ถ้าไม่เผา แล้วเอาไปทำอะไรดี...พบกับ 4 วัสดุที่ได้จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร
Technology & Innovation

ถ้าไม่เผา แล้วเอาไปทำอะไรดี...พบกับ 4 วัสดุที่ได้จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร

  • 04 Nov 2022
  • 3149

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มาพร้อมกับการเผาในช่วงปลายปี สร้างผลกระทบต่อปอดของเราไม่น้อยทีเดียว ขณะที่อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ “คาร์บอน” ที่มาพร้อมกับควันลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาพแวดล้อม

เมื่อไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ข้าวโพด หรือปาล์มน้ำมัน ปีหนึ่ง ๆ พืชเหล่านี้ทิ้ง “ส่วนเกิน” ไว้มหาศาลเกินจินตนาการ บางชนิดหลังจากโตจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็ต้องโค่นทิ้งแล้วปลูกใหม่ บางต้นเก็บเกี่ยวได้หลายครั้งนานหลายปี แต่ท้ายที่สุดผลออกมาก็เหมือนกันคือ เหลือทิ้งและจบชีวิตที่การเผาทำลาย

เพราะวิธีกำจัดที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากที่สุดก็คือ “การเผา” หมุนเป็นวงจรไปอยู่แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากลองพิจารณาถึงคุณสมบัติของวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้ ก็ดูจะเป็นไปได้สำหรับการสร้างและนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตสิ่งใหม่ ๆ ที่นอกจากจะเป็นการหาทางไปให้กับบรรดาส่วนเกินทางการเกษตรแล้ว ยังช่วยลดภาระจากการเผาทำลายที่เป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของมลพิษทางอากาศ และยังสามารถหมุนกลับมาเป็นวัสดุที่นำมาใช้งานได้ใหม่อีกด้วย 


กระดาษจากทางปาล์มน้ำมัน

กระดาษจากทางปาล์มน้ำมัน และกระดาษเปลือกถั่ว 
จากผลงานวิจัยกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปที่มีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของเส้นใยจากพืชครบถ้วน จึงสามารถนำมาต่อยอดเป็นกระดาษได้เช่นเดียวกับกระดาษสาได้ ซึ่ง กระดาษจากทางปาล์ม ของ Palm Packaging ได้ทดลองนำทางปาล์มที่เป็นเศษเหลือทิ้งในชุมชนปาล์มน้ำมันในจังหวัดพัทลุงนำมาต้ม ปั่น และขึ้นรูปในเฟรม จนออกมาเป็นกระดาษ โดยใช้ทางปาล์มน้ำมัน 100% ไม่ต้องผสมเส้นใยอื่นเลย 


 กระดาษจากทางปาล์ม 

ต่างจาก กระดาษเปลือกถั่ว อีกหนึ่งงานวิจัยด้านวัสดุของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ภายใต้แบรนด์ Silo@ssru ที่หยิบเอาเปลือกถั่วลิสงมาผสมผสานกับเปลือกข้าวโพด ซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรซึ่งต้องการการจัดการเช่นเดียวกัน โดยมีหลักคิดการใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเปลือกถั่วเพียงอย่างเดียวจะไม่มีเส้นใยที่สามารถคงรูปได้ดีพอ จึงต้องใช้คุณสมบัติจากเปลือกข้าวโพดเข้ามาช่วย 


ไม้ตาล

Sugar Palm Wood Planks ไม้ตาลลายสวย จากต้นตาลที่เลิกให้ผลผลิตและรอการโค่นทิ้ง
ดีไซเนอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ไผ่และผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานออกแบบที่น่าจับตามองอย่างแบรนด์ Amo Arte ที่ล่าสุดลองหันมาจับ “ไม้ตาล” มาชุบชีวิตใหม่อีกครั้ง เมื่อไปพบความจริงที่น่าเสียดายของวัตถุดิบดี ๆ อย่างต้นตาล เพราะหลังจากให้ผลผลิตจนหมดแล้ว ก็จะรอการโค่นทิ้ง Sugar Palm Wood Planks จึงเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เสียของดีไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยต้นตาล “ตัวผู้” นี่เองที่เป็นผู้ให้กำเนิดไม้เนื้อแข็งลายสวย ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ เพียงนำต้นตาลที่เลิกให้ผลผลิตแล้วมาเป็นวัตถุดิบต้นคิด บวกกับวิชาด้านการออกแบบ ไม้ตาลผู้รอดชีวิตเหล่านี้ก็กลับมาเป็นไม้สำหรับใช้ในงานได้หลากหลาย ทั้งทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุปิดผิว พร้อมเพิ่มลูกเล่นให้สวยงามด้วยการดึงลวดลายที่โดดเด่นของตาลออกมาโชว์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


อิฐมวลเบาจากแกนต้นกัญชง

Hemp Plaster อิฐมวลเบาจากแกนต้นกัญชง
เรียกได้ว่าลูกพี่ลูกน้องของกัญชาอย่าง “กัญชง” กำลังเป็นพืชที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน หลายอุตสาหกรรมต่างหยิบส่วนต่าง ๆ ของกัญชงมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมแฟชั่นหรืออุตสาหกรรมความงาม และ บริษัท ดีดี เนเจอร์ คราฟต์ จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าเกี่ยวกับกัญชงทุกชนิด ภายใต้แบรนด์ Hempthai เอง ก็เป็นผู้พัฒนาวัสดุที่ได้จากกัญชงมายาวนาน ซึ่ง Hemp Plaster คือหนึ่งในผลผลิตที่พัฒนาขึ้นจากแกนต้นกัญชงที่เหลือทิ้ง หลังจากลอกเปลือกนำไปทอเป็นเส้นใยแล้ว ส่วนแกนที่เหลือจะถูกนำมาผสมกับปูนปลาสเตอร์เพื่อหล่อขึ้นแบบกลายเป็น “อิฐมวลเบา” ที่มีคุณสมบัติโปร่งและซับเสียง สามารถนำมาใช้ทดแทนวัสดุก่อสร้างประเภทอื่น ๆ ได้ ทั้งยังช่วยกำจัดเศษเหลือทิ้งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากกัญชงได้อีกมาก

สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุไทย เพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com 

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร