เพิ่มหวาน...ลดขม ด้วยเทคโนโลยี “ตัดต่อยีน” สู่ผักผลไม้รสสัมผัสแสนอร่อย
Technology & Innovation

เพิ่มหวาน...ลดขม ด้วยเทคโนโลยี “ตัดต่อยีน” สู่ผักผลไม้รสสัมผัสแสนอร่อย

  • 06 Sep 2023
  • 788

หลาย ๆ คำถามที่ผู้คนมักจะถามกัน สิ่งสำคัญในชีวิตที่คุณอยากรักษาไว้มีอะไรบ้าง?

แต่ละคนคงมีคำตอบแตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าหนึ่งในคำตอบของหลายคนคงต้องมีเรื่องของ “สุขภาพ” อย่างแน่นอน และหากเราไม่คำนึงถึงสุขภาพ ก็คงขาดหายและพลาดอะไรหลายอย่างไปในชีวิต 

และนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผู้คนหันมารักษาสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ อย่างการเริ่มต้นรับประทานผักและผลไม้สด ๆ จากธรรมชาติ แต่อย่างที่ทราบกันว่า ผักและผลไม้หลายชนิดก็ไม่ได้มีรสชาติที่อร่อยเสมอไป บ้างก็ขมเกินไป บ้างก็มีเมล็ดเต็มไปหมด ทำให้ผู้บริโภคหลายต่อหลายคนรู้สึกไม่อยากรับประทานผักและผลไม้เหล่านั้น 

แต่ในปัจจุบัน กลับมีหนึ่งเทรนด์ที่ได้มีการหยิบเอาประโยชน์ของเทคโนโลยี “การตัดต่อยีน” เข้ามาเอื้อให้ผักและผลไม้ในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้น แต่การตัดต่อยีนจะมีผลต่อผักและผลไม้อย่างไร ก็เป็นอีกสิ่งที่เราไม่ควรพลาดศึกษา เพราะนี่อาจเป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่เรากำลังตามหาเพื่อให้สามารถรับประทานผักและผลไม้ได้อร่อยมากขึ้นนั่นเอง 

ตัดต่อ(ยีน) แต่งเติมความอร่อย
ทุกวันนี้ เทรนด์การดูแลสุขภาพร่างกายกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและมีแนวโน้มที่ผู้คนจะหันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกสาเหตุหลักที่ผู้คนหันกลับมาใส่ใจรักษาสุขภาพมากขึ้น ทั้งด้วยการออกกำลังกาย การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ ไปจนถึงเรื่องของการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างการรับประทานผักและผลไม้สด รวมถึงอาหารประเภทซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และเต็มไปด้วยส่วนประกอบที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 

อย่างไรก็ตาม ผักและผลไม้สดจากธรรมชาติบางชนิดหรือบางวัตถุดิบของอาหารซูเปอร์ฟู้ดก็อาจมีรสชาติที่ไม่น่าพึงใจ บ้างก็ขมเกินไป หวานเกินไป บ้างก็เฝื่อนหรือฝาดไปเลย หรือบางทีก็มีเมล็ดเต็มไปหมด ทำให้ผักและผลไม้เหล่านั้นไม่น่ารับประทานโดยเฉพาะการรับประทานสด ๆ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าก็ได้เข้ามาช่วยปรับปรุงและปรับเปลี่ยนให้อาหารการกินในทุก ๆ วันนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีเหล่านั้นก็คือ “การตัดต่อยีน” ที่ช่วยให้ผู้คนได้หันมาลิ้มลองความอร่อยจากผักและผลไม้ได้มากขึ้น 

การตัดต่อยีนด้วยเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมยีน หรือ CRISPR นั้น ย่อมาจาก Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeat เป็นเทคนิคการแก้ไขและตัดต่อยีนที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของพืชผัก ผลไม้ พุ่มไม้ หรือต้นไม้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อปรับปรุงรสชาติและโภชนาการในผลผลิตในทางที่ดีขึ้น และเพื่อดึงลักษณะทางโภชนาการที่ต้องการออกมา หรือเพื่อกำจัดองค์ประกอบที่ไม่ต้องการ อย่างการนำรสชาติขมออกจากผักใบเขียว หรือการลดจำนวนเมล็ดจากเนื้อผลไม้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยี CRISPR เป็นเทคโนโลยีที่สามารถตัดต่อยีนให้มีคุณลักษณะและองค์ประกอบที่ต้องการได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วและมีข้อโต้แย้งน้อยกว่าการทำอาหารดัดแปลงพันธุกรรมหรือ GMO

การตัดต่อยีนได้นี้จะเข้าไปช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางพันธุกรรมของพืชที่มีอยู่ได้อย่างละเอียด ทำให้ผักและผลไม้มีคุณสมบัติและคุณประโยชน์มากขึ้น ทั้งสามารถเพิ่มรสชาติที่น่าพึงพอใจอย่างการเพิ่มความหวาน ลดความขม ทำให้มีรสชาติและเนื้อสัมผัสดียิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนอยากรับประทานพืชผักผลไม้แบบสด ๆ มากขึ้น ทั้งยังช่วยยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาได้นานขึ้น ตลอดจนช่วยเพิ่มความหลากหลายของพืชผักผลไม้ด้วย 

Pairwise กับการเดินทางสู่ความเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรกรรมที่ไม่ธรรมดา
แม้จะมีบริษัทสตาร์ตอัปมากมายที่ปรารถนาอยากให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคได้ให้ข้อมูลว่า ประชากรกว่า 90% ของประเทศสหรัฐอเมริการับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ เนื่องมาจากผักและผลไม้มีรสชาติที่ไม่อร่อยและรับประทานได้ยาก 

Pairwise บริษัทตัดต่อยีนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จึงมุ่งหวังที่จะขยายทางเลือกทางโภชนาการด้วยการลดอุปสรรคในการบริโภคผักและผลไม้ โดยการทำให้ผักและผลไม้สดยิ่งขึ้น รสชาติดีขึ้น มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี CRISPR 

ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี CRISPR ได้ก่อให้เกิดอาหารซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ Conscious Greens หรือผักกาดเขียวที่รสชาติดี ไม่ขมเกินไป ภายใต้แบรนด์ Conscious Foods ซึ่งจะออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกภายในปีนี้ และถือเป็นผักชนิดแรกในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี CRISPR เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบรับประทานสลัดแต่ไม่ต้องการรสขม ซึ่งการขจัดอุปสรรคจากรสชาติขมนี้ จะทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะรับประทานเมนูจานผักหรือสลัดมากขึ้นด้วย 

ฮาเว่น เบเกอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจของ Pairwise กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญ นั่นคือผักใบเขียวส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการมากนัก และยังมีรสขมหรือแข็งเกินไปที่จะรับประทานสด ๆ การใช้เทคโนโลยี CRISPR จะช่วยให้เราปรับปรุงผักให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ Pairwise ยังมุ่งหวังที่จะสร้างผลไม้ไร้เมล็ดจากผลแบล็กเบอร์รี่และเชอร์รี่ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องมีปัญหากับการแยกเมล็ดในผลไม้สุดโปรดอีกต่อไป

มากไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารยังได้เริ่มทดลองและใช้เทคโนโลยีการตัดต่อยีน CRISPR เพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะและองค์ประกอบบางอย่างของผักและผลไม้อีกหลายชนิด ขณะที่ผู้คนจำนวนมากก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับเทคโนโลยีด้านอาหารที่โปร่งใสและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง “ผู้บริโภคต้องการทราบว่าอาหารของพวกเขาปลูกที่ไหนและผลิตอย่างไร…ตราบใดที่เรายึดมั่นในค่านิยมและความโปร่งใสของเรา และเปิดกว้างกับพวกเขา ผู้บริโภคจะต้องชอบสิ่งนี้” ไรอัน แรปป์ หัวหน้าฝ่ายสรรหาผลิตภัณฑ์ของ Pairwise กล่าวถึงเทคโนโลยีการตัดต่อยีน CRISPR ที่อาจนำพามาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคเกษตรกรรมระดับโลก

คุ้มค่าหรือไม่? เพียงแค่ทำให้ผักหรือผลไม้มีรสชาติที่ดีขึ้น
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกเห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยีการตัดต่อยีน CRISPR เพียงเพื่อทำให้ผักหรือผลไม้มีรสชาติที่ดีขึ้น

ดิโอนิเซีย โรมัน-โอซิกกี ให้ความคิดเห็นต่อการใช้เทคโนโลยีการตัดต่อยีน CRISPR ว่า “ฉันเชื่อว่าการขจัดความขมในผัก กำลังส่งผลเสียต่อการรับรสชาติของเรา เพราะคุณไม่สามารถเป็นนักชิมได้ หากไม่ตระหนักถึงคุณค่าของความขมในอาหาร”

แอนโทนี จอห์น เกษตรกรออร์แกนิกกล่าวว่า “ผักและผลไม้มีคุณภาพและรสชาติโดยธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีการตัดต่อยีนเพื่อทำให้ผักหรือผลไม้มีรสชาติที่ดีขึ้น ก็เหมือนกับการพยายามทำให้ไวน์มีรสชาติเหมือนเบียร์ นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการทางธรรมชาติที่จะทำให้รสชาติและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารบางชนิดดีขึ้นได้โดยไม่ต้องตัดต่อยีนอย่างเช่นหัวแครอต” ซึ่งจอห์น เจ้าของร่วมของฟาร์ม Soiled Reputation ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “อุณหภูมิที่เย็นจะทำให้แครอตมีสารป้องกันการแข็งตัว ซึ่งก็คือน้ำตาล โดยแครอตจะเปลี่ยนแป้งในรากให้เป็นน้ำตาล ดังนั้นการปล่อยให้แครอตเติบโตในอุณหภูมิต่ำ ก็จะช่วยเพิ่มน้ำตาลในผลได้โดยธรรมชาติ นอกจากนี้แคลเซียมในดินยังเป็นโมเลกุลหลักในการสร้างน้ำตาลสำหรับผัก ดังนั้นยิ่งมีแคลเซียมในดินสูงเท่าไร ผักก็จะยิ่งมีรสชาติหวานมากขึ้นเท่านั้น”

หากรู้วิธีการจัดการอาหารที่ถูกต้องและรู้จักกับวิธีการปรุงอาหารใหม่ ๆ โดยใช้ผักและผลไม้ที่มีอยู่ ก็จะสามารถเปลี่ยนรสชาติของผักไปในทางที่ดีขึ้นได้ และบางทีความขมก็อาจไม่ใช่ปัญหาของผักเสมอไป เพียงแต่เราอาจไม่รู้จักวิธีการจัดการวัตถุดิบที่ถูกต้องต่างหาก แต่ถึงอย่างนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีตัดต่อยีน CRISPR ได้เข้ามาช่วยเปิดใจผู้คนจำนวนไม่น้อยให้สามารถทดลองเมนูผักและผลไม้ที่เคยไม่ถูกใจได้มากขึ้นนั่นเอง

ที่มา : บทความ “How gene-editing is about to deliver the promise of genuine superfoods” โดย Dr Emma Beckett จาก sciencefocus.com
บทความ “Pairwise is using CRISPR to change the taste and flavor of staple foods” โดย Jordan McDonald จาก emergingtechbrew.com
บทความ “New Pairwise Data Shows that Consumer Attitudes toward Food+Tech Produce are Changing” โดย MEGAN THOMAS จาก pairwise.com
บทความ “CRISPR Products, Realized” โดย pairwise จาก pairwise.com
บทความ “Salad Days: Pairwise Gene Edits Food to Topple Nutrition Barriers” โดย genengnews จาก genengnews.com
บทความ “Crispr Can Speed Up Nature—and Change How We Grow Food” โดย STEPHEN S. HALL จาก wired.com
บทความ “เจาะลึกซุปเปอร์ฟู้ด (Superfoods) อาหารที่คนรักสุขภาพไม่ควรพลาด” โดย Nestlé จาก nestle.co.th
บทความ “Pairwise introduces first food made with CRISPR technology in the U.S. market” โดย THE PACKER STAFF จาก thepacker.com
บทความ “Pairwise commercializes “first gene-edited food” in US with CRISPR-altered salad blend” โดย Marc Cervera จาก foodingredientsfirst.com
บทความ “Gene-edited food might taste better. Not everyone is convinced” โดย Mouhamad Rachini จาก cbc.ca
บทความ “Pairwise readies CRISPR-edited Conscious Greens for sale in West Coast grocery stores” โดย Elizabeth Crawford จาก foodnavigator-usa.com
บทความ “A pitless cherry? Pairwise uses CRISPR to change produce DNA” โดย Christopher Doering จาก fooddive.com
บทความ “This Company Is Changing the DNA of Vegetables To Make Them Taste Better” โดย Amanda McDonald จาก yahoo.com

เรื่อง : ณัฐธิดา คำทำนอง