รู้จัก Thai BCG Materials วัสดุไทย...สร้างสรรค์สู่ความยั่งยืน
Technology & Innovation

รู้จัก Thai BCG Materials วัสดุไทย...สร้างสรรค์สู่ความยั่งยืน

  • 19 Jul 2023
  • 1063

เชื่อว่าใครที่ติดตามเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจยั่งยืน ต้องคุ้นหูกับคำว่า BCG Economy Model กันอยู่บ้าง เพราะเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ประเทศไทยมุ่งมั่นจะนำมาใช้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น 

โดยใจความสำคัญของ BCG Economy Model ก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทย อย่างความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม บนพื้นฐานนโยบาย 3 ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ซึ่งจะทำงานไปควบคู่กันเพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งของประเทศไทยให้ไปสู่ Thailand 4.0 ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) และนวัตกรรม (Innovation) 

 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการนำเอารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ BCG Economy มาให้ในประเทศไทย ก็คงหนีไม่พ้นภาคการเกษตร ที่มีการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและลดการสูญเสียทรัพยากร ลดการเกิดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด และส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อนำไปสู่การกระจายโอกาสและรายได้ ตลอดจนช่วยนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

BCG Economy กับการพัฒนา 5 วัสดุไทย
ในงานเสวนา “Thai BCG Materials วัสดุไทย สร้างสรรค์สู่ความยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดย Material & Design  Innovation Center สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้นำเอาเทรนด์การพัฒนาวัสดุสมัยใหม่ของไทย มาผสมผสานเข้ากับแนวคิดแบบ BCG พร้อมเชิญชวนเหล่าผู้ประกอบการด้านวัสดุสร้างสรรค์ของไทยจำนวน 5 ราย มาร่วมพูดคุยแบบเป็นกันเอง พร้อมจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ และแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางใหม่ของวัสดุไทย ภายใต้แนวคิด BCG Economy เพื่อร่วมค้นหาคำตอบเกี่ยวกับอนาคตของวัสดุไทย ว่าจะสามารถพัฒนาให้มีนวัตกรรมและยั่งยืนได้มากขนาดไหน โดย Creative Thailand ได้รวบรวมจุดเด่นของแต่ละผลิตภัณฑ์ของทั้ง 5 ผู้ประกอบการ มาเพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบได้เลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติกันแล้ว ดังนี้ 

01 ผ้าบาติกร่วมสมัยที่ผสานแพสชันเข้ากับเศษวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ 
โดย คุณทยิดา อุนบูรณะวรรณ แบรนด์ Marionsiam
ต้นกำเนิดของผ้าบาติกแบรนด์ Marionsiam นั้นคือผลิตภัณฑ์เศษเหลือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือที่เรียกกันว่า “Dead Stock” ซึ่งถูกนำมาผ่านเทคนิคการสร้างสรรค์แบบ “บาติก” จนเกิดความสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยคุณทยิดา เจ้าของแบรนด์เล่าว่า โดยปกติการตัดเย็บสิ่งทอทั่วไปจะมีเศษเหลือของผ้าจำนวนมากที่รอวันถูกทำลายทิ้ง ทำให้เธอรู้สึกเสียดายทรัพยากรที่ยังไม่เคยถูกใช้งานเลยเหล่านี้ และนำมาสู่ไอเดียการนำเอาเศษผ้า Dead Stock มาสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมูลค่าขึ้นมาอีกครั้ง 

แม้ว่าแบรนด์ Marionsiam จะเพิ่งเริ่มต้นมาเป็นเวลาเพียงสามปีแล้ว แต่ก็ได้รับการยอมรับของผู้บริโภคจำนวนมาก และยังเป็น 1 ใน 5 แบรนด์ไทยที่ได้รับโอกาสให้ไปจัดแสดงผลงานที่งาน เวียนนา แฟชั่น วีก ในปี 2021-2022 ด้วยเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทำมือซึ่งได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์ต้นแบบใน Home Studio เล็ก ๆ ของเธอเอง โดยคุณทยิดากล่าวว่า เทคนิคการทำบาติกเป็นหนึ่งในเทคนิคที่มีเสน่ห์และสามารถนำมาปรับใช้เพื่อการออกแบบที่มีความร่วมสมัยได้ไม่ยาก โดยการนำเทียนมาเขียนเป็นลวดลายลงบนผ้าตามแต่ไอเดียสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เธอยังได้ใช้ไขเทียนที่เหลือจากน้ำตาเทียนในวัดวาอารามต่าง ๆ ของจ. พระนครศรีอยุธยาซึ่งอยู่ใกล้กับสตูดิโอนำมาใช้ เพื่อลดปริมาณไขเทียนที่จะกลายเป็นขยะของวัดอีกด้วย 

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของ Marionsiam มีทั้งเสื้อผ้าสำหรับบุรุษและสตรี รวมถึงยังมีแอคเซสซอรีต่างๆ เช่น กระเป๋าสะพายและ tote bag โดยงานแต่ละชิ้นล้วนมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกเนื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับผลงานชิ้นต่างๆ เช่น ผ้าที่ดูดซับสีได้ดี หรือผ้าที่มีเท็กเจอร์ที่แตกต่าง ไปจนถึงขั้นตอนการใช้เทคนิคบาติกที่ผ้าบางผืนอาจเหมาะกับเทคนิคสีน้ำมากกว่าการเขียนลายบาติกทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลงาน

ผลิตภัณฑ์ของ Marionsiam จึงนับว่าถูกสร้างสรรค์ขึ้นบนพื้นฐานของ BCG อย่างแท้จริง ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุเศษเหลือจากอุตสาหกรรม ไปจนถึงกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานที่พยายามลดการใช้ทรัพยากรและผลกระทบ่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสูงสุดนั่นเอง

02 หนังกาบกล้วยโดยดีไซเนอร์หัวใจรักษ์ธรรมชาติ
โดย คุณธนกร สดใส แบรนด์ Tanee Siam
ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านเคมีสิ่งทอและที่บ้านประกอบอาชีพเป็นบ้านช่างสกุลบายศรีอยู่เดิมที่จ. ราชบุรี ทำให้คุณธนกรมีความผูกพันกับวัฒนธรรมชุมชนและวิสาหกิจชุมชนมาก่อนหน้า ประกอบกับเล็งเห็นถึงปัญหาว่า งานแทงหยวกและบายศรีกำลังกลายเป็นวัฒนธรรมที่ใกล้จะสูญหาย ทั้งยังอาจส่งผลกระทบให้ชุมชนต้องสูญเสียงานและรายได้ตามไปด้วย อีกทั้งทรัพยากรสำคัญอย่าง “กล้วยตานี” ที่มีอยู่มากมายในชุมชนแห่งนี้ก็จะถูกละทิ้งและใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่อย่างที่เคย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้คุณธนกรตัดสินใจเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการแสวงหาความรู้และความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ พร้อมนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการผลิตวัสดุใหม่มาใช้ เพื่อนำเอาวัตถุดิบในชุมชนอย่างกล้วยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แบรนด์ Tanee Siam นับเป็นแบรนด์ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัฒนธรรมของชุมชนไทย โดยฝีมือและความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนเองที่มีความเข้าใจถึงอรรถประโยชน์ของวัตถุดิบพื้นบ้านอย่างกล้วยตานีเป็นอย่างดี เมื่อบวกกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีจึงทำให้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ จากกล้วยตานีที่ถูกทิ้งก็กลายมาเป็น “หนังกาบกล้วย” คุณภาพสูง นำมาใช้สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย เครื่องเขียน ของแต่งบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำยางจากกล้วยมาใช้เป็นสารกันน้ำและกันเชื้อราที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่น ทนต่อการขูดขีดได้ และนำมาใช้ประกอบในชิ้นงานได้เป็นอย่างดี  ขณะที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ก็เน้นการนำ Soft Power “จากความเชื่อสู่แฟชั่น” มาใช้ คือนำความเชื่อเรื่องกล้วยตานีมานำเสนอใหม่ในฐานะผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากวัตถุดิบราชินีแห่งกล้วย ที่ปัจจุบันเดินทางมาเป็นเวลากว่า 9 ปีแล้ว ด้วยแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจชุมชน และการแสวงหาวัสดุที่หยิบมาสร้างสรรค์ได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะเศษเหลือทางการเกษตรและวัสดุที่อยู่ใกล้ตัว เพราะหากเรามีความเข้าใจในวัสดุ ก็อาจจะค้นพบศักยภาพใหม่ ๆ ของวัสดุรอบตัวได้เช่นกัน 

03 แปลงร่างเศษวัสดุในโรงงานบนแนวคิด Circular Economy
โดย คุณนรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร และคุณมนัสลิล มนุญพร แบรนด์ Loqa
เพราะสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบันนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกือบ 40% ต่อปี โดยเฉพาะในกระบวนการก่อสร้างและการผลิตวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ก็ยังขาดความหลากหลายและความสวยงาม ทำให้เกิดข้อจำกัดในการออกแบบที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ แบรนด์ Loqa จึงได้สร้างสรรค์วัสดุก่อสร้างแนวใหม่บนพื้นฐานแนวคิดแบบ BCG คือคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเน้นการนำเสนอความสวยงามของวัสดุที่เหมาะสำหรับนักออกแบบและสถาปนิกในการนำไปใช้

โดยปกติแล้ว การทำอิฐหรือวัสดุก่อสร้างนั้นจำเป็นต้องขุดเจาะเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ แต่อิฐ “Loqa Lego” นี้ผลิตขึ้นจากขยะจากอุตสาหกรรม เช่น เซรามิก แก้ว ซึ่งผ่านกระบวนการความร้อนมาแล้วกว่า 80% ดังนั้นเมื่อนำมาผลิตต่อเป็นวัสดุก่อสร้างใหม่ ก็จะช่วยประหยัดพลังงานในการผลิตชิ้นงานมากขึ้น ทั้งพลังงานความร้อนและพลังงานน้ำ อีกทั้งยังมีความแข็งแรงมากกว่าอิฐมอก. ทั่วไป เนื่องจากวัตถุดิบถูกแปรรูปมาแล้วครั้งหนึ่ง Loqa Lego ที่ได้จากเศษวัสดุก็ยังมีความหลากหลายตั้งแต่สีสัน รูปลักษณ์ รูปทรง หรือรูปสัมผัส ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่เหมือนกับสินค้าที่ผลิตแบบ Mass Production ทำให้นักออกแบบหรือสถาปนิกสามารถนำไปใช้งานต่อได้หลากหลายและสนุกกับการใช้งานวัสดุได้มากกว่าเดิม เสมือนเป็นเลโก้ให้นักออกแบบได้ใช้ไอเดียสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ในการใช้งานวัสดุที่ตอบโจทย์ Circular Design ได้อย่างลงตัว

โดยในอนาคตทางแบรนด์ Loqa วางแผนจะสร้างสรรค์วัสดุอื่นๆ ที่ทำจากวัสดุเศษเหลือ 100% และเพิ่มประโยชน์ในการใช้งานมากขึ้น เช่น วัสดุสำหรับห้องครัว ห้องน้ำ หรือวัสดุเพื่อการตกแต่งภายใน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์แตกต่างออกไปจากเดิม และอิฐทุกก้อนที่สร้างขึ้นจะต้องมีคุณสมบัติในดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วย

04 ไม้อัดดัดโค้ง...วัสดุใหม่ที่ต่อยอดดีไซน์ได้อย่างไม่รู้จบ
โดย คุณบุญชัย หวังสาธิต บริษัท สินเจริญ วีเนียร์ แอนด์ พลายวู้ด จำกัด 
ด้วยปณิธานที่ต้องการเป็น “ที่พึ่งพาทุกปัญหาด้านแผ่นไม้อัด” ทำให้ธุรกิจ “ไม้อัดตราเข็มทิศ” ที่ดำเนินการมามากกว่า 28 ปี ถูกต่อยอดสู่บริบทใหม่ทั้งด้านการออกแบบ นวัตกรรม และวิธีการใช้งานที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้มีความสะดวก ปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คุณบุญชัยกล่าวว่า จากเดิมผลิตภัณฑ์ไม้อัดมีรูปร่างหน้าตาและขนาดเดิมมาโดยตลอด แต่ราคาขายกลับค่อย ๆ ลดลง ทำให้ได้คิดค้นนวัตกรรม “แผ่นไม้อัดดัดโค้ง” ขึ้นและได้รับอนุสิทธิบัตรในการประดิษฐ์เมื่อปีพ.ศ. 2559 ทำให้แผ่นไม้อัดจากแผ่นตรงกลายเป็นแผ่นไม้อัดที่ดัดโค้งได้ตามความต้องการ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นพื้นสำหรับกีฬาเซิร์ฟสเก็ต ใช้เป็นแบ็กดรอปงานต่าง ๆ เครื่องดนตรี เคาน์เตอร์บาร์ทรงโค้ง ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบได้อิสระมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ แผ่นไม้อัดของ บริษัท สินเจริญ วีเนียร์ แอนด์ พลายวู้ด จำกัด ทั้งแผ่นไม้อัดดัดโค้ง แผ่นไม้อัดมอก. แผ่นไม้อัดไผ่ และแผ่นไม้อัดเกรดพิเศษ ล้วนผลิตขึ้นจากไม้ในประเทศเท่านั้น โดยเป็นไม้เศรษฐกิจจากป่ายั่งยืน คือมีการตัดมาใช้แล้วปลูกใหม่ทดแทนเสมอ (Circular) เมื่อได้ไม้มา จะนำมาปลอกเป็นแผ่น นำไปอบ ทากาว และอัดเป็นแผ่น ซึ่งสำหรับแผ่นไม้อัดดัดโค้งจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากที่สุด ทั้งยังช่วยประหยัดเวลา และลดเศษเหลือจากการใช้งาน นับเป็นวัสดุแนวใหม่ที่ช่วยประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร นอกจากนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ไม้อัดของบริษัทฯ ยังมีคุณสมบัติกันปลวกกันมอดโดยไม่ได้ใช้วัสดุที่เป็นเคมีอันตราย จึงมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม 

05 รักษ์โลกได้ด้วย Eco-Design
คุณวีรพล วงศ์เทวัญ แบรนด์ LUKYANG
LUKYANG คือตัวแทนของนักออกแบบที่สนใจด้านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การนําของเหลือใช้มาแปรรูปเป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดกระบวนการการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการรณรงค์ในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านงานออกแบบ เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ เพื่อทำให้คนรู้ที่มาของวัสดุแต่ละชนิด และเรียนรู้วิธีการเก็บหรือทิ้งอย่างไรให้เหมาะสมและถูกวิธีมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีงานด้าน Design Service ให้กับผู้ประกอบการอื่น ๆ ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และแบรนดิง อีกด้วย

พื้นฐานของคุณวีรพลนั้นเป็นนักออกแบบที่สนใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากเป็นพิเศษ โดยผลงานที่ผ่านมาจึงเป็นงานออกแบบที่ตอบโจทย์แนวคิด BCG Economy อย่างมาก เช่น การนำเอาขวดทดลองวิทยาศาสตร์มาเพิ่มชิ้นส่วนฝาขวดให้กลายเป็นสินค้าใหม่ที่แตกต่างจากเดิม เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานโดยไม่ต้องผลิตสินค้าชิ้นใหม่ขึ้นทั้งหมด หรือนำเอาเทคโนโลยีมาผสมผสานกับงานดีไซน์รักษ์โลก เช่น ปฏิทินที่มีซองใส่เมล็ดพันธุ์ และโปสการ์ดรูปวัตถุดิบอาหารที่สามารถสแกน QR Code เพื่อดูวิธีการปรุงอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เน้นใช้สีแค่สองสีคือขาว-ดำ เพื่อให้กระดาษกล่องมีมูลค่าสูงสุดในการนำไปรีไซเคิล แต่เลือกแยกประเภทของสินค้าในบรรจุภัณฑ์นั้นๆ ด้วยการติดสติกเกอร์ง่าย ๆ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายและพลังงานในการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้ 

นอกจากนี้ คุณวีรพลยังบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการรักษ์ธรรมชาติที่ใคร ๆ ก็ทำตามได้ ด้วยการนำเอาสิ่งของจากธรรมชาติรอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำสีจากดอกอัญชันหรือผงชาเขียวที่หมดอายุแล้ว หรือการทำกระดาษสาจากเปลือกมังคุด ดอกดาวเรืองที่ไหว้พระเสร็จแล้ว หรือดอกปอเทืองที่ถูกไถกลบไปหลังจากเป็นพืชรักษาสภาพหน้าดินก่อนฤดูปลูกข้าว เพื่อให้ได้กระดาษจากธรรมชาติที่สามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นสิ่งต่าง ๆ ได้อีกมากมายไม่รู้จบ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนถึงวิธีที่เรียกว่า Eco-Design ได้อย่างแท้จริง 

จะเห็นได้ว่า ทุกวัสดุล้วนเกิดจากแนวคิดตั้งต้นที่มีความตั้งใจจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เพราะขยะและเศษเหลือทั้งจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ถูกทิ้งในปัจจุบันนั้นมีจำนวนมหาศาลและมีความหลากหลายมาก จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการจัดการที่มีความซับซ้อนแตกต่างกัน แต่ถึงอย่างนั้น หากเราต้องการที่จะต่อยอดไอเดียและเปลี่ยนแปลงโลกของเราจริง ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือโลกใบนี้ เราก็อาจไม่จำเป็นต้องผลิตวัสดุเองทั้งหมด แต่อาจจะเป็นผู้สนับสนุน และผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบโดยการเรียนรู้เกี่ยวกับวัสดุและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เราเลือกใช้ เช่น วัสดุนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร เหมาะจะใช้งานอย่างไร อายุการใช้งานเป็นอย่างไร รวมไปถึงจะจัดการกับวัสดุเศษเหลืออย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือเลือกใช้วัสดุรักษ์โลกตามแนวทาง BCG Economy ให้เกิดประโยชน์ ก็น่าจะเป็นการช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิมได้แล้ว หากเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ

ที่มา : งานเสวนา “Thai BCG Materials วัสดุไทย สร้างสรรค์สู่ความยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 14 กรกฏาคม 2566 ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Material & Design Innovation Center ชั้น 2

เรื่อง : กองบรรณาธิการ