ฟื้นคืนชีพ “ป้ายไฟนีออน” แสงไฟอมตะที่ครั้งหนึ่งเคยหรี่ลงแต่กลับส่องสว่างได้อีกครั้ง
เมื่อพลบค่ำ พื้นที่บนท้องฟ้าจะถูกบดบังไปด้วยความมืดมิด แต่ป้ายตามร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม หรือสถานบันเทิงกลับเฉิดฉายและสว่างเจิดจ้าไปด้วย “แสงไฟนีออน” หลากสีที่ขับประกายออกมาจากป้ายไฟ ทำให้เสน่ห์ยามราตรีถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากการหลับใหลท่ามกลางบรรยากาศที่มืดมิดอีกครั้ง
ทว่าแสงไฟอันเจิดจ้าเหล่านั้นกลับค่อย ๆ หรี่ลงและจางหายไปตามกาลเวลา กลายเป็นป้ายไฟที่ถูกทิ้งขว้างราวกับขยะตามท้องถนน เหลือไว้เพียงกลิ่นอายความคลาสสิกและบรรยากาศสว่างไสวอันเป็นเอกลักษณ์ที่หลายคนคิดถึง
และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น จู่ ๆ ป้ายไฟนีออนก็กลับคืนมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเป็นป้ายของเหล่าร้านค้าในภาคธุรกิจอีกต่อไป แต่กับบุคคลทั่วไปก็ยังต้องมองหาป้ายไฟนีออนเหล่านี้ตามไปด้วยจนกลายเป็นกระแส
หรือนี่จะเป็นเพราะเสน่ห์ของ “ป้ายไฟนีออน” แสงไฟที่ทำให้ทุกอย่างไม่มีวันตายแม้จะมืดมิดสักเพียงใด
Andre Benz / Unsplash
ป้ายไฟนีออน be like “มองฉันสิ มองมาที่ฉันสิ”
ในยามค่ำคืน ไม่มีทางที่ผู้คนหรือรถยนต์ที่สัญจรไปมาจะไม่สังเกตเห็นป้ายนีออนสุดสว่างไสว
เพราะ “ป้ายไฟนีออน” จึงทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่บาร์ คาสิโน ร้านค้า ไปจนถึงโรงแรม ได้เฉิดฉายและสว่างเจิดจ้าขึ้นอีกครั้ง โดยการใช้ป้ายไฟเหล่านี้ประดับบริเวณด้านหน้าอาคารหรือสถานที่เพื่อให้มีแสงสว่างมากพอที่จะให้โดดเด่นและเป็นที่สังเกต จนดึงดูดสายตาผู้คนหรือรถยนต์ที่สัญจรไปมาโดยเฉพาะในยามราตรี ซึ่งหากเปรียบเป็นคำพูดคงเป็นเสมือนว่าป้ายไฟเหล่านั้นกำลังพูดว่า “มองฉันสิ มองมาที่ฉันสิ”
ป้ายไฟนีออนถือเป็นรูปแบบการโฆษณาและงานศิลป์สไตล์คลาสสิกที่น่าดึงดูด นับตั้งแต่เกิดการประดิษฐ์ขึ้นในช่วงเริ่มแรก เป็นดั่งแสงเรืองรองอันเจิดจ้าและโดดเด่นที่คอยดึงดูดความสนใจของผู้คนมาโดยตลอด
ซึ่งกว่าจะเป็นป้ายไฟนีออนที่ได้รับความนิยมในทุกวันนี้ ความนิยมของป้ายไฟนีออนเคยมีทั้งช่วงที่มี “สว่างสดใส” และ “ริบหรี่ใกล้จางหาย” โดยในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ป้ายไฟนีออนเคยได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากสามารถให้ความสว่างแก่บ้านเมืองได้แม้ในยามที่สภาพอากาศเลวร้าย แต่เมื่อถึงทศวรรษที่ 1960 ความนิยมแสงสว่างจากนีออนก็เริ่มจางหายไปและถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่า ไม่นานนักป้ายไฟนีออนก็ถูกโละทิ้งไปทั่วราวกับขยะ และบางพื้นที่ก็ถึงกับมีการสั่งห้ามใช้ป้ายไฟนีออน แต่ก็มีบ้างที่เหล่านักสะสมและนักอนุรักษ์ที่หลงใหลในแสงสว่างสุดคลากสิกจากนีออนได้ซ่อมแซมป้ายเก่า ๆ เพื่อนำมาประดับและสะสมไว้ในบ้านหรือที่ทำงานของตนเอง
Natalia Y. / Unsplash
ทว่าความนิยมหายไปไม่นานนัก แสงไฟจากป้ายนีออนก็กลับมาสว่างขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1980 โดยมีการนำป้ายไฟนีออนไปใช้ในภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ไม่เพียงเท่านั้น อุตสาหกรรมความบันเทิงก็ได้นำเสน่ห์ของไฟนีออนมาจัดแสดงเป็นฉากภาพยนตร์หรือมิวสิกวิดีโอ ทำให้ป้ายไฟนีออนกลายเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความคลาสสิกและสุนทรียศาสตร์แบบย้อนยุคมาจนถึงทุกวันนี้ แต่น่าเสียดายที่ป้ายไฟนีออนได้หลุดจากชาร์ตความนิยมอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2000 เพราะแสงจ้าของป้ายไฟนีออนที่ครั้งหนึ่งเคยดึงดูดสายตากลับกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป และทางเลือกใหม่ของป้ายไฟก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากเทคโนโลยี LED ที่มาพร้อมกับความประหยัด คุ้มค่า ด้วยคุณสมบัติที่ให้แสงสว่างได้มากกว่าแต่กินไฟน้อยกว่าเดิม ทั้งยังมีความทนทาน และมองเห็นได้ชัดในระยะไกล
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้มนุษย์จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง แต่หลายครั้งเราก็มักมองหาความเป็นออริจินัลหรือความดั้งเดิมจากประสบการณ์เก่า ๆ ที่เคยมีด้วยเช่นกัน นั่นรวมถึง “ป้ายไฟนีออน” ที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งในภาคธุรกิจและคนทั่วไปซึ่งต่างก็มองหาความแปลกใหม่จากความดั้งเดิมของไฟนีออน
เปลี่ยนขยะจากป้ายไฟนีออน(ที่เคยส่องสว่าง)ให้กลายเป็นงานศิลป์ ป้ายไฟนีออนที่ถูกทิ้งไม่ได้ใช้งานจะเรียกว่า “ขยะ” ก็ไม่ผิดแปลกแต่อย่างใด ทว่ากลับเป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าเสียดาย เมื่อภาพยนตร์หรือเหตุการณ์ใดจบลง หรือกระทั่งธุรกิจใดปิดตัวลง ท้ายที่สุดอุปกรณ์อย่าง “ป้ายไฟนีออน” ก็คงจะถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะตามข้างทาง แต่สำหรับ God's Own Junkyard พิพิธภัณฑ์ป้ายไฟนีออนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแล้วนั้นกลับนำป้ายไฟเหล่านั้นมาซ่อมแซมและฟื้นคืนชีพให้ส่องสว่างเจิดจ้าได้อีกครั้ง โดยทุกอย่างเริ่มต้นจากศิลปินผู้ล่วงลับ “คริส เบรซีย์” ผู้ซึ่งอุทิศชีวิตให้กับการประดิษฐ์ป้ายไฟนีออน และเริ่มสะสมป้ายไฟที่ถูกทิ้ง ด้วยความหลงใหลในการกอบกู้แสงสว่างที่ดับลงและถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นขยะ ซึ่งคริส เบรซีย์ได้เปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นงานศิลปะที่มีชีวิตชีวา และนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ God's Own Junkyard ซึ่งจัดแสดงป้ายไฟนีออนมากกว่า 1,500 ชิ้น ทั้งจากการรวบรวมสะสมจากป้ายไฟที่ถูกทิ้งตามข้างทางจากสถานที่จัดงาน ร้านค้า และป้ายไฟที่เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากจากภพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่อง เช่น Batman, Blade Runner และ Charlie and the Chocolate Factory ไม่เพียงเท่านั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการเปิดให้เช่าหรือซื้อป้ายไฟนีออน ไม่ว่าผู้คนที่เข้ามาชมจะมีการจัดงานอีเว้นท์ มีธุรกิจบริการที่จำเป็นต้องใช้ป้ายไฟนีออน หรือเพียงแค่ต้องการนำไปประดับตกแต่งไว้ในบ้านก็สามารถเช่าหรือซื้อป้ายไฟนีออนเหล่านี้ได้เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นหนทางที่ดีหนทางหนึ่งที่ทำให้ป้ายไฟนีออนที่แสงไฟเคยดับลงนั้นกลับมาสว่างอีกครั้ง ทั้งยังชวนให้ผู้คนที่เข้ามาชมได้หวนคิดถึงความคลาสสิกและสุนทรียศาสตร์แบบย้อนยุคที่สะท้อนอยู่ในความทรงจำ และเป็นการอนุรักษ์ผลงานการสร้างสรรค์ป้ายไฟนีออนของช่างฝีมือในคงอยู่ต่อไปอีกด้วย |
เมื่อป้ายไฟนีออนกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
การกลับมาของป้ายไฟนีออนได้สร้างกระแสความนิยมอย่างถ้วนหน้าโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภาคธุรกิจบริการและความบันเทิง โดยหลายธุรกิจกำลังหันมาใช้ป้ายไฟนีออนเพื่อสร้างความโดดเด่นและแตกต่าง รวมถึงเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ป้ายไฟนีออนจึงได้กลายเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ เนื่องจากมีแสงไฟหลากสีที่สะดุดตาทั้งยังสามารถแสดงสถานะการบริการและสไตล์ของธุรกิจนั้น ๆ ได้ด้วย
ทั้งนี้ การจะทำให้ธุรกิจโดดเด่นและเป็นที่สะดุดตานั้น ต้องอาศัยป้ายไฟนีออนที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นการทำป้ายไฟนีออนจึงกลายเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับความสามารถเชิงช่าง
มาร์คัส เบรซีย์ เจ้าของฉายา "The Neon Man" รุ่นที่สาม และทายาทเจ้าของพิพิธภัณฑ์ป้ายไฟนีออนที่ชื่อว่า God's Own Junkyard กล่าวว่า “ป้ายไฟนีออนในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มันถูกขับเคลื่อนในเชิงพาณิชย์มากขึ้น มันอยู่ทั้งในโรงแรม บาร์ ร้านอาหาร อุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์และดึงดูดผู้คนให้เข้ามา ราวกับแมลงเม่าที่เข้าหาแสงไฟ เป็นแรงดึงดูดที่ผู้คนมีต่อป้ายไฟนีออน ซึ่งมันมหัศจรรย์มาก”
และยิ่งในปัจจุบันที่โลกขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดียแล้วนั้น การที่ธุรกิจบริการและความบันเทิงประดับตกแต่งด้วยป้ายไฟนีออน ยังถือเป็นการสร้างความได้เปรียบด้านความสวยงามและการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ให้แก่ธุรกิจนั้น ๆ ในการสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าที่มักจะถ่ายภาพเพื่อบันทึกและแบ่งปันความสวยงามนี้ลงบนโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการสร้างกระแสให้ธุรกิจนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี และอาจถึงขึ้นเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียเลยก็เป็นไปได้
ดังนั้นสำหรับภาคธุรกิจ ป้ายไฟนีออน จึงทำหน้าที่เป็นดั่งแม่เหล็กอันสว่างเจิดจ้ายามค่ำคืนบนถนนการแข่งขันที่คอยผลักดันให้ธุรกิจกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
Henry Firth / Unsplash
ไม่เพียงเท่านั้น ป้ายไฟนีออนยังไม่ได้เอื้อประโยชน์เพียงแค่ภาคธุรกิจบริการและความบันเทิง หากการใช้ป้ายไฟนีออนตกแต่งร้านค้าหรือธุรกิจต่าง ๆ ยังถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการตกแต่งภายในบ้านได้ด้วย ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ป้ายไฟนีออนได้โดยตรง
แม้ว่าภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์จะคุ้นเคยกับป้ายไฟนีออนดัดแบบเดิม แต่เทคโนโลยี LED ได้สร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในการทำป้ายไฟนีออนเพื่อนำมาประดับตกแต่งบ้าน เนื่องจากป้ายไฟนีออนแบบ LED ให้ความยืดหยุ่นในแง่ของการออกแบบ สามารถขึ้นรูปเป็นรูปทรงและขนาดต่าง ๆ ได้ไม่จำกัด ซึ่งแตกต่างจากป้ายไฟนีออนดัดแบบเดิมที่จำกัดรูปทรงเฉพาะที่สร้างด้วยท่อแก้วเท่านั้น
ป้ายไฟนีออนแบบ LED จึงเป็นการเปิดโลกแห่งความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับการออกแบบที่สร้างสรรค์และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ช่วยขยายขอบเขตของการตกแต่งได้อย่างแท้จริง ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนบ้านธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นบ้านที่สวยงามและน่าทึ่งมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามค่ำคืน
เพราะเสน่ห์ของป้ายไฟนีออนที่ใช้งานได้ไม่ว่ากับอุตสาหกรรมและยุคสมัยใดๆ ทำให้ความนิยมของป้ายไฟนีออนพุ่งสูงขึ้นและไม่มีท่าทีว่าจะชะลอตัวลง ทั้งยังได้เข้ามาเปิดมิติให้ทั้งแก่อุตสาหกรรมและครัวเรือนในการเลือกใช้งานได้อย่างคึกคักกลายเป็นแสงไฟอมตะที่อยู่เหนือกาลเวลา ทั้งยังช่วยเปิดกว้างความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุดของการนำไปใช้งาน ...เพื่อให้ในแต่ละค่ำคืนไม่มืดมิดอีกต่อไป
ที่มา : บทความ “Are Neon Signs Making a Comeback or Are They a Dying Art Form?” โดย Neon Flamingo จาก https://www.neon-flamingo.com
บทความ “Are Neon signs making a comeback?” โดย Vital Concept จาก https://www.linkedin.com
บทความ “Here’s Why Neon Signs Are Making a Comeback” โดย Dave’s Signs Blog จาก https://www.davessigns.com
บทความ “'A Sunday roast for your eyes': Meet the neon light artist making London brighter” โดย Anca Ulea & Aisling Redden, Benjie Croce, Morade Azzouz จาก https://www.euronews.com
บทความ “The Ultimate Gods Own Junkyard Guide – Why You Must Visit where Neon Never Dies in London!” โดย Sophie Pearce จาก https://thirdeyetraveller.com
บทความ “Exploring the Weird and Wonderful Treasures at God’s Own Junkyard” โดย theukwanderers จาก https://theukwanderers.com
บทความ “Neon Sign Revolution: How Neon Wall Lights Are Making a Comeback in Home Décor” โดย Ahsan Habib จาก https://theartchi.com
เรื่อง : ณัฐธิดา คำทำนอง