“Ministry of Loneliness” กระทรวงแห่งความเหงา  พร้อมต่อกรกับปัญหาเมื่อความเหงาเป็นเรื่องของเราทุกคน
Technology & Innovation

“Ministry of Loneliness” กระทรวงแห่งความเหงา พร้อมต่อกรกับปัญหาเมื่อความเหงาเป็นเรื่องของเราทุกคน

  • 22 Feb 2023
  • 1046

ความเหงาไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียวอีกต่อไป เมื่อความเหงาได้สร้างปัญหาระดับใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อมวลอารมณ์ระดับประชาชาติ ประเทศที่มีวิสัยทัศน์อย่าง “สหราชอาณาจักร” และ “ญี่ปุ่น” จึงนำร่องหาแนวทางแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวของประชากรที่นำมาสู่ปัญหาใหญ่อย่างการฆ่าตัวตาย ด้วยการก่อตั้ง “กระทรวงแห่งความเหงา” ที่มีรัฐมนตรีว่าการฯ ทำหน้าที่วางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมสร้างพื้นที่กลางสำหรับคนเหงาให้สามารถพบปะกับคนอื่น ๆ ได้อย่างมั่นใจ เพื่อป้องกันผู้คนที่เริ่มโดดเดี่ยวตนเองจากคนรอบตัว


sabinevanerp / pixabay

จุดเริ่มต้นของกระทรวงแห่งความเหงา
กระทรวงแห่งความเหงาอาจเป็นชื่อที่แปลกหูสำหรับหลายคน เพราะขึ้นชื่อว่า “กระทรวง” ก็ต้องรู้สึกถึงความขึงขัง เป็นทางการ เป็นหน่วยงานบริหารความเป็นไปของประเทศ จึงไม่น่าสนใจปัญหา “ความเหงา” ที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลเท่าใดนัก แต่กลับกัน ในสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น รัฐบาลของทั้งสองประเทศมองเห็นว่า ปัญหา “ความเหงา” แม้เป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็นำไปสู่ปัญหาขนาดใหญ่ได้

ในสหราชอาณาจักร จุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของโจ ค็อกซ์ (Jo Cox) นักการเมืองหญิงจากพรรคแรงงานที่รู้สึกถึงความแปลกที่แปลกทางในสมัยเรียนมหาวิทยาลัยจนเธอสัมผัสกับความเหงาอย่างลึกซึ้ง และได้เห็นผลเสียของมันอย่างชัดเจนเมื่อลงเล่นการเมืองและได้พบกับปัญหาความเหงาของท้องที่ในเขตเลือกตั้ง นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เธออยากริเริ่มสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาความเหงาในสหราชอาณาจักร ที่ไม่เพียงส่งผลเสียทางด้านจิตใจ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของ “คนเหงา” ด้วย โดยเธอเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นต่อไป

ด้านญี่ปุ่น ปัญหาความเหงาถูกมองเชื่อมโยงกับอัตราการฆ่าตัวตายในเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 และเป็น 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงในอัตรา 14.9 ต่อ 100,000 คน ประกอบกับญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดของประชากรน้อยลงและมีแนวโน้มจะเป็นประเทศผู้สูงอายุ จึงทำให้ปัญหาการฆ่าตัวตายและความเหงาถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่บีบให้ผู้คนต้องรักษาระยะห่างและโดดเดี่ยวตัวเองจากคนรอบข้าง ทำให้ทั้งผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดเทคโนโลยีหรือคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีต่างก็ประสบปัญหาความเครียดและความเหงา รัฐบาลญี่ปุ่นมองเห็นว่า ปัญหาความเหงาโดดเดี่ยวอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายที่มากขึ้นกว่าปกติได้ จึงนำไปสู่การตั้ง “กระทรวงแห่งความเหงา” ในที่สุด


artbykleiton / pixabay

เหตุเกิดจาก “ความเหงา”
ในสหราชอาณาจักร ปัญหาความเหงาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ความเหงาเรื้อรัง” ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เป็นต้นว่า การเปลี่ยนงาน ย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เราคุ้นชินในทุกวัน และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานที่และคนใหม่ ๆ ได้ จนต้องรู้สึกโดดเดี่ยว นำไปสู่ความเหงาในที่สุด

ตัวอย่างจากประสบการณ์ของเครกจ์ที่แยกทางกับภรรยาและมีสิทธิ์พบลูกชายเพียงไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์ เขาบรรยายความรู้สึกไว้ว่า “มันเกิดขึ้นสัก 2-3 เดือนแรก ผมนั่งอยู่แต่ในบ้าน คุณจะพบว่ามันแย่มาก ผมอยู่ตัวคนเดียว ทั้งที่ผมเคยมีลูกชายอยู่ใกล้ ๆ บ้านเงียบมาก คุณจะโดดเดี่ยวสุด ๆ เลย ขณะเดียวกันผมยังเสียเพื่อนส่วนใหญ่ไปด้วย มันไม่ใช่แค่ผมเลิกกับภรรยา แต่เพื่อน ๆ ของผมด้วย เพราะมันมีแต่ความจงเกลียดจงชัง”

อีกตัวอย่างหนึ่งจากโลลิตา ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องอยู่แต่บ้านและไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ จนความโดดเดี่ยวเริ่มทำให้รู้สึกแย่ “ฉันไม่อยากอาบน้ำในตอนเช้า เริ่มรู้สึกเครียด ไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวลด ฉันเคยผ่านอะไรในชีวิตมามากและทุกทีฉันก็กลับมาได้ แต่ครั้งนี้… มันเหมือนกับว่าประตูปิดใส่ฉันทุกบาน”

ในฝั่งญี่ปุ่น ปัญหาการเสียชีวิตจากความโดดเดี่ยวเคยเกิดขึ้นขนานใหญ่มาแล้ว ทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ ฯลฯ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประสบภัยสูงวัยที่มักไม่มีทางเลือกมากนัก โดยมักต้องอยู่อาศัยตัวคนเดียวและสุดท้ายก็เสียชีวิตคนเดียวโดยไม่มีใครดูแล นอกจากนี้ การต้องโดดเดี่ยวตัวเองเพื่อป้องกันโรคระบาดที่ผ่านมา ยังทำให้ผู้คนรู้สึกขาดการติดต่อ บางคนต้องตกงานจนส่งผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจ ที่ท้ายสุดอาจนำไปสู่การคิดสั้น


Graehawk / pixabay

รับมือกับความเหงาแบบกระทรวงแห่งความเหงา
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศมองว่าควรริเริ่มแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะความเหงาโดดเดี่ยวของประชากรไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบด้านจิตใจและร่างกายของประชากร แต่ยังอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย

ในสหราชอาณาจักร กระบวนการแก้ปัญหาเริ่มขึ้นจากพรรคการเมือง โดย โจ ค็อกซ์ ได้ผลักดันให้เกิดการสำรวจปัญหาความเหงาโดดเดี่ยวในสังคมที่นำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างพรรคการเมือง เพื่อทำการสำรวจ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น รัฐบาล เทศบาลเมือง เจ้าของกิจการ องค์กรอิสระต่าง ๆ ในการสร้างพื้นที่ดูแลคนเหงาให้สามารถเข้าสังคมได้ง่ายขึ้น หรือการทำงานเชิงรุกโดยให้องค์กรอิสระช่วยดูแลคนที่มีแนวโน้มจะอยู่ในสภาวะเหงาโดดเดี่ยว ทั้งยังได้ตั้ง “รัฐมนตรีแก้เหงา” เป็นผู้ดูแล จนทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการวางนโยบาย ‘ลดเหงา” อย่างจริงจัง สะท้อนให้เห็นได้จากการผ่านงบประมาณเพื่อแก้เหงาให้ประชาชนมากถึง 20 ล้านปอนด์ในปี 2020

ในญี่ปุ่นเอง นโยบายแก้เหงาก็เริ่มจากพรรคการเมืองเช่นกัน พรรครัฐบาลเสรีประชาธิปไตยได้ร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านในการแก้ปัญหาความเหงาโดดเดี่ยวในสังคมญี่ปุ่น โดยเริ่มมีการศึกษาเฉพาะกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางในการวางนโยบายแก้ปัญหาของรัฐบาล

ในเวลาถัดมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการแต่งตั้ง “รัฐมนตรีความเหงา” เช่นกัน โดยให้รัฐมนตรีจริง ๆ คือ นายเท็ตซึชิ ซากาโมโต ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหอกรวมพลังกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความเหงา การฆ่าตัวตาย ฯลฯ โดยขึ้นตรงต่อนายโยชิฮิเดะ ซูงะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐบาลที่ 2 ในโลกที่มีนโยบายแก้เหงาอย่างจริงจัง และเป็นที่จับตามองจากนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนจากทั้งรัสเซีย สเปน แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา

แผนนโยบายแก้เหงาของรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่ใช่เพียงนโยบายเดี่ยว ๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเท่านั้น แต่ยังได้รับการสอดแทรกไว้ในแนวนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลและมองเห็นปัญหาความเหงาอย่างจริงจัง

แน่นอนว่า ท้ายที่สุดความเหงาอาจเป็นเรื่องของบุคคลนั้น ๆ แต่การที่รัฐบาลมองเห็นปัญหาและก่อตั้ง “กระทรวงแห่งความเหงา” ก็ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมองขาดและใส่ใจประชาชน

ที่มา : เอกสาร “Jo Cox Loneliness start a conversation” โดย Jo Cox Commission on Loneliness จาก ageuk.org.uk
บทความ “Loneliness minister: ‘It's more important than ever to take action’” โดย Department for Digital, Culture, Media & Sport, Office for Civil Society, and Baroness Barran MBE จาก gov.uk
บทความ “Japan appoints 'minister of loneliness' to help people home alone” โดย Shogo Kodama จาก asia.nikkei.com
บทความ “Japan's 'minister of loneliness' in global spotlight as media seek interviews” โดย Mainichi Japan จาก mainichi.jp

เรื่อง : ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช