเป็นโครงการที่รณรงค์ไปทั่วโลกและช่วยผลักดันให้ประชาชนเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้

เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็น “เดือนแห่งการปลอดพลาสติก” เราจึงได้รวบรวม 7 นวัตกรรมจากขยะพลาสติกที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจาก Springwise มาให้ทุกท่านได้รู้จักกัน

 รูปจาก Jeff Fitlow/Rice University

1. กราฟีนที่ได้จากพลาสติกในยานยนต์เก่า

กราฟีนได้รับการขนานนามว่าเป็นวัสดุมหัศจรรย์ ซึ่งได้จากการจัดเรียงโมเลกุลชั้นเดียวของอะตอมคาร์บอนแบบโครงสร้างคล้ายกับรังผึ้ง วัสดุนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น สี เซนเซอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และแผงโซลาร์เซลล์ ฯลฯ ปัจจุบันนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ร่วมกับบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด ได้ใช้กราฟีนในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แต่สิ่งที่เจ๋งสุด ๆ คือกราฟีนเหล่านี้สามารถผลิตจากพลาสติกที่รีไซเคิลยากจากรถยนต์เก่าได้

พลาสติกผสมเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะรถยนต์มีส่วนประกอบที่ซับซ้อน อย่าง เรซิน พลาสติก ฟิลเลอร์ และวัสดุเสริมแรง ที่ต้องคัดแยกก่อนที่จะนำไปรีไซเคิล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย

สำหรับทีมนักวิจัย ไรซ์-ฟอร์ด กระบวนการที่แก้ปัญหานี้เรียกว่า Flash Joule Heating โดยพลาสติกผสมจะถูกสลายด้วยกระแสไฟฟ้าแรงดันสูง ทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ ในพลาสติกกลายเป็นไอ คงเหลือไว้แต่กราฟีน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใหม่ได้

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ www.springwise.com

รูปจาก Microsoft

2. เมาส์คอมพิวเตอร์จากขยะพลาสติกในทะเล

เมาส์ไร้สายจากขยะพลาสติกในทะเลโดยบริษัท Microsoft มีส่วนประกอบเป็นพลาสติกรีไซเคิล 20% บรรจุมาในบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% และเคสของเมาส์นี้ก็ผลิตจากขยะพลาสติกที่ได้มาจากแหล่งน้ำเช่นกัน หลังจากนำไปผ่านกระบวนการและทำความสะอาดแล้ว ขยะเหล่านี้จะถูกบดให้เป็นเม็ดพลาสติกสำหรับใช้ในการผลิตเมาส์

ทางด้านบรรจุภัณฑ์ของเมาส์ผลิตจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล กากอ้อย เยื่อไม้ที่รีไซเคิลได้ ซึ่งสามารถทดแทนพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งแบบเก่าได้ และสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้เมาส์รุ่นนี้ ทางบริษัทมีบริการรับเมาส์เก่าทางไปรษณีย์เพื่อนำไปรีไซเคิลในหลายประเทศด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมาส์พลาสติกจากทะเลได้ที่ www.springwise.com

 รูปจาก Brothers Make

3. เขียงจากฝาขวดพลาสติกรีไซเคิล

Matt และ Jonny สองพี่น้องคอนเทนต์ครีเอเตอร์ชาวอังกฤษจากช่อง Brothers Make ได้ออกแบบเขียงจากฝาขวดพลาสติกใช้แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มและนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ Matt เป็นครูโรงเรียนมัธยมที่สอนเกี่ยวกับการออกแบบและเทคโนโลยี ส่วน Jonny เป็นผู้จัดการบัญชีอาวุโสที่บริษัทการตลาด ทั้งสองเริ่มทำงานด้วยกันเมื่อปี 2018 ซึ่งต่อมาก็ได้เปิดช่อง YouTube เป็นของตัวเอง

หลังจากที่แฟนคลับต่างเรียกร้องให้ทั้งสองวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ พี่น้องคู่นี้ก็ได้เปิดร้านค้าออนไลน์เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขยะพลาสติก 100% ซึ่งก็มีสินค้าให้เลือกซื้อหลากหลายประเภท ตั้งแต่กระถางปลูกต้นไม้ แผ่นรองแก้ว กล่องกาแฟ กระดุม จี้ห้อยคอแบบชาวเมารี ไปจนถึงปิ๊กกีตาร์ 

เพื่อให้แน่ใจว่าเขียงนี้ได้มาตรฐานความปลอดภัย พลาสติกทั้งหมดจะถูกคัดด้วยมือ เพื่อให้ได้ HDPE เกรดปลอดภัยสำหรับอาหาร และไม่มีสารปนเปื้อนเหลืออยู่ โดยพลาสติกจะต้องผ่านการคัดแยกและทำความสะอาด 3 รอบ ก่อนที่จะนำไปเผาด้วยอุณหภูมิประมาณ 140-160 องศาเซลเซียส เพื่อจะทำให้ไม่เกิดควันจากการเผาไหม้พลาสติก 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Brothers Make ได้ที่ www.springwise.com

รูปจาก Anti

4. ร่มราคาถูกที่เปลี่ยนให้เป็นของตกแต่งบ้านที่สวยงามแทนการเป็นขยะฝังกลบเมื่อมันพัง

Anti เป็นบริษัทด้านการออกแบบแห่งใหม่ที่ยึดถือการอัปไซเคิลเป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของ Anti จึงเป็นการอัปไซเคิลจากวัสดุที่แทบจะไม่มีใครรีไซเคิลมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ คอลเล็กชั่นแรกเป็นชุดโต๊ะและโคมไฟตั้งโต๊ะที่ทำจากร่มที่ทิ้งแล้ว เพราะในแต่ละปี มีร่มที่ถูกทิ้งกว่าหนึ่งพันล้านคัน นี่จึงถือได้ว่ามีจำนวนร่มที่ไม่ได้ใช้แล้วสำหรับสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มากมายมหาศาล

หนึ่งในสาเหตุหลักคือร่มเป็นสินค้าที่สิ้นเปลือง เพราะมันไม่ได้ถูกสร้างมาให้คงทนถาวรหรือใช้งานได้ยาวนาน และด้วยพฤติกรรมการใช้ที่มักจะซื้อใหม่แทนที่จะซ่อมหากร่มมีปัญหา ทำให้ในแต่ละปีโลหะ พลาสติก และไนลอนหลายพันกิโลจะถูกเผาหรือทับถมเป็นกองขยะ

บริษัทจะแยกชิ้นส่วนของร่มแต่ละคันตามประเภทวัสดุ ชิ้นส่วนพลาสติกอาจถูกนำมาใช้ใหม่ในสภาพเดิมหรือนำมาหลอมสำหรับขึ้นรูปทรงใหม่ด้วยการพิมพ์สามมิติ โดยในงานออกแบบสุดท้ายจะคงเหลือความเป็นร่มอยู่ แต่แข็งแรงกว่ามาก สามารถนำมาซ่อมแซมใหม่ได้ และใช้งานได้หลายปี ถ้าลูกค้าต้องการทิ้งโคมไฟ บริษัทมีโครงการรับคืนสินค้า โดยสินค้าที่ส่งคืนจะนำไปเข้ากระบวนการหมุนเวียนต่อไป 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Anti ได้ที่ www.springwise.com

รูปจาก Trex

5. ไม้พื้นรุ่นใหม่ที่ทำจากถุงพลาสติก

ไม้เทียมสำหรับปูพื้น หรือที่เรียกว่าไม้พื้น เป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านที่สวยงามและมีประโยชน์หลายอย่าง แต่กลับไม่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม บริษัท Trex จากเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาการผลิตไม้พื้น ที่องค์ประกอบเกือบทั้งหมดทำมาจากผลิตภัณฑ์เหลือทิ้ง บริษัทได้ผลิตแผ่นปูพื้นคอมโพสิตจากการนำขี้เลื่อยและถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ และปัจจุบันบริษัทนี้ก็เป็นหนึ่งในผู้รีไซเคิลถุงพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

กระบวนการที่ Trex ใช้ เป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของทางบริษัท โดยเริ่มจากการทำความสะอาดฟิล์มพลาสติก แล้วบดให้เป็นเม็ดเล็ก ๆ ก่อนนำไปผสมกับขี้เลื่อยที่ได้มาจากโรงงาน จากนั้นส่วนผสมทั้งหมดจะผ่านความร้อนเพื่อให้ส่วนผสมมีความนิ่มและยืดหยุ่นสม่ำเสมอทั้งแผ่น จากนั้นจะใช้แม่พิมพ์อัดขึ้นรูปเป็นบอร์ด แล้วจึงทำให้เย็นลง ก่อนนำไปตัดตามความยาวที่ต้องการ

แผ่นบอร์ดมาตรฐานขนาด 16 ฟุต จะใช้ถุงพลาสติกประมาณ 2,250 ใบ โดยส่วนมากเป็นถุงพลาสติกฟิล์มบางที่ยากต่อการรีไซเคิล ที่มักจะใช้เป็นถุงแซนด์วิช พลาสติกแรปในครัว และซองใส่หนังสือพิมพ์ 

บริษัทได้จัดตั้งโครงการรีไซเคิลทั่วประเทศเพื่อรับพลาสติก โดยมีจุดรับพลาสติกตามร้านค้าต่าง ๆ และในชุมชนท้องถิ่นรวมถึงในโรงเรียน ซึ่ง Trex จะจ่ายเงินให้กับธุรกิจที่สร้างขยะพลาสติกจำนวนมาก เพื่อนำขยะออกจากมือของพวกเขามารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Trex ได้ที่ www.springwise.com

รูปจาก Brian Yurasits on Unsplash

6. KENYEN สตาร์ทอัปที่รีไซเคิลพลาสติกให้เป็นก้อนอิฐที่แข็งแรงกว่าคอนกรีต

เมื่อรัฐบาลแทบจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษพลาสติกในเคนยาได้ Nzambi Matee จึงตัดสินใจจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเธอเอง โดยการตั้งโรงงานชื่อ Gjene Makers เพื่อรีไซเคิลขยะพลาสติกให้เป็นอิฐที่แข็งแรงกว่าคอนกรีต เครื่องจักรต้นแบบกำลังถูกพัฒนาขึ้นในโรงงานที่เมืองไนโรบี ซึ่งสามารถผลิตอิฐได้ 1,500 ก้อนต่อวัน จากส่วนผสมของพลาสติกหลายชนิด

Matee ได้รวบรวมวัสดุขยะที่ไปรับมาจากโรงงานบรรจุภัณฑ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงรับซื้อจากโรงงานรีไซเคิลรายอื่น โดยเครื่องจักรจะปั่นขยะพลาสติกต่าง ๆ ร่วมกับทราย ไม่ว่าจะเป็นโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง อย่างขวดนม หรือขวดแชมพู และโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ ที่พบได้ในถุงแซนด์วิชและซีเรียล รวมถึงโพลีโพรพิลีนที่ใช้ทำเชือกหรือถังต่าง ๆ โดยหลังจากนั้น วัสดุทั้งหมดจะถูกนำไปผ่านความร้อน ก่อนอัดขึ้นรูปเป็นก้อนอิฐ

แม้ว่า Matee จะไม่ใช้พลาสติก PET ที่พบได้ในขวดพลาสติกทั่วไป แต่ตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา เธอก็ได้ทำการรีไซเคิลขยะพลาสติกเพื่อใช้เป็นอิฐปูพื้นไปแล้วกว่า 20 ตัน ซึ่งอิฐเหล่านี้มีสีสันหลากหลาย Matee ยังวางแผนเพิ่มสายการผลิตให้มากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่าและหวังว่าจะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนได้ภายในสิ้นปีนี้ 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KENYEN ได้ที่ www.springwise.com

รูปจาก HIR Studio

7. เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่มีสไตล์

ทุก ๆ ปี ขยะพลาสติกจะปนเปื้อนในมหาสมุทรกว่า 8 ล้านตัน จากเดิมที่มีอยู่แล้วกว่า 180 ล้านตัน และ 90% ของพลาสติกเหล่านี้จะมีต้นสายมาจากทางแม่น้ำ รวมไปถึงแม่น้ำชินมุนในซาถิ่น ฮ่องกง 

ด้วยความพยายามที่จะบรรเทาปัญหานี้ สองนักออกแบบจากสตูดิโอ HIR ในฮ่องกง Howard Chung และ Irene Cheng จึงได้สร้างคอลเล็กชันม้านั่งยาว 12 ตัว โดยมีแรงบันดาลใจจากแม่น้ำชินมุน ทั้งคู่ได้เก็บรวบรวมขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และนำมาอัปไซคลิงให้เป็นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่ทันสมัย ทั้งยังพบว่ามีขยะพลาสติกเพียงแค่ 13% เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ใหม่ และพลาสติกส่วนใหญ่มักจะถูก “ดาวน์ไซเคิล” ไปเป็นถุงขยะหรือไม่ก็ถังขยะ มันจึงเป็นการนำพลาสติกกลับมาใช้ได้เพียงอีกรอบเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิลและจุดรวบรวมขยะเหล่านั้นยังมีไม่เพียงพอ

Chung และ Cheng ได้ติดตามการจัดหาพลาสติก HDPE รีไซเคิล โดยความช่วยเหลือของ NGO อย่าง Waste No Malls และศูนย์รีไซเคิลซาถิ่น ซึ่งได้รวบรวมจากโครงการบ้านจัดสรรและศูนย์รีไซเคิลในทุกสัปดาห์ กระบวนการออกแบบม้านั่งยาวนั้นจะใช้พลาสติกที่เก็บมาได้จำนวน 20,000 ชิ้น ซึ่งมีน้ำหนักประมาณครึ่งตัน จากนั้นนำไปผสมกับพลาสติกบริสุทธิ์เพื่อให้แน่ใจว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ได้จะแข็งแรงและทนทาน อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่พบว่ามีสิ่งปนเปื้อนอยู่มากในส่วนผสมจากโรงงานรีไซเคิลในฮ่องกง จึงเปลี่ยนไปใช้พลาสติกจากโรงงานในฝอซาน เมืองทางตอนใต้ของจีน ในการผลิตม้านั่งยาว พลาสติกจากซาถิ่นจะถูกบดและหลอม จากนั้นจะถูกนำไปบีบอัดในท่อส่งขนาดใหญ่ ก่อนที่จะย่อยให้เป็นเม็ดและใส่เข้าไปในแม่พิมพ์

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HIR studio ได้ที่ www.springwise.com

 

อ้างอิง: บทความ “7 Innovations Made From Plastic Waste” 
www.springwise.com