วัสดุจากภูมิปัญญา ถึงเก่าแก่แต่ไม่เคยเอาท์
Technology & Innovation

วัสดุจากภูมิปัญญา ถึงเก่าแก่แต่ไม่เคยเอาท์

  • 27 Nov 2023
  • 750

ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม คือหนึ่งในต้นทุนเปี่ยมคุณค่าและมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เมืองเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นสมาชิกเมืองหัตถศิลป์โลก (World Craft City) ของสภาหัตถศิลป์โลก 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เพียงเพราะความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมหรือความหลากหลายของงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านกว่า 9 สาขาที่ทำให้เชียงใหม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาร่วมเครือข่ายระดับโลก หากยังเป็นเพราะผู้คนที่มีจิตวิญญาณของช่างฝีมือ มุ่งมั่นสืบสานมรดกภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ พร้อมต่อลมหายใจของ ‘วัสดุดั้งเดิม’ บนความเข้าใจในอัตลักษณ์อย่างลึกซึ้ง คิดค้น พลิกฟื้น พลางสร้างสรรค์ให้วิถีเก่า-ใหม่ อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน 

เครื่องเงินล้านนา ของใช้ของฝากจากงานหัตถศิลป์ 
ก่อนที่ ‘เงิน’ จะกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเช่นปัจจุบัน ว่ากันว่ามนุษย์ใช้ประโยชน์จากแร่ที่ปะปนอยู่ในทรายชนิดนี้มานานพอ ๆ กับทองคำ สำหรับประเทศไทยมีการนำเงินมาประดิษฐ์เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนสินค้ากับนานาอารายประเทศมาเกือบ 2,000 ปีแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้เหรียญกษาปณ์ และด้วยความที่แร่เงินนั้นมีมูลค่ารองจากทอง ทนทาน มันวาว และเนื้อขาวเป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้มันยังถูกหยิบมารังสรรค์เป็นเครื่องประดับหรือภาชนะต่าง ๆ อีกด้วย

และถ้าหากพูดถึงหัตถกรรมเครื่องเงิน พรสวรรค์ ซิวเวอร์ (Ponsawan Silver) คือหนึ่งในผู้ประกอบการโดดเด่นที่สืบสานภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินเก่าแก่แห่งย่านถนนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่นี่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องเงินสารพัดชนิดและทำจากเงินผสมในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน เพราะตามธรรมชาติแล้วแร่เงินบริสุทธิ์ 99.99% นั้นจะอ่อนตัวง่ายและขึ้นรูปยาก จึงต้องนำไปผ่านการหลอมและผสมเม็ดเงินเข้ากับโลหะอื่น เช่น ทองแดง ที่อุณหภูมิความร้อนสูง 100 องศาเซลเซียส ก่อนเทลงฐานแม่พิมพ์โลหะ รีดและดึงจนได้แผ่นเงินที่มีความแข็งเหมาะกับการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์

อาทิ เงินแท้ 98% และ 95% สำหรับทำข้าวของเครื่องใช้หรือเครื่องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนเงินเท้ 92.5% สำหรับทำเครื่องประดับซึ่งมีทั้งรูปแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย ดีไซน์สวย ชิ้นงานประณีต พร้อมถ่ายทอดเทคนิคโบราณ ‘การตอกดุนโลหะ’ หรือการขึ้นรูปลักษณะนูนสูง นูนต่ำ แต่งแต้มลวดลายงามวิจิตรด้วยค้อน สิ่วเหล็ก และยางชัน สะท้อนมนตร์เสน่ห์แห่งศิลปกรรมล้านนาอันพิถีพิถัน และในแง่หนึ่งยังเปรียบเสมือนฟังก์ชั่นช่วยเพิ่มพื้นผิวสัมผัสเพื่อการหยิบใช้งานอย่างสะดวกมือ 

ที่สำคัญคือเงินมีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นกลางไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง ตอบโจทย์คนผิวแพ้ง่าย แถมไม่ทำปฏิกิริยากับกรดจึงไม่ลอก สวยทนนานและสามารถนำกลับมาหลอมใช้ประโยชน์ได้ใหม่ นอกจากนี้ พรสวรรค์ ซิวเวอร์ ยังประยุกต์ใช้เทคนิคตอกดุนโลหะกับวัสดุอลูมิเนียมเพื่อพัฒนารูปแบบการนำเสนอหัตถกรรมภูมิปัญญาให้เข้าถึงง่ายในแนวทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

กระจกจืน กระจกโบราณคู่ควรงานประณีตศิลป์ไทย
กระจกหลากสีสันแวววาวระยับที่เรามักพบเห็นประดับตามโบถ์ส วิหาร หรืองานพุทธศิลป์ในทุกวันนี้ส่วนมากคือกระจกสีสมัยใหม่ ต่างจากอดีตที่งานเหล่านี้ล้วนใช้ ‘กระจกจืน’ วัสดุกระจกประดับโบราณที่สูญหายไปตั้งแต่ราวสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะถูกฟื้นคืนลมหายใจให้กลับมาเติมเต็มคุณค่างานประณีตศิลป์ไทยอีกหน โดยฝีมือของ รชต ชาญเชี่ยว ชาวอำเภอหางดง ช่างหุงกระจกโบราณเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย 

สำหรับความแตกต่างระหว่างสองวัสดุเก่า-ใหม่นี้หลัก ๆ เป็นเรื่องของความบาง ความยืดหยุ่น และสีสัน โดยกระจกจืนจะมีความบาง สามารถดัดให้โค้งงอหรือตัดเป็นแผ่นขนาดเล็กได้ด้วยกรรไกร เมื่อนำไปใช้งานติดประดับบนพื้นผิววัตถุที่มีความโค้งนูน โค้งเว้า จึงทำได้ง่ายกว่ากระจกสีสมัยใหม่ที่ต้องใช้เครื่องมือตัดกระจก แบ่งชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วเรียงต่อ อีกทั้งลายผิวร้าวที่เกิดจากเทคนิคการตัดปะด้วยกระจกจืนยังเป็นเอกลักษณ์ สามารถสะท้อนเฉดสีต่าง ๆ ได้ชัดเจน ดูมีมิติและทนต่อการซีดจาง ยิ่งไปกว่านั้นชิ้นกระจกจะไม่แตกหักแม้ยึดติดด้วยตะปู ซึ่งกุญแจสำคัญของคุณสมบัติน่าอัศจรรย์ใจนี้อยู่ที่ ‘ตะกั่ว’

โดยขั้นตอนการผลิตกระจกจืนที่เรียกว่า ‘การหุงกระจก’ ช่างหุงกระจกจะตระเตรียมสารตั้งต้นวัตถุธาตุและสารเคมีต่าง ๆ เพื่อสร้างน้ำกระจกประสิทธิภาพสูง แล้วจึงนำมาหลอมในเบ้าหลอมอะลูมินาที่อุณหภูมิ 1,280 องศา จนแปรสภาพเป็นของเหลว จากนั้นลงมือรีดให้เป็นเนื้อกระจกที่มีความบางพลันนำมาวางบนแผ่นตะกั่ว ก่อนเนรมิตสีสันด้วยการผสมแร่ อาทิ สีเหลืองจากดินแดงอินเดีย  สีเขียวจากทองแดง สีน้ำเงินจากโคบอลต์ เป็นต้น 

ปัจจุบันกระจกจืนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กลายเป็นวัสดุที่ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มนักสะสมโบราณวัตถุ หน่วยงานราชการและวัดวาอารามต่อคิวจองซื้อกันยาวข้ามปี เพราะเอกลักษณ์ ฟังก์ชั่นและคุณค่าอันควรค่าแก่การนำไปชุบชีวิตงานหัตถศิลป์ พุทธศิลป์ ตลอดจนบูรณะสมบัติชาติให้กลับมางามสมความสง่า ซึ่งแม้แต่เทคโนโลยีอุตสาหกรรมสมัยใหม่ก็ไม่อาจทดแทนได้

เรื่อง : คุณากร เมืองเดช