“แอคหลุม” ‘โลกลับ ๆ หลายใบของคนโซเชียลฯ
Technology & Innovation

“แอคหลุม” ‘โลกลับ ๆ หลายใบของคนโซเชียลฯ

  • 13 Dec 2022
  • 5813

คุณเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าที่มี “แอคหลุม” หรือแอคเคานต์บนโซเชียลมีเดียที่ไม่ใช่แอคเคานต์หลักที่จะเป็นเพื่อนกับคนในที่ทำงานหรือคนในชีวิตประจำวัน แต่เป็นแอคเคานต์ที่เอาไว้ติดตามศิลปินที่ชอบ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเอาไว้ “ติ่ง” เป็นแอคเคานต์ที่เอาไว้พูดคุยกับคนที่ชอบเรื่องเดียวกัน ขายของหรือซื้อของบนออนไลน์ เอาไว้คอมเมนต์แสดงความเห็นในบางเรื่อง หรือแม้แต่การมีอีกแอคเคานต์หนึ่งที่ดูเหมือนจะนิรนามที่เอาไว้พูดบ่นระบายปัญหาชีวิต

แล้วจริง ๆ “แอคหลุม” คืออะไร ทำไมเราคนเดียวถึงสร้างโลกหลาย ๆ ใบไว้บนโซเชียลมีเดีย?


sammywilliams / Unsplash

เมื่อ “แอคหลุม” = “หลุมหลบภัย”
ถ้าให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด “แอคหลุม” ก็คือแอคเคานต์ลับที่ไม่ระบุตัวตน ไม่ได้ใช้ชื่อจริง รูปจริง หรือข้อมูลจริงที่จะสามารถระบุย้อนกลับมาหาตัวตนจริง ๆ ของเราได้ เปรียบเสมือนพื้นที่สบายใจที่เปิดโอกาสให้เราได้แสดง “ตัวตน” ของเราออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งต่างจากแอคเคานต์หลัก ที่เรามักจะแสดง “ตัวตน” แค่เฉพาะภาพลักษณ์ที่อยากให้คนรับรู้

แอคหลุมมีมากมายหลายประเภท และถูกสร้างขึ้นมาจากจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป นับตั้งแต่เรื่องที่ไร้พิษภัยอย่างการใช้เป็นพื้นที่กรี๊ดศิลปินที่ชื่นชอบได้บ่อยเท่าที่ต้องการโดยไม่ได้เป็นการรบกวนหน้าฟีดใคร หรือเป็นพื้นที่ระบายความรู้สึก และเผยความคิดจากส่วนที่ลึกที่สุดโดยไม่ต้องผ่านการกรองคำพูด และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคนอื่นมองในแง่ลบ

บางคนก็ใช้แอคหลุมมาเข้ากลุ่มพูดคุยเฉพาะประเด็นความชอบ งานอดิเรก ซุบซิบข่าวคนดัง โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าคนที่เราคุยด้วยนั้นเป็นใคร รวมถึงไม่ต้องกังวลว่าสังคมจะมองเราอย่างไรเมื่อรู้ว่าเรามีความชอบแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 18+ หรือรสนิยมทางเพศก็ตาม ที่อาจจะยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไปเท่าไรนัก


Claudio Schwarz / Unsplash

และยังมีการใช้แอคหลุมรวมกลุ่มกันสวมบทบาทเป็นตัวละครจากภาพยนตร์ การ์ตูน หรือคู่จิ้นคนดัง แลกเปลี่ยนบทสนทนากันเพื่อความสนุกสนาน รวมไปถึงว่า บางคนก็ใช้แอคหลุมนี่แหละเป็นบัญชีในการล็อกอินเข้าใช้บริการดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนดึงข้อมูลส่วนตัวไปอีกด้วย

แม้ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จะบังคับให้ผู้ใช้เปิดเผยตัวและยืนยันตัวตนว่ามีอยู่จริง แต่ก็ยังมีอีกหลายแอปฯ และเว็บไซต์ที่ไม่ได้บังคับว่าผู้ใช้ต้องยืนยันตัวตนเสมอไป และ “แอคหลุม” ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่แพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ที่บางคนมีแอคเคานต์ทวิตเตอร์สำรองไว้กว่า 10 แอคเคานต์


Nadine Shaabana / Unsplash

ตัวตนที่ปิดซ่อนสังคม
โดยทฤษฎีแล้ว ตัวตนของบุคคลจะก่อร่างขึ้นภายใต้เงื่อนไขภายนอกที่จับต้องได้ อย่างเชื้อชาติ สรีระ สถานะทางสังคม อาชีพ และการศึกษา และอื่น ๆ ที่จำกัดอยู่ด้วยการมีอยู่ของร่างกาย

แต่เมื่อการได้รับ “การยอมรับ” เป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่มนุษย์ทุกคนย่อมอยากได้ จึงทำให้เรามักมีความกังวลต่อภาพลักษณ์ที่ถูกนำเสนอสู่สังคม เกิดความรู้สึกว่าถูกจับจ้องอยู่ตลอดเวลา และต้องคอยใส่ใจสายตาคนนอกอยู่เสมอ จนไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง

ยิ่งไปกว่านั้นคือ “ตัวตนที่ซ่อนอยู่” ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นไปตามภาพลักษณ์ที่สังคมคาดหวัง ย่อมถูกเก็บเอาไว้ข้างใน ไม่เปิดเผยออกมา เปรียบเหมือนละครเวที ที่มีทั้ง “หน้าฉาก” ที่ต้องแสดงตามบทบาทที่ได้รับ และ “หลังฉาก” ที่ต้องซ่อนไว้หลังม่านห้ามให้ผู้ชมได้เห็น

โดยอาการแบบนี้มีความสัมพันธ์กับอาการทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า “สปอตไลต์ เอฟเฟกต์” (Spotlight Effect) ที่หล่อหลอมให้ตัวตนของคนในแต่ละสังคมย่อย ๆ แสดงออกไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ผู้ชายในบริบทสังคมไทยเดิมต้องแสดงภาพลักษณ์ที่แข็งแรง มีความเป็นผู้นำ เป็นต้น

ซึ่งผิดกันกับโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียในยุคแรก ที่มักเป็น “สภาวะนิรนาม” เอื้อให้เราสามารถแสดง “ตัวตน” ได้อย่างเสรี อยากจะแฟนตาซีแค่ไหน หรือสวมบทบาทเป็นใครซักคนไปเลยก็ไม่ได้มีใครมาต่อว่า


Llanydd Lloyd / Unsplash

“กลุ่มสังคมทับซ้อน” บนโลกออนไลน์ปัจจุบันที่คอย “จับจ้องและจับผิด”
โซเชียลมีเดียในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่วัยรุ่นและเด็กเหมือนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วอีกต่อไป คนจากหลากหลายชั่วอายุ หลากหลายอาชีพ หลากหลายความสัมพันธ์ได้แห่กันเข้ามาอยู่บนสังคมออนไลน์เดียวกัน ตั้งแต่ครอบครัวที่บ้านและญาติ ๆ เพื่อนทั้งที่สนิทและไม่สนิท ไปจนถึงคนรู้จักเพียงผิวเผิน หรือแค่คนที่เดินสวนกันในตึกออฟฟิศ

การที่กลุ่มคนที่ไม่เคยเจอกันในโลกความจริงมารวมอยู่ในที่เดียวกันแบบนี้ จึงทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่มาเกี่ยวข้องกับ “ตัวตน” หนึ่งเดียวบนโลกออนไลน์ของเรานั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ถ้าเป็นในโลกความเป็นจริง มันเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะรู้ว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยคือใคร และเขาต้องการอะไร ทำให้เราสามารถเลือกสวมบทบาท “ตัวตน” ที่เหมาะสมได้ แม้จะเป็นการพูดคุยกลุ่มใหญ่ในที่สาธารณะก็ตาม

แต่ในทางกลับกันบนโซเชียลมีเดีย เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีใครมาส่องข้อมูลของเราบ้าง ซึ่งการที่เรามี “ตัวตน” บนโลกออนไลน์ที่ค่อนข้างแฟนตาซี หรือสุดโต่งไปในเรื่องบางเรื่อง อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโยงย้อนกลับมาจนกระทบกับภาพลักษณ์ในโลกอย่างที่เป็นจริง ซึ่งสังคมอาจจะไม่ได้เปิดกว้างและยอมรับได้เท่ากับในโลกออนไลน์


Brett Jordan / Unsplash

ดังนั้น เมื่อเส้นแบ่งพื้นที่ความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์เริ่มจางลง คนส่วนมากจึงทำได้แค่พยายามหาตรงกลางระหว่าง “ตัวตนที่แท้จริง” กับ “ตัวตนที่อยากเป็น” เท่านั้น ซึ่งก็ทำให้เสียความรู้สึกอิสระของพื้นที่ ‘ส่วนตัว’ และกลายเป็นพื้นที่ “สาธารณะ” ไป ไม่ต่างกับโลกความเป็นจริง

อย่างเช่นการเลือกแชร์คอนเทนต์ที่ทำให้ดูเป็นคนทัศนคติดี ลงรูปอาหารเฉพาะมื้อที่หรูหรา หรือลงรูปที่แต่งแล้วแต่งอีกให้ดูดีกว่าความเป็นจริงเล็กน้อย เลือกใช้ภาษาที่เป็นกลางมากขึ้น ไม่กันเองหรือหยาบคายเท่าปกติที่เคยโพสต์

ในขณะที่คนส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่ง เลือกที่จะออกไปสร้างตัวตนสำรองแบบลับ ๆ ขึ้นมา เพื่อให้สามารถแสดงออกตัวตนอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นมุมเล็ก ๆ ในจิตใจได้แบบที่ไม่ต้องกังวลว่าจะไปกระทบกับใคร นั่นจึงเป็นที่มาของกระแสความนิยมในกลุ่มลับ และ ‘แอคหลุม’ นั่นเอง


engin akyurt / Unsplash

จะมีพื้นที่สำหรับ “ตันตนลับ” ได้นานแค่ไหน
โซเชียลมีเดียปัจจุบันจะมีความซับซ้อนมากพอที่เอื้อให้เราสามารถตั้งค่าการมองเห็นโดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสังคมได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์กลุ่มลับและแชตลับมากมาย ที่ทำให้สุดท้ายเราเลือกสร้าง “แอคหลุม” เพิ่มได้อีก

หากมองในภาพรวม การมีอีกบัญชีที่เป็นโลกอีกใบของเรา ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนัก เพราะหากมองในแง่ดี โลกลับ ๆ ก็ทำให้เราได้แสดงมุมที่ไม่แน่ใจว่าจะกระทบกับจิตใจหรือความเห็นคนอื่นออกไปได้ เท่ากับว่าก็จะไม่สร้างความรำคาญหรือภาวะเป็นพิษ (Toxic) ให้สังคมออนไลน์สังคมหนึ่งที่เราอยู่

แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าลืมว่า บนโลกออนไลน์ เรามักจะทิ้งร่องรอยบางอย่างเกี่ยวกับตัวตนของเราเอาไว้เสมอ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่วันใดวันหนึ่ง “แอคหลุม” ทั้งหลายที่เราสร้างไว้ อาจถูกเชื่อมโยงเข้าหาบัญชีจริง จนเป็นการเปิดเผย “ตัวตนลับ” ที่เราไม่อยากให้ใครรู้ขึ้นมา


Ben Sweet / Unsplash

เพราะแม้ว่าเสรีภาพในการแสดง “ตัวตน” เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็อย่าลืมว่า “ภาวะนิรนาม” นั้น ก็เป็นเหมือนพื้นที่สีเทาที่มาพร้อมกับอาชญากรรมและสิ่งผิดกฎหมายได้อีกด้วย โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจำนวนมากก็เล็งเห็นจุดนี้ และนำมาสู่การออกข้อบังคับในการยืนยันตัวตนก่อนใช้งานนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เทรนด์และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทั้งผู้ให้บริการหรือผู้ใช้งานเองจึงยังคงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ในมิติที่หลากหลายมากขึ้นกันต่อไปตราบใดที่เรายังยินดีที่จะใช้ชีวิตในโลกเหล่านี้อยู่นั่นเอง

 

ที่มา : บทความ “แอคหลุม, finsta และ ‘กรุ๊ป’ แห่งความลับที่อาจไม่มีจริง” จาก waymagazine.org
บทความ “บน Facebook เป็นอีกคน Twitter เป็นอีกคน” โดย Admin Alljitblog จาก alljitblog.com
บทความ “‘แอคหลุมอินสตาแกรม’ โลกอีกใบของวัยรุ่นยุคดิจิทัล” โดย Trakanta Vivat จาก nisitjournal.press
งานวิจัยเรื่อง เรื่องของ “ตัวตน” บนโลกของเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์ก: ขอบเขตของ “ตัวตนที่ปรารถนา” และ “ตัวตนที่เป็นจริง” โดย พรรณวดี ประยงค์ จาก so06.tci-thaijo.org

เรื่อง : ณฐมน ธนาตระกูล