UPCYCLE อัพเกรดข้าวของ “โดนเท” ให้เป็นของที่ใคร ๆ ก็อยาก “เปย์” มากขึ้น
Technology & Innovation

UPCYCLE อัพเกรดข้าวของ “โดนเท” ให้เป็นของที่ใคร ๆ ก็อยาก “เปย์” มากขึ้น

  • 29 Nov 2022
  • 1461

“ปัญหาขยะ” อาจปัญหาที่ใครหลายคนมองข้าม แต่กลับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกล้วนประสบปัญหา ไม่เพียงแต่ประเทศไทย แต่หลากหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขยะล้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดขยะจำนวนมากขึ้น เมื่อผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาอยู่บ้านมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ความนิยมในการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี หรือการซื้อของออนไลน์มากขึ้นตามไปด้วย จนเกิดเป็นขยะบรรจุภัณฑ์ ทั้งถุงพลาสติก กล่องโฟม กล่องใส่อาหาร ซองและกล่องพัสดุ ซึ่งเป็นขยะที่ทำลายได้ยาก ซึ่งต้องใช้เวลานานในการย่อยสลาย 

อย่างไรก็ดี การจัดการปัญหาขยะด้วยหลัก 3R หรือ Reduce, Reuse, Recycle นั้นอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป ทำให้ในแวดวงของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกิดวิธีการใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ กระบวนการ “อัพไซเคิล” (Upcycle) หรือการนำขยะที่ไม่ได้ใช้แล้ว นำมาผลิตให้เป็นของใช้ที่มีมูลค่าและเกิดประโยชน์มากขึ้นโดยไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการอัพไซเคิลมีพื้นฐานมาจากแนวคิด Eco-Design (Economic & Ecological Design) หรือแนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นการลดขยะ ของเสีย ยืดอายุการใช้งาน อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการนำกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่าที่สุด 

มากไปกว่าการกำจัดขยะได้แล้ว การอัพไซเคิลยังสามารถสร้างรายได้จากการนำเอานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของสินค้าและแบรนด์ในปัจจุบันที่ช่วยทำให้สินค้าที่วางขายในตลาดมีเอกลักษณ์โดนเด่นและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นการเปลี่ยนจากการทำธุรกิจใช้แล้วทิ้ง (Take - Make - Dispose) ให้กลายเป็นธุรกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)’ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ในระยะยาว 

หลากหลายโครงการโดนใจ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 
“ผ้าห่มรักษ์โลก” คือหนึ่งในโครงการที่ช่วยเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นความอบอุ่นในคืนที่เหน็บหนาว โดยผ้าห่มรักษ์โลกของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จึงนำนวัตกรรมมาใช้กับขยะพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดและเพิ่มมูลค่าให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง โดยการผลิตผ้าห่มรักษ์โลกทุกผืนเกิดขึ้นจากการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่เหลือทิ้งมาใช้เป็นวัสดุหลัก ซึ่งนอกจากจะกำจัดขยะพลาสติกได้แล้ว ยังเป็นผ้าห่มที่ช่วยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหนาวได้อีกด้วย 

“WON Project” โครงการวน เกิดขึ้นจากคนเพียงไม่กี่คนจากบริษัทในเครือ บมจ.ทีพีบีไอ ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างสร้างสรรค์ ประชากรส่วนใหญ่มักจะใช้ถุงพลาสติกเพียงแค่ครั้งถึงสองครั้ง และจำเป็นต้องทิ้งไป โครงการวนจึงริเริ่มกระบวนการผลิตจากการหลอมพลาสติกให้เป็นพลาสติกรีไซเคิล และนำส่วนที่ได้มานั้นผลิตเป็นถุงพลาสติกใบใหม่ ที่มีความหนา และรับน้ำหนักได้มากกว่าถุงพลาสติกในท้องตลาดทั่วไป ทำให้สามารถใช้ถุงพลาสติกนี้ได้หลายครั้ง แต่เมื่อใช้ไปนาน ๆ ในระยะหนึ่ง ถุงอาจจะเก่าหรือขาดไปบ้าง แต่สามารถส่งคืนให้กับทางโครงการ เพื่อนำไปเข้ากระบวนการผลิตดังเดิมวนซ้ำไปเรื่อย ๆ เป็นการลดการผลิตถุงพลาสติกในอุตสาหกรรมและลดการใช้ทรัพยากรใหม่ 

“Upcycling Plastic House 2022” โครงการนี้จะเปิดรับบริจาคบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วเพื่อนำมาสร้างเป็นบ้านพักอาศัยที่เหมาะสำหรับคนพิการตามแนวคิดแบบ Universal Design โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการนำนวัตกรรมมาจัดการกับพลาสติกที่ได้รับบริจาคมาเพื่อผลิตเป็นประตู หน้าต่าง และส่วนประกอบอื่น ๆ ของที่อยู่อาศัย ซึ่งนับเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้วอย่างคุ้มค่า อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้ที่มีอยู่อาศัยและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน 

ส่องแบรนด์สร้างสรรค์ (สู่)เศรษฐกิจก้าวไกล
นอกเหนือจากโครงการที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมแล้ว ยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ใช้กระบวนการอัพไซเคิล (Upcycle) สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมในการผลิตสินค้าออกมาสู่ตลาด บนแนวคิดในการเปลี่ยนขยะไร้ค่าให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น อาทิเช่น

แบรนด์กระเป๋าระดับโลกอย่าง Freitag โดยสองพี่น้องตระกูล Freitag ได้มองเห็นคุณค่าของทุกทรัพยากรในสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยพวกเขาเคยกล่าวว่า “ในทุกสถานการณ์ เราสามารถนำขยะมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่และมีประโยชน์ได้” Freitag จึงกลายเป็นแบรนด์กระเป๋ายอดนิยมของคนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกระเป๋าทุกใบทำจากผ้าใบคลุมรถบรรทุกที่ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์สุดโดดเด่น และมีลวดลายในแต่ละใบที่ไม่เหมือนกัน จนเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Freitag เป็นแบรนด์กระเป๋าที่ครองใจใครหลายคนทั่วโลก 

ประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้า แบรนด์ Bope (โบเป) ก็เลือกนำขยะมาแปลงร่างเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ โดยสินค้าของแบรนด์มีทั้งชิ้นเล็ก ๆ เช่น จานรองแก้วน้ำ ไปจนถึงชิ้นใหญ่ ๆ อย่างเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ทุกผลิตภัณฑ์ดำเนินการบนแนวทางการทำธุรกิจของแบรนด์ที่ไม่เพียงมุ่งเน้นจะขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นตัวอย่างในการสร้างแบรนด์ที่มีคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม คุณโบ (เจ้าของแบรนด์ Bope กล่าวว่า “คนส่วนมากพยายามคิดแต่สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่ไม่ค่อยมีใครเอาของที่มีออยู่แล้ว หรือขยะที่ไม่มีใครใช้แล้ว กลับมาพัฒนา เราไม่ได้แค่ รีไซเคิลขยะแต่เรากำลังทำการอัพไซเคิล” 

การทำธุรกิจในปัจจุบันไม่เพียงแต่ต้องหาหนทางสร้างผลกำไรเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของสิ่งแวดล้อมด้วย เทรนด์การอัพไซเคิลจึงกลายเป็นอีกเทรนด์ธุรกิจแบบใหม่ที่พร้อมเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างสร้างสรรค์และลงตัว 

ที่มา : บทความ “อะไรคือ ‘อัพไซเคิล’ UPCYCLE” โดย Think Trade Think DITP จาก thinktradethinkditp.com
บทความ “Upcycle ผ้าห่มจากพลาสติก ทางออกใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่ยั่งยืน” โดย นันทพงศ์ ตั้งตรงใจสกุล จาก urbancreature.co
บทความ “โครงการวน (WON project)” โดย tpbi จาก tpbigroup.com 
บทความ “รมว.พม. ชวนบริจาคบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว สร้างบ้านให้กลุ่มเปราะบาง ในโครงการ Upcycling Plastic House 2022 เพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม” โดย รัฐบาลไทย จาก thaigov.go.th 
บทความ “ย้อนประวัติความเป็นมาของ 'Freitag' แบรนด์กระเป๋าที่เท่ด้วยแนวคิดอัปไซเคิล” โดย วราภรณ์ หงส์วรางกูร จาก vogue.co.th 
บทความ “BOPE ผู้พลิกโฉมแบรนด์รีไซเคิลไทย ดังไกลระดับโลก” โดย Nutthamon C. จาก allaboutnature.co

เรื่อง : หทัยภัทร อินมีทรัพย์