Pack to the Future: ส่องเทรนด์บรรจุภัณฑ์ยุคใหม่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
Technology & Innovation

Pack to the Future: ส่องเทรนด์บรรจุภัณฑ์ยุคใหม่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

  • 02 Jun 2023
  • 838

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน และหนึ่งตัวการที่ทำให้ปัญหานี้ยิ่งทวีความซับซ้อนรุนแรงก็คือ “บรรจุภัณฑ์” อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าบรรจุภัณฑ์บางประเภทที่ได้รับความนิยมก็ย่อยสลายได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น พลาสติก โฟม ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายร้อยปีในการย่อยสลาย และเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองตามมา

ปัจจุบัน จึงมีสิ่งที่เข้ามาทดแทนอย่างเช่น “บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก” ที่เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน อีกทั้งยังต้องบอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ ผู้ผลิตและนักออกแบบที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องทบทวนถึงกระบวนการเลือกใช้วัสดุสำหรับเป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุในเชิงเศรษฐกิจ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

งานเสวนา  Pack to the Future: บรรจุภัณฑ์สู่อนาคตที่ยั่งยืนที่จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566 ณ ห้อง MDIC ชั้น 2 TCDC กรุงเทพฯ จึงได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการด้านวัสดุสร้างสรรค์ 5 ราย มาเพื่อร่วมบอกเล่าเรื่องราวของ “บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก” ที่พร้อมจะส่งต่อความยั่งยืนแก่คนรุ่นหลัง 

แก้วกระดาษไบโอย่อยสลาย PBS โดย บริษัท ดี.ดี. เพเพอร์คัพ จำกัด
คุณเปรมยุดา หิรัญกุลเมธา รองกรรมการผู้จัดการและผู้ออกแบบ บริษัท ดี.ดี. เพเพอร์คัพ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารกระดาษและเครื่องดื่มใช้แล้วทิ้งจากกระดาษและพลาสติก พร้อมบริการสกรีนโลโก้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐานจากโรงงาน GMP (Good Manufacturing Practice) และหลักเกณฑ์ในการผลิตเกี่ยวกับอาหาร (Food Grade) ได้นำเสนอตัวอย่างผลงานรักษ์โลกคือ “แก้วกระดาษไบโอย่อยสลาย PBS”

แนวคิดของแก้วกระดาษไบโอย่อยสลาย PBS (Polybutylene Succinate) ซึ่งเป็นสารกันน้ำที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด โดยเคลือบสารกันน้ำ PBS ทั้งบริเวณด้านในและด้านนอกแก้ว เพื่อกันรั่วซึม และทำให้แก้วไม่ยวบหรืออ่อนตัวเร็ว ซึ่งแก้วกระดาษชนิดนี้ใช้เวลาในการย่อยสลายเพียง 180 วันด้วยการฝังกลบจากจุลินทรีย์ ความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสมในดิน โดยจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยต้นไม้ และไม่ทิ้งสิ่งตกค้างที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม 

ขณะที่ลวดลายที่ใช้ในการสกรีนลงบนแก้วกระดาษเป็นหมึกน้ำมันถั่วเหลือง (Soy Ink) ที่ไม่หลงเหลือสารเคมีตกค้าง จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตยังได้คำนึงถึงการออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านลวดลายและสีสันที่สวยงามของสัตว์และธรรมชาติบนโลก เช่น ลายเต่าทะเล ลายปลาวาฬ ฯลฯ ที่ช่วยทำให้บรรจุภัณฑ์น่าใช้งานมากยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว

“สิ่งแวดล้อมและการรักษ์โลกจะอยู่กับมนุษย์เราไปตลอด ขณะที่การบอกว่ารักษ์โลกไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวเท่านั้น แต่เรายังสามารถออกแบบให้มีสีสันสวยงามได้ตามที่ต้องการ”

แค่มีบรรจุภัณฑ์สวย ก็สร้างแบรนด์ได้ โดย LocoPack
คุณณิชยา อนันตวงษ์ Co-Founder ของแบรนด์ LocoPack แพลตฟอร์มออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ออนไลน์ที่ให้บริการครบวงจร สามารถสั่งผลิตได้ตั้งแต่จำนวนเริ่มต้นเพียง 100 ชิ้น พร้อมเชื่อมโยงโรงงานผู้ผลิตเข้ามาในระบบ ทั้งยังมีระบบการคำนวณราคาเปรียบเทียบทันที พร้อมติดตามงานผลิต จึงตอบโจทย์ผู้ประกอบการมือใหม่เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ จุดแข็งของแบรนด์ LocoPack ก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเชื่อมโยงโรงงานผู้ผลิตและกลุ่มนักออกแบบเข้ากับความต้องการของลูกค้า โดยมีเท็มเพลตสำหรับการดีไซน์ให้เลือกใช้จำนวนมาก และมีรูปทรงกว่า 25 แบบให้เลือกสรร สามารถปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ได้ตามต้องการ และสำหรับใครที่ไม่สะดวกออกแบบด้วยตนเอง LocoPack ก็มีกลุ่มนักออกแบบช่วยดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้ได้ตามที่ต้องการ พร้อมส่งตรงไปยังโรงงานผู้ผลิตได้ทันที จึงตอบโจทย์ทั้งกลุ่มโรงงานและนักออกแบบให้มีงานและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางออนไลน์ที่เชื่อมโยงไปถึงลูกค้าได้สะดวกโดยตรง 

LocoPack ยังสามารถรองรับงานของผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับ SMEs จนถึงองค์กรขนาดใหญ่ให้เข้าถึงและผลิตบรรจุภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของตัวเองได้ตามต้องการ เพื่อประโยชน์ในการสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์และเกิดการจดจำ นับเป็นการช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับวัสดุทั้งกระดาษและพลาสติก ที่เมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็สามารถนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เหลือเศษทิ้ง 

“ผู้ประกอบการ SMEs ก็สามารถเริ่มธุรกิจได้ง่าย ๆ ผ่านเครื่องมือดิจิทัลเพื่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และเข้าใจทุกความต้องการของคุณ เพื่อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการสร้างแบรนด์ธุรกิจของตัวเอง”

วัสดุจากเศษเหลือใช้ทางการเกษตร โดย ศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นภดล สังวาลเพ็ชร อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวของศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน แหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมตัวอย่างวัสดุที่สร้างสรรค์ขึ้นจากเศษเหลือใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งถูกนำมาแปรรูปเป็นวัสดุที่คำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระเป๋าจากฟางข้าว โคมไฟจากแกนกัญชง รองเท้าจากกะลามะพร้าว เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการนำสิ่งไร้ค่าหรือวัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดมูลค่า และเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและบุคคลภายนอกในการต่อยอดองค์ความรู้ ค้นหาไอเดีย และแนวทางในการสร้างสรรค์จากเศษวัสดุเหลือใช้ รวมถึงสามารถสร้างเป็นธุรกิจและบริการให้กับผู้ที่สนใจในการนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ 

ทั้งนี้ ศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนมีการทำงานร่วมกับชุมชน ให้สามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ มาเพิ่มมูลค่าได้จริง และนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจหรือหารายได้เสริมได้ต่อไป ในทางกลับกัน ตัวอย่างเหล่านี้ยังเป็นบทเรียนที่ทำให้เหล่านักศึกษาได้มองเห็นบริบทของชุมชนและใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ทั้งเป็นการผลักดันคนรุ่นใหม่ให้เห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืน

“การนำโปรดักส์จากวัสดุเหลือใช้ไปสื่อสารกับคนในชุมชน จะทำให้พวกเขาเห็นภาพมากขึ้น โดยเราจะไม่บังคับ เพียงแต่นำเสนออีกแนวทางหนึ่งที่สามารถต่อยอดและสร้างรายได้ได้จริง”

แบรนด์พลาสติกที่ปรับตัวไปกับโลก โดย Nameco
จากความใส่ใจในปัญหาพลาสติกของคุณพิไลภรณ์ นำศิริวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท นำง่ายฮง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Nameco ผู้ผลิตสินค้าพลาสติกที่ปรับตัวเพื่อความยั่งยืน โดยในฐานะทายาทของบริษัท นำง่ายฮง ธุรกิจพลาสติกของใช้ภายในบ้านที่ตระหนักถึงเทรนด์สิ่งแวดล้อม เธอพบว่าในช่วงปี 2019 คำว่า “พลาสติกคือผู้ร้าย” เริ่มแพร่หลายในวงกว้าง จึงมีการรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลเสียเกี่ยวกับการใช้พลาสติก จนนำมาสู่การรณรงค์เลิกใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ถึงแม้บริษัทนำง่ายฮงจะเป็นบริษัทผลิตพลาสติกของใช้บ้าน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการรณรงค์การใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทางบริษัทก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของโลกใบนี้ แบรนด์ Nameco จึงมุ่งเน้นการผลิตของใช้พลาสติกในบ้านเช่นเดิม หากแต่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยพลาสติกของ Nameco แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Bio-based ที่ผสมพืชหรือวัตถุดิบธรรมชาติเข้าไปเพื่อลดการใช้พลาสติก สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6 เดือน แต่ขึ้นรูปยาก แตกหักง่าย และมีราคาแพง และอีกแบบคือ Fossil-based ที่ทำมาจากปิโตรเลียมหรือพลาสติกทั่วไปแต่มีการใส่สารพิเศษให้ย่อยสลายภายในเวลา 5-10 ปี โดยการฝังกลบในอุณหภูมิที่เหมาะสม ที่นับเป็นความพยายามในการตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจากผู้ผลิตสินค้าจากพลาสติกนั่นเอง

“วันหนึ่งเราไปเจอรูปเต่าที่โดนหลอดเสียบจมูก เลยกลับมาคิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้บ้าง และการที่เราเป็นลูกหลานในบริษัทพลาสติก จึงมุ่งเน้นที่จะทำพลาสติกในบ้านเช่นเดิม แต่ต้องเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ต่อยอดองค์ความรู้คืนกลับสู่ชุมชน โดย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
ดร.ปรียานุช สีโช-ละ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร นักวิจัยผู้พัฒนาคุณสมบัติเยื่อพืชธรรมชาติสำหรับบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายทางชีวภาพในเชิงพาณิชย์ และสร้างโมเดลต้นแบบสำหรับเกษตรกร เพื่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในอนาคต ได้บอกเล่าเรื่องราวในฐานะนักวิจัยและผู้พัฒนาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษากับกลุ่มชุมชนทั้งชาวบ้านและเอกชน 

เธอพบว่า ในประเทศไทยมีวัตถุดิบที่เหลือทิ้งทางการเกษตรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว ชานอ้อย ไผ่ กัญชง ผักตบชวา และอื่น ๆ ที่ชาวบ้านและเกษตรกรมักนำไปเผาทิ้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์ต่อไปได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ด้านการวิจัย สิ่งที่เธอกำลังทำในวันนี้ จึงเป็นความพยายามเชื่อมสัมพันธ์กับชาวบ้าน ด้วยการนำองค์ความรู้ที่มีไปเผยแพร่ให้ผู้นำชุมชน เพื่อถ่ายทอดให้กับชาวบ้านและคนรุ่นหลัง และทำให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ของการนำเศษเหลือทางการเกษตรมาปรับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่นำไปพัฒนาต่อได้ นับเป็นการนำองค์ความรู้มาใช้เพื่อคืนประโยชน์กลับสู่ชุมชนอย่างแท้จริง

“สถาบันของเราไม่เรียกขยะว่า ‘ขยะ’ แต่จะเรียกว่า “ผลพลอยได้ทางการเกษตร” ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดได้ และสิ่งนี้จะต้องได้รับการสื่อสารไปยังกลุ่มชาวบ้านให้เห็นค่าด้วย” 

สำหรับผู้ที่สนใจทางเลือกใหม่ ๆ เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สามารถมาร่วมค้นหาทางเลือกใหม่ของบรรจุภัณฑ์จากผู้ประกอบการ 15 ราย ในงานจัดแสดง “Pack to the Future บรรจุภัณฑ์สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 20 สิงหาคม 2566 (หยุดทุกวันจันทร์) ณ ห้อง Material & Design Innovation Center (MDIC) ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่มา : สรุปกิจกรรมเสวนา “Pack to the Future: บรรจุภัณฑ์สู่อนาคตที่ยั่งยืน” วันศุกร์ ที่ 19 พฤษภาคม 2566 ณ ห้อง MDIC ชั้น 2 TCDC กรุงเทพฯ

เรื่อง : กองบรรณาธิการ