เตาอั้งโล่...เส้นทางความหอมเย้ายวนจากมื้อแห่งอดีตสู่การเป็น ‘เตามหาเศรษฐี’
Technology & Innovation

เตาอั้งโล่...เส้นทางความหอมเย้ายวนจากมื้อแห่งอดีตสู่การเป็น ‘เตามหาเศรษฐี’

  • 22 Dec 2022
  • 1870

อาหารนับเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เมื่อหวนคิดถึงครัวเรือนในอดีตที่ฉายภาพการทำอาหารผ่านเตาไฟและรับประทานอาหารกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ภาพของ “เตาอั้งโล่” ก็ปรากฏขึ้นเด่นชัดในความทรงจำ

ในวันที่โลกเสิร์ฟความสะดวกสบายในการทำอาหารด้วยเตาแก๊สและเตาไฟฟ้า การทำอาหารด้วยเตาอั้งโล่ก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ มอดดับลงตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงปรุงแต่งรสอาหารผ่านเตาอั้งโล่ที่ยังใช้ฟืนไฟเพื่อรักษารสสัมผัสและกลิ่นหอมเย้ายวนในแบบดั้งเดิม

อบอวลผ่านไฟในครั้งอดีตกาล
“เตาอั้งโล่” มาจากภาษาแต้จิ๋ว 2 คำ คือ อั้ง (紅) ที่แปลว่า สีแดง และโล่ (爐) ซึ่งแปลว่า เตา เมื่อประกอบรวมกันจะได้เป็น “เตาสีแดง” หรือ เตาไฟดินเผาชนิดหนึ่งที่สีของมันมาจากดินเผาในอดีต

ประวัติศาสตร์ของเตาอั้งโล่ในประเทศไทยไม่ได้มีบันทึกอย่างเป็นทางการถึงการเรียกชื่อเตาชนิดนี้ จึงได้แต่สันนิษฐานว่า น่าจะรับอิทธิพลมาจากการค้าขายกับชาวจีนในอดีตราว 100 ปีก่อนรวมถึงชาวจีนที่อพยพเข้ามา ทำให้คนไทยเรียกทับศัพท์ถึงอุปกรณ์หุงต้มชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปไกลกว่านั้นก็พบว่าคนในยุคดึกดำบรรพ์ก็ได้เริ่มใช้เตาดินเผาในการหุงต้มอาหารตลอดจนสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายมานานกว่า 400,000 ปีแล้ว จากการค้นพบเชื้อเพลิงชีวมวล หรือไม้ในถิ่นที่อยู่อาศัยภายในถ้ำของมนุษย์ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีการค้นพบวิธีการอุ่นไอร้อนด้วยเตาฟืน

สร้างความหอมจากเตาใส่ฟืน
การทำเตาอั้งโล่ในประเทศไทยมีวิวัฒนาการจากขั้นตอนง่าย ๆ คือการนำหินหรืออิฐจำนวน 3 ก้อนวางหรือปักเป็นวงลักษณะสามเส้า แล้วก่อไฟตรงกลาง เรียกว่า “เตาก้อนเส้า” แล้วพัฒนาไปสู่ยุค “เตาวง” ที่มีการปั้นเตาด้วยดินเหนียวผสมทรายและดินเชื้ออย่างที่ใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา ก่อนจะนำมาเผาไฟจนสุกเป็นสีอิฐ ขึ้นรูปให้เป็นวงโค้ง โดยเว้นด้านหนึ่งไว้สำหรับวางฟืน ส่วนด้านบนเจาะช่องสำหรับวางภาชนะ

จากนั้นในสมัยอยุธยา เตาฟืนในไทยได้พัฒนาเป็น “เตาเชิงกราน” โดยใช้ส่วนผสมเช่นเดียวกับเตาวง แต่มีรูปร่างคล้ายเชิงกราน คือด้านหนึ่งยกสูงสำหรับรับก้นภาชนะ อีกด้านหนึ่งคล้ายถาดสำหรับวางฟืน

กระทั่งมาสู่ยุค “เตาอั้งโล่” ที่ใช้เทคนิคการปั้นซับซ้อนและล้ำหน้ายิ่งขึ้น โดยฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านอธิบายว่า เริ่มจากการหาดินเหนียวคุณภาพสูงมาตากแดดให้แห้ง แล้วไปหมักแช่ในบ่อดินให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันโดยคัดแยกเศษไม้เศษหินออก แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน นำมาสะเด็ดน้ำให้แห้งพอหมาด ผสมขี้เถ้า แกลบดำ (ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันไม่ให้ความร้อนกระจายออกจากเตา) ตามอัตราส่วนที่กำหนด ใช้เท้าย่ำจนเข้ากันแล้วนำไปปั้นเป็นเตา ตกแต่งผิวสำหรับวางรังผึ้ง ขึ้นรูปปากเตาและนมเตา นำไปผึ่งลมให้แห้งประมาณ 1-2 วัน

เมื่อผึ่งลมแห้งแล้วก็ตกแต่งปากเตาและนมเตา เจาะช่องลมแล้วนำไปผึ่งลมอีก 2 วัน ตากแดดจนเตาแห้งสนิท แล้วค่อยนำมาเผาประมาณ 10 ชั่วโมง รอจนเตาเย็นแล้วก็เอามาบรรจุลงถังสังกะสีที่ใช้ทำเตา นำดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบมายาขอบเตาให้แน่นเพื่อไม่ให้เตาเสียหายง่าย

ส่วนตัวรังผึ้งก็ใช้ส่วนผสมเช่นเดียวกับที่ใช้ทำเตา แต่มีอัตราส่วนของขี้เถ้าและแกลบมากกว่า นวดจนได้ที่ก็นำใส่แม่พิมพ์ ปาดดินส่วนเกินออกแล้วทิ้งไว้จนแห้ง นำมาเจาะรูผึ่งลมอีกครั้งก่อนนำไปเผาแล้วค่อยมาใส่ในเตา ใช้ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบยาบริเวณที่รังผึ้งสัมผัสกับผนังเตาทั้งด้านบนและด้านล่าง ก็จะได้เตาอั้งโล่พร้อมใช้งาน

ความอร่อยในแบบที่คนยังคงโหยหา
ครั้นถึงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคที่ “ไฟฟ้า” เริ่มพัฒนาก้าวหน้า การใช้เตาอั้งโล่ก็แทบกลายเป็นสิ่งหาดูยากในสังคมเมืองเพราะปัจจัยหลายด้าน เช่น ไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเริ่มร่อยหรอ ป่าเหลือน้อยลง การเข้ามาของก๊าซหุงต้มที่ให้ความสะดวกสบายมากกว่า ความรวดเร็วที่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คน ฯลฯ

การหุงหาอาหารแบบหน้าชุ่มเหงื่อ มือเปื้อนถ่าน ก็ทยอยลดน้อยถอยลง แต่สำหรับผู้ที่โหยหารสมือและรสชาติอาหารที่มีกลิ่นกรุ่นของเตาถ่าน ก็ยังคงนำเตาอั้งโล่มาใช้ทำอาหารควบคู่ไปกับเตาสมัยใหม่ โดยเฉพาะในปีนี้ การใช้เตาอั้งโล่ได้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในรูปแบบ “เตามหาเศรษฐี” หรือเตาอั้งโล่ยุคพัฒนา

“เตามหาเศรษฐี” อั้งโล่ยุครีแบรนด์
เตามหาเศรษฐี พัฒนาขึ้นโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน บนสถานการณ์ที่ว่า พลังงานที่ใช้หุงต้มในภาคครัวเรือนทั่วประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลโดยเฉพาะจากถ่านไม้และฟืนเป็นหลัก จึงเกิดการสิ้นเปลืองถ่านเป็นจำนวนมาก โดยจากสถิติในปี 2547 มีการใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงเฉลี่ยถึง 500 กก./ครัวเรือน/ปี ทำให้มีแนวโน้มว่าเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านี้จะขาดแคลนในอนาคต หากใช้หมดไปแล้วจะต้องทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์น้ำมันหรือก๊าซหุงต้ม อีกทั้งภาครัฐจะต้องใช้เงินเพิ่มมากกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับขีดความสามารถในการซื้อหาเชื้อเพลิงของชาวบ้านที่ยากจนในชนบทอีกด้วย

“เตามหาเศรษฐี” หรือ “เตาซูเปอร์อั้งโล่” จึงถูกพัฒนาขึ้นมาทดแทนเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดทั่วไป มีนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น เช่น การใช้ดินเหนียวปั้นเตาอย่างดี, รังผึ้งหนาทาด้วยดินปั้นเตาคุณภาพดีทนทาน รูรังผึ้งเล็กและเรียว ดูดอากาศได้ดี, มีฉนวนกันความร้อนระหว่างถังเปลือกเตากับตัวเตา (แบบเดิมไม่มี) และบรรจุถ่านได้ 400 –500 กรัม ซึ่งเพียงพอต่อการหุงต้มอาหารแต่ละมื้อโดยไม่ต้องเติมถ่านอีก พร้อมคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น รูปร่างที่เพรียวขึ้น น้ำหนักเบาลง จุดติดไฟเร็วขึ้น ให้ความร้อนสูงมากกว่าเตาอั้งโล่ทั่วไป แถมไม่มีควันและแก๊สพิษที่เป็นอันตราย ช่วยให้หุงต้มสุกเร็ว เก็บความร้อนได้นาน จึงช่วยประหยัดเชื้อเพลิงกว่าเตาอั้งโล่ธรรมดา 30-40% นอกจากนี้ยังวางภาชนะหุงต้มได้ถึง 9 ขนาด และมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 2 ปี

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตั้งเป้าหมายให้มีการผลิตเตามหาเศรษฐีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านใบ ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสามารถลดการใช้พลังงานจากถ่านไม้คิดเป็น 123.3 ktoe โดยในปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกกำหนดเป้าหมายอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 180,000 ใบ และสามารถลดการใช้พลังงานจากถ่านไม้คิดเป็น 14.8 ktoe

ผลปรากฏว่า นับตั้งแต่ได้เผยโฉมสู่การรับรู้ของผู้คน เตาอั้งโล่ยุคใหม่ก็ส่งแรงกระเพื่อมด้านความนิยมอย่างล้นหลาม ซึ่งนอกจากคุณสมบัติดี ๆ ด้านการประหยัดพลังงาน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อถ่าน สิ่งเหล่านี้ยังตอกตรึงภาพจำในฐานะอุปกรณ์สำคัญที่เติมเต็มรสมือการทำอาหารที่ต้องการกลิ่นหอมติดกระทะ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็อาจใช้เสน่ห์ของเตาอั้งโล่มาฝึกปรือฝีมือทำอาหาร คนที่ชอบแนวแคมป์ปิงอิงแอบธรรมชาติ ก็อาจพกพาเตาดินเผานี้ไปร่วมสัมผัสการดื่มกินตามรอยบรรพบุรุษแบบดั้งเดิม และสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติต่าง ๆ ก็อาจมีบริการเตาดินเผาสำหรับนักท่องเที่ยวให้ได้สร้างภาพจำจากกิจกรรมแสนสนุกบนเตา เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า แม้สุดท้ายกาลเวลาจะผ่านไปอย่างเร่งรีบเพียงใด แต่การได้รังสรรค์รสอาหารผ่านเตาอั้งโล่ก็จะยังคงเป็น “รสแห่งความทรงจำ” ที่ชวนให้นึกถึงความพิถีพิถันของผู้ปรุงที่ตั้งใจมอบความอร่อยให้กับผู้รับประทานอย่างสุดฝีมือ

ที่มา : บทความเรื่อง “เตาอั้งโล่” โดยพิชชา ทองขลิบ จาก www.sac.or.th
บทความ “วิวัฒนาการเตา” จาก http://sites.google.com
บทความ “เตามหาเศรษฐีกระทรวงพลังงานมีลักษณะอย่างไร ต่างจากเตาอั้งโล่ยังไง เช็คเลย” โดย จาก www.thansettakij.com
บทความ “เตามหาเศรษฐี” โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จาก http://renew.dede.go.th
บทความ “‘เตามหาเศรษฐี’ ขายดีสวนกระแสดราม่า ลูกค้าแห่ออเดอร์เพียบ!” จาก www.bangkokbiznews.com
บทความ “เปิดประวัติ เตาอั้งโล่ เตามหาเศรษฐี มีที่มาอย่างไร” จาก www.thainewsonline.co
บทความ “ปั้นไม่ทันขาย! ‘เตาอั้งโล่’ ออเดอร์พุ่ง” จาก www.bangkokbiznews.com

เรื่อง : บุญพัทธ ลีวิวัฒกฤต