หนึ่งสมอง สองตา สู่การสร้างล้านมุมมองภายใต้โลกใบเดียวกัน
Technology & Innovation

หนึ่งสมอง สองตา สู่การสร้างล้านมุมมองภายใต้โลกใบเดียวกัน

  • 25 Oct 2022
  • 2185

บ่อยครั้งที่เรามักเห็นภาพปริศนาที่จั่วหัวถามเราว่า “คุณมองเห็นอะไรในภาพนี้ก่อนกัน” หรือไม่ก็อาจจะเป็น “สิ่งของนี้มีกี่ชิ้นกันแน่” แล้วก็น่าประหลาดที่ภาพนิ่งภาพเดียวนั้นสามารถทำให้ช่องคอมเมนต์เต็มไปด้วยการ “แบ่งทีม” ถกเถียงกันเป็นยกใหญ่ ในขณะที่คำพูดอย่าง “คนเรามีมุมมองต่างกัน” ก็เป็นหนึ่งในคำพูดคลาสสิกที่ฉายซ้ำในโลกนี้มาอย่างยาวนาน 

แต่ถึงอย่างนั้น บางครั้งเราก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าทำไมคนบางคนถึงเห็นโลกแตกต่างจากเราจนน่าทึ่ง (และในบางมุมมองก็อาจจะน่ารำคาญใจ) ซึ่งไม่แน่ว่าบางทีการมองเห็นโลกของแต่ละคนนั้นอาจมีปัจจัยมากกว่าแค่ชุดความรู้หรือประสบการณ์ แต่อาจเกี่ยวเนื่องกับ “กลไกการรับรู้” สิ่งรอบตัวของเราด้วยก็ได้ 


Yuri Vasconcelos on Unsplash

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น แต่สิบตาเห็น ก็อาจจะเห็นไม่เท่ากัน
ดอกไม้ดอกหนึ่งอาจเป็นเพียงแค่สีสันของพืชพรรณสำหรับคนทั่วไป แต่อาจกลายมาเป็นของเล่น เครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายสำหรับคนอีกกลุ่มที่มองเห็นความเป็นไปได้ที่มากกว่า ผลลัพธ์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์นี้ชวนให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า “เขาคิดได้ไง!” แต่ใครจะรู้ว่าบางทีความคิดที่เกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นผลมาจากภาพการมองเห็นที่ต่างออกไปตั้งแต่แรกก็ได้ 

ผลวิจัยในปี 2017 จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ชี้ให้เห็นว่าลักษณะ “บุคลิกภาพ” ของมนุษย์ ไม่เพียงส่งผลต่อมุมมองการดำเนินชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อวิธีที่แต่ละคนรับรู้ความเป็นจริง รวมถึงการมองโลกที่เปลี่ยนไปด้วย งานศึกษาชิ้นนี้เสนอว่า “บุคลิกการเปิดรับประสบการณ์” (Openness to Experience) สามารถเปลี่ยนสิ่งที่ผู้คนเห็นในโลกไป และช่วยให้พวกเขาได้สัมผัสประสบการณ์การรับรู้ทางการมองเห็นได้แน่นอนขึ้น ในกระบวนการศึกษา ทีมวิจัยได้ให้อาสาสมัคร 123 คนทำแบบทดสอบบุคลิกภาพสำคัญทั้ง 5 (Big Five Personality Test) ซึ่งจะวัดระดับบุคลิกภาพ 5 ด้านใหญ่ ได้แก่ การเปิดเผย (Extraversion) การประนีประนอม (Agreeableness) ลักษณะยึดมั่นในหลักการ(Conscientiousness) ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional Stability) และบุคลิกสุดท้ายที่เป็นตัวชี้วัดในเรื่องนี้คือ “การเปิดรับประสบการณ์” (Openness to Experience) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความเต็มใจที่จะลองเรียนรู้สิ่งใหม่ 

ต่อมาอาสาสมัครจะได้ทำแบบทดสอบ “การแข่งขันระหว่างสองตา” (Binocular Rivalry) โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อตาทั้ง 2 ข้างได้รับภาพที่แตกต่างกัน ในการทดสอบครั้งนี้ อาสาสมัครจะได้เห็นภาพลายทางทแยงสีแดงในตาข้างขวา และเห็นลายทางทแยงสีเขียวในตาข้างซ้าย ตามปกติแล้ว คนเรามักจะเห็นภาพหนึ่งสลับกับอีกภาพหนึ่ง เนื่องจากสมองสามารถรับภาพได้ทีละภาพเท่านั้น อย่างไรก็ตามในบางครั้งเรากลับพบว่า มีการเห็นภาพที่เกิดจากทั้ง 2 ภาพซ้อนทับกันแวบขึ้นมา ราวกับเป็นวิธีการแก้ปัญหาของสมองที่สุดสร้างสรรค์ ซึ่งจากการทดลอง 3 ครั้งนั้นก็พบว่า ผู้ที่มีคะแนนในช่องของการเปิดรับประสบการณ์สูง มีแนวโน้มที่จะได้เห็นภาพทับซ้อนนี้สูงกว่าและยาวนานกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป อีกทั้งถ้าพวกเขาอารมณ์ดี ก็จะยิ่งมีแนวโน้มในการเห็นภาพซ้อนนั้นยาวนานขึ้น สอดคล้องกับความเกี่ยวข้องระหว่างบุคลิกภาพและความคิดสร้างสรรค์ที่ได้กล่าวไว้ ดังนี้เองความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจึงอาจเป็นไปตั้งแต่การรับรู้ขั้นพื้นฐานที่ให้ภาพที่แตกต่างจากคนทั่วไป 

แอนนา แอนติโนริ (Anna Antinori) ผู้วิจัยอาวุโสในทีมศึกษานี้กล่าวว่า เรามักจะกรองข้อมูลบางส่วนออกอย่างต่อเนื่องเพื่อการจดจ่อ อาทิ การเพิกเฉยต่อเสียงรบกวนรอบข้าง ซึ่งความยืดหยุ่นในการกรองนี้เองที่จะกำหนดสิ่งที่แต่ละคนรับรู้แตกต่างกัน “คนที่เปิดกว้างดูเหมือนจะมีประตูที่ยืดหยุ่นกว่า และให้ข้อมูลเข้ามามากกว่าคนทั่วไป” ยืนยันด้วยอีกหนึ่งการศึกษาก่อนหน้าที่แสดงให้เห็นว่า คนที่มีบุคลิกภาพเปิดรับประสบการณ์ มีแนวโน้มที่จะเผชิญภาวะ “ตาบอดจากการไม่สนใจ” (Inattentional Blindness)1  ได้น้อยกว่า ทั้งนี้ในการศึกษาก็ยังไม่ได้สรุปอย่างแน่ชัดว่าบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อวิธีที่เรากรองประสบการณ์มีกระบวนการทำงานอย่างไร 

กระนั้นเองก็ไม่ใช่ว่าหากเราเป็นคนที่มีคะแนนบุคลิกภาพหนึ่งต่ำ แล้วจะเป็นแบบนั้นตลอดไป งานศึกษาชี้ว่าลักษณะบุคลิกภาพของคนนั้นไม่ถาวรและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ผ่านการดำเนินกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การท่องเที่ยว การไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ การทำสมาธิ หรือกระทั่งการบริโภคสารไซโลไซบิน (psilocybin)2 ที่พบในเห็ดขี้ควาย ก็ล้วนสามารถทำให้เราพัฒนาการเปิดรับประสบการณ์ใหม่มากขึ้น ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์และการมองโลกต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม นิโก ติลิโอปูลูส (Niko Tiliopoulous) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์เผยว่า การเปิดกว้างมากเกินไปอาจเชื่อมโยงถึงอาการหวาดระแวง รวมถึงแนวโน้มของอาการป่วยทางจิตอื่น ๆ เช่น อาการประสาทหลอนมากขึ้น จนถึงขั้นว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้เพียงแค่เห็นมุมกว้างกว่าคนอื่นหรือความเป็นจริงที่แตกต่างจากคนอื่น แต่ยังรวมไปถึงการเห็นสิ่งที่ “ไม่ได้อยู่ตรงนั้น” เช่นกัน 


Daniele Levis Pelusi / Unsplash

กลไกภัยความมั่น ที่ต้องรู้ให้ทันความคิด
เคยไหมกับการเชื่อมั่นว่าความคิดของเรานั้นเป็นความจริงแท้ของโลกเสียจนเหตุผลและมุมมองของคนอื่นช่างดู “ผิด” ไปเสียทุกอย่าง และแม้จะพยายามทำความเข้าใจกับการมองมุมกลับปรับมุมมองมากเท่าใดก็ตาม แต่ทำไมการยอมรับและเข้าใจความเห็นของผู้อื่นที่มองเรื่องเดียวกันจึงต่างออกไป และในบางครั้งก็กลับยากเสียเหลือเกิน งานวิจัยใหม่โดยแมทธิว ลีเบอร์แมน (Matthew Lieberman) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก UCLA ได้ชี้ให้เห็นส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า “Gestalt Cortex” อันเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนของคำตอบ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการอธิบายถึงกลไกสมองที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าประเด็นเรื่องความเข้าใจของผู้คนต่อโลกจะได้รับการวิเคราะห์และศึกษามาตลอดในด้านจิตวิทยาสังคม

ในงานวิจัยซึ่งมีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์ผลการศึกษาก่อนหน้ามากกว่า 400 ชิ้น ชี้ให้เห็นว่า “Gestalt Cortex” ที่อยู่บริเวณหลังใบหู และตั้งอยู่ระหว่างส่วนของสมองที่มีหน้าที่ประมวลผลการมองเห็น การได้ยิน และการสัมผัส มีบทบาทช่วยให้คนเข้าใจข้อมูลที่คลุมเครือหรือไม่สมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็กลับละทิ้งการตีความทางเลือกอื่น ๆ ไปด้วย จนเหลือเพียงการตีความเดียวที่เรายึดถือ 

คนเรามักเข้าใจผิดว่าความเข้าใจของเราเกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์อื่น ๆ คือ “ข้อเท็จจริง” แทนที่จะเป็นการตีความ นี่นับเป็น “สัจนิยมสามัญ” (Naive Realism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการเชื่อว่าการรับรู้ของเราเกี่ยวกับโลกนั้นสะท้อนมาจากความจริงแท้หรือข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ โดยไม่มีอคติ อารมณ์ หรือปัจจัยอื่นครอบไว้ มองว่าการตีความของตนนั้นจริงและถูกต้องมากกว่าการตีความของผู้อื่น จนอาจนำไปสู่ความเชื่อที่ว่าคนอื่นนั้นเข้าใจผิด 


National Cancer Institute / Unsplash

“เรามักจะมีความมั่นใจแบบไร้เหตุผลในประสบการณ์ของเราเองต่อโลกใบนี้ และมองผู้อื่นว่าเข้าใจผิด เกียจคร้าน ไม่มีเหตุผล หรืออคติ เมื่อพวกเขาไม่ได้มองเห็นโลกในแบบที่เรามอง”  ลีเบอร์แมนกล่าว “หลักฐานจากข้อมูลประสาทนั้นชัดเจนว่า Gestalt Cortex คือหัวใจสำคัญในการสร้างความจริงในเวอร์ชั่นของเรา” หมายความว่าแม้ Gestalt Cortex จะไม่ใช่ส่วนเดียวที่ช่วยประมวลผลสิ่งที่ผู้คนเห็น แต่ลีเบอร์แมนก็เชื่อว่านี่คือส่วนที่สำคัญ โดยส่วนหนึ่งของ Gestalt Cortex ยังมีโครงสร้างที่เรียกว่า Temporoparietal Junction ซึ่งตัวผู้ศึกษาเองเชื่อว่าเกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ที่มีสติและการทำความเข้าใจในสถานการณ์ที่แต่ละคนประสบพบเจอ

การวิจัยก่อนหน้านี้ของลีเบอร์แมนยังชี้ให้เห็นว่าเมื่อคน 2 คนเผชิญหน้ากันและไม่เห็นด้วยในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เช่น การเมือง กิจกรรมใน Gestalt Cortex ของพวกเขาจะมีความคล้ายคลึงกันน้อยกว่ากรณีที่คนทั้งสองเห็นตรงกัน สอดคล้องกับงานศึกษาในปี 2018 ที่พบว่ารูปแบบทางประสาทใน Gestalt Cortex ที่คล้ายคลึงกันระหว่างคนสองคนเป็นตัวทำนายที่ชัดเจนว่าใครจะเป็นเพื่อนกับใคร 

นาตาลี คริสเตียน ดาตติโล (Natalie Christine Dattilo) นักจิตวิทยาคลินิก อธิบายความหมายของคำว่า Gestalt ซึ่งแปลว่า “the whole is greater than the sum of its parts” หรือ องค์รวมมีค่ามากกว่าผลรวมของส่วนย่อยที่รวมกัน แต่ในทางปฏิบัตินั้นเธอมองว่า “มันหมายถึงความสามารถในการปรับตัวของบุคคลสำหรับการ ‘สร้างความจริงของตัวเอง’ และเป็นวิธีที่บุคคลเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่สมบูรณ์หรือคลุมเครือ” เนื่องจากในสถานการณ์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะสถานการณ์ทางสังคมนั้น ล้วนเต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ส่วนความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่ายที่ไม่อาจล่วงรู้ และเราก็มักจะเติมเต็มช่องว่างนั้นด้วยการตีความของเราเองที่บางครั้งก็เต็มไปด้วยความเชื่อ อคติ ความคิด รวมถึงข้อสรุปของเราเอง ซึ่งผลสรุปที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงทำร้ายฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้าหากความคิดของเราเองเป็นลบมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อจิตใจที่วิตกกังวลของเราด้วย 

ลีเบอร์แมนยังเชื่อว่าสาเหตุของความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้คนที่ถูกมองข้ามมากที่สุดคือสัจนิยมสามัญ เนื่องจากการมองโลกที่ต่างกันระหว่างเรากับผู้อื่น อาจส่งผลกระทบราวกับเป็นภัยคุกคามต่อการติดต่อกับความเป็นจริงของเราเอง ซึ่งมักจะนำไปสู่ความโกรธและความสงสัยในตัวบุคคลอื่น “ถ้าเรารู้ว่าคนคนหนึ่งมองโลกอย่างไร ปฏิกิริยาที่ตามมาของพวกเขาก็จะคาดได้มากขึ้นมาก” 


Milada Vigerova / Unsplash

แล้วเราจะมีวิถีทางอย่างไรบ้างที่จะช่วยเอาชนะกลไกของสมองเพื่อรับฟังและยอมรับมุมมองของคนอื่นมากยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำกลเม็ดบางประการที่อาจช่วยแก้เผ็ดกลไกนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่นการพยายามรู้ตัวว่าเรามักจะเติมเต็มช่องว่างด้วยอคติ และตระหนักอยู่เสมอว่าความคิดของเราต่อผู้อื่นก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะผิดพอ ๆ กับที่จะถูก ในขณะที่การพัฒนาทักษะที่สำคัญต่อการเติบโต การจัดการอารมณ์ รวมถึงเสริมความอดทนต่อมุมมองที่ต่างกันอย่างเช่น ทักษะการยอมรับความผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่จำเป็น รวมถึงการยอมรับว่าการเปลี่ยนความคิดเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็เป็นแนวคิดพื้นฐานที่สามารถช่วยให้เราเปิดกว้างมากขึ้นได้

 นอกจากนี้ การเปิดใจรับฟังข้อมูลจากทุก ๆ ฝ่ายโดยเฉพาะจากฝ่ายที่เราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ช่วยในการเปิดรับมุมมองอื่น ๆ เช่นเดียวกัน โคลเอ คาร์มิคาเอล (Chloe Carmichael) นักจิตวิทยาคลินิกให้ความเห็นว่า “บางครั้งผู้คนก็กลัวว่าหากพวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับมุมมองตรงข้าม พวกเขาจะถูกดูดเข้าไปในมุมมองนั้นและ ‘ฉันจะละทิ้งมุมมองของตนเองไป’ แต่แท้จริงแล้ว การเรียนรู้เกี่ยวกับข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายหนึ่งอาจช่วยให้เรายึดมั่นมากขึ้นว่าทำไมเราถึงมีมุมมองในแบบที่เรามีอยู่ได้” ซึ่งการรับฟังนี้ยังต้องอาศัยทักษะการฟังที่ไม่ใช่เพียงฟังในแบบที่เราปักธงในใจหรือรอแต่สิ่งที่อยากได้ยิน แต่ต้องเปิดใจฟังด้วยความใคร่รู้ เพื่อขยายมุมมองความเข้าใจอย่างแท้จริง

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยเราในสถานการณ์ทำนองนี้ได้คือการสนใจแค่ข้อเท็จจริง ซึ่งจะช่วยให้เราตัดอารมณ์ ความคิดเห็น และความรู้สึกที่เข้ามาเกี่ยวข้องออกไปผ่านวิธีการฝึกฝนเช่น การเขียนบรรยายสิ่งต่าง ๆ ออกมาแล้วค่อย ๆ ตัดรายละเอียดที่มีความคิดเห็นออก ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ จากนั้นค่อยเขียนคำอธิบายต่าง ๆ ออกมาใหม่ด้วยข้อเท็จจริงเพียงเท่านั้น หรืออาจตั้งคำถามเสริมขึ้นมาว่า “หากมีคน 100 คนอยู่ตรงนี้ มีประเด็นใดบ้างที่ทุกคนจะเห็นพ้องกันได้” และนั่นก็อาจจะทำให้เราได้ค้นพบความเห็นและการตัดสินใจของเราฝ่ายเดียวในชีวิตประจำวันมากมายที่เราไม่เคยคิดหรือตั้งใจจะทำให้มันเป็นเช่นนั้นเลย 

มุมมองที่ต่างกันอาจนำไปสู่เส้นทางของความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และบ้างก็อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งในชีวิตประจำวัน แต่ถึงอย่างนั้นหลายครั้ง ความหลากหลายที่ว่านี้ก็ช่วยพาเราเดินไปสู่ทางออกที่ง่ายและตอบโจทย์มากกว่า โดยไม่ได้ติดอยู่ที่ว่าความเห็นของใครดีกว่าของใคร หากแต่อยู่ที่การรวมเอาความเห็นที่ต่างกันเข้ามาบูรณาการเป็นคำตอบที่ดีที่สุด 

1ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนเพ่งความสนใจไปที่คุณลักษณะหนึ่งในฉากจนลืมสังเกตสิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนไปโดยสิ้นเชิง
2สารชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

ที่มา : บทความ “New Research Uncovers Why We All See the World So Differently” โดย Cathy Cassata  จาก verywellmind.com 
บทความ “Why do we believe we have an objective understanding of the world?” จาก thedecisionlab.com
บทความ “Science Reveals: Why Doesn’t Everybody View the World the Same Way?” จาก scitechdaily.com 
บทความ “Our Personality Literally Changes How We See the World” โดย Philip Perry จาก bigthink.com 
บทความ “Open-minded people have a different visual perception of reality” โดย Olivia Goldhill จาก bigthink.com 
บทความ “ถ้าเด็กสมัยนั้นจะพูดถึงผู้ใหญ่สมัยนี้…” โดย กล้า สมุทวณิช จาก matichon.co.th 
บทความ “ทัศนะแบบองค์รวม” โดย พระทศพล  เขมาภิรโต จาก baanjomyut.com 
บทความ “The Whole Is Greater Than The Sum Of Its Parts – Meaning, Origin & Usage (10+ Examples)” โดย Martin Lassen จาก grammarhow.com 
บทความ “How Do You See the World? People With Creative Personalities Really Do See the Things Differently” จาก scitechdaily.com 
บทความ ““เห็ดไทย” ไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อสหรัฐฯ จดสิทธิบัตร “ยาซึมเศร้า” จาก “เห็ดขี้ควาย”” โดย Jakkrit Siririn จาก salika.co 
บทความ “การศึกษาอิทธิพลของลักษณะบุคลิกภาพ 5 ด้าน (Big Five Personality Model) กับประสิทธิผลในการทํางานของพนักงานธนาคารออมสิน สาขาในสังกัดเขตห้วยขวาง” โดย วัชราภรณ์ ชาตะวงษ์ และ ธีรนุช พูศักดิ์ศรีกิจ จาก utccmbaonline.com 

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง