พลังของ “กลิ่น” ที่เป็นเสมือน “ไทม์แมชชีน” สู่ทุกห้วงเวลาของชีวิต
Technology & Innovation

พลังของ “กลิ่น” ที่เป็นเสมือน “ไทม์แมชชีน” สู่ทุกห้วงเวลาของชีวิต

  • 12 Oct 2023
  • 814

หากไม่นับวันที่เราเป็นหวัดคัดจมูก ในหนึ่งวันเราคงได้กลิ่นของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นร้อยกลิ่น บ้างเป็นกลิ่นที่ลอยมาแตะจมูกแล้วก็ผ่านไป บ้างก็เป็นกลิ่นที่คุ้นเคย และบางกลิ่นก็ติดตรึงอยู่ในความทรงจำจนนานแค่ไหนก็ลืมไม่ลง 

...กลิ่นของอาหารจานโปรดที่ได้กินตั้งแต่เด็ก ๆ อาจเชื่อมไปถึงโต๊ะกินข้าวที่มีแม่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม หรือกลิ่นของน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้ไม่เคยเบื่อ ซึ่งอาจจะพาเราย้อนกลับไปสู่เตียงและปลอกหมอนลายการ์ตูนอันใหม่ที่เพิ่งซักและมาเปลี่ยนรอเราเข้าสู่ห้วงฝันดี 

ในทางหนึ่ง “กลิ่น” จึงเป็นเหมือน “ไทม์แมชชีน” ที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีสุดล้ำใด ๆ มากมาย แต่กลับมีพลังในการพาเราทุกคนย้อนกลับไปยืนอยู่ในความทรงจำ ณ ช่วงเวลาหนึ่งได้อย่างน่าอัศจรรย์

กลิ่นหนึ่งที่ตรึงความทรงจำ
ความทรงจำที่ได้รับการดึงออกมาด้วยกลิ่นจะเรียกว่า  Odor-linked Memories หรือความทรงจำที่เชื่อมโยงกับกลิ่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่สำคัญและมีพลังมาก เห็นได้จากการศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า กลิ่นมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นความทรงจำ รวมถึงอารมณ์ที่ชัดเจนได้มากกว่าภาพถ่ายหรือรูปต่าง ๆ เสียอีก ในขณะที่ในความเป็นจริงเอง ผู้สูงอายุก็มักจะจดจำความทรงจำเก่า ๆ ได้ด้วย “กลิ่น” มากกว่าภาพหรือคำพูดเช่นกัน

แล้วเหตุใดกลิ่นจึงมีความผูกพันที่แน่นแฟ้นกับความทรงจำนัก? 


Motoki Tonn / Unsplash

นักวิจัยได้พยายามหาคำตอบดังกล่าวผ่านการสแกนสมอง เพื่อดูว่าสมองทำงานอย่างไรและส่วนไหนมีบทบาทในการประมวลผลอะไร จนพบว่าความทรงจำที่เชื่อมโยงกับกลิ่นทำให้สมองส่วนที่ประมวลผลอารมณ์มีการเคลื่อนไหวมากกว่าความทรงจำที่เรียกคืนมาด้วยภาพ การศึกษาชี้ให้เห็นว่า พื้นที่การประมวลผลอารมณ์ในสมองของเรานั้น เป็นพื้นที่เดียวกับที่ถูกกระตุ้นด้วยกลิ่น โดยมีสมองส่วนที่เรียกว่า ‘อมิกดาลา’ (amygdala) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเหตุผลและอารมณ์ และ ‘ฮิปโปแคมปัส’ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความทรงจำ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ 

ฮิปโปแคมปัส มีความเกี่ยวข้องกับ Associative Learning ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อเราเชื่อมโยงสองเหตุการณ์ที่แยกจากกันเข้าไว้ด้วยกัน ในลักษณะเดียวกับความทรงจำที่เชื่อมโยงกับกลิ่น สมองจะเชื่อมกลิ่นกลิ่นหนึ่งไว้กับช่วงเวลาหนึ่งในชีวิต เมื่อตัดภาพมาที่การประมวลผลกลิ่นจะพบว่า หลังจากกลิ่นได้เข้าสู่จมูกและผ่านส่วนการรับกลิ่นที่เรียกว่า Olfactory Bulb ไปแล้ว ข้อมูลกลิ่นจะถูกส่งไปยังอมิกดาลาและฮิปโปแคมปัส ซึ่งนับเป็นประสาทสัมผัสเดียวเท่านั้นที่ได้รับการประมวลผลในบริเวณสมองส่วนนี้ กลิ่นจึงมีสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงแน่นแฟ้นกับบริเวณของสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การเรียนรู้ และความทรงจำ จนทำให้หลายคนสามารถพาตัวเองกลับไปในฤดูร้อนที่แล้วได้แค่เพียงดมกลิ่นหญ้า เนื่องจากกลิ่นนั้น ๆ จะช่วยกระตุ้นส่วนของสมองที่รับผิดชอบในเรื่องของอารมณ์และความทรงจำนั่นเอง

ความเชื่อมโยงที่พิเศษระหว่างกลิ่นและความทรงจำนี้ยังมีประโยชน์อื่น ๆ ทั้งในแง่ของสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน นักวิจัยพบว่า ความทรงจำที่เชื่อมโยงกับกลิ่นสามารถส่งผลเชิงบวกได้มากกว่าความทรงจำที่เกิดจากประสาทสัมผัสอื่น ๆ และความทรงจำที่รื่นรมย์ก็มีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เราอารมณ์ดี นำไปสู่การลดความเครียดและอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากความเครียด เช่น ผื่นแดง ได้ นอกจากนี้ความทรงจำที่เชื่อมโยงกับกลิ่นยังช่วยเพิ่มความนับถือตนเอง เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีขึ้น และส่งผลต่อการมองโลกในแง่ดี ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนมีส่วนช่วยให้คนเลิกบุหรี่ด้วย กล่าวคือเมื่อผู้สูบบุหรี่มีความทรงจำเกี่ยวกับกลิ่นที่น่าพึงพอใจ พวกเขาก็จะมีความอยากบุหรี่น้อยลง ความทรงจำเกี่ยวกับกลิ่นดังกล่าวจึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากกลิ่นกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ในการเรียนและการสอนแต่ละวิชา เราอาจจะใช้กลิ่นเข้ามากระตุ้นความทรงจำ เช่น หากคุณใช้ลิปบาล์มกลิ่นมินต์ในคาบเรียน การทากลิ่นเดียวกันมาในวันสอบก็อาจจะช่วยกระตุ้นให้คุณจำเนื้อหาที่เรียนไปในห้องได้มากขึ้นได้

Rewind สู่กระแสของน้ำหอมเก่าที่เราคิดถึง
แน่นอนว่าน้ำหอมเก่า ๆ จากแบรนด์ดังโดยเฉพาะกับกลิ่นที่เลิกผลิตแล้ว มักจะเป็นที่ดึงดูดสำหรับกลุ่มนักสะสมมาเสมอ แต่เมื่อไม่นานมานี้ กลับมีปรากฏการณ์ใหม่เมื่อ “น้ำหอมยุค 90” ในตลาดของแบรนด์ที่ราคาถูกกว่าและธรรมดามากกว่า กลับได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน โดยผู้บริโภคที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตนี้ ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มคนที่ถวิลหาอดีต อย่างชาวมิลเลนเนียลที่อยากกลับไปหาวัยเยาว์เป็นส่วนใหญ่ และอีกส่วนก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ทันแม้แต่ช่วงที่น้ำหอมเหล่านี้กำลังป็อปเลยด้วยซ้ำ “ผู้คนมักจะไล่ตามสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และวินเทจก็เป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้คนจำนวนมาก” บาร์บารา เฮอร์แมน ผู้ก่อตั้ง Eris Parfums ซึ่งเป็นไลน์น้ำหอมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลิ่นวินเทจกล่าว สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่สินค้าแนว Y2K กำลังกลับมาสร้างรายได้อย่างถล่มทลาย เช่นเดียวกับการซื้อเกมบอยและกล้องโพลารอยด์รุ่นเก่า ๆ มาเติมเต็มช่วงเวลาในอดีตอีกครั้ง 

กระนั้นก็ใช่ว่าตลาดของน้ำหอมเก่านี้จะอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมฟุ้งชวนหลงใหล เมื่อในความเป็นจริง กลิ่นของน้ำหอมเก่า ๆ อาจจะทำให้มือใหม่ล้มตึงมาหลายรายแล้ว เพราะกลิ่นของน้ำหอมมักเสื่อมสภาพและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาขึ้นอยู่กับส่วนผสม และเฮอร์แมนก็มองว่า กรอบเวลาของน้ำหอมส่วนใหญ่มีระยะประมาณ 6 ปี แต่ก็ขึ้นกับการเก็บรักษา หากเก็บดี ๆ ก็อาจจะคงลักษณะของน้ำหอมไว้ได้ราว 60% แม้จะผ่านมาหลายทศวรรษ แต่ถึงอย่างไร ผู้ที่หาซื้อสไตล์วินเทจเพื่อไล่จับความทรงจำเก่า ๆ ก็ยังคงพอจะย้อนกลับไปช่วงเวลานั้นได้อยู่ โดยที่เฮอร์แมนก็เปรียบเทียบกลิ่นที่คุณภาพลดลงนี้ให้เหมือนเป็นการดูภาพวาดที่สีอาจจะซีดจางลงไปสักหน่อย


Kelly Sikkema / Unsplash

ความคิดถึงกลิ่นอายของยุค Y2K ยังสะท้อนให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วย จากที่ปี 1990 มีน้ำหอม 75 กลิ่นที่ออกจำหน่ายทั่วโลกทุกปี แต่ต่อมาจำนวนน้ำหอมก็ก้าวกระโดดสู่ 450 กลิ่นในปี 2005 และมากกว่า 2,000 กลิ่นในปี 2015 “ปรากฏการณ์รักพี่เสียดายน้อง (The Paradox of Choice) อาจทำให้ผู้คนมองย้อนกลับมาในช่วงเวลาที่สรุปรวบยอดได้ด้วยน้ำหอมยอดนิยมเพียงไม่กี่กลิ่น” เจสสิก้า เมอร์ฟี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหอม กล่าว

ย้อนอดีตไปไกลกว่าที่เคยกับ “กลิ่นแห่งนิรันดร์”
แล้วใครจะคาดคิดบ้างว่า เราจะสามารถรังสรรค์กลิ่นที่เคยจางหายไปนับพันปี ให้กลับมาตลบอบอวลทั่วพื้นที่ได้อีกครั้ง! ในวันนี้ บารา ฮูเบอร์และทีมนักวิจัยจาก Max Planck Institute of Geoanthropology ได้นำทีมศึกษาและใช้เทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบสำหรับสร้างกลิ่นของบาล์มที่ใช้ในกระบวนการทำมัมมี่ของหญิงชั้นสูงขึ้นมาใหม่ เรียกกลิ่นนี้ในนามของ “กลิ่นแห่งนิรันดร์” (The scent of eternity) ที่จะพาให้ผู้ที่ดมมันย้อนเวลากลับไปมากกว่า 3,500 ปีและสัมผัสกับอียิปต์โบราณด้วยประสาทสัมผัสใหม่ที่เคยคิดว่าเกินฝัน

เมื่อกล่าวถึงขั้นตอนของการทำมัมมี่ สิ่งแรก ๆ ที่เรามักจะนึกถึงก็คงไม่พ้นผ้าพันแผล ขวดโหล รวมถึงความตายซึ่งไม่ได้ให้ภาพและกลิ่นในจินตนาการที่น่าอภิรมย์นัก แต่แท้จริงแล้วกระบวนการต่าง ๆ ในที่นี้เป็นกระบวนการที่มี “กลิ่นหอม” จากการดองร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ เพื่อเก็บรักษาไว้ตลอดชีวิตหลังความตาย หากแต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรากลับไม่สามารถที่จะปรุงกลิ่นนั้นขึ้นมาใหม่ได้เพราะเราขาดแคลนข้อมูลเรื่องส่วนผสมที่แน่นอน แต่ด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ ๆ ฮาเบอร์และทีมจึงได้มีโอกาสศึกษาและวิเคราะห์ตัวอย่างบาล์ม 6 ตัวอย่างที่ตกค้างอยู่ในโถคาโนปิก1 2 ใบที่เคยบรรจุปอดและตับของ “Senetnay” หญิงชนชั้นสูง ผู้มีบทบาทเป็นแม่นม (wet nurse) ของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 (Amenhotep II) ทั้งยังเป็นภรรยาของชนชั้นสูงชาวอียิปต์โบราณนามว่า “Sennefer” โดยเธอมีชีวิตอยู่ในช่วง 1,450 ปี ก่อนคริสตกาล

“‘กลิ่นแห่งนิรันดร์’ แสดงให้เห็นได้มากกว่ากลิ่นหอมในกระบวนการทำมัมมี่” เพราะการศึกษาที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่มรวยทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงจิตวิญญาณ ตลอดจนความสำคัญของพิธีฝังศพของชาวอียิปต์โบราณเช่นกัน 

การศึกษาบาล์มที่ใช้ในกระบวนการทำมัมมี่ของอียิปต์โบราณเคยมีมาก่อน และส่วนใหญ่ก็จะพบว่าบาล์มนั้นใช้ส่วนผสมที่ค่อนข้างง่าย หาได้ในท้องถิ่น แต่บาล์มของ Senetnay นี้กลับต่างออกไป “บาล์มในกระบวนการทำมัมมี่ของ Senetnay โดดเด่นในฐานะหนึ่งในบาล์มที่ซับซ้อนที่สุดแห่งยุค” ทีมวิจัยพบส่วนผสม2ที่ซับซ้อน ได้แก่ ขี้ผึ้ง น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ น้ำมันดิน และเรซินจากพืชจำพวกสน รวมไปถึงสารที่เรียกว่า ‘คูมาริน’ ที่มีกลิ่นคล้ายวานิลลา และกรดเบนโซอิก ซึ่งสามารถพบได้ในพืชหลายชนิด เช่น อบเชยและกานพลู ส่วนผสมเหล่านี้ผสมกันจนกลายเป็นกลิ่นที่ผสานทั้งกลิ่นไม้สน ขี้ผึ้ง และน้ำมันดิน โดยฮูเบอร์ให้ความเห็นว่ามันเหมือนกลิ่น “น้ำมันดินที่เพิ่งเทลงถนน” นิดหน่อย

การวิเคราะห์องค์ประกอบของบาล์มนี้ยังแสดงให้เห็นว่า มีส่วนผสมหลายอย่างที่ไม่ใช่ของพื้นถิ่น “ตัวอย่างเช่น เรซินจากต้นลาร์ช (larch tree resin) น่าจะมาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตอนเหนือและยุโรปกลาง” ฮูเบอร์ กล่าว ในขณะที่สารอีกชนิดหนึ่งก็ถูกจำกัดให้เหลือตัวเลือกเพียง ‘เรซิน’ ที่เรียกกันว่า “dammar” ซึ่งพบได้เฉพาะในป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับ ‘เรซินพิสตาเซีย’ (Pistacia tree resin) โดยหากมีการฟันธงว่าเป็น dammar จริง ก็จะกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวอียิปต์โบราณสามารถเข้าถึงเรซินจากตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้ผ่านการค้าทางไกลเกือบ 1,000 ปีเร็วกว่าที่เคยทราบกันก่อนหน้านี้ การเห็นส่วนผสมในบาล์มที่มาจากแดนไกลยังเป็นอีกเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงสถานะทางสังคมที่โดดเด่นของ Senetnay ประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ เช่น สถานที่ฝังศพของเธอ ณ หุบเขากษัตริย์ และ การได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “Ornament of the King”


Fulvio Ciccolo / Unsplash

หลังจากระบุส่วนผสมต่าง ๆ ได้เรียบร้อย ทีมวิจัยก็ได้ร่วมมือกับแคโรล คาลเวซ นักปรุงน้ำหอมชาวฝรั่งเศส และ โซเฟีย คอลเล็ตต์ เอริช นักพิพิธภัณฑ์ประสาทสัมผัส (Sensory Museologist) ในการสร้างกลิ่นแห่งนิรันดร์นี้ขึ้นมาใหม่ โดยกลิ่นดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “Ancient Egypt—Obsessed with Life” ที่พิพิธภัณฑ์ Moesgaard ประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมปีนี้ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เพิ่มเอา “กลิ่น” เข้ามาให้กับผู้เข้าชม ทั้งยังนับเป็นการนำเสนอข้อมูลแง่มุมใหม่ที่มีความสำคัญในกระบวนการทำมัมมี่ไม่แพ้หลักฐานอื่น ๆ ที่ภาพ รูป หรืออักษรไม่สามารถทำได้ เพื่อเป็นอีกจุดแข็งในการขยายการรับรู้สู่กลุ่มคนที่หลากหลายขึ้น เช่น กลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น  

“ด้วยการนำกลิ่นหอมโบราณนี้กลับมาอีกครั้ง เรามุ่งหวังที่จะเชื่อมช่องว่างระหว่างอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้ผู้มาเยือนสามารถ ‘หายใจ’ เอาเศษเสี้ยวของสมัยโบราณเข้าไปได้อย่างแท้จริง” ฮูเบอร์ กล่าว

เรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่กลิ่นเท่านั้นที่พาเราเดินทางผ่านกาลเวลา แต่ในแง่หนึ่งก็เป็นเราเองที่พากลิ่นให้เดินทางข้ามกาลเวลามามีตัวตนในโลกปัจจุบันเช่นเดียวกัน ในขณะที่เรื่องของกลิ่นที่เชื่อมกับการรับรู้ บริบท อารมณ์และความรู้สึกที่ต่างกันไปตามยุคสมัยหรือบุคคลก็เป็นอีกหัวข้อที่น่าสนใจ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ในอนาคตอีกสิบหรือร้อยปี กลิ่นแบบไหนจะกลายมาเป็นภาพแทนของยุคสมัยนี้ และผู้คนที่ต่างกันด้วยสภาพสังคมและกาลเวลา จะเชื่อมโยงความทรงจำของกลิ่นที่คุ้นเคย ในบริบทยุคสมัยใหม่ได้เหมือนหรือแตกต่างจากเราอย่างไร 

1 โถคาโนปิก คือ โถที่ใช้เก็บอวัยวะภายในจากขั้นตอนการทำมัมมี่ สำหรับโถของ Senetnay ได้รับการค้นพบในปี 1990 โดย ฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ นักโบราณคดีชื่อดังผู้ค้นพบตุตันคามุน 

2 ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าส่วนผสมที่ระบุจะพบในโถทั้งสองใบ โดยมีข้อสันนิษฐานเช่น อวัยวะที่แตกต่างกันอาจใช้บาล์มที่มีความเฉพาะแตกต่างกัน หรือใช้ส่วนผสมเหมือนกันแต่ผสมได้ไม่ดี หรืออาจจะใช้ส่วนผสมที่เหมือนกันหากแต่มีการสลายตัวตามกาลเวลาต่างกัน เป็นต้น

ที่มา : บทความ “Why Are We so Scent-Imental? Studying Odor-Linked Memories” โดย Angela-Faith Thomas และ Megan H. Papesh จาก kids.frontiersin.org (https://kids.frontiersin.org/articles/10.3389/frym.2022.667792#KC4)
บทความ “Why Do Smells Trigger Memories?” โดย Everyday Einstein Sabrina Stierwalt จาก scientificamerican.com (https://www.scientificamerican.com/article/why-do-smells-trigger-memories1/)
บทความ “บทเรียนที่ 15 - ทำความเข้าใจสรีระจิตวิทยา” จาก dvlearning.tijthailand.org (https://dvlearning.tijthailand.org/course/3/8/76)
บทความ “การผัดวันประกันพรุ่งเป็นเรื่องการจัดการ "อารมณ์" ไม่ใช่ "เวลา"” จาก bbc.com
บทความ “Why the Resale Market for Old, Cheap Perfume Is Skyrocketing” โดย Anna-Louise Jackson จาก bloomberg.com (https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-19/why-the-resale-market-for-old-cheap-perfume-is-skyrocketing)
บทความ “‘Scent of eternity’: scientists recreate balms used on ancient Egyptian mummy” โดย Nicola Davis จาก theguardian.com (https://www.theguardian.com/science/2023/aug/31/scent-of-eternity-scientists-recreate-balms-used-in-ancient-egyptian-mummy)
บทความ “The Scent of the Afterlife Unbottled in New Study of Ancient Egyptian Mummification Balms” โดย Andrew (AJ) Zeilstra และ Johanna Knop จาก shh.mpg.de (https://www.shh.mpg.de/2354412/scent-of-eternity)
บทความ “The scent of the ancient Egyptian afterlife has been recreated—here's what it smelled like” โดย Claire Isabella Gilmour จาก phys.org (https://phys.org/news/2023-09-scent-ancient-egyptian-afterlife-recreatedhere.html)
บทความ “What would an ancient Egyptian corpse have smelled like? Pine, balsam and bitumen, if you were nobility” โดย Nicole Boivin และ Barbara Huber จาก phys.org (https://phys.org/news/2023-09-ancient-egyptian-corpse-balsam-bitumen.html)
บทความ “Scent of the afterlife? Scientists re-create recipe for Egyptian mummification balm” โดย JENNIFER OUELLETTE จาก arstechnica.com (https://arstechnica.com/science/2023/09/scent-of-the-afterlife-scientists-recreate-recipe-for-egyptian-mummification-balm/)
บทความ “Ingredients Used to Embalm Egyptian Senetnay Prove Her Elite Status” โดย Nathan Falde จาก ancient-origins.net (https://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/senetnay-0019190)
บทความ “A newly resurrected ancient smell may help reveal the life of a woman entombed with pharaohs” โดย Ashley Strickland จาก edition.cnn.com (https://edition.cnn.com/2023/08/31/world/ancient-egypt-balm-scent-scn/index.html)
บทความ “โถคาโนปิก (Canopic jars)” จาก oer.learn.in.th (https://oer.learn.in.th/search_detail/result/140414)

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง