เสียงที่(อาจ)ไม่สำคัญ แต่ก็ขาดไปไม่ได้
Technology & Innovation

เสียงที่(อาจ)ไม่สำคัญ แต่ก็ขาดไปไม่ได้

  • 20 Sep 2022
  • 553

หากถามว่า “แลคตาซอย 5 บาท~” มีกี่มิลลิลิตร? หลายคนคงสามารถฮัมคำตอบเป็นทำนอง พร้อมร้องเพลงต่อได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งอาจเป็นอาการคล้าย ๆ กับเวลาที่เราได้ยินเสียงรถไอศกรีม แล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นแบรนด์อะไรโดยไม่ต้องหันหน้าไปมองหรือรอให้เพลงจบ 

แต่นอกจากเสียงเพลงแล้ว บ่อยครั้งที่เสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราได้ยินจนชินอย่างเสียงกดปุ่ม เสียงการทำงานของเครื่องยนต์ ไปจนถึงเสียงการเคี้ยวขนม ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงการตลาดร่วมกับการสร้างเอกลักษณ์ให้แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย เพราะเสียงเป็นมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน แต่ยังมีส่วนช่วยในการเต็มเติมความรู้สึก ดังนั้นหากลองเงี่ยหูฟังดี ๆ เราจะพบว่าบางทีเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น อาจมีเรื่องราวมากมายแอบซ่อนอยู่

เมื่อเสียงเคี้ยวช่วยให้อาหารอร่อยขึ้น
อะไรคือหัวใจสำคัญของขนมขบเคี้ยวอย่าง “มันฝรั่งทอดกรอบ” แน่นอนว่าหลายคนอาจตอบว่า “มันฝรั่ง” แต่มันฝรั่งทอดกรอบจะเป็นมันฝรั่งทอดกรอบไม่ได้เลย ถ้ามันไม่ “กรอบ” ซึ่งการจะรู้สึกว่าอาหารนั้นกรอบแค่ไหน “เสียง” ที่เกิดขึ้นเมื่อเราเคี้ยวก็นับมามีส่วนสำคัญมากทีเดียว 

สำหรับหลายคน “เรื่องกินคือเรื่องใหญ่” และอรรถรสในการกินขนมก็เป็นเรื่องจริงจังไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ ในชีวิต พริงเกิลส์ (Pringles) แบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบชื่อดังจึงได้ร่วมกับชาร์ลส์ สเพนส์ (Charles Spence) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และแมกซ์ แซมพินี (Max Zampini) จากมหาวิทยาลัยเทรนโต ประเทศอิตาลี ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยกินมันฝรั่งทอดกรอบไปพร้อม ๆ กับฟังเสียงความกรอบที่แตกต่างกันผ่านหูฟัง ก่อนจะพบว่าผู้คนให้คะแนนความกรอบและความสดใหม่ของมันฝรั่งเพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเสียงความกรอบถูกทำให้ดังขึ้นหรือมีการปรับเสียงย่านความถี่สูง (สูงกว่า 2 KHz) เพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษานี้ก็ถึงขั้นได้รางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel Prize) หรือรางวัลงานวิจัยสุดเพี้ยนที่ชวนให้ต้องคิดตามประจำปี 2008 เลยทีเดียว

แน่นอนว่าจะกินมันฝรั่งทอดกรอบทั้งที คงไม่มีใครอยากกินแบบนิ่ม ๆ ดังนั้นแบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบหลายแบรนด์จึงพยายามออกแบบให้มันฝรั่งของตัวเองมีความกรอบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และ Pringles เองก็ออกแบบให้มันฝรั่งของพวกเขามีรูปทรงที่นอกจากจะสะดวกต่อการตั้งใส่กระบอกแล้ว ยังเป็นทรงที่แตกง่ายและสร้างเสียงกรอบได้ดังที่สุดเพื่อให้ผู้คนได้เพลิดเพลินไปการเคี้ยวได้มากขึ้นนั่นเอง 

ยุคที่รถแรงไม่จำเป็นต้องเสียงดัง แต่ต้องการเสียงเครื่องที่ฟังแล้วอุ่นใจ
ตั้งแต่มนุษย์พึ่งพารถยนต์และน้ำมันเพื่อการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ สิ่งที่มาคู่กับการเคลื่อนที่อันรวดเร็วก็คือ “เสียงเครื่องยนต์” ที่มักจะเพิ่มขึ้นตามความแรงและความเร็วของตัวรถ อย่างไรก็ตามแม้รถยนต์(เครื่องสันดาป) ส่วนมากจะทำงานด้วยหลักการเดียวกัน แต่รถแต่ละยี่ห้อและแต่ละรุ่นกลับมีเสียงเครื่องและเสียงท่อที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งบ่งบอกสถานะการทำงานของเครื่องยนต์แล้ว เสียงเหล่านี้ก็ยังส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ขับขี่ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายออกแบบเสียงเครื่องยนต์สังเคราะห์หรือ Active Sound Design (ASD) ขึ้นเพื่อเพิ่มอรรถรสและความเพลิดเพลินในการขับรถที่ผู้ขับขี่จะ “ได้ยิน” ควบคู่ไปกับเสียงเครื่องยนต์(จริง) ผ่านลำโพงในห้องโดยสาร การออกแบบเสียงลักษณะนี้ ทำให้เสียงเครื่องยนต์สะท้อนตัวตนและเอกลักษณ์ของรถไปพร้อม ๆ กันด้วย เช่น รถที่สมรรถนะสูงมักจะมาพร้อมกับเสียงเครื่องที่ดังกระหึ่ม ในขณะที่รถหรูก็จะมีเสียงเครื่องยนต์ที่ดูมีระดับแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมานี้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV (Electric Vehicle) กันมากขึ้น เนื่องจากไม่มีทั้งมลพิษทางอากาศและทางเสียง เพราะไม่ต้องอาศัยเครื่องยนต์แบบเดิมอีกต่อไป อีกทั้งยังมีเสียงที่เบามากจนแทบไม่ได้ยิน ทำให้ในปี 2019 สหภาพยุโรปถึงขั้นออกกฎให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องใส่เสียงรถแบบหลอก ๆ หรือ Acoustic Vehicle Alert System (AVAS) เข้าไปในรถด้วย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่อคนเดินถนนหรือคนขี่จักรยานที่อยู่ใกล้ ๆ โดยกฎระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องส่งเสียงหรือสัญญาณที่ดังอย่างน้อย 56 เดซิเบล เมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ข้อกำหนดนี้ได้กลายเป็นโอกาสที่เปิดเวทีให้แบรนด์รถยนต์หันมาแข่งกันสร้างสรรค์เสียงรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรและมีเอกลักษณ์ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ BMW แบรนด์รถยนต์สัญชาติเยอรมันที่จับมือกับฮันส์ ซิมเมอร์ (Hans Zimmer) นักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อดังเจ้าของรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำมากมาย มาร่วมออกแบบเสียงเครื่องยนต์ไฟฟ้าจนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเสียงรถสุดล้ำที่เหมือนหลุดมาจากหนัง Sci-fi อย่าง Blade Runner 2049 (2017) เลยทีเดียว

ฟังเสียงรถ BMW Vision M NEXT ได้ที่นี่

รู้หรือไม่
เช่นเดียวกับที่ผู้ผลิตรถยนต์ใส่เสียงเครื่องยนต์สังเคราะห์เพื่อเพิ่มความสนุกในการขับขี่ เสียงเครื่องดูดฝุ่นหลายรุ่น (ที่มักจะดังมากและอาจสร้างความรำคาญให้ใครหลายคน) ก็เป็นเสียงที่ผู้ผลิตตั้งใจใส่เข้ามาเพื่อทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าเครื่องทำงานได้ดี แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้เครื่องดูดฝุ่นมีเสียงไม่ดังมากได้แล้ว แต่เสียงของลมที่ถูกดูด หรือว่าเสียงของเม็ดฝุ่นที่เข้าไปกระทบกับด้านในของเครื่องดูดฝุ่นนั้นยังคงช่วยทำให้ผู้ใช้รู้สึก “พอใจ” ว่าเครื่องดูดฝุ่นได้ทำงานอย่างที่มันควรจะเป็นนั่นเอง

ที่มา : บทความ “Hans Zimmer designed the sound for BMW’s futuristic concept car” โดย Andrew Liptak จาก theverge.com 
วิดีโอ “The Fake Sounds Companies Add To Products” โดย Cheddar News จาก cheddar.com  
บทความ “Measuring Crunchiness as 'Sound Bites” โดย Jo Smewing จาก textureanalysisprofessionals.blogspot.com 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ