เปิดกล่อง 3 ของเล่นเด็กยุคใหม่ แม้บางอย่างจะเปลี่ยนไปแต่ความสนุกไม่เปลี่ยนแปลง
Technology & Innovation

เปิดกล่อง 3 ของเล่นเด็กยุคใหม่ แม้บางอย่างจะเปลี่ยนไปแต่ความสนุกไม่เปลี่ยนแปลง

  • 20 Jan 2023
  • 919

มีเด็กที่ไหนก็คงไม่แคล้วจะมีของเล่นที่นั่น การเล่นเป็นส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตของเด็ก ๆ วัยซนและหลายครั้งกิจกรรมหลาย ๆ อย่างก็มักจะมีอุปกรณ์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเสมอ เกมการเล่นของเด็กแต่ละยุคล้วนมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามบริบทสังคม จากการเล่นเป็นกลุ่มใหญ่สู่การเล่นคนเดียวในชุมชนเมือง จากการใช้เศษไม้ใบหญ้าสู่การเลือกผักผลไม้พลาสติกมาแสร้งหั่นลงหม้อ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในมิติหนึ่งการเล่นของเจ้าตัวแสบก็ได้รับการพัฒนาไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคที่เด็กเกิดมาพร้อมความเป็นไปของดิจิทัล พ่วงไปถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลกที่กำลังเป็นที่พูดถึงและให้ความสำคัญ ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของกระบวนการเล่นของเด็กจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปให้รับกับปัจจุบันนี้ด้วย เป็นต้นว่า อุปกรณ์ รวมถึงเกมใหม่ ๆ ที่ได้รับการพัฒนาให้ชูประเด็นสำคัญในทุกวันนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้เล่นในวันพรุ่งนี้นั่นเอง

01 พา Cody กลับบ้านผ่านการ “วาง” โปรแกรม
“มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กที่จะเข้าใจว่าเทคโนโลยีทำงานอย่างไร ในอดีตมีรถยนต์ และผู้คนก็คิดว่าฉันสามารถทำงานกับมันและเข้าใจได้ว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นของเครื่องยนต์ทำงานอย่างไร ในตอนนี้มีชิ้นส่วนของข้อมูลอยู่ในคอมพิวเตอร์ และนี่คือสาเหตุว่าทำไมมันจึงสำคัญมากสำหรับเด็ก ๆ ที่จะเข้าใจโค้ดดิงขั้นพื้นฐาน” บรูซ ลามอนต์ ครูผู้นำในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ณ เมืองซูริคกล่าว และด้วยแนวคิดในทำนองเดียวกันนี้เอง “Cody Block” จึงเกิดขึ้นเพื่อแนะนำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกับแนวคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ในขณะที่ได้ลงมือปฏิบัติกับสิ่งของที่จับต้องได้ โดยไม่จำเป็นต้องแตะหรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เลย 

จุดเริ่มต้นของ “Cody Block” โดย QUBS เกิดขึ้นในปี 2016 จากไอเดียของเฮย์รี บูลแมน (Hayri Bulman) ผู้ประกอบการด้านไอทีและคุณพ่อลูกสองชาวสวิสที่เริ่มค้นหาวิธีการนำโลกของเทคโนโลยีและของเล่นไม้สุดคลาสสิกมารวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ลูก ๆ ของเขาเองได้เริ่มเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนโค้ดผ่านการเล่น ก่อนที่จะสร้างต้นแบบแล้วเชิญทีมนักออกแบบ วิศวกร และนักภาพประกอบมาทำงานด้วยกันจนออกมาสมบูรณ์

ในหนึ่งชุดของของเล่นไม้ “Cody Block” ประกอบไปด้วยรถหนึ่งคันที่เรียกว่า “Cody” พร้อมอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งชุด บ้านที่เป็นจุดหมายหนึ่งหลัง ตึกรูปร่างคละกันจำนวนหนึ่ง และหนังสือคู่มือเมืองโคดี้ที่อัดแน่นไปด้วยคำแนะนำ เรื่องราวและแบบฝึกหัดหนึ่งเล่ม ในการเล่นแต่ละครั้ง เด็ก ๆ จะสามารถตั้งปลายทางคือบ้านไว้ที่จุดหนึ่ง ก่อนที่จะค่อย ๆ วางเรียงตึกที่มีคำสั่งและรูปทรงต่างกัน ได้แก่ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา กลับหลังหัน ทำตามคำสั่งก่อนหน้า รวมถึงตึกที่มีฟังก์ชั่นบันทึกเส้นทางและเดินรถตามเส้นทางเดิม เพื่อส่งให้รถคันนั้นขับถึงบ้าน โดยมีเทคโนโลยีชื่อว่า RFID (Radio-Frequency-Identification) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรเรียบร้อยอยู่เบื้องหลังการประมวลคำสั่งระหว่างบล็อกตึกไม้และรถยนต์ ให้ขับเคลื่อนถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ชุดของเล่น “Cody Block” สามารถรวมหลายชุดมาเล่นด้วยกันได้อย่างไม่จำกัด และสามารถขยายขอบเขตการเล่นได้อย่างไม่สิ้นสุด เส้นทางการเดินรถจึงอาจจะผ่านตึกเพียง 2 3 หลังที่วางบนโต๊ะทานข้าว หรือขยายใหญ่ไปทั่วห้องโถงพร้อมกับรถที่มุ่งหน้ากลับบ้านพร้อมกันหลาย ๆ คันก็ได้ตามแต่ที่เราจะจินตนาการถึง

“Cody Block” ได้รับการออกแบบผ่านแนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Education)1 โดยให้เด็ก ๆ เรียนรู้จากการสำรวจความต้องการและความจำเป็นของตัวเอง สตูดิโอ Oscar Lhermitte ผู้ทำหน้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์กล่าวว่า “มันชัดเจนตั้งแต่แรกว่า ‘Cody Block’ ควรจะมีรูปร่างและให้ความรู้สึกเหมือนบล็อกไม้ดั้งเดิม” การดีไซน์ตึกแต่ละตึกที่บรรจุคำสั่งที่แตกต่างกันจึงเป็นไปอย่างเรียบง่าย หากแต่มีการใช้สีและรูปทรงที่ต่างกันเล็กน้อยเพื่อให้เจ้าตัวจิ๋วสามารถแยกตึกแต่ละตึกออกแม้จะยังอ่านไม่ออกแม้แต่นิดเดียว ทางทีมยังตั้งใจที่จะซ่อนแสงหรือเสียงที่อาจเกิดขึ้นในแผงวงจรไว้ใต้วัตถุไม้ทึบแสงเพื่อไม่ให้ผู้เล่นเสียสมาธิออกจากเส้นทางที่ตั้งใจ 

ชุดอุปกรณ์ของเล่นนี้ยังได้รับการออกแบบให้เอื้อต่อประเด็นความยั่งยืนซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกยึดถือ นอกจากวัสดุที่พยายามใช้พลาสติกให้น้อยที่สุดแล้ว ตัวชิ้นส่วนยังสามารถถอดแยกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ทำให้สามารถจัดการขยะได้ง่าย อีกทั้งตัวโปรแกรมยังไม่จำเป็นต้องพึ่ง WiFi ระบบบลูทูธ หรือการอัปเดตระบบ ทำให้การใช้งานสามารถใช้ได้ยาว ๆ จากรุ่นสู่รุ่น เพียงแค่คอยชาร์จแบตเตอรี่ไม่ให้หมดเท่านั้น

QUBS หวังว่าของเล่นชิ้นนี้จะให้บทเรียนกับเด็ก ๆ อายุตั้งแต่ 3-12 ปีได้ในหลายมิติ การที่เด็กได้เริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของคอมพิวเตอร์ รวมถึงได้เรียนรู้ทักษะเบื้องต้นของการเขียนโค้ด นอกจากจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจโลกที่กำลังจะก้าวเข้าไปใช้ชีวิตในอนาคตแล้ว ยังสามารถช่วยพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่ปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการคิดเชิงวิพากษ์ เชิงตรรกะ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาทั้งในภาพรวมและเฉพาะหน้า รวมถึงความยืดหยุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ QUBS ยังหวังว่าของเล่นชิ้นนี้จะเป็นมิตรกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะชายหญิงเพื่อสนับสนุนความฝันของนักประดิษฐ์รุ่นต่อไปทุกคน

02 วาดฝันให้โลกสวยด้วยสีเทียน “Oyasai Crayons”
“เมื่อไรก็ตามที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจต่อของสิ่งใด พวกเขาก็จะเอามันเข้าปาก แล้วทำไมสีเทียนที่เป็นหนึ่งในสิ่งของใกล้ตัวเด็กที่สุดถึงดูไม่ปลอดภัยขนาดนั้นนะ” แล้ว “มันจะดีแค่ไหนกันถ้าสีเทียนจะฝังรากลึกใน ‘อาโอโมริ’ ที่ที่เราอาศัยอยู่” นี่คือคำถามสองข้อที่พาให้ นาโอโกะ คิมูระ (Naoko Kimura) กราฟิกดีไซเนอร์และคุณแม่คนเก่งผุดไอเดียการทำสีเทียนที่จะปลอดภัยกับเด็กมากที่สุด ในขณะที่ต้องการดูแลท้องถิ่นและโลกเพื่อส่งมอบอนาคตที่ดีให้แก่อนุชนไปพร้อมกัน

แม้ในโลกนี้จะมีสีเทียนอยู่หลายร้อยแบรนด์ แต่อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีแบรนด์ไหนเลยที่จะปลอดภัยไปกว่ากัน หากเด็กเผลอหยิบเข้าปากไป สีเทียนส่วนมากในตลาดทำมาจากขี้ผึ้งพาราฟินที่ได้มาจากปิโตรเลียม ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะเป็นอันตรายต่อเด็กแล้ว ยังเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สามารถย่อยสลายได้ หลังจากเห็นถึงปัญหาดังกล่าวในปี 2012 คิมูระจึงเริ่มพัฒนาไอเดียในปีถัดไปทันที ก่อนที่จะวางจำหน่าย “Oyasai Crayons” สีเทียนที่ปลอดภัยกว่า ยั่งยืนกว่า และวางใจได้มากกว่าครั้งแรกในปี 2014 และเปิดตัวบริษัท “mizuiro.inc” ในปี 2015 เพื่อมุ่งเข้าสู่ระบบการผลิตที่จริงจังขึ้น

สีเทียนทางเลือก “Oyasai Crayons” นี้มีความพิเศษที่ตั้งอยู่บนนโยบาย “children first” (เด็กมาก่อน) กล่าวแยกได้เป็น 3 ประการ ได้แก่ ความปลอดภัยสำหรับเด็ก การช่วยให้เด็กคิดถึงธรรมชาติ และส่งต่อสังคมที่ลูกหลานจะสามารถภูมิใจได้ เมื่อผนวกเข้ากับที่ฐานผลิตซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอาโอโมริที่เลื่องชื่อด้านการเกษตรอยู่แล้ว ก็ทำให้เรื่องราวและกระบวนการผลิตของแบรนด์เกื้อหนุนกันอย่างลงตัว

เพื่อความปลอดภัยของวัยแสบ “Oyasai Crayons” จึงผลิตโดยใช้ส่วนผสมที่แทบจะมาจากธรรมชาติทั้งหมด2 ตัวขี้ผึ้งถูกแทนด้วยไขและน้ำมันรำข้าวที่ได้มาจากกระบวนการขัดสีข้าว ส่วนสีสันต่าง ๆ ก็มาจากผัก เช่น แอปเปิล ต้นหอมญี่ปุ่น ข้าวโพด กะหล่ำปลี มันหวาน ไผ่ หรือแคร์รอต ผักและผลไม้ทั้งหมดนั้นเป็นผลผลิตที่ถูกทิ้งจากกระบวนการแปรรูปหรือไม่ก็กระบวนการคัดเลือกส่งขายเนื่องจากขนาดและรูปร่างที่ไม่เป็นมาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น สีกะหล่ำปลีนั้นจะได้มาจากใบชั้นนอกที่ถูกเด็ดทิ้งระหว่างขั้นตอนการเก็บเกี่ยว หรือสีแอปเปิลก็ได้จากเปลือกที่ปอกทิ้งเพื่อที่จะนำเนื้อไปแปรรูปเป็นผลไม้อบแห้ง อีกทั้งพืชกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังเป็นวัตถุดิบจากท้องถิ่นของอาโอโมริ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งรวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเหตุเหล่านี้กระบวนการผลิตของสีเทียนจึงดีทั้งต่อเด็ก ๆ และดีต่อโลกของเราจากการนำวัตถุดิบที่มีมาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด สอดคล้องกับการรณรงค์ที่ทั่วโลกได้ให้คุณค่าอยู่ในปัจจุบัน

สีเทียนทางเลือกนี้ยังปราศจากการแต่งกลิ่นให้หอมหวาน หากแต่เลือกคงกลิ่นของผักที่ใช้เป็นส่วนประกอบจริง ๆ รวมถึงเนื้อสีที่มีความหยาบเหมือนกับได้สัมผัสดินและผัก เพื่อให้กลิ่นและสัมผัสดังกล่าวช่วยเชื่อมโยงเด็ก ๆ กับผักผลไม้ในทางบวกและทำให้เด็ก ๆ สนใจในโลกของธรรมชาติมากขึ้น กลยุทธ์นี้ยังใช้คู่กับการใช้ชื่อสีที่ไม่แทนด้วยชื่อสีอย่างสีแดงหรือสีเหลือง แต่แทนด้วยชื่อวัตถุดิบที่มาของเม็ดสีแทนอย่างแอปเปิลและข้าวโพด ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ชื่นชมกับมิติใหม่ของผักผลไม้ที่พวกเขาอาจเคยยกนิ้วหรือยี้หน้าให้กับรสชาติมาก่อน 

นอกจากนี้บริษัท mizuiro ยังพัฒนาต่อยอดสีเทียนทางเลือกนี้ผ่านโปรเจ็กต์ต่อ ๆ มาที่เกิดจากความร่วมมือในภาคส่วนอื่น เพื่อผลิตสีที่หลากหลายมากขึ้นตามโอกาส ยกตัวอย่างเช่น การทำ “Spice Crayon” โดยการนำเศษเครื่องเทศจากบริษัท House Food Group มาใช้ในการผลิตสีให้บริษัทใช้เป็นของขวัญขอบคุณ หรือการนำผงชาเขียวจากเมืองนิชิโอะที่เคยเป็นขยะอุตสาหกรรมมาผลิตเป็น “Matcha Crayon” ได้เป็นสีเขียวเฉดที่ต่างออกไป 

ปัจจุบัน “Oyasai Crayons” ได้วางจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งยังเป็นความน่ารักของห้างร้านในญี่ปุ่น ที่ได้จัดวางสีเทียนนี้ในโซนเดียวกันกับที่วางขายผักผลไม้สดตามที่เหล่าผักผลไม้ในสีเดิมควรจะอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น “ความทรงจำวัยเด็กนั้นสำคัญ เมื่อพวกเขาโตขึ้น พวกเขาจดจำมัน” คิมูระ กล่าว “สีเทียนเหล่านี้ที่พวกเขาใช้ทำมาจากผลผลิตที่ถูกทิ้ง และมันจะได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น นี่คือแนวคิดของมัน”

03 ขีดเขียนไร้ขอบเขตกับแนวคิด AR Helmet แห่งอนาคต
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเมตาเวิร์สและเทคโนโลยีดิจิทัล คำว่า “ขีดจำกัด” ก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ จางหายไป ไม่เว้นแม้แต่ในวงการของเล่น! ในอดีตที่ผ่านมาจินตนาการของเด็กที่ดูไร้ขอบเขต มักถูกจำกัดด้วยขอบกระดาษ หรือยิ่งแล้วใหญ่หากขอบกระดาษไม่อาจจำกัดจินตนาการจนเส้นที่ขีดเขียนลากยาวไปถึงฝาบ้านและยากจะล้างออก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว วอนดาฮี (Won Dahee) นักเรียนจาก Designer Dot ประเทศเกาหลีใต้ จึงได้ออกแบบ “AR Helmet” เพื่อส่งเสริมจินตนาการของเด็ก ๆ แบบไร้รอยต่อ แต่ก็ไม่หนักใจพ่อแม่ แนวคิดของหมวกกันน็อกอัจฉริยะนี้คือ การนำเทคโนโลยี AR เข้ามาบูรณาการคู่กับปากกาน้ำหนักเบาที่ใช้งานได้ง่าย ทั้งยังมีฟังก์ชันสำหรับการวาดรูปกับเพื่อน ๆ และการเล่นเกม AR เพื่อการศึกษาด้วย ตัวแบบของ “AR Helmet” ยังได้รับการออกแบบให้รองรับการใช้งานอย่างดีทั้งเรื่องของระบบระบายความร้อน สายรัดคางแม่เหล็กที่ปรับแต่งและสวมใส่ง่าย รวมถึงระบบชาร์จแบตเตอรี่เช่นกัน ซึ่งถึงแม้เจ้าหมวกกันน็อคนี้จะยังเป็นเพียงแนวคิดและแบบร่าง แต่เมื่อโลกเข้าสู่ความเป็นเมตาเวิร์สเต็มขั้นแล้วก็รับรองได้เลยว่าของเล่นรูปแบบนี้จะต้องผลิตออกมาในไม่ช้าแน่

การเล่นนับเป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้สำหรับวัยเด็กที่ดีที่สุดตลอดกาล ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวของมันจึงเป็นเหมือนสัญญาณเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เตรียมรับมือกับสิ่งที่จะต้องเจอ โลกที่จะต้องเผชิญ รวมถึงตระหนักรู้ในสิ่งที่สังคมแต่ละยุคยึดถือ แต่ไม่ว่าของเล่นจะมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปเท่าใด สิ่งสำคัญที่สุดที่ของเล่นจะต้องมีพร้อมไว้สำหรับเด็ก ๆ เสมอก็คือ “ความสนุกจากการได้เล่น” ไม่เช่นนั้นมันก็ไม่ใช่ของเล่นสิ จริงไหม 

1 คือแนวทางการเรียนรู้ที่ไม่ได้ให้ความรู้ผ่านการท่องจำ แต่เป็นการปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติที่เป็น ผ่านสิ่งแวดล้อมที่จัดวางให้อย่างมีเป้าหมายและประสาทสัมผัสทั้งห้าของเด็ก การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น และทำให้จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย 
2 อย่างไรก็ตาม สีเทียนนี้ยังมีการใส่ส่วนผสมอื่น ๆ อยู่ อาทิ สีผสมอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการช่วยเพิ่มสีสัน แต่ก็อยู่ในปริมาณที่น้อยกว่าหนึ่งในสามของปริมาณที่สีเทียนปกติใช้

ที่มา : บทความ “THIS AR HELMET FOR KIDS HONES CREATIVITY BY SCRIBBLING AND DRAWING IN 3D SPACE WITHOUT ANY LIMITATION” จาก yankodesign.com 
บทความ “Vegetable Crayon Plant based safe and eco-friendly crayon!” โดย Naoko Kimura จาก kickstarter.com 
บทความ “A JAPANESE DESIGNER MADE 100% NATURAL CRAYONS BY RECYCLING PRODUCE AND VEGETABLE WASTE!” จาก yankodesign.com
บทความ “Japanese company creates crayons made from vegetables” โดย Yvonne O'Halloran จาก livingvegan.com 
บทความ “Oyasai Crayons: Japanese crayons made with food waste scraps” โดย Michela Becchi จาก livingvegan.com 
บทความ “Color Your World with Vegetable Crayons” โดย NIPPON TV NEWS 24 JAPAN จาก allabout-japan.com
บทความ “Cody Block” โดย Oscar Lhermitte จาก oscarlhermitte.com 
บทความ “Cody Block, a new Montessori inspired coding toy” จาก robots-blog.com 
บทความ “Building Block Coding Toys” โดย Federica Orlati จาก trendhunter.com 
บทความ “CODY BLOCK: introducing coding one block at a time. Ages 3-9” โดย QUBS จาก kickstarter.com
บทความ “การสอนแบบมอนเตสซอรี่คืออะไร? 5 หลักสูตรที่กระตุ้นพัฒนาการเด็ก” จาก speakuplanguagecenter.com 
คลิป “A Harvest of Colors - Zero Waste Life” โดย NHK WORLD-JAPAN จาก youtube.com
เว็บไซต์ mizuirocrayon.com
เว็บไซต์ qubs.toys

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง