ทำความรู้จัก Sustainnovation นวัตกรรมแห่งความยั่งยืนเพื่อเราและโลก
Technology & Innovation

ทำความรู้จัก Sustainnovation นวัตกรรมแห่งความยั่งยืนเพื่อเราและโลก

  • 23 Jan 2023
  • 1433

ในยุคที่ทุกอย่างก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว บางครั้งมนุษย์เราก็หลงลืมอะไรบางอย่างไปและทิ้งสิ่งนั้นไว้เบื้องหลัง ขณะที่ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทุกปี พื้นที่ธรรมชาติกลับถูกทำลายและสัตว์ป่าไร้ที่อยู่อาศัย ท่ามกลางความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีสิ้นสุด ทรัพยากรถูกนำมาใช้อย่างไร้ขอบเขต สิ่งแวดล้อมที่เคยปกติสุขก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นภาวะโลกรวน (Climate Change) และเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวลรวมถึงมนุษย์เราเอง 

ปัญหาต่าง ๆ ได้รุมเร้าเข้ามาทำให้โลกเกิดความไม่สมดุลในทุก ๆ มิติ ทั้งสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดนี้คือสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาและร่วมกันพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของโลกในอนาคตก่อนที่จะสายเกินไป

ในปี 2023 นี้ เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมมือกันสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืนต่อไป เราจึงอยากพาไปทำความรู้จักกับ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” หรือ Sustainnovation ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยฟื้นฟูโลกใบนี้ให้กลับมาน่าอยู่อีกครั้งหนึ่ง

Sustainnovation คืออะไร
Sustainnovation หรือ นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เกิดจากการรวมคำสองคำเข้าด้วยกันนั่นคือ “Sustainability” หมายถึงความยั่งยืน หรือที่ UN ให้คำจำกัดความว่าการตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบันโดยไม่ลดทอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นต่อไป และคำว่า “Innovation” ซึ่งหมายถึงนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ Sustainnovation จึงหมายถึง การสร้างแนวทางหรือนวัตกรรมใหม่ที่จะนำมาซึ่งความยั่งยืนในอนาคตทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

ทั้งนี้ ความยั่งยืนดังกล่าวไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์และความอยู่ดีมีสุข (Well-Being) ของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตทุก ๆ ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ พืชพรรณ และรวมไปถึงสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรา Sustainnovation จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ โดยสามารถเอื้อประสิทธิผลได้จริงในทุก ๆ ระดับตั้งแต่ปัจเจกบุคคล ชุมชน สังคม ประเทศ และสากลโลก

ตัวอย่างของ Sustainnovation
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกและความท้าทายใหม่ ๆ ปัจจุบันนี้ทั่วโลกต่างพยายามร่วมมือกันใช้ศาสตร์ต่าง ๆ นำมาพัฒนา Sustainnovation ให้เกิดขึ้นจริงเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของโลกในหลายมิติ ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจากนานาประเทศที่แสดงความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหารอบด้านดังนี้

ด้านสุขภาวะถือเป็นเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาให้ยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ทุกคนในฐานะทุนที่สำคัญในการลงมือทำและสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างนวัตกรรมที่จะช่วยในด้านสุขภาวะนี้ เช่น CosmosTM Healthy Home System คือนวัตกรรมฟอกอากาศภายในบ้านที่จะช่วยกำจัดฝุ่น ลดปริมาณสารระเหย และปรับสมดุลความชื้นสัมพัทธ์ภายในบ้าน เพื่อให้เราได้สัมผัสกับอากาศที่ดียิ่งขึ้น และนวัตกรรมเพื่อการออกกำลังกายอย่าง Water Walker & Spa ลู่วิ่งไฟฟ้าที่ออกแบบมาในรูปแบบของอ่างอาบน้ำ เพื่อช่วยส่งเสริมการออกกำลังกายตามจังหวะของผู้ใช้งาน รวมไปถึงนวัตกรรมที่มาในยุคของโรคระบาดโควิด-19 อย่างห้องฉุกเฉินความดันลบ (Negative Pressure ER) 100% Fresh Air ที่พัฒนาโดย RISC และ EEC Engineering Network ซึ่งได้รับการออกแบบตามหลักสุขภาวะ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และมีระบบหมุนเวียนอากาศที่ปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกห้อง

ด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติที่ส่งสัญญาณเตือนแก่มนุษย์ จนเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เช่น Artificial Photosynthesis หรือเทคโนโลยีการสังเคราะห์แสงประดิษฐ์ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำคาร์บอนไดออกไซด์มารีไซเคิลให้เป็นวัสดุที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ และยังมี The Seabin: Cleaning The Oceans Safely with Trash Bins ซึ่งเป็นนวัตกรรมเครื่องกรองพลาสติกและสิ่งแปลกปลอมออกจากแหล่งน้ำ เพื่อเข้ามาช่วยลดผลกระทบด้านมลพิษทางน้ำอย่างยั่งยืน

ในด้านจัดการทรัพยากรก็เป็นส่วนสำคัญที่ควรเอาใจใส่เพราะทุกวันนี้มนุษย์เราใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาลจนเกิดการขาดสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดผลกระทบด้านลบตามมามากมาย ตัวอย่างของนวัตกรรมที่จะช่วยจัดการทรัพยากรให้ดีขึ้น เช่น CloudFisher หรือที่ดักหมอก เทคโนโลยีที่ทำขึ้นเพื่อคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งหรือภูเขาให้สามารถเปลี่ยนหมอกให้เป็นน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยหรือนำไปใช้งานด้านอื่นได้ และ Hydraloop Residential Water Recycling System ระบบรีไซเคิลน้ำอุปโภคในครัวเรือนผ่านกระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

ด้านพลังงานในทุกวันนี้มีการค้นคว้ามากมายเพื่อหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้มนุษย์ยังสามารถใช้พลังงานได้อย่างเพียงพอแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น Powerhouse Energy’s Waste-to-Energy Hydro System ซึ่งเป็นแนวคิดโมเดลธุรกิจในการนำขยะจากหลุมฝังกลบมาผลิตเป็นพลังงานจากการสกัดไฮโดรเจนและนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานค่อนข้างมาก รวมไปถึง Solar Glass นวัตกรรมกระจกพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ ซึ่งถ้าหากมีการนำมาใช้ในสิ่งปลูกสร้างประเภทตึกสูงก็มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถนำพลังงานมาใช้ได้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

สำหรับด้านการขนส่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในยุคที่คนเราไม่สามารถใกล้ชิดกันได้ การจัดส่งให้รวดเร็วและปลอดภัยจึงถือเป็นโจทย์สำคัญในวงการขนส่งทั่วโลก นวัตกรรมที่เข้ามาช่วยในการขนส่ง เช่น Contactless Delivery Robots เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขนส่งสิ่งของจากอังกฤษที่สามารถบรรทุกสินค้าได้ถึง 9.7 กิโลกรัม และเดินทางได้ไกลกว่า 6 กิโลเมตร เพื่อการจัดส่งที่รวดเร็วและปลอดภัยต่อผู้ซื้อ นอกจากนี้ในสังคมที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น การเดินทางของคนเราจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มใหญ่เท่านั้น ยังมีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนอย่าง CERO E-Tricycle จักรยาน 3 ล้อที่ออกแบบมาเพื่อผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางกายภาพให้สามารถเคลื่อนที่และมี Active Lifestyle ได้โดยไม่เกิดผลกระทบต่อร่างกายอีกด้วย

สุดท้ายคือด้านการบริโภคอาหารซึ่งเป็นปัจจัยหลักต่อการดำรงชีพของมนุษย์ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหลานในอนาคตจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดเป็นนวัตกรรมมากมายที่ช่วยให้มนุษย์ในวันนี้สามารถลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและลดปริมาณขยะจากอุตสาหกรรมอาหารได้ เช่น Tômtex เทคโนโลยีการผลิตเครื่องหนังจากวัสดุเหลือทิ้งอย่างกากกาแฟและเปลือกอาหารทะเล ทำให้ได้วัสดุที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่น ทนทาน เพิ่มสีและลวดลายได้หลากหลาย และยังมี Winnow AI-enabled Food Waste เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพนิ่งและวิดีโอเพื่อจำแนกสิ่งของและใช้ Machine Learning ในการสร้างข้อมูลการก่อขยะในห้องครัว ให้สามารถคำนวณปริมาณการใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัว รวมถึงสามารถลดปริมาณขยะในพื้นที่ครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้นวัตกรรมนี้ได้แก่บริษัทชั้นนำ อาทิ Ikea, Hilton Hotels และ Costa!

จะเห็นว่าในทุก ๆ ด้านมีความสำคัญและเป็นหมุดหมายที่หลายฝ่ายต้องช่วยกันพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นทุก ๆ คนจึงควรเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ในการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะช่วยทุกชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป

เข้าใจ Sustainnovation ให้มากขึ้น
จากความต้องการในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ Sustainnovation ให้มากขึ้น ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center; RISC) โดย MQDC จึงได้จัดทำอีบุ๊ก Sustainnovation: Innovation for a Better World ขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้เข้าใจความหมายและความสำคัญของแนวคิด ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้มีการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต โดยในหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายสาเหตุของปัญหา รวบรวมนิยามแนวคิด ให้ความหมายความสำคัญด้านความยั่งยืน ยกตัวอย่างนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม รวมถึงเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับ Sustainnovation จากผู้รู้ในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง อันจะนำไปสู่ชีวิตที่อยู่ดีมีสุขของทุกชีวิตบนโลกใบนี้

“RISC มุ่งหวังว่า หนังสือ “Sustainnovation” เล่มนี้จะสามารถสร้างประโยชน์สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนระดับบุคคล ระดับเมือง ระดับประเทศ และระดับโลก เพราะทุกชีวิตล้วนมีส่วนรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ความรู้จากหนังสือเล่มนี้จะทำให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และสามารถนำความรู้จากกระบวนการคิดวิจัยและตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจไปต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกชีวิต”

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดและอ่านหนังสือ Sustainnovation: Innovation for a Better World ได้ทาง https://mqdc.link/risc_sustainnovation

 

ที่มา : หนังสือ Sustainnovation: Innovation for a Better World โดย RISC
บทความ “Sustainability” จาก un.org (https://www.un.org/en/academic-impact/sustainability) 
บทความ “The smog reducing electronic vacuum cleaner” จาก ec.europa.eu (https://ec.europa.eu/environment/europeangreencapital/smog-vacuum-cleaner/) 
บทความ Smog Free Tower: world’s first smog vacuum cleaner จาก thestylemate.com (https://www.thestylemate.com/smog-free-tower-worlds-first-smog-vacuum-cleaner/?lang=en) 
บทความ “Transparent solar panels could replace windows in the future. Here's how” โดย Derya Ozdemir จาก interestingengineering.com (https://interestingengineering.com/innovation/transparent-solar-panels-replace-windows-in-the-future-heres-how)
บทความ “5 Sustainability trends in 2022 and the tech innovations that will power them” โดย ANTOANELA IONITA จาก therecursive.com (https://therecursive.com/5-sustainability-trends-in-2022-and-the-tech-innovations-that-will-power-them/ )
เว็บไซต์ risc.in.th

เรื่อง : กองบรรณาธิการ