ถอดวิธีจัดการความเหงาฉบับ “นักบินอวกาศ” กับความโดดเดี่ยวบนห้วงจักรวาลสุดเวิ้งว้าง
Technology & Innovation

ถอดวิธีจัดการความเหงาฉบับ “นักบินอวกาศ” กับความโดดเดี่ยวบนห้วงจักรวาลสุดเวิ้งว้าง

  • 22 Feb 2023
  • 1290

การเดินทางท่องเที่ยวไปในห้วงอวกาศอันแสนกว้างใหญ่คงเป็นความฝันของใครหลายคน แต่สิ่งหนึ่งที่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ “ความเหงา” ที่เหล่านักบินอวกาศต่างต้องเผชิญ ด้วยการเดินทางรอนแรมท่ามกลางความเวิ้งว้างของจักรวาลเป็นเวลานานหลายเดือนหรือกระทั่งเป็นปี ท่ามกลางวงสังคมที่ถูกจำกัดลงเหลือเพียงเพื่อนร่วมงานภายในยานอวกาศและสภาพการทำงานที่กดดัน

มาเรียนรู้วิธีการรับมือกับความรู้สึกเหงาของบรรดานักบินอวกาศที่ต้องใช้ชีวิตติดอยู่ภายในยานอวกาศเป็นส่วนใหญ่ในช่วงเวลาที่ออกปฏิบัติภารกิจนอกโลก โดยการวิดีโอคอลเป็นเพียงช่องทางเดียวในการติดต่อกับบุคคลอันเป็นที่รัก ขณะที่การออกไปภายนอกยานอวกาศยังทำได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างการปฏิบัติงานท่ามกลางดวงดาวที่ไม่คุ้นเคย


Kobby Mendez / Unsplash

สิ่งแวดล้อมใหม่กับความเหงาที่คุ้นเคย
นอกจากการเตรียมพร้อมทางด้านร่างกายและทักษะในการดำรงชีวิตท่ามกลางสภาวะไร้น้ำหนักแล้ว นักบินอวกาศยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจ เพื่อรับมือกับความรู้สึกโดดเดี่ยวที่รอคอยพวกเขาอยู่หลังจากพุ่งทะยานออกนอกโลก แม้ว่าการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในอวกาศจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในตอนต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป การทำงานที่แสนยาวนานท่ามกลางจักรวาลอันเวิ้งว้างกลับนำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยวของนักบินอวกาศไม่ต่างจากคนทั่วไป

สภาพการทำงานเช่นนี้นอกจากจะสร้างความรู้สึกโดดเดี่ยวแล้ว นักบินอวกาศยังต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพจิตที่เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากโลก เช่น ปัญหาการนอนหลับจากการขาดวงจรแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทจากรังสี ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และระดับเสียงในห้วงอวกาศ ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อภาวะทางอารมณ์ของนักบินอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล ความเหนื่อยล้า ความหงุดหงิด และความอ่อนไหวทางอารมณ์

ขณะเดียวกันการปฏิบัติหน้าที่นอกโลกยังส่งผลให้นักบินอวกาศต้องห่างไกลจากครอบครัว เพื่อนฝูง และผู้เป็นที่รัก แม้ว่าเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารผ่านวิดีโอคอลจากนอกโลกจะได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคต่าง ๆ ที่รบกวนสัญญาณการติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินอวกาศกับคนบนพื้นโลก วงสังคมของนักบินอวกาศจึงหดแคบลงเหลือเพียงเพื่อนร่วมงานภายในยานหรือสถานีอวกาศที่ต้องพบเจอและทำงานร่วมกันเกือบตลอด 24 ชั่วโมง


NASA / Unsplash

รับมือความเหงาฉบับนักบินอวกาศ
ทอม วิลเลียมส์ (Tom Williams) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านปัจจัยมนุษย์และองค์ประกอบประสิทธิภาพเชิงพฤติกรรม (Human Factors and Behavioral Performance Element) ภายใต้โครงการวิจัยมนุษย์ (Human Research Program: HRP) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่า (NASA) เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาแนวทางการรับมือกับความรู้สึกโดดเดี่ยวเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีของนักบินอวกาศซึ่งนำมาปรับใช้กับผู้คนทั่วไปได้อีกด้วย

แนวทางดังกล่าวเรียกว่า C-O-N-N-E-C-T ซึ่งนำมาจากตัวอักษรแรกของวิธีการรับมือกับความรู้สึกโดดเดี่ยว 7 ประการ เริ่มจาก Community หรือการเข้าร่วมทางสังคม เป็นวิธีการหนึ่งในการรับมือกับความรู้สึกโดดเดี่ยวของนักบินอวกาศ ด้วยการฝึกทักษะและทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน ที่สำคัญคือการเรียนรู้และตระหนักว่าภารกิจของตนเองมีความสำคัญต่อสังคมในวงกว้าง เช่นเดียวกันกับคนทั่วไปที่การมีส่วนร่วมกับชุมชนสามารถช่วยให้เรารู้สึกถึงความเชื่อมโยงตนเองกับคนอื่นได้มากขึ้น 

สิ่งต่อมาคือ Openness หรือการเปิดกว้างเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวในการใช้ชีวิตและการทำงานได้ นักบินอวกาศจะได้รับการฝึกฝนให้พร้อมที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ท้าทายทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านจิตใจอยู่เสมอ ซึ่งวิธีการนี้ก็ไม่ต่างไปจากบุคคลทั่วไปที่สามารถใช้การเปิดกว้างเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการปรับตัวเมื่อพบเจอความเหงาที่มาพร้อมกับความเศร้า เพื่อใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขด้วยตัวเอง


WikiImages / Pixabay

การติดต่อสื่อสารหรือ Networking ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเยียวยาความเหงาให้กับนักบินอวกาศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการติดต่อกับบุคคลอันเป็นที่รักบนพื้นโลกผ่านทางวิดีโอคอล รวมถึงการนำสิ่งของส่วนตัวที่มีความสำคัญต่อจิตใจอย่างภาพถ่ายครอบครัวติดตัวไปด้วย ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานนอกโลกรู้สึกเชื่อมโยงกับบ้านอันแสนอบอุ่นของตนเองได้ แน่นอนว่าวิธีการนี้ผู้คนทั่วไปสามารถทำได้อย่างง่ายดายกว่านักบินอวกาศ หากรู้สึกเดียวดาย การกลับบ้านหรือการติดต่อไปหาเพื่อนเก่าก็สามารถช่วยให้หัวใจพองโตได้ไม่น้อย

ขณะที่ Needs หรือการให้ความสำคัญกับความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การแบ่งเวลาพักผ่อนและการทำงานอย่างชัดเจน รวมถึงการหากิจกรรมยามว่างก็เป็นตัวช่วยขจัดความเหงาที่ดี แม้ว่านักบินอวกาศจะไม่ได้มีพื้นที่มากนักสำหรับการทำกิจกรรมยามว่าง แต่บางคนก็ใช้พื้นที่ในสถานีอวกาศในการปลูกดอกไม้เป็นงานอดิเรกเพื่อช่วยผ่อนคลายจิตใจ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปการรักษาสมดุลในการใช้ชีวิตและการหางานอดิเรกดี ๆ สักอย่างก็ช่วยคลายเหงาได้เช่นกัน

ทักษะสำคัญอีกประการหนึ่งคือทัศนคติแบบพร้อมออกเดินทางหรือ Expeditionary Mindset ซึ่งเป็นการรับผิดชอบและการเอาใจใส่ที่เริ่มจากตนเองไปสู่คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการเห็นอกเห็นใจ เรียนรู้และยอมรับในความแตกต่าง และพร้อมลดความขัดแย้งอยู่เสมอ ขณะที่ในเชิงกายภาพยังสามารถเริ่มได้จากการรักษาสุขอนามัยที่ดี การมีกิจวัตรประจำวัน และการรักษาความสะอาดพื้นที่ส่วนตัวเพื่อไม่ให้เป็นภาระของใคร สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างการคำนึงถึงคนรอบข้างมากขึ้นและพร้อมก้าวเดินไปกับผู้อื่น


liuzishana / Freepik

ส่วน Countermeasures หรือการโต้ตอบกับตัวเองก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวของนักบินอวกาศได้ด้วยการเขียนบันทึกประจำวัน สิ่งนี้นอกจากจะช่วยระบายอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจแล้ว ยังทำให้ผู้ปฏิบัติงานท่ามกลางความเครียดได้มีโอกาสกลับมาทบทวนและสำรวจความรู้สึกของตนเองที่มีต่อเหตุการณ์ในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลและช่วยให้ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และแน่นอนว่าวิธีการนี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกคน

และสุดท้ายคือ Training and Preparation หรือการฝึกฝนและการเตรียมความพร้อมกับทุกสถานการณ์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่นักบินอวกาศได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรู้จักจุดแข็งของตนเองและพัฒนาต่อยอดให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ในด้านองค์ความรู้ แต่ในเชิงอารมณ์ความรู้สึกก็ยังสามารถเรียนรู้ที่จะนำวิธีการรับมือจากอดีตมาประยุกต์กับความท้าทายใหม่ ๆ ในชีวิตได้เสมอ และแน่นอนว่าคนเราคงไม่ได้พานพบความรู้สึกเหงาเพียงหนเดียว การเรียนรู้และฝึกฝนที่จะอยู่กับความเหงาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นความรู้สึกนี้ไปได้


p2722754 / Pixabay

หุ่นยนต์ลดความโดดเดี่ยว
นอกจากวิธีการที่นักบินอวกาศสามารถปฏิบัติได้ด้วยตัวเองเหล่านี้แล้ว ปัจจุบันยังมีความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะทำหน้าที่เสมือนเพื่อนรู้ใจและช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวให้กับผู้เดินทางท่องอวกาศเป็นเวลายาวนานได้

ตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์ Robonaut 2 ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์หัวสีทอง ซึ่งปัจจุบันใช้งานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้รับการออกแบบมาให้สามารถทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ และในอนาคตยังจะมีการพัฒนาให้ทำงานที่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่มนุษย์จะทำได้ และกลายเป็นหุ่นยนต์ที่เป็นเพื่อนทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่นักบินอวกาศในสภาพแวดล้อมอันโดดเดี่ยว

แต่สำหรับ Kirobo หุ่นยนต์นักบินอวกาศขนาดเล็กจากญี่ปุ่นไม่ใช่เพียงหุ่นยนต์เพื่อนร่วมงานของนักบินอวกาศ แต่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนทางด้านอารมณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงานนอกโลกโดยเฉพาะ ด้วยความสามารถในการจดจำและตอบสนองต่อคำสั่งของเจ้าของได้ โดยเป็นหุ่นยนต์ติดตามโคอิจิ วากาตะ (Koichi Wakata) ผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติคนแรกของญี่ปุ่นในปี 2013 

ในอนาคตเมื่อการออกแบบหุ่นยนต์ก้าวถึงจุดที่สามารถเรียนรู้และตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ได้ดีขึ้น หุ่นยนต์เหล่านี้อาจเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนทางด้านจิตใจให้กับการปฏิบัติภารกิจนอกโลกของนักบินอวกาศ หรือกระทั่งช่วยเยียวยาความรู้สึกโดดเดี่ยวให้กับคนทั่วไปได้ ตราบใดที่ความเหงายังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์รู้สึกได้อยู่เสมอ

ที่มา : บทความ “Isolation – What Can We Learn From the Experiences of NASA Astronauts?” โดย Nathan A. Cranford และ Laurie Abadie จาก www.nasa.gov
บทความ “Astronaut who spent a year in space shares tips on dealing with isolation” โดย A. Pawlowski จาก www.today.com
บทความ “How space and isolation affect astronauts' mental health” จาก www.asc-csa.gc.ca
บทความ “From astronauts: 5 ways of coping with anxiety, loneliness” โดย Megan Finnerty จาก www.usatoday.com
บทความ “How to combat the loneliness of space travel” โดย Richard Hollingham จาก www.bbc.com

เรื่อง : ธีรพล บัวกระโทก