ภูมิปัญญาไทยยังไม่ตาย เมื่อ 3 วัสดุจากฝีมือดีไซเนอร์รุ่นใหม่ช่วยชุบชีวิตอีกครั้ง
Technology & Innovation

ภูมิปัญญาไทยยังไม่ตาย เมื่อ 3 วัสดุจากฝีมือดีไซเนอร์รุ่นใหม่ช่วยชุบชีวิตอีกครั้ง

  • 04 Nov 2022
  • 2156

“ไร้ทายาทมาสืบทอด” กำลังเป็นประเด็นปัญหาหลักที่ทำให้ “ภูมิปัญญาไทย” สุ่มเสี่ยงจะสูญหายเสมอมา ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปและเทคโนโลยีเกิดใหม่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้บางครั้งเราอาจหลงลืมความสวยงามของสิ่งที่เคยมี 

ผ้าบาติกลายท้องทะเลสีแสบทรวง เครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณคร่ำครึ ผ้าทอมือที่ลูกหลานไม่อยากทำ นี่เป็นเพียงตัวอย่างภูมิปัญญาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงถึงความดั้งเดิมอย่างที่เคยทำมาอย่างไรก็ทำต่อไปอย่างนั้น จนอาจกลายเป็นอีกสาเหตุของการที่ลูกหลานไม่ต้องการสานต่อจนกลายเป็นปัญหาไม่มีใครสืบทอดในที่สุด

แต่วัสดุทั้ง 3 นี้กำลังถูกแปลความหมายใหม่ ด้วยฝีมือผู้ประกอบการที่มีจิตวิญญาณของนักออกแบบ ซึ่งจะช่วยเข้ามาต่อลมหายใจ ผ่านการตีความหมายของภูมิปัญญาที่เราเห็นอยู่เป็นปกติเสียใหม่ ให้มีความสนุกสนานและร่วมสมัยยิ่งขึ้น รวมถึงไม่ลืมที่จะตักตวงประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน

ผ้าบาติก Marionsiam จากผ้าเหลือทิ้งในโรงงานสิ่งทอและเทียนเหลือทิ้งจากวัดใกล้บ้าน
ลืมผ้าบาติกแบบดั้งเดิมไปได้เลย เพราะแบรนด์ Marionsiam เลือกที่จะวาดลวดลาย บาติกใหม่ จากดีไซน์ที่ผู้ประกอบการวัสดุเป็นคนออกแบบเองกับมือ โดยใช้ผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาเป็นวัสดุต้นทาง ขณะที่เทียนที่เป็นวัสดุหลักอีกตัวในการทำบาติก ก็เลือกจากที่เหลือทิ้งในวัดเสียส่วนใหญ่ ก่อนที่จะลงมือแต่งแต้มลายดอกไม้อันเป็นเอกลักษณ์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายบนภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังยุคเรเนซองส์ที่แทบไม่มีใครสังเกต นอกจากจะวาดมือแล้ว ยังมีการใส่เทคนิคการพิมพ์บล็อกไม้และลายแตกจากเทียนเพื่อให้กลายเป็นลวดลายบาติกแบบใหม่ ๆ ที่ช่วยส่งให้ผ้าบาติกสวยสดใสขึ้น และเปลี่ยนภาพจำจากเดิมไปสิ้นเชิง

ชุบชีวิต “เศษเครื่องปั้นดินเผา” ให้ใหม่กิ๊งแถมรักษ์โลก
Peckpeck Studio คือผู้ที่คลุกคลีอยู่กับเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนซึ่งมองเห็นความเป็นไปได้เล็ก ๆ จากเศษที่แตกหักจากกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ทั้งยังเป็นผู้ที่คิดค้นและวิจัยเพื่อหาวิธีนำเศษแตกหักเหล่านั้นกลับมาขึ้นรูปใหม่เป็น ECO Dankwian Pottery โดยใช้อุณหภูมิการเผาที่ต่ำลงเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปในตัว ที่สำคัญ ผลลัพธ์ที่ออกยังเหมือนของใหม่ไม่มีผิด ทั้งสีสันโทนพาสเทลจากแร่ธาตุที่เติมเข้าไปยิ่งทำให้เครื่องปั้นดินเผาไม่เป็นเพียงภาชนะหน้าตาเดิม ๆ แต่ยังออกแบบรูปทรงได้หลากหลายด้วย รวมถึงยังได้มีการทดลองใช้ฝาขวดน้ำพลาสติกมาขึ้นรูปเป็นอีกวัสดุจากผลผลิตเดียวกัน กลายเป็น แผ่นคอมโพสิตจากเศษเครื่องปั้นดินเผากับฝาขวดน้ำเหลือทิ้ง ที่ทลายกรอบเครื่องปั้นดินเผาให้เป็นแผ่นสำหรับตกแต่งภายในด้วยสีสันและผิวสัมผัสที่ได้จากฝาขวดน้ำอีกด้วย

SUPER ECO-BLACK ผ้าทอสีดำสนิทจากมะเกลือ ที่เริ่มและจบกระบวนการภายในชุมชน
ผ้า “สีดำ” นับว่าเป็นสีที่ทำได้ยากหากใช้วิธีการย้อมแบบธรรมชาติ แต่ก็เป็นสีผ้าพื้นฐานที่มีความต้องการสูงในตลาดเช่นกัน ที่บ้านกกบก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย คือหนึ่งในชุมชนทอผ้าฝ้ายที่มีมาอย่างช้านาน โดยมีกลุ่มนักออกแบบจาก Wisdomative ร่วมกับอาตมัน สตูดิโอ เข้าไปช่วยพัฒนาสูตรการย้อมผ้าสีดำจากมะเกลือที่มีอยู่ในชุมชน 1 ต้น ให้ได้สีดำสนิท พร้อมตั้งชื่อสีว่า “ดำอุมา” โดยใช้เทคนิคเฉพาะทำให้ไม่ต้องใช้มะเกลือปริมาณมากเท่ากับการย้อมปกติ เพราะมะเกลือเป็นวัตถุดิบหายากราคาแพง จนได้เป็นผ้าฝ้ายทอมือสีดำจากมะเกลือ ที่ผสมผสานกับการทอด้วยลวดลายแบบดั้งเดิม 4 ตะกอ ทำให้ได้ผ้าที่หนานุ่มและเพิ่มผิวสัมผัสด้วยลายนูน เช่น ลายก้างปลากะเดิด (Kraderdingbone) ลายสองคั่นสี่ (Fourfinger-Twill) และลายกาบกล้วย (Banana Leaf Sheath) ที่ช่วยให้ลายพื้นบ้านเหล่านี้มีชีวิตชีวายิ่งกว่าเคย

สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุไทย เพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com 

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร