คู่เขาแต่เราเขิน: ความรักหน้าจอที่เราติดใจให้อะไรมากกว่าที่คิด
Technology & Innovation

คู่เขาแต่เราเขิน: ความรักหน้าจอที่เราติดใจให้อะไรมากกว่าที่คิด

  • 14 Feb 2023
  • 554

หน้าจอสี่เหลี่ยมขนาดไม่ใหญ่กำลังฉายภาพเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้ใครหลายคนได้หลีกหนีจากความเป็นจริงที่ต้องเผชิญตลอดวัน ใช่แล้ว! ทุกวันนี้เราต่างก็เซฟเวลาหลังเลิกงานไว้สำหรับการดูสตรีมมิงออนไลน์ที่สามารถเลือกสรรเนื้อหาได้ตามความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หลากแนว สารคดีหลายมิติ เกมโชว์สุดตื่นเต้น รวมไปถึง “เรียลลิตี้” หลากรสที่ทำเอาคนดูลุ้นใจหายใจคว่ำ

ในบรรดาเรียลลิตี้ทั้งหลาย ดูเหมือนว่า “เรียลลิตี้แนวหาคู่” (Dating Reality) จะเป็นหนึ่งในรายการที่คว้าใจผู้ชมในช่วงที่ผ่านมาได้มากที่สุด จากรายงานของ PeerLogix พบว่าจำนวนของผู้ชมรายการประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเทียบกับรายการประเภทอื่น ๆ ทั้งยังมีการผลิตรายการเช่นนี้ป้อนสู่ตลาดสตรีมมิงมากจนเห็นได้ชัด พร้อมติดโผเป็นหนึ่งใน “รายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด” เสมอ 

เรื่องราวความรักเหนือจินตนาการของคนแปลกหน้ากลายเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลกที่ไม่อาจห้ามตัวเองให้หยุดดู หยุดอิน หรือหยุดฟินได้ ก่อให้เกิดเป็นคำถามที่ว่า เหตุใดรายการประเภทนี้ถึงได้จับใจคนดูอย่างอยู่หมัด แม้ในหลายครั้งเราอาจค้นพบว่า คู่ที่เราเชียร์หลายคู่มักจะไปต่อนอกรายการไม่รอดและใคร ๆ ก็ต่างพูดกันว่าเรียลลิตี้แนวนี้ไม่ได้ “เรียล” จริง


Tibor Pápai / Unsplash

เกมความรัก อยู่มาทุกยุคสมัย 
แม้การเกิดขึ้นของรายการหาคู่เหมือนจะเริ่มบูมขึ้นเพียงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่รายการประเภทนี้ก็ไม่ใช่รายการแนวใหม่แต่อย่างใด ผู้ชมในสหรัฐอเมริกาได้ลิ้มรสรายการประเภทนี้มาตั้งแต่ช่วงปี 1965 ในขณะที่ชาวสหราชอาณาจักรต่างก็ติดหนึบกับรายการแนวนัดบอดมาตั้งแต่ยุค 80 และในสมัยหนึ่งรายการอย่าง “The Bachelor” และ “The Bachelorette” ก็เคยโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองมาแล้ว ถึงอย่างนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมา รายการต่าง ๆ ก็พัฒนาตัวเองให้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากรายการประเภทเดียวกันผ่านกติกา กิจกรรม และแนวทางการดำเนินรายการที่หลากหลายขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเมื่อรายการหนึ่งได้รับความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ก็ไม่แปลกที่จะเห็นรายการคล้าย ๆ กันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ดังนั้น ด้วยความสำเร็จของรายการเรียลลิตี้แนวหาคู่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราจึงเห็นรายการหาคู่เยอะขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกสตรีมมิงแพลตฟอร์มนั่นเอง 

 

เพราะเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ไม่เคยเอ้าต์
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนหรือชนชาติใด “ความรัก” ก็ยังเป็นห้วงอารมณ์สากลที่ทุกคนรู้จัก “หัวข้อว่าด้วยความโรแมนติกได้รับความสนใจจากผู้คนเสมอ” แอมเบอร์ แอล. เฟอร์ริส รองศาสตราจารย์จากโรงเรียนสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยแอครอนกล่าว และไม่ว่าสูตรสำเร็จของความรักที่มีอยู่ไม่กี่รูปแบบจะถูกเล่นซ้ำอีกเป็นร้อยครั้ง เรื่องราวของความรักก็ยังน่าหลงใหลและยังถูกหยิบยกมาเล่าได้อย่างไม่รู้เบื่ออยู่ดี ซึ่งความเห็นดังกล่าวสะท้อนผ่านแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix ที่ประกาศสโลแกนมาว่า “Love Has No off Season” (ความรักไม่มีวันหมดฤดูกาล)

ทั้งนี้ เรื่องราวความรักของแต่ละยุคก็ล้วนต่างออกไปตามความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ทัศนคติต่อความสัมพันธ์ และสังคม ซึ่งส่งผลต่อการสร้างรายการที่จะตอบโจทย์และเป็นสื่อสะท้อนที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนต่อไป ลี แมคเมอร์เรย์ บรรณาธิการมอบหมายของรายการ  Married At First Sight กล่าวว่า “ฉันว่าตอนนี้เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีตัวเลือกที่ขัดแย้งกันในทุกด้าน” โลกในปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เคลมว่าเป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้คนเขยิบเข้าใกล้กันกว่าเดิม แต่หนึ่งในเทคโนโลยีอย่างเช่น แอปฯ หาคู่ กลับทำให้คนบางกลุ่มมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นแบบทิ้งขว้างมากขึ้นเสียอย่างนั้น 

คำกล่าวนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เมลิซซา มัลลินส์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของ Nine ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีกำลังแยกเราออกจากกัน ทั้งยังสร้างความหวาดระแวง โดยจากแบบสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้คนกว่า 1 ใน 3 ที่เดทออนไลน์ล้วนเจอตัวจริงที่ ‘ไม่ตรงปก’ และ 1 ใน 4 ต้องเจอประสบการณ์กับ “ผีหลอก” ที่หมายถึงการที่ผู้สนทนาหายจากห้องแชตไปดื้อ ๆ ดังนี้ การมารายการหาคู่จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เจอคนที่ใช่จริง ๆ และแมคเมอร์เรย์ก็คิดว่า “บางทีผู้ชมก็อาจรู้สึกแบบเดียวกันและเชื่อมโยงกับความรู้สึกนั้นได้”

อย่างไรก็ตาม รายการหาคู่ก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น บางรายการมีตัวเลือก “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แนวเดียวกับการปัดแอปฯ หาคู่ หรืออาจมีธีมหลักที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกของคนในสังคมในขณะนั้น ๆ เช่น การถูกมองข้ามเพราะรูปร่างหน้าตาภายนอก รวมถึงความพยายามใฝ่หาและช่วงชิงรักแท้ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง อีกทางหนึ่งรายการเหล่านี้ก็ช่วยสะท้อนกลับให้สังคม เช่น การที่กลุ่มคนดูรับเอาคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในรายการมาพูดและใช้เป็นวลีติดปากในหมู่เพื่อนฝูง รวมถึงยังส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมให้ไม่ต้องอายต่อสถานะความโสดของตัวเองอีกต่อไป และรู้สึกภาคภูมิที่จะใช้แอปฯ หรือเว็บหาคู่ด้วย 


Nik / Unsplash

เพราะรักนั้นมันครบรส
แม้ว่ารายการหาคู่ทั้งหลายจะมีรากฐานอยู่บน “ความจริง” กระนั้นองค์ประกอบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกลับ “เกินจริง” และสิ่งนี้เองที่ยิ่งทำให้เราติดงอมแงม ดร. คาเรน แมคนัลลี แห่งมหาวิทยาลัย London Metropolitan เห็นว่า รายการออกเดตเหล่านี้เป็นที่พึงใจต่อทั้งความปรารถนาและความคาดหวังในการดูโทรทัศน์ของเรา

“รายการเหล่านั้นมีส่วนที่เป็นเรียลลิตี้ ส่วนที่เป็นละครน้ำเน่า ส่วนที่เป็นเกมโชว์ ซึ่งเป็นการผสมผสานองค์ประกอบของบันเทิงคดีและสารคดี การสร้างลักษณะตัวละคร ความสัมพันธ์ เรื่องประโลมโลก การแข่งขัน และความมุ่งมาดที่มีพลังอย่างมาก” ซึ่งสะท้อนผ่านรูปแบบรายการที่พาฝัน เกินจริง เช่น การจัดกิจกรรมธรรมดา ๆ อย่างการร้องเพลงหรือทำอาหารก็กลายเป็นซีนโรแมนติก หรือการแข่งขันเพื่อช่วงชิงเวลาสุดพิเศษที่จะได้อยู่ใกล้คนที่ชอบก็เป็นโมเมนต์ที่น่าลุ้น เป็นต้น

และด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เองจึงส่งผลให้คนดูรู้สึก “อิน” ราวกับว่ากำลังรับชมซีรีส์รอมคอมที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวดราม่าและความวุ่นวายอย่างที่เราชอบ พร้อมกับตัวละครพิเศษที่ช่วยเพิ่มความตื่นเต้นและสร้างอารมณ์ร่วมที่พาให้ลุ้นจนตัวโก่งไปกับความรักที่มีจุดหักเห เสียน้ำตาให้กับคำบอกเลิกหน้าจอ และรู้สึกต่อผู้เข้าร่วมรายการเฉกเช่นตัวละครในนิยายที่เราอ่าน ขณะที่ความเข้าใจโดยรวมของเราว่าอะไรจริงและอะไรไม่จริงก็ “เบลอ” อย่างต่อเนื่องในสื่อสังคมออนไลน์ การรับชมเรียลลิตี้หาคู่จึงไม่ต่างอะไรกับการดูซีรีส์หรือภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง และเราอาจไม่ได้ต้องการความจริงมากไปกว่าความสนุกที่ได้รับชมด้วย


Nathan Walker / Unsplash

เพราะรักของเขามีผลกับเรามหาศาล
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่ารายการเรียลลิตี้หาคู่ในทางหนึ่งได้สื่อสะท้อนและส่งผลต่อสังคม หากแต่มันยังส่งผลกับตัวเราได้มากกว่าที่เราคิดเสียอีก ท่ามกลางบรรดาผู้เข้าร่วมรายการหลายสิบคน แน่นอนว่าจะต้องมีสักคนหรือสักคู่ที่เป็น “คนโปรด” ประจำรายการ “ไม่ต่างอะไรกับการดูเกมฟุตบอลที่เราจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อทีมโปรดชนะ” ดร. เฮเลน ฟิชเชอร์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันคินซีย์ และผู้เขียนหนังสือ Anatomy of Love กล่าว ทั้งยังคาดการณ์ต่อว่ารายการประเภทนี้อาจส่งผลกระตุ้นระบบสมองที่เกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศ ความรักโรแมนติก และความผูกพัน

ยกตัวอย่างเช่น สารโดพามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เชื่อมโยงกับความรักโรแมนติกและความอิ่มเอมใจอาจจะหลั่งมาในช่วงที่เห็นเขาบอกรักกัน ในขณะที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนก็อาจจะหลั่งออกมาเมื่อเราเห็นคู่รักในจอมีสัมพันธ์กันอย่างดูดดื่ม และเมื่อคู่รักในรายการได้มีโอกาสโอบกอดแนบชิดกัน ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ร่างกายของเราจะหลั่งออกซิโทซิน ซึ่งรู้จักกันในนามฮอร์โมนแห่งความรักออกมา ดังนี้เอง ไม่ว่าสิ่งที่เห็นในจอจะเป็นความจริงแท้หรือไม่ก็ตาม แต่ความรู้สึกของเราในฐานะผู้ชมนั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้วและมันเป็นของจริง ไม่ต่างอะไรกับการดูละครที่สามารถส่งผลต่อความตื่นตัวทางร่างกาย (physiological arousal) ทั้งเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ความตื่นตัวของอวัยวะภายใน (visceral arousal) รวมถึงส่งผลต่อการหลั่งสารเอ็นโดรฟินซึ่งช่วยระงับความเจ็บปวดและกระตุ้นความสุขด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ฟิชเชอร์ยังกล่าวว่า “เป็นเวลาหลายล้านปีแล้วที่มนุษย์เฝ้าสังเกตผู้อื่นเพื่อรียนรู้เคล็ดลับการใช้ชีวิต...เราถูกผลักดันให้เข้าใจความรักเมื่ออ่านนิยาย ดูภาพยนตร์หรือการแสดง” ด้วยเหตุนี้บางครั้งเราก็ได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวจากรายการหาคู่เช่นกัน ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาเชิงสังคม (social cognitive theory) มนุษย์เรียนรู้โดยการดูและเลียนแบบพฤติกรรมที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งรวมไปถึงการกลั่นกรองคนร้าย คนดี คู่รักที่แฮปปี้และคู่รักที่ไม่มีความสุขในโชว์เหล่านี้ 

นอกจากนี้ การพบผู้เข้าแข่งขันหรือรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตรงกับตัวเรา อาทิ ตัวละครที่ไม่สมหวังในความรัก หรือเผชิญกับความสัมพันธ์ที่รัก ๆ เลิก ๆ อาจสร้างแรงบันดาลใจรวมถึงความหวังในหมู่คนดูที่รู้สึกเชื่อมโยงกับมันได้ อย่างเช่น เรื่องราวของความรักที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ที่ตอนจบกลับมาครองรักกันได้แบบแฮปปี้เอนดิ้ง อาจช่วยจุดประกายความหวังให้คนที่อยู่ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้พยายามประคับประคองและปรับตัวกันต่อไป 


René Ranisch / Unsplash

รายการหาคู่ยังช่วยสร้างกลุ่มสนทนาใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม การเกิดขึ้นของกระทู้และแฮชแท็กในโลกออนไลน์กลายเป็น “ตัวเลี้ยงกระแส” ที่ถกกันสนุกกว่าเนื้อหาในรายการเสียอีก การพูดคุยในกระทู้เหล่านั้นอาจเป็นการโพสต์รูปภาพ วลีเด็ด หรือเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนคนที่แต่ละกลุ่มชอบ ในขณะที่งานวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนมักจะผูกพันกันด้วยทัศนคติเชิงลบที่มีต่อผู้อื่น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจำนวนมากจึงมารวมตัวกันเพราะไม่ชอบคนที่ถูกวางตัวให้เป็นตัวร้ายของรายการนี้ และด้วยแนวโน้มปกติของมนุษย์ที่มักสนุกกับเรื่องราววุ่นวายที่ไกลตัวมากกว่าเรื่องที่ตัวเองไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวชีวิตความรักของคนอื่นดึงดูดใจเรามากขึ้นไปอีก 

ประการสุดท้าย รายการหาคู่นี้อาจทำหน้าที่ไม่ต่างจากวรรณกรรมหลีกหนีที่พาให้ผู้คนได้พักจากความวุ่นวายเข้าสู่โลกพาฝัน ดังที่เห็นได้จากการที่ผู้คนเริ่มรับชมรายการประเภทนี้มากขึ้นเมื่อเข้าสู่การล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 เนื่องจากรายการเหล่านี้ล้วนมีภาพฉากที่สวยงาม แปลกใหม่ เคล้าไปด้วยเสียงหัวเราะของผู้คนตามแบบที่ใครหลายคนคิดถึง ในขณะที่อีกกลุ่มก็ใช้มันเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจที่ไม่ต้องคิดเยอะแถมยังสนุก ไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก จึงช่วยให้คลายความกังวล หยุดพักทางความคิด และตัดตัวเองออกจากความตึงเครียดของสถานการณ์ได้อย่างสิ้นเชิง ผ่านการชมเรื่องราวพาฝันที่ชวนเราจินตนาการจากการเข้าไปรับรู้เรื่องราวแซ่บ ๆ ของคนแปลกหน้าที่ช่วยเบนความสนใจของเราไปจากเรื่องราวของชีวิตตัวเอง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้เองเรียลลิตี้แนวหาคู่จึงกลายเป็นหนึ่งในรายการที่ดึงดูดใจผู้ชมมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคที่เราอาจรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงากว่าปกติ และคงมีแนวโน้มที่จะอยู่คู่จอต่อไปได้อีกนานแสนนาน ตราบใดที่รายการยังสามารถตามติดกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ และเท่าที่มนุษย์จะยังคงโหยหา “ความรักดี ๆ ” ให้ชีวิตต่อไป 

ที่มา : บทความ “Study: Rise Of TV Dating Shows A Form Of Mass Therapy” จาก nineforbrands
บทความ “Why are reality dating shows taking over the TV landscape?” โดย Emily Gulla จาก cosmopolitan.com
บทความ “Experts Explain Why We Love Reality Dating Shows, Even Though We Know They're Fake” โดย Dina Cheney จาก goodhousekeeping.com 
บทความ “14 Days of Love Day 8: Why Do We Love Reality Dating Shows?” โดย Nicole Martin จาก thepalmettopanther.com 
บทความ “Turned off and turned on: Why are reality dating shows so addictive?” โดย Steph Arnaldo จาก rappler.com
บทความ “Dating Shows Are More Popular Than Ever During Quarantine—Here's Why Everyone's Loving the Love” โดย Korin Miller จาก parade.com

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง