“คิด” ชวนมาสำรวจ 5 เทรนด์ความยั่งยืนใหม่ไปกับงาน Sustrends 2024
Technology & Innovation

“คิด” ชวนมาสำรวจ 5 เทรนด์ความยั่งยืนใหม่ไปกับงาน Sustrends 2024

  • 11 Sep 2023
  • 1846

การต้อนรับโลกเข้าสู่ยุคสมัย “ภาวะโลกเดือด” คงจะช่วยสร้างให้เกิดความตระหนักรู้กันอย่างชัดเจนมากขึ้นสำหรับประชากรโลก ในขณะเดียวกันปัญหาความยั่งยืนก็ยังคงเป็นภารกิจหลักของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ช่วยกันผลักดันไปพร้อมกับความช่วยเหลือจากประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นชาติหนึ่งที่มีบทบาทในการร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมอันแสนมีค่าของโลกใบนี้

งานสัมมนา Sustrends 2024 I 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก ชวนเรามาพบกับแนวคิดมากมายจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาภายในเวทีเดียวกัน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และความเข้าใจต่อแนวคิดของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องไปกับกฎเกณฑ์ใหม่ของโลก และ “คิด” Creative Thailand จะชวนมาพบกับไฮไลต์จาก 5 ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่น่าสนใจ

01 เทรนด์แรงงานโลก “Green Jobs” ตำแหน่งใหม่ที่ไม่มีวันตกงาน
เมื่อเทรนด์เรื่องความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมหันมาให้ความสนใจ ทักษะของการทำธุรกิจในอนาคตจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) ได้กล่าวถึงโอกาสของธุรกิจในการปรับตัวจากวิกฤตด้านความยั่งยืน การพัฒนาแรงงานอย่างยั่งยืนสำหรับโลกยุคใหม่ และการสร้างทักษะสำหรับ Green Jobs ที่กำลังเป็นที่ต้องการในโลกปัจจุบัน โดยได้ยกตัวอย่างความเป็นไปได้ 3 แนวทางสำหรับภาคธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต

Green Jobs and Workplace โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กำลังริเริ่มโครงการเพิ่มทักษะในสายงานสีเขียว (Green Job) เพื่อให้ทุกสายงานได้เพิ่มทักษะให้สามารถทำงานบนฐานคิดของความยั่งยืนได้ และยังช่วยให้แรงงานสามารถได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนได้ต่อไป

Better Hospitality Initiative เมื่อกระแสการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon กำลังเป็นที่นิยม เหล่าสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติในไทยจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้กลับไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวสายรักธรรมชาติที่มาจากต่างประเทศได้ เพราะปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไกล ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะเดินทางไปประเทศใกล้เคียงมากกว่า ซึ่งทางออกของปัญหานี้ ในปัจจุบันกำลังได้รับการแก้ไขผ่านกองทุนสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารโลก และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ภายใต้โครงการ Better Hospitality Initiative ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีซึ่งครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในหลายมิติ อย่างเช่น ร้านอาหาร บริการขนส่ง หรือธุรกิจโรงแรม เพื่อให้เหล่าธุรกิจเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถปรับตัวเข้าสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

Food System Transformation อุตสาหกรรมอาหารของไทยกำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ปัญหาดินเพาะปลูกเสื่อมลง การใช้สารเคมี และรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารที่มีไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร โดยมีเป้าหมายคือการทำให้อาหารมีคุณภาพ ไม่มีสารปนเปื้อน กระจายผลผลิตปลอดภัยไปถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนหันกลับมาเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มการกระจายรายได้แก่ผู้คนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารด้วย

02 Empowering People Empowering City พลัง “คน” สร้างเมือง
ปัญหาการพัฒนาเมืองเกิดจากระบบในการพัฒนาเมืองที่ขาดประสิทธิภาพและความล้าช้าในการทำงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเมืองในระดับชุมชนกลับสามารถแก้ได้ด้วยพลังของสมาชิกในชุมชนเอง ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Shma และ we!park ได้กล่าวถึงโอกาสในการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือสำคัญจากภาคประชาชนบนแนวคิด 3 ข้อ ที่จะเปิดทางให้ผู้คนได้เป็นผู้กำหนดอนาคตของเมืองได้ด้วยตนเอง

Co-invest แม้ว่ารัฐจะเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรส่วนใหญ่แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้ แต่หากมองมายังภาคประชาชนก็จะเห็นว่า เราต่างก็เป็นผู้ครอบครองทรัพยากรของตนเองที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ทรัพยากรความรู้ ภูมิปัญญา หรือที่ดิน เป็นไปได้ไหมที่ทรัพยการของประชาชนเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองได้ ซึ่งจะทำให้คนในสังคมกลายเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน และต่างก็ได้รับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

Customization ในอดีตการพัฒนาเมืองมักพัฒนาโดยการถอดแบบคิดมาจากต้นแบบของเมืองที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจมีปัญหา ความต้องการ และลักษณะของประชากรที่แตกต่างกัน จึงทำให้การพัฒนาเมืองด้วยการลอกแนวคิดมาจากเมืองที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้สูญเสียเวลาและงบประมาณมากมาย การออกแบบเมืองในอนาคตจึงต้องอยู่บนแนวคิดการออกแบบที่สอดรับกับความต้องการของประชากร เพื่อมอบพื้นที่ให้กับประชาชนได้แสดงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงเมืองของตนเอง โดยการมีส่วนร่วมในการริเริ่มโครงการที่ตอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่

Small Intervention, Big Impact การพัฒนาเมืองโดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ อาจทำให้เราสามารถพัฒนาเมืองที่เชื่อมโยงกันเป็นภาพใหญ่ได้ เช่น การพัฒนาพื้นที่รกร้างในชุมชน การปรับปรุงสวนสาธารณะใกล้บ้านให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ก็สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้เวลานาน และไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ

03 สร้างผลกำไรที่ไม่ใช่แค่ผลประกอบการให้ยั่งยืน
กระแสความยั่งยืนที่เคยเป็นเพียงแต่สิ่งที่ทำแล้วดูดี (Nice-to-have) สำหรับองค์กรในอดีตที่ต้องคิดหากำไรเป็นสิ่งแรกและปล่อยให้การทำเพื่อส่วนร่วมเป็นภารกิจรอง กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็น Want-to-have หรือการที่องค์กรจำเป็นต้องยึดถือแนวคิดความยั่งยืนให้กลายเป็นภารกิจหลัก พร้อมปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดมากขึ้น 

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดการทำเพื่อส่วนรวมยังสามารถปรับใช้ได้กับการวางนโยบายองค์กรอื่นๆ เช่น การเพิ่มความพึงพอใจให้แก่พนักงานหรือช่วยให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ไม่จำเป็นต้องสูญเสียทรัพยากรในการสรรหาพนักงานใหม่ แล้วยังช่วยให้พนักงานเติบโตขึ้นไปกับองค์กรได้ นอกจากนี้ ยังได้มอบแนวทางการสร้าง The Future of Sustainability หรืออนาคตขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ซึ่งกำลังกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจเพิ่มเติม นอกเหนือจากเพียงผลประกอบการ

From Corporate Practice to Data-driven Investment สำหรับนักลงทุน การลงทุนในบริษัทที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืนจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะการที่บริษัทมีมาตรการเรื่องความยั่งยืน จะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่จะลดโอกาสการดำเนินงานที่ผิดต่อกฎระเบียบ นอกจากนี้ ยังการระบบเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้เกิดความโปร่งใส และเพิ่มความน่าเชื่อถือของบริษัทได้มากขึ้น

From Today’s Frontier to Tomorrow’s Norm  ความแปลกใหม่ในวันนี้ที่หลายบริษัทกำลังปรับตัวจะกลายเป็นมาตรฐานในอนาคต เพราะฉะนั้นบริษัทควรวางแผนในระยะยาวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านของทิศทางโลกในอนาคต ตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนคือการหันมาวางแผนการพัฒนาพลังงานจากธรรมชาติที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่หลายบริษัทต้องเตรียมตัวกับมาตรฐานใหม่ในอนาคต

04 จัดสรรมื้ออาหารให้พอดีเพื่อทุกมื้อที่ดีต่อโลก
อาหารทุกมื้อที่เรารับประทานไม่เพียงช่วยให้เราอิ่มท้อง แต่ในอีกทางมันกลับส่งผลกระทบต่อโลกในหลายมิติ เช่นการเผาไร่ของพืชเชิงเดียวที่ก่อให้เกิดปัญหาทางมลภาวะแก่ประชาชนทางภาคเหนือเป็นระยะเวลาหลายเดือน หรืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีเพื่อสนับสนุนฟาร์มเลี้ยงสัตว์จนเป็นปัญหาที่กระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวงกว้าง

พงษ์ศิลา คำมาก ผู้ก่อตั้ง Sansaicisco และ Slow Food เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวของวงการอาหารในวันที่โลกป่วยและคนก็ป่วย โดยทิศทางอาหารที่ยั่งยืนของโลกใบนี้ควรเป็นไปตาม 2 แนวคิดเพื่อสร้างความยั่งยืน

พีระมิดบนโต๊ะอาหารต้องสอดคล้องกับพีระมิดห่วงโซ่อาหาร สัดส่วนของอาหารในแต่ละมื้อของเราไม่สอดคล้องกับสัดส่วนของวัตถุดิบที่มีอยู่บนโลก เช่น เนื้อวัวซึ่งเป็นอาหารที่ถูกบริโภคเป็นอันดับต้น ๆ และต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในการทำฟาร์มวัว ซึ่งสวนทางกับอาหารประเภทถั่ว ซึ่งที่ได้รับความสนใจรองลงมา แต่กลับสร้างทางเลือกในการบริโภคได้มากมาย นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคต้องใส่ใจถึงสัดส่วนของอาหารแต่ละมื้อ เพื่อสร้างความสมดุลของห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น

การกินเพื่อแก้ปัญหาหนึ่งจะนำเราไปสู่อีกปัญหาเสมอ การทดแทนเนื้อสัตว์ด้วยพืชเช่นอาหาร Plant-based food อาจไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเสมอไป ในอดีตกระแสการกินอาโวคาโดเคยสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศชิลี หรือกระแสการกินควินัว ที่ปรับเปลี่ยนการปลูกควินัวจากเดิมซึ่งใช้เวลานานให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่เก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบให้พื้นที่เพาะปลูกควินัวที่เคยยั่งยืนเสื่อมลงจนไม่สามารถเพาะปลูกได้อีก เป็นต้น

แก้ปัญหาอาหารด้วยการสอนทำอาหาร การจะทำความเข้าใจปัญหาของอาหาร คือการได้เข้าครัวไปทำอาหารด้วยตัวเอง เพื่อช่วยให้เราเห็นว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งในด้านคุณภาพ ราคา และการใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจถึงที่มาของปัญหาได้มากขึ้น

05:  How to create governance ecosystem จุดเริ่มต้นธรรมาภิบาลไม่ใช่การต้านคอร์รัปชัน แต่ต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่คนทั่วไปเข้าถึงได้
การพัฒนาความยั่งยืนจำเป็นต้องมาพร้อมกับการกำกับดูแลที่ดี ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้ง Hand Social Enterprise และผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชั่น และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) กล่าวว่า ปัญหาด้านความโปร่งใสกำลังกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการเรียนรู้ หรือแม้แต่การอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืนก็จำเป็นต้องต่อสู่กับกลุ่มทุนที่ต้องการหาผลประโยชน์ เนื่องมาจากการขาดระบบกำกับดูแลที่ดี และการไม่สามารถรับมือกับปัญหาทุจริตได้ดีพอ ซึ่งเราอาจแก้ไขด้วยแนวทางดังนี้

Open Data การเปิดเผยข้อมูลให้ครอบคลุมและเป็นมาตรฐานจะช่วยให้เราติดตามการใช้งบประมาณของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในอังกฤษมีเว็บไซต์ openspending.org เป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนได้เข้ามาตรวจสอบการใช้งบของภาครัฐได้อย่างละเอียด ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีความพยายามในการเปิดแพลตฟอร์ม ภาษีไปไหน ให้เข้าไปตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ แต่กลับไม่ได้นำเสนอข้อมูลอย่างครอบคลุม และหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลที่มากพอ

Participation การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจึงต้องเข้าใจง่าย ในอินโดนีเซีย มีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า opentender.net รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่เข้าใจง่าย พร้อมทั้งสามารถคำนวณความเสี่ยงของการเกิดทุจริตได้อีกด้วย 

Accountability การเปิดโอกาสให้สามารถตรวจสอบได้นับเป็นกุญแจสำคัญของสังคมที่โปร่งใส หากภาครัฐแสดงความรับผิดชอบด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับทราบการทำงานของภาครัฐได้อย่างชัดเจน ก็จะช่วยให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ร่วมกำหนดทิศทางที่ยั่งยืนของสังคมได้

เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป แนวคิดเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ยังมีอีกหลายหลาก #Sustrends หรือเทรนด์ความยั่งยืนของโลกที่น่าศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เราได้รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ก่อนใคร แต่ยังได้รู้ถึงแนวทางการรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

เรื่อง : กองบรรณาธิการ