จากครัวเรือน ถึง อุตสาหกรรม : 6 วัสดุสร้างสรรค์จาก “ขยะ”
Technology & Innovation

จากครัวเรือน ถึง อุตสาหกรรม : 6 วัสดุสร้างสรรค์จาก “ขยะ”

  • 04 Nov 2022
  • 1927

เครื่องผลิตขยะตัวฉกาจที่สุดอาจเป็น “มนุษย์” ที่ไม่เคยเลือกสถานที่ในการสร้างขยะ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณส่วนตัวอย่างที่บ้าน ก็มักเต็มไปด้วยขยะอาหาร ส่วนที่ทำงานก็คือกองเอกสาร และหากขยับไปในระดับอุตสาหกรรม ก็จะพบขยะอีกล้านแปดชนิด 

แต่มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่พยายามหาทางไปให้กับขยะเหล่านี้ โดยหยิบมาสร้างสรรค์และผสมผสานกับองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ เกิดเป็นวัสดุใหม่ที่แปรรูปขยะให้เป็นหนึ่งในส่วนผสมที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก

สตูดิโอเซรามิกแฮนด์เมด ละมุนละไม ได้ทดลองหยิบเปลือกไข่ กากกาแฟ และแคร์รอต มาเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำหรับปั้นเซรามิก โดยใช้เป็นวัสดุทดแทนเพื่อลดปริมาณการใช้ดินและแร่ธาตุที่ใช้ในสารเคลือบ ทำให้ผิวเซรามิกจากเศษอาหารนี้ มีสัมผัสที่ต่างจากเซรามิกโดยทั่วไป แต่ยังคงความแข็งแรง และปลอดภัยต่ออาหาร

ความนึกสนุกในการหาสิ่งรอบ ๆ ตัวมาเป็นวัตถุดิบชิ้นงานของตัวเอง เป็นพื้นฐานของแบรนด์ Marionsiam ที่เลือกกากมะพร้าวเหลือทิ้งจากร้านกาแฟใกล้บ้าน มาสกัดเป็นสีย้อมผ้าจากธรรมชาติ หลังจากลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งในการหาน้ำยาฟิกซ์สีให้ติดคงทน ก็มาลงตัวที่สารส้ม จนได้ผ้าย้อมสีกากมะพร้าวชมพูสวยคล้ายสีกะปิ ที่สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายได้ต่อไป

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มีนักออกแบบอาชีพอย่าง HARV ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อรู้ว่าโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์มีเศษที่เหลือจากการตัดและเลื่อยทิ้งมากแค่ไหน เช่น ขี้เลื่อยไม้ ขอบ PVC และเศษแผ่นไม้ชิ้นเล็ก จึงไม่รอช้า นำมาหล่อขึ้นรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่อีกครั้ง โดยใช้เรซินเป็นตัวช่วย ออกมาเป็น Redust วัสดุรีไซเคิลจากเศษเฟอร์นิเจอร์ที่เข้ามาช่วยลดการใช้เรซินในชิ้นงาน สร้างไอเดียได้หลากหลาย พร้อมนำกลับไปผลิตในระบบอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้อีกครั้ง 

กลุ่มผลิตภัณฑ์โอท็อปเล็ก ๆ ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อย่างอัมพัน (Amphan) ก็เป็นอีกคนที่เห็นโอกาสจากโรงสีใกล้บ้านที่ผลิตพลังงานชีวมวล จนเหลือเศษถ่านปาล์มน้ำมันหลังจากการเผา จึงได้คิดนำมาพัฒนาต่อยอดกลายเป็น ถ่านอัดก้อนด้วยมือที่มีกำเนิดจากเมล็ดปาล์มน้ำมัน (Palm Seed Charcoal) ลงในแม่พิมพ์รูปร่างต่าง ๆ พร้อมคงคุณสมบัติการดูดกลิ่นและความชื้นเอาไว้ได้ดีเยี่ยม

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่คลุกคลีอยู่ในโรงงานอิฐทนไฟ ที่อยากจะเติมสีสันและใส่การออกแบบเข้าไปในวัสดุ พร้อมกับเป้าหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างแบรนด์โลกา (Loqa) ที่ไม่ลังเลจะจับเศษเซรามิกทั้งในอุตสาหกรรมและครัวเรือนมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อลดการใช้วัสดุใหม่ พร้อมขึ้นรูปโดยไม่ผ่านกระบวนการเผาด้วยความร้อนสูงให้เกิดเป็นคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีก แถมยังประหยัดพลังงานในการผลิต จนได้กระเบื้องและอิฐจากเศษเซรามิก Klinless Earthkind วัสดุตกแต่งอาคาร ที่หากไม่ใช้งานแล้ว ก็ยังกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อีกครั้งด้วย

หันมามองที่กล่องเครื่องดื่ม UHT ซึ่งถูกนำมารีไซเคิลหลังการบริโภค (Post-Consumer) อยู่เป็นปกติแล้วในปัจจุบัน แต่เนื่องจากการควบคุมความชื้นนั้นค่อนข้างยาก บริษัท เอส.พี. เปเปอร์ แอนด์ ทิ้ว จำกัด ผู้คลุกคลีในวงการกระดาษมากว่า 21 ปี จึงหันมาทดลองที่ขั้นตอนหลังการผลิตแทน (Post-Industrial) ซึ่งวัสดุกล่องเครื่องดื่มที่ผลิตออกมา มีส่วนที่ถูกคัดทิ้งเป็นจำนวนมาก เพราะไม่ผ่าน QC หรือตกเกรด ไม่เหมาะนำไปผลิตเป็นกล่องต่อ แต่สามารถนำมาผลิตเป็นแผ่นคอมโพสิต Enviro Board หรือ EVB ที่ทำจากกล่องเครื่องดื่ม 100% โดยไม่ผ่านการแยกเยื่อกระดาษ ทำให้ยังคงความแข็งแรง สามารถใช้ทดแทนไม้อัดในการเป็นแบบหล่อปูนได้ดีเยี่ยม หรือจะขึ้นรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ก็ยังได้

และท้ายสุดกับเครืออุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ไทยเบฟเวอเรจ ที่แตกธุรกิจลูกออกมาผลิตกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น ในชื่อบริษัท จรัญธุรกิจ52 จำกัด ทำการวิจัย Green Rock เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ ที่ได้จากกระบวนการเผาของเหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรม มาเป็นวัสดุทดแทนหินที่มีรูพรุน น้ำหนักเบาแต่แข็งแรง ใช้เป็นฉนวนร้อนเย็น กันเสียง และดูดซึมความชื้นได้ สามารถนำมาต่อยอดเป็นวัสดุในอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้อีกไม่รู้จบ

สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุไทย เพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com 

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร