3 นวัตกรรมที่จะไขปริศนาเสียงร้องทารก พร้อมสารพัดอุปกรณ์ตัวช่วยคุณพ่อคุณแม่
Technology & Innovation

3 นวัตกรรมที่จะไขปริศนาเสียงร้องทารก พร้อมสารพัดอุปกรณ์ตัวช่วยคุณพ่อคุณแม่

  • 26 Sep 2022
  • 770

“ร้องอะไรลูก” คำถามที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่พร่ำถามตัวเองทุกวันเมื่อต้องรับมือกับเสียงร้องไห้ของทารกที่เพิ่งลืมตาดูโลก แม้จะชวนให้กังวลหรือสติแตกขนาดไหนก็ตาม แต่อันที่จริงแล้ว เสียงร้องไห้ก็คือ “ภาษา” ที่ทารกใช้ “พูด” บอกความต้องการให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ 

“การร้องไห้คือวิธีการสื่อสารที่สำคัญและปกติสำหรับทารก การร้องไห้ทำให้ทารกมีเสียง” Betty Hutchon ประจำ Brazelton Centre UK กล่าว “ทารกมีเสียงร้องไห้ที่แตกต่างกันไปตามความต้องการ เช่น ความเหนื่อย ความไม่สบายตัว ความหิว รวมถึงความต้องการให้อุ้มหรือเล่นด้วย” ในช่วง 0-3 เดือนแรก เสียงร้องไห้ของทารกจะบอกถึงความไม่สบายเนื้อสบายตัว แต่เมื่อทารกโตขึ้น เสียงร้องไห้จะบอกถึงความต้องการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่ซับซ้อนขึ้นตาม เช่น เมื่อเข้าสู่ช่วง 2-4 เดือน เสียงร้องไห้สามารถเป็นวิธีใช้เรียกร้องความสนใจเมื่อทารกเริ่มเบื่อ หรือเมื่อเข้าสู่ช่วง 6 เดือน เสียงร้องไห้สามารถบอกถึงความกลัวคนแปลกหน้าได้

เป็นเรื่องจริงที่ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำความรู้จักและรู้ใจทารกผ่านเสียงร้องไห้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปเสียทีเดียว เพราะแม้ทารกจะร้องไห้เยอะที่สุดในช่วง 12 สัปดาห์แรก แต่ความต้องการของทารกในช่วงนี้ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น การกิน การนอน และการขับถ่าย แถมตลาดของใช้เด็กอ่อนยังเต็มไปสินค้าแบรนด์ต่างๆ ที่เจ้าของแบรนด์คือคุณพ่อคุณแม่ผู้นำประสบการณ์ตรงในการรับมือกับเสียงร้องไห้ของทารกมาออกแบบและพัฒนาจนเกิดเป็นสินค้าที่ครองใจคุณพ่อคุณแม่ทั่วโลก เราจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสารพัดข้าวของเครื่องใช้ที่กลายมาเป็นผู้ช่วยปลอบโยนเสียงร้องไห้ไม่ว่าจะจากความไม่สบายตัว ความหิว หรือแม้แต่ความไม่สบายใจ ที่ไม่เพียงช่วยให้ทารกสบายตัวขึ้น แต่ยังช่วยฮีลใจคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ร้องไห้เพราะไม่สบายท้อง 
Dr. Bétta … ขวดนมทรงโค้งมนช่วยลดลมในท้อง 
ในช่วง 4 สัปดาห์แรก กระเพาะของทารกยังมีขนาดเล็กมากประมาณไข่ไก่ ทำให้หิวเร็วและตื่นบ่อยทุกๆ 3-4 ชั่วโมงเพื่อมากินนม  คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงเชื่อมโยงเสียงร้องไห้กับความหิวเป็นสิ่งแรก ๆ แต่มีหลายครั้งที่แม้จะกินนมเสร็จแล้ว ทารกกลับร้องไห้จ้าขึ้นมาอีก ถ้าเสียงร้องไห้หลังกินนมมาพร้อมกับอาการท้องแข็งหรือท้องป่อง นั่นแสดงว่าทารกกำลังไม่สบายตัวจาก “ลมในท้อง” ที่อาจเข้าไปจากการกลืนลมขณะดูดนม การดูดนมที่มีฟองอากาศเยอะ การดูดนมเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป รวมถึงการร้องไห้มากเกินไป หนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ชีวิตคุณพ่อคุณแม่ง่ายขึ้นในปัญหานี้ คือการไม่ต้องพะวงกับการอุ้มเรอไปเรื่อย ๆ หรือป้อนยาแก้ท้องอืดตามทีหลัง แต่คือการเลือกขวดนมที่ป้องกันไม่ให้อากาศเข้าท้องขณะดูดนมได้ต่างหาก 

ในปี 1994 Tomoko Kawai คุณแม่และซีอีโอประจำ Zoom.T Co.,Ltd. บริษัทผลิตและจำหน่ายของใช้เด็กในญี่ปุ่น ได้รู้จัก Dr. Bétta แบรนด์ขวดนมที่เหมาะกับการป้อนนมทารกโดยฝีมือกุมารแพทย์ชาวอเมริกัน แม้การขายสินค้าอเมริกันให้กับลูกค้าชาวญี่ปุ่นจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอตัดสินใจนำแบรนด์ Dr. Bétta มาผลิตและจำหน่ายในญี่ปุ่นด้วยความหวังว่า จะไม่ต้องมีเด็กคนไหนที่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคหูชั้นกลางอักเสบจากการดูดนมจากขวดที่ไม่ถูกต้องอย่างลูกสาวของเธอ ขวดนม Dr. Bétta ได้รับการออกแบบขึ้นจากท่านั่งดูดนมที่ถูกต้องสำหรับทารกซึ่งคือการนั่งเอียง 45 องศา ตัวขวดจึงมีลักษณะโค้งรองรับมุมดูดนม 45 องศา ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวการดูดนมจากเต้าของคุณแม่ ทำให้ทารกสามารถดูดนมจากขวดได้สะดวก ลดการสำลักและความเสี่ยงโรคหูชั้นกลางอักเสบ ตัวจุกนมมีรูวาลว์ทำให้อากาศภายในขวดเป็นสุญญากาศจึงช่วยดันฟองอากาศให้อยู่แต่ในขวด และลดการกลืนอากาศที่ไม่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Dr. Bétta ได้รับรางวัล Good Design และ Kid Design Award มาการันตีคุณภาพการใช้งานให้คุณพ่อคุณแม่ได้มั่นใจ

ร้องไห้เพราะง่วงนอน
SWADDLE UP™… ชุดห่อตัวชวนหลับฝันดี 
เมื่อไรที่ทารกร้องไห้โยเยพร้อมอาการเอามือขยี้ตา นั่นคือสัญญาณว่าทารกกำลังง่วงนอน หนึ่งในวิธีที่ช่วยให้ทารกนอนหลับได้ดีคือการห่อตัว (Swaddle) ซึ่งเป็นการนำผ้าอ้อมเนื้อบางผืนใหญ่มาห่อตัวทารกโดยแนบแขนให้ติดกับลำตัว ทำให้ทารกรู้สึกเหมือนอยู่ในท้องคุณแม่ เกิดเป็นความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ทำให้นอนหลับได้ดีและยาวขึ้น แต่การใช้ผ้าห่อตัวทารกก็ใช่ว่าจะสะดวกและปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาในการห่อตัวและหลายครั้งจบลงที่ลูกขยับจนผ้าห่อตัวหลุด ต้องคอยเช็กว่าอุณหภูมิภายในผ้าสูงเกินไปหรือเปล่า หรือแน่นไปหรือเปล่า เพราะถ้าแน่นจนทารกไม่สามารถขยับขาได้ อาจทำให้สะโพกหลุดออกจากเบ้าได้

Hana-Lia Krawchuk ดีไซเนอร์และคุณแม่ชาวออสเตรเลียใช้วิธีการห่อตัวลูกชายแรกเกิดของเธอเพื่อพาเข้านอนเช่นกัน แต่เธอสังเกตเห็นว่าลูกหลับได้ดีกว่าเมื่อลูกได้ยกแขนขึ้น ไม่ใช่เมื่อแขนอยู่แนบตัว Krawchuk จึงทำการวิจัยและศึกษาเรื่องนี้จนได้ผลวิจัยที่ยืนยันว่า ทารกจะหลับได้ดีถ้าได้ยกมือขึ้นมาใกล้ ๆ บริเวณปาก ซึ่งเป็นท่าที่ทารกสามารถกล่อมตัวเองให้หลับได้ (Self-soothing) Krawchuk จึงนำผลวิจัยนี้มาออกแบบและพัฒนาจนสำเร็จเป็น SWADDLE UP™ ชุดห่อตัวภายใต้แบรนด์ Love to Dream ซึ่งเป็นชุดที่ได้รับการออกแบบให้บริเวณแขนมีพื้นที่กว้างเหมือนปีกเพื่อให้ทารกยกแขนขึ้นมาใกล้บริเวณปากและหน้าได้ นอกจากนี้ ชุดยังทำจากผ้าฝ้ายเนื้อนุ่ม เลือกความหนาได้ตามสภาพอากาศ มีซิปติดตรงกลางทำให้การห่อตัวทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แถมคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องนำผ้าห่มมาห่มทับอีกชั้น หรือคอยระวังว่าผ้าห่มจะคลุมหน้าลูกจนหายใจไม่ออก ถือเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับทารกตอนนอนอีกทาง ด้วยการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี เมื่อสินค้าได้รับการวางขายเป็นครั้งแรกในซิดนีย์ Love To Dream™ จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ได้รับรางวัลผู้ชนะ 20 Winner of the Westpac Businesses of Tomorrow Award ในปี 2017 และกวาดรางวัลบนเวทีสินค้าแม่และเด็กมาแล้วกว่า 45 รางวัลทั่วโลก 

ร้องไห้เพราะอยากให้อุ้ม
Ergobaby Embrace Newborn Carrier … เป้อุ้มแนบชิดติดหัวใจ
หลายครั้งที่ทารกร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุ เปลี่ยนผ้าอ้อมก็แล้ว กินนมก็แล้ว อุ้มเรอก็แล้ว แต่ทารกยังร้องไห้อยู่ ไม้ตายสุดท้ายที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือการอุ้มวนไป การอุ้มคือการทำให้ทารกอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักเหมือนในท้องแม่ที่คุ้นเคย เป็นการสร้างความอบอุ่นและความเชื่อใจให้กับทารกว่าโลกนี้ปลอดภัย 

“ทารก 12 เดือนแรก เรื่องสำคัญที่สุดคือ Trust ความไว้วางใจโลก ซึ่งจะมีได้ต้องมีแม่ที่ไว้ใจได้ก่อน นั่นคือเมื่อหิวนมจะมา เมื่อเหงาจะมีคนอุ้มกอด เมื่อร้องไห้จะมีแม่มาอุ้มไว้กับทรวงอก ได้ยินเสียงหัวใจแม่เต้น เสมือนครั้งยังอยู่ในครรภ์ อบอุ่นและปลอดภัย” คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน อธิบาย “คำแนะนำชัดเจน 12 เดือนแรก ไม่มีอะไรให้คิด ไม่มีอะไรให้ลังเล อุ้ม กอด ให้นม มากที่สุด ตลอด 24 ชม. ไม่มีวันหยุด” 

ด้วยความจริงที่ว่าลูกต้องเลี้ยง งานต้องทำ และชีวิตก็ต้องใช้ เป้อุ้มจึงกลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูก ทำงาน และใช้ชีวิตไปพร้อม ๆ กันไม่ว่าจะในบ้านและนอกบ้าน ในปี 2002 Karin Frost คุณแม่นักออกแบบที่อาศัยอยู่บนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย เฝ้าเฟ้นหาเป้อุ้มคู่ใจสำหรับเธอและลูกชาย แต่ไม่พบแบบที่ถูกใจ ไม่มีแบรนด์ไหนที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องสรีระและความสบาย เธอจึงตัดสินใจออกแบบเป้อุ้มขึ้นโดยมีเป้าหมายให้เป็นเป้อุ้มที่คุณแม่และลูกได้ใกล้ชิดกัน สวมใส่ง่ายและสบาย จนสำเร็จเป็น Ergobaby แบรนด์เป้อุ้มและรถเข็นเด็กที่โดดเด่นในเรื่องของความพอดีกับสรีระผู้ใช้และความสบายในการใช้งานขึ้น Ergobaby Embrace คือเป้อุ้มรุ่นที่เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดโดยเฉพาะ สามารถใช้ได้กับทารกที่มีน้ำหนัก 3.2 กก. และสูง 50.8 ซม. ตัวเป้ปรับได้ 3 ระดับตามสรีระของทารก คือ Newborn Mode หันหน้าเข้าตัวคุณพ่อคุณแม่ Baby Mode – Facing In หันหน้าเข้าตัวคุณพ่อคุณแม่ และ Baby Mode – Facing Out หันหน้าออก ใช้ได้ยาว ๆ จนถึงทารกที่มีน้ำหนัก 11.3 กก. ตัวเป้เป็นการผสมผสานระหว่างผ้าอุ้มทารกที่มีความนุ่มเข้ากับโครงเป้สะพายที่มีน้ำหนักเบา ความนุ่มและกระชับคือจุดเด่นของเป้รุ่นนี้ที่ตอบโจทย์สรีระของทารกแรกเกิดที่ทั้งตัวเล็กและคอไม่แข็ง สามารถโอบทารกให้ได้อยู่ใกล้ชิดแนบสนิทตรงตำแหน่งที่ได้ยินเสียงหัวใจของคุณพ่อคุณแม่ จึงช่วยให้ทารกรู้สึกคุ้นเคยและปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่เองก็รู้สึกดีต่อใจไปด้วยที่ได้อยู่ใกล้ลูกและสามารถทำธุระอย่างอื่นได้อย่างคล่องตัว 

ที่มา : ergobaby.com
lovetodream.com.au
betta.jp
บทความ "Scientists find out the best way to soothe a crying baby" โดย Ian Sample จาก theguardian.com
หนังสือ "คู่มือเลี้ยงลูก 0-3 ขวบสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น" โดย นายแพทย์ทาคาชิ อิงาราชิ แปลโดย อาคิรา รัตนาภิรัต 

เรื่อง : ชาลินี บริราช