พบกับนิทรรศการออนไลน์ และคลังความรู้ที่พาเราดำดิ่งไปเปิดโลกใต้ท้องทะเลลึก
Technology & Innovation

พบกับนิทรรศการออนไลน์ และคลังความรู้ที่พาเราดำดิ่งไปเปิดโลกใต้ท้องทะเลลึก

  • 25 Oct 2022
  • 1039

ตลอดระยะเวลา 50 กว่าปีหลังจากที่นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) และบัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin) ก้าวเท้าลงจากยานอะพอลโล 11 บนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ภารกิจสำรวจอวกาศก็ก้าวหน้าไปมากจนเราสามารถเรียนรู้การค้นพบใหม่ ๆ ของนาซาได้ตลอดทั้งปี ทั้งยังได้เห็นเหล่าดวงดาวที่อยู่ห่างไกลไปหลายพันล้านปีแสงจากกล้องเจมส์ เวบบ์ 

แต่หากมองกลับมายัง “โลกใต้ทะเล” เรากลับแทบไม่รู้อะไรเลย นอกจากภาพของสัตว์น้ำหน้าตาแปลกประหลาดจากใต้ทะเลลึกที่ส่งต่อกันในอินเทอร์เน็ต แม้พื้นที่มหาสมุทรจะมีน้อยมากหากเทียบกับความกว้างใหญ่ของอวกาศ แต่กลับมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของมหาสมุทรเท่านั้นที่ถูกมนุษย์สำรวจ ทำให้ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากรอคอยการค้นพบอยู่ ณ โลกใต้น้ำ

 และถึงว่าค่าใช้จ่ายของการสำรวจใต้ท้องทะเลจะน้อยกว่าการออกไปสำรวจอวกาศอยู่หลายเท่าตัว แต่การลงไปค้นพบใต้ท้องทะเลลึกก็ยังอุปสรรคที่ไม่ต่างไปจากการสำรวจอวกาศ นั่นคือเรื่องของ “ความดันของอากาศ” ที่เพิ่มมากขึ้นตามระดับความลึกของน้ำทะเล ซึ่งนับเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ และทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้นักวิทยาศาตร์สามารถสำรวจใต้ท้องทะเลลึกได้จากบนเรือ หรือการต้องอาศัยสื่อกลางในการจำลองโลกใต้ท้องทะเลเพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการออนไลน์ หรือคลังข้อมูลที่รวบรวมองค์ความรู้และงานวิจัยเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถแหวกว่ายเข้าถึงโลกใต้ทะเลกันได้ที่บ้าน

01 นิทรรศการออนไลน์ World Ocean Explorer DEEP SEA 
นิทรรศการออนไลน์  World Ocean Explorer DEEP SEA ที่ผู้เข้าร่วมสามารถเรียนรู้การสำรวจทะเลได้อย่างอิสระ ให้ความรู้ด้านชีววิทยาและธรณีวิทยาของโลกใต้ทะเลผ่านวิดีโอที่บันทึกจากหุ่นยนต์สำรวจ ประกอบกับโมเดลจำลองสิ่งมีชีวิตและพืชชนิดต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเล พร้อมข้อมูลประกอบอย่างละเอียด โดยเป็นความร่วมมือของ The World Ocean Observatory (W2O) องค์กรซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการให้ความรู้เพื่อส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนของมหาสมุทร และ Schmidt Ocean Institute (SOI) มูลนิธิที่มีเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อประโยชน์ในการสำรวจทางทะเล 

นิทรรศการยังมีการจำลองอควาเรียมที่ตั้งอยู่ก้นทะเล ให้เราเดินอ่านข้อมูลตามส่วนจัดแสดงได้อย่างอิสระ ทั้งข้อมูลของสัตว์น้ำนานาชนิดที่อาศัยอยู่ในแต่ละระดับความลึกของน้ำทะเล เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของมหาสมุทรที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก แสดงเทคโนโลยีการสำรวจ และการทำแผนที่ของพื้นมหาสมุทร อีกทั้งยังจำลองการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสนใจ อย่างปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล (Hydrothermal Vents) หรือการเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลง และประโยชน์ของซากวาฬเมื่อตกลงสู่ก้นทะเล (Whale fall)

ไม่เพียงแค่การจำลองเหล่าสัตว์น้ำ แต่เรายังสามารถดูแบบจำลองของเจ้า SuBastian หุ่นยนต์สำรวจทะเล (Remotely Operaterd Vehicle: ROV) ซึ่งมีความสามารถในการดำน้ำได้ลึกถึง 4 กิโลเมตร พร้อมด้วยอุปกรณ์เฉพาะทางสำหรับการเก็บข้อมูลวิจัยหรือเก็บตัวอย่างจากทะเล อีกทั้งยังสร้างด้วยวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างไร้กังวล นอกจาก SuBastian เรายังสามารถชมเรือวิจัย RV Falkor ที่ SOI สร้างมาเพื่อศึกษาสมุทรวิทยาโดยเฉพาะ นับเป็นการเพิ่มประสบการณ์การชมท้องทะเลลึกได้อย่างอิสระนอกอควาเรียม 

ใครที่สนใจอยากไปสัมผัสกับประสบการณ์เสมือนได้แหวกว่ายไปเรียนรู้โลกใต้ท้องทะเล สามารถเข้าชมได้ที่  http://worldoceanexplorer.org/deep-sea-aquarium.html 

02 เว็บไซต์ Deep Ocean Education
นอกจากนิทรรศการออนไลน์  World Ocean Explorer DEEP SEA แล้ว ทางมูลนิธิ Schmidt Ocean Institute ยังได้ร่วมกับ Ocean Exploration Trust และ NOAA Ocean Exploration องค์กรด้านการสำรวจท้องทะเล จัดทำเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลจำนวนมากเพื่อเปิดเป็นสาธารณะให้ผู้ที่สนใจเข้าไปเรียนรู้ได้แบบฟรี ๆ

เว็บไซต์นี้มีข้อมูลรอบด้านสำหรับคนรักโลกใต้ทะเลที่แท้จริง อย่างการศึกษาเกี่ยวกับการเรืองแสงของสัตว์ที่อาศัยในระดับความลึกจนแสงส่องไปไม่ถึง ว่ามันมีกระบวนการปรับตัวอย่างไร ไปจนถึงการศึกษาอวัยวะภายในที่ช่วยให้พวกมันอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัด พร้อมวิดีโอประกอบสัตว์น้ำที่หาดูได้ยาก เช่นหมึกแวมไพร์  (Vampire Squid) หรือสัตว์ประเภททีโนฟอรา (Ctenophora) เรืองแสงชนิดต่าง ๆ

นอกจากนี้ เรายังเสมือนได้เดินทางผ่านกล้องของหุ่นยนต์สำรวจไปพร้อมกับนักวิจัยในการหาตัวอย่างใต้ท้องทะเลด้วยวิดีโอคุณภาพระดับ 4K ซึ่งความน่าสนใจไม่ได้มีเพียงธรรมชาติที่อยู่ใต้ทะเลลึกเท่านั้น เรายังได้เห็นเหล่าวัตถุโบราณคดีทางทะเลซึ่งสามารถบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต อย่างซากเรือรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเศษถุงพลาสติกที่ทำให้เราตระหนักได้ถึงผลกระทบของมนุษย์ที่ส่งมาถึงใต้ทะเลอันห่างไกลหลายพันเมตร

ปัจจุบันการสำรวจทางทะเลจำเป็นต้องใช้การเดินทางในทะเลเป็นเวลานาน จึงต้องมีเรือเดินทางที่สามารถขนย้ายนักวิจัยพร้อมกับเครื่องมืออุปกรณ์ให้สามารถเดินทางได้ตามต้องการ ซึ่งเราสามารถติดตามเรือสำรวจทั้ง 3 ลำ ได้แก่ RV Falkor ดำเนินการโดยมูลนิธิ Schmidt Ocean Institute เรือ NOAA Ship Okeanos Explorer เรือสำรวจทะเลขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA ) ที่เคยเป็นเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ก่อนปรับเปลี่ยนมาเป็นเรือสำรวจ และเรือ Nautilus ขององค์กร Ocean Exploration Trust ผ่านทางเว็บไซต์ที่เราสามารถค้นหาประวัติภารกิจในอดีตของเรือแต่ละลำได้ นอกจากยังมีไลฟ์สตรีมสดจากเรือพร้อมบอกเล่าภารกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันให้เราติดตามเหล่านักสำรวจได้ตลอดเวลา สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลได้ที่ deepoceaneducation.org

ความมืดมิดของโลกใต้ทะเลที่เคยเป็นดินแดนอันลึกลับของมนุษย์มาเป็นเวลานาน แต่ด้วยตัวช่วยทางเทคโนโลยี ทำให้เราได้สำรวจและรู้จักมหาสมุทรของเรามากขึ้น ซึ่งไม่เพียงให้ความอิ่มเอมใจจากความสวยงามของโลกใต้ท้องทะเล แต่ยังช่วยสร้างการตระหนักรู้ที่เกิดควบคู่ไปกับความรู้สึกหวงแหนและอยากอนุรักษ์เอาไว้อีกนานแสนนาน 

ที่มา : เว็บไซต์ deepoceaneducation.org
นิทรรศการออนไลน์  World Ocean Explorer THE DEEP SEA worldoceanexplorer.org/deep-sea-aquarium.html
บทความ "Groundbreaking Virtual Aquarium Brings Deep-Sea to the Surface" จาก schmidtocean.org
บทความ "New Website Brings Deep Ocean Exploration Imagery and Lessons to Educators and Public" จาก schmidtocean.org

เรื่อง : นพกร คนไว