วัตถุดิบทางเลือกสำหรับสายแฟฯ ที่แคร์โลก
Technology & Innovation

วัตถุดิบทางเลือกสำหรับสายแฟฯ ที่แคร์โลก

  • 26 Oct 2022
  • 1465

รู้หรือไม่ว่าอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกคือ “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” ที่มีกระบวนการเริ่มตั้งแต่การปลูกวัตถุดิบ “ฝ้าย” ในไร่ที่ผลาญน้ำไปมหาศาล การใช้ยากำจัดศัตรูพืชที่ทำลายระบบนิเวศในดิน รวมถึงสุขภาพร่างกายของชาวไร่และผู้อาศัยใกล้เคียง สมทบด้วยปัญหาอีกชั้นคือสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการฟอกย้อม เพื่อให้ผ้ามีสีสันอย่างที่ตลาดต้องการ

ทุกกระบวนการของการปลูก ผลิต และขนส่ง กว่าจะมาถึงมือผู้บริโภคนับเป็นกระบวนการที่สร้างพิษแทบทั้งสิ้น การหันมาใช้วัสดุทดแทนเพื่อลดผลกระทบในบางขั้นตอนจึงกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยปัจจุบันผู้ประกอบการทั่วโลกพยายามหันมาหาทางเลี่ยงการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การคิดค้นหนังมังสวิรัต หรืออาจจะเป็นวัตถุดิบที่หาได้ใกล้ตัวอย่างที่ผู้ประกอบการไทยบางรายได้ทดลองทำและประสบผลที่น่าพอใจ

Saxtex Rubber Sheet แผ่นผ้าเก่าเคลือบยางพารา
ผ้ากระสอบข้าวเก่าตามร้านค้าที่กลายเป็นผ้าเช็ดเท้าเมื่อไร้ประโยชน์ได้กลายเป็นวัตถุดิบทางความคิดที่ ดีแอนด์ซี ดีไซน์แอนด์คอนเซ็ปต์ เกิดปิ๊งไอเดียชุบชีวิตผ้าเก่า เช่น ผ้ากระสอบ ผ้าแคนวาส รวมถึงกระดาษรีไซเคิล ที่ล้วนแล้วเป็นของเหลือทิ้งไม่ได้ใช้งานแล้ว ให้กลับมามีมูลค่าใหม่อีกครั้ง โดยนำมาทำเป็นงานศิลปะและงานคราฟต์ ด้วยวิธีอัปไซเคิล ผ่านการเคลือบยางพาราเพื่อเสริมคุณสมบัติความแข็งแรง เหนียว และทนทาน ออกมาเป็นแผ่นผ้าเคลือบยางธรรมชาติภายใต้แบรนด์ SAXTEX ด้วยสไตล์และลูกเล่นของแผ่นยางที่สามารถเติมแต่งสีสันได้ตามจินตนาการ ทำให้มีลักษณะคล้ายหนังเทียม สามารถนำไปตัดเย็บได้เป็นสารพัดผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า หมวก ไปจนถึงแผ่นวัสดุปิดผิวเพื่อเพิ่มคุณสมบัติการยึดเกาะบนเซิร์ฟสเก็ต ที่สะท้อนความสวยงามในแบบที่เป็นตัวเองของผู้ใช้จริง ๆ 

หนังวัชพืชและใบไม้ แผ่นหนังวีแกนจากธรรมชาติข้างทาง
ก่อนจะมาจับงานโรงงานผลิตวัสดุจากธรรมชาติ เจ้าของแบรนด์คีอะพัซ (Keapaz) ก็เคยเป็นพนักงานและเจ้าของธุรกิจอื่นมาก่อน แต่พบว่าตัวตนของตัวเองนั้นชอบใกล้ชิดธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตสีเขียวรอบ ๆ ตัว จึงเริ่มมองหาสิ่งใหม่ทำที่เรียกว่า “หนังวีแกน” ซึ่งเขาพยายามสร้างความแตกต่างด้วยการหยิบเอาวัตถุดิบธรรมชาติมาเป็นลวดลายบนแผ่นหนังที่ทำจากยางพาราและแป้งข้าวเหนียว ทั้งหญ้าที่ขึ้นริมทาง ใบไม้จากต้นไม้ริวรั้ว เช่น หญ้าแฝก ใบบัว ใบตอง ใบบอน ใบโพธิ์ ฝักกระถิน ใบลำไย ใบธูปฤๅษี และอีกสารพัดชนิดที่หาได้ ด้วยเทคนิคการทำลวดลายที่แตกต่างกัน ทั้งบด ฉีก หรือแปะทั้งใบ ทำให้มีวัสดุจากธรรมชาติที่ใช้ในหนังหนึ่งแผ่นมากถึง 80 – 90% ส่วนที่เหลือก็จะเป็นสารเคลือบสำหรับกันน้ำและรอยขีดข่วน นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจลวดลายจากธรรมชาติบนสินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ซึ่งทดแทนหนังสัตว์และหนังเทียมได้เป็นอย่างดี

ผ้ารีไซเคิล จากเส้นใยที่ได้จากขวดพลาสติก
ซัพพลายเออร์แห่งตลาดผ้าพาหุรัดอย่าง บริษัท บูลเลียนเทกซ์ จำกัด ผู้อยู่ในวงการสิ่งทอมานานกว่า 25 ปี พยายามคิดค้นนวัตกรรมสิ่งทอให้แตกต่าง พร้อมเปิดสตูดิโอผ้าให้คนได้เข้ามาเลือก สัมผัส พร้อมให้คำแนะนำและช่วยออกแบบได้ครบวงจร ได้ลองพัฒนา “ผ้ารีไซเคิล” ขึ้นเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด โดยมีลักษณะเป็นผ้าแคนวาสจากเส้นใยรีไซเคิล 100% ที่ได้จากขวดพลาสติกใช้แล้ว ผลิตและทอด้วยโรงทอผ้าของตัวเอง ทั้งยังสามารถสั่งปรับสัดส่วนของเส้นใยได้ตามที่ต้องการ เพราะเมื่อเป็นวัสดุ “รีไซเคิล” นั่นแปลว่ายังราคาสูงอยู่ หากวันใดที่วัสดุรีไซเคิลเริ่มมีการผลิตจำนวนมาก หรือที่เรียกว่าแมสโปรดักชัน วันนั้น วัสดุเพื่อโลกเหล่านี้จะไม่เพียงมีราคาที่ถูกลง แต่นั่นยังหมายถึงการที่ผู้คนจำนวนมากเริ่มตระหนักรู้แล้วว่า ควรใช้ผ้าแบบไหนถึงจะดีต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ

Authentic Rubber Glue กาวจากน้ำยางพาราแท้ 100% สำหรับงานผ้า หนัง หรือกระดาษ 
กาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ หนัง ล้วนแล้วมีส่วนผสมของกาว EVA (Ethylene Vinyl Acetate) แต่ที่บริษัท เทพเทกซ์ จำกัด ผู้ผลิตที่นอนยางพาราแท้ ๆ สัญชาติไทย ได้พัฒนาสูตร “กาวจากน้ำยางพาราธรรมชาติ” เพื่อใช้สำหรับยึดติดพื้นผิวที่มีรูพรุน เช่น ผ้า หนัง กระดาษ หรือแม้แต่ยางพาราด้วยกันเอง ปลอดภัยต่อระบบทางเดินหายใจเพราะปราศจากกลิ่นหรือสารระเหยจากพลาสติก แม้แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างมลภาวะก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างไร้กังวล 

แม้ว่าการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นเพียงห่วงโซ่เดียวที่เปลี่ยนระบบอุตสาหกรรม แต่อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลดความเสี่ยง แถมเป็นการหมุนเวียนวัสดุเหลือทิ้งและวัสดุรอบ ๆ ตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุไทย เพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com 

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร